สถาบันเหล็กฯปรับแผนใหม่สู้แรงต้านชุมชนเร่งผุดโรงถลุงเหล็กหลังตั้งไม่ได้กว่า20ปี!


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 กันยายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

สถาบันเหล็กฯ ปรับแผนตั้งโรงถลุงเหล็กต้นน้ำ ดึงชาวบ้าน นักวิชาการร่วมศึกษาพื้นที่เหมาะสม เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น เล็งพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนปัดธงโรงเหล็ก คาดลงมือก่อสร้างได้ในปี 54 มั่นใจจะลดการนำเข้ากว่า 4 แสนล้านบาท

โครงการโรงถลุงเหล็กต้นน้ำของไทยนับได้ว่าเป็นตำนานมหากาพย์ที่ยาวนานมากว่า 20 ปี จวบจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีวี่แววที่จะเดินหน้า ถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตเหล็กขั้นต้นจำนวน 9 ราย แต่ปัจจุบันยังไม่มีรายใดเปิดดำเนินการผลิต เนื่องจากใช้เงินลงทุนสูง และที่สำคัญแต่ละแห่งประสบกับปัญหาการต่อต้านจากชุมชนเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องถอนตัวออกไป เหลือเพียงบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่กำลังพิจารณาว่าจะลงทุนต่อ หรือย้ายฐานไปลงทุนในต่างประเทศหรือไม่

ปักธง2จังหวัดตั้งโรงถลุงเหล็ก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการตั้งโรงถลุงเหล็กในประเทศไทยจะประสบกับอุปสรรคปัญหาต่างๆอย่างมากมาย แต่อุตสาหกรรมนี้ก็ยังมีความจำสำหรับประเทศชาติ เนื่องจากในแต่ละปีไทยต้องสูญเสียเงินตรากว่า 4 แสนล้านบาทในการนำเข้าเหล็กเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยล่าสุด วิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาพื้นที่เหมาะสมในการตั้งโรงถลุงเหล็กต้นน้ำ ซึ่งจะเริ่มศึกษาในเดือน ต.ค.นี้ และจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี ใช้งบประมาณ 38 ล้านบาทโดยขอบเขตการศึกษาจะเน้นด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นไปได้ทางเทคนิคการก่อสร้าง โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และตัวแทนชุมชนมาร่วมศึกษา เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงกลางปี 2554

สำหรับขอบเขตการศึกษาในครั้งนี้ ได้คัดเลือกพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 1 แห่ง และทางภาคตะวันออก 1 แห่ง เป็นพื้นที่ศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และนากุ้งรกร้างที่มีขนาด 1-2 หมื่นไร่ รวมทั้งยังเป็นเขตที่มีประชาชนอยู่น้อย ซึ่งตัวโครงการโรงถลุงเหล็กจะใช้พื้นที่ประมาณ 5 พันไร่ มีมูลค่าการลงทุน 1.5 แสนล้านบาท และมีกำลังการผลิต 10 ล้านตันต่อปี ซึ่ง แบ่งเป็นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 1.5 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการสร้างองค์ประกอบต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า การขุดท่าเรือน้ำลึก และการสร้างผลประโยชน์ตอบแทนชาวบ้านในระยะยาว

ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่นฯ 2. บริษัท เจเอฟอี สตีล คอร์ปอเรชั่นฯ 3. บริษัท บาวน์สตีลฯ และ 4. กลุ่มบริษัทอาร์เซลอร์มิตตาลฯ ยังคงสนใจเข้ามาลงทุนอยู่ ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ จะคัดเลือกให้การสนับสนุนเพียง 2 บริษัท โดยทั้ง 4 รายที่เสนอตัวเข้ามานี้ ล้วนแต่มีจุดเด่นที่ต่างกัน เช่น บริษัทเจเอฟอี และนิปปอน บริษัทของญี่ปุ่นที่เป็นผู้ผลิตเหล็กติดอันดับ 2 และ 3 ของโลกต่างก็มีประสบการณ์มายาวนานและมีฐานลูกค้าในประเทศไทยที่เข้มแข็ง ขณะที่กลุ่มอาร์เซลอร์มิตตาล เป็นกลุ่มผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกก็มีความพร้อมด้านวัตถุดิบทั้งเหล็กและถ่านหิน ส่วนบาวน์สตีลเป็นของกลุ่มทุนจีนที่ติดอันดับ 5 ของโลก แม้เป็นบริษัทที่ยังใหม่ในวงการ แต่ก็ได้เปรียบในเรื่องความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานกับประเทศไทย และมีวัฒนธรรมการทำงานที่ใกล้เคียงกับคนไทย

โรงถลุงเหล็กลดต้นทุนการผลิตไทย

อย่างไรก็ดีหากการตั้งโรงงานถลุงเหล็กต้นน้ำประสบความสำเร็จประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งในด้านการช่วยลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศแล้ว ยังช่วยให้อุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้วัตถุดิบเหล็ก ก็จะมีต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากในขณะนี้ไทยนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งโรงถลุงเหล็กของญี่ปุ่นจะมีต้นทุนการขนแร่เหล็กและถ่านหินจากประเทศออสเตรเลียสูงกว่าการขนส่งมายังประเทศไทย รวมทั้งเหล็กที่ผลิตเสร็จแล้วจะต้องเสียค่าขนส่งมายังไทยอีกต่อหนึ่ง ซึ่งการที่ไทยมีโรงถลุงเหล็กเป็นของตัวเองจะทำให้ลดต้นทุนค่าขนส่งลงเป็นจำนวนมาก และลดเวลาในการสั่งซื้อจาก 3-4 เดือน ลดลงเหลือเพียง 1 เดือน รวมทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอุตสาหกรรมให้กับประเทศ และยังเป็นรากฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมชนิดต่างๆให้เกิดขึ้นในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ และอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น

ทั้งนี้เทคโนโลยีการถลุงเหล็กในปัจจุบันกระบวนการถลุงเหล็กมีการควบคุมการปล่อยมลพิษที่ดีมากกว่าในอดีตหลายเท่า ในขณะที่การใช้พลังงานก็ลดลงและมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตของโรงงานสมัยใหม่ถูกกว่าโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีเก่า และมีหลายๆโรงงานมีการปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์

โดยในระยะสิบปีที่ผ่านมานี้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ต่างก็ขยายการผลิตเหล็กมากขึ้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนมีมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยสูงมาก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นมีการตั้งโรงถลุงเหล็กขนาดใหญ่รอบอ่าวโตเกียวถึง 3 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมกว่า 20 ล้านตันต่อปี แต่ปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำในอ่าวโตเกียวก็ไม่ได้ลดลง ดังนั้นหากรัฐบาลเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีกลไกการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็จะทำให้ชาวบ้านลดการต่อต้าน และโรงถลุงเหล็กก็จะอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.