8ยักษ์ค้าปลีกรุมชิงดำบริหารพื้นที่รถไฟใต้ดิน


ผู้จัดการรายวัน(24 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

บีเอ็มซีแอลไม่บริหารพื้นที่ค้าปลีกภายในสถานีรถไฟใต้ดินเอง วางแผนหาผู้ดำเนินการแทน เผย 8 ยักษ์ค้าปลีกรุมชิงสิทธิ์บริหารพื้นที่ 11 สถานี พื้นที่ 29,000 ตร.ม.เจรจา ยื่นข้อเสนอ เผยมีทั้ง เซ็นทรัล-โรบินสัน-เดอะมอลล์ ขณะที่บีเอ็มซีแอลเตรียมสรุปผลภาย ในพ.ย.นี้ เพื่อเปิดให้บริการได้ทันกำหนดเปิดเดินรถจริง 12 ส.ค. 47 ส่วนแผนขายหุ้น เน้นนักลงทุนในเอเชีย ชี้รถไฟฟ้าฮ่องกงสนร่วมทุน พร้อมเปิดศูนย์ซ่อมและควบคุมการเดินรถแสดงความพร้อมเปิดเดินรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกได้ทันสงกรานต์แน่นอน

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือบีเอ็มซีแอล ซึ่งเป็นผู้ให้บริการและบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ระยะทาง 20 กม. เปิดเผยว่าบริษัทพร้อมที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 13 เม.ย. 2547 ฟรีตามนโยบายและเปิดให้บริการ จริงในวันที่ 12 ส.ค. 47 โดยให้ส่วนลดค่าโดยสาร 15% แน่นอน ซึ่งจากการประมาณการจำนวนผู้โดยสาร คาดว่าจะมีประมาณ 2.5 แสนเที่ยวต่อวัน และสูงสุดที่ประมาณ 800,000 เที่ยวต่อวัน จะทำให้ในปีแรกที่เปิดให้บริการ อาจจะมีผลขาดทุนเล็กน้อย แต่เชื่อว่า ในปีที่ 3 หรืออย่างช้า ปีที่ 5 จะมีกำไร โดยผู้โดยสารที่คุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 400,000 เที่ยวต่อวัน มีอัตราเพิ่มประมาณ 10% ต่อปี

ทั้งนี้ ตามสัญญาจะมีการปรับค่าโดยสารทุกๆ 2 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) โดยจะมีราย ละเอียดการคำนวณที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาเช่นกรณีค่าทางด่วนแน่นอน อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าจำนวนผู้โดยสารจะไม่ต่างจากที่ประมาณการไว้มากนัก เพราะเป็นการวิเคราะห์จากภาวะปัจจุบันมาก ที่สุด

นายสมบัติกล่าวว่า ตามหลักการประกอบการรถไฟฟ้า รายได้หลักคือจากค่าโดยสารจะมีประมาณ 95% ของรายได้รวม ส่วนรายจากธุรกิจอื่นๆ เช่น ค่าโฆษณา ค่าเช่าพื้นที่มีประมาณ 5% โดยรายได้จากค่าโดยสารประมาณการว่า จะมีประมาณ 5-6 ล้านบาทต่อวัน คำนวณจากค่าโดยสารเฉลี่ย 20-25 บาท จากการเดินทางเฉลี่ย 5-6 สถานี ส่วนภาระค่าใช้จ่ายมี 2 ส่วนใหญ่ คือภาระดอกเบี้ย 7.8% หรือ 700-800 ล้านบาทต่อปีหรือประมาณ 2 ล้านบาทต่อวัน จากยอดเงินกู้ทั้งสิ้น 11,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านปฏิบัติการ 1,500 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 4 ล้าน บาทต่อวัน

8 ยักษ์ค้าปลีกชิงสิทธิ์บริหารร้านค้า

นายสุธี พนาวร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด บีเอ็มซีแอลกล่าวว่า จาก 18 สถานี มี 11 สถานีที่มีพื้นที่สำหรับพัฒนาหารายได้ ส่วนอีก 7 สถานีมีพื้นที่น้อย ซึ่งตามโครงสร้างสถานี ร้านค้าปลีกจะอยู่ชั้นแรกของสถานี (Retail Level) ส่วนชั้น ที่ 2 เป็นชั้นออกบัตรโดยสาร(Concourse Level) ชั้น 3 ลึกที่สุดเป็นชานชาลา (Platform Level) โดยมีพื้นที่สำหรับร้านค้าปลีกรวมทั้งสิ้นประมาณ 29,000 ตารางเมตร ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการจัดหาผู้มาดำเนิน การบริหารพื้นที่แทน โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกที่สนใจแล้วประมาณ 8 ราย เช่น กลุ่มเซ็นทรัล เดอะมอลล์ เวิลด์เทรด โรบินสัน เป็นต้น โดยคาดว่าจะสรุปผลภายในพ.ย. 46 นี้

สาเหตุที่บริษัทไม่ดำเนินการเรื่องร้านค้าปลีกเองเนื่องจาก พื้นที่สถานีที่สามารถทำธุรกิจดังกล่าวได้มีพื้นที่มาก และจะต้องเปิดดำเนินการพร้อมกันทั้ง 11 สถานีในวันที่ 13 ส.ค. 47 จึงต้องให้มืออาชีพเข้ามาบริหาร แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการบริหารพื้นที่ ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือก จะต้องยื่นข้อเสนอภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด โดยเบื้องต้นจะมีข้อจำกัดของประเภท ธุรกิจร้านค้าปลีกที่เหมาะสมกับรถไฟใต้ดิน เช่น ไม่กระทบด้านความปลอดภัย เป็นธุรกิจที่ต้องเสริมความสะดวกของผู้โดยสาร เป็นต้น

"หลักการจะเจรจากับผู้เสนอตัวทุกราย และเลือกรายที่มีข้อเสนอดีที่สุด ทั้งด้านราคาและเงื่อนไข อื่นๆ ที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องการเพียงรายเดียว แต่อาจมีการเพิ่มมากกว่า 1 รายได้ เนื่องจากสัญญาสัมปทาน เดินรถไฟฟ้ามีอายุ 25 ปี บางรายเสนอบริหารพื้นที่ 25 ปี บางรายเสนอไม่ถึง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและเหมาะสม เมื่อบริษัทไม่สามารถจัดประโยชน์ พื้นที่เองได้ ทำให้รายได้ในส่วนนี้ที่คาดว่าจะมีประมาณ 5% ของรายได้รวมทั้งหมด อาจจะไม่ถึง เพราะผู้บริหารแทนจะต้องตัดออกไปแต่ก็ไม่ได้กระทบต่อรายได้รวมของบริษัทเพราะร้านค้าปลีกเป็น รายได้ส่วนน้อยและบริษัทถือว่าเป็นบริการสำหรับผู้โดยสารเพื่อความสะดวกในการใช้บริการรถไฟใต้ดิน"

รถไฟฟ้าฮ่องกงเจรจาซื้อหุ้นช.การช่าง

นายสมบัติกล่าวถึงแผนกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ประมาณ 30% ว่าจะดำเนินการหลังจากที่เปิดเดินรถแล้ว โดยจะดูช่วงที่ตลาดมีความเหมาะสมมากที่สุด และขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนเพื่อขายหุ้นในส่วนที่กลุ่มช.การช่าง ถืออยู่ประมาณ 25-30% ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนในเอเชียมาก โดยภายในประเทศมีทั้งนักธุรกิจและสถาบันการเงิน ส่วนต่างประเทศมีทั้งสถาบันการเงินและผู้ประกอบการเดินรถในฮ่องกง หรือกลุ่ม MTR เป็นต้น

โดยการขายหุ้นออกไปบางส่วน เป้าหมายไม่ได้ต้องการเม็ดเงินเพิ่มเข้ามาเป็นหลัก แต่ต้องการผู้ร่วมทุนรายใหม่เพื่อหาวิชั่นและความรู้ใหม่ในการทำธุรกิจ หรือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ผู้ที่ประกอบกิจการรถไฟฟ้าเหมือนกันเป็นต้น โดยปัจจุบัน บีเอ็มซี แอลมีกลุ่มช.การช่างถือหุ้นใหญ่ 67.5% บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 15% และกลุ่มสถาบันการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย 10% ธนาคารทหารไทย 5% และนครหลวงไทย 2.5%

"นโยบายที่รัฐต้องการให้เพิ่มโครงข่ายระบบรางทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในโครงการมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการขายหุ้นและแผนการเข้าตลาดของบริษัท แต่อย่างไรก็ตาม โครงการในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บริษัทยืนยันที่จะเข้าประมูลแน่นอน แต่ขณะนี้รัฐยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินโครง การในลักษณะเดิมหรือไม่คือรัฐลงทุนงานโยธาและเอกชนลงทุนงานระบบ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.