|
MFCชงตั้งกองทุนแก้หนี้ครู
ASTVผู้จัดการรายวัน(21 กันยายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
บลจ.เอ็มเอฟซี เสนอกระทรวงศึกษาฯ ตั้งกองทุนสางปัญหาหนี้ครู 1.73 แสนล้านบาท ชงรูปแบบระดมทุนแล้วปล่อยกู คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าสถาบันการเงินทั่วไป ให้ผลตอบแทนจูงใจผู้ถือหน่วยเช่นเดียวกับวายุภักษ์ ด้วยการการันตีผลตอบแทน พร้อมคุ้มครองเงินต้น
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้บลจ.เอ็มเอฟซี ศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการครูทั่วประเทศไปก่อนหน้านี้นั้น ขณะนี้เราได้สรุปข้อเสนอยื่นให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหาที่เสนอไปนั้น แนะนำให้ตั้งกองทุนขึ้นมา แล้วระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อปล่อยกู้ให้กับข้าราชการครูที่เป็นหนี้เหล่านี้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินทั่วไป ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ต้นทุนของครูที่เป็นหนี้ลดลงจากเดิมได้
สำหรับรูปแบบของกองทุนนั้น เราได้เสนอว่า ในการตั้งกองทุนดังกล่าว รัฐจะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องของความเสี่ยงของกองทุนในลักษณะของกองทุนที่มีการคุ้มครองเงินต้น และการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำด้วย ซึ่งรูปแบบนี้จะมีลักษณะคล้ายกับกองทุนรวมวายุภักษ์ที่เราบริหารอยู่ในปัจจุบัน ส่วนของแนวทางในการให้กู้ เราก็ได้เสนอให้ครูที่เป็นหนี้ สามารถกู้ยืมเงินควบคู่กับสถาบันการเงินเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อลดต้นทุนให้ถูกลง เพราะต้นทุนของกองทุนจะถูกกว่าต้นทุนของสถาบันการเงินอยู่แล้ว
"กองทุนที่เราเสนอไปนั้น จะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินทั่วไป เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับครูที่เป็นหนี้"นายพิชิตกล่าว
นายพิชิตกล่าวว่า ในส่วนของผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากกองทุนนั้น จะอยู่ในรูปส่วนต่างดอกเบี้ยที่คิดกับครูกับต้นทุนทางการเงิน เช่น หากกองทุนการันตีผลตอบแทนเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 3% กองทุนก็จะต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้ต่ำกว่า 3% ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ ก็อาจจะมีการบวกค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ (ค่าฟี) เข้าไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงการเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาเท่านั้น ส่วนทางกระทรวงฯ จะใช้แนวทางนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ครูหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกระทรวงศึกษาธิการเอง ซึ่งปัจจุบันทางเลือกในการปรับโครงคร้างหนี้ครูเหล่านี้มีอยู่ค่อนข้างเยอะ โดยสถาบันการเงินของรัฐเองก็สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีครูบางส่วนที่เข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ จึงส่งผลให้ปัญหาหนี้ของข้าราชการครูยังมีอยู่
ก่อนหน้านี้ บลจ.เอ็มเอฟซี เปิดเผยตัวเลขมูลหนี้ของข้าราชการครูทั้งในระบบและนอกระบบสถาบันการเงิน มีจำนวนรวมกันกว่า 1.73 แสนล้านบาท จากจำนวนครูทั้งประเทศกว่า 1 ล้านคน ซึ่งปัญหาหนี้ครูเป็นปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อน มีสาเหตุหลักเพราะมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐาน และถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ควรจะได้รับการแก้ไข โดยแนวทางในการแก้ไขนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการจะต้องไปดูเรื่องของการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับครูไปควบคู่กันทั้ง 2 ทาง เพราะหากปล่อยให้ครูมีปัญหาเรื่องหนี้อยู่ในชีวิตประจำวันต่อไป อาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการศึกษาและคุณภาพของเด็กที่ผลิตออกมาได้ ทั้งนี้ นอกจากปัญหาในเรื่องของรายได้ที่ไม่สมดุลกับรายจ่ายแล้ว การที่ข้าราชการมีหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ถือเป็นตัวปัญหาที่สำคัญและแก้ไขลำบาก
**คลอด2กองทุน2สไตล์**
นายพิชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการเสนอขายกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล อีเมอร์จิ้ง เทน หรือ I-Emerging 10 มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท กองทุนทาร์เก็ตฟันด์ที่ตั้งเป้าหมายผลตอบแทนเลิกกองทุนไว้ที่ร้อยละ 10 ภายในเวลา 1 ปี ซึ่งกองทุนดังกล่าวเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีสภาพคล่องสูงในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก โดยมีการบริหารกองทุนแบบ Active เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสามารถปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ และเงินฝาก ตามสภาวการณ์ตลาดได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Hedging) และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุน
ทั้งนี้ กองทุนจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติภายในระยะเวลา 1 ปี หากมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด I-Emerging 10 เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 11.30 บาทเป็นเวลา 5 วันทำการติดต่อกัน หรือ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 11.30 บาท และทรัพย์สินของกองทุนเป็นเงินสดสกุลเงินบาททั้งหมด ณ วันทำการใด และผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนคืนไม่ต่ำกว่า 11 บาท โดยบริษัทจะมีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนอัตโนมัติไปยังกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี พันธบัตรตลาดเงิน (MM-GOV) ซึ่งเป็นกองทุนรวมตลาดเงินที่มีความมั่นคง ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐในประเทศ เพื่อสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องของผู้ถือหน่วยลงทุนต่อไป โดยกองทุนจะเสนอข่ายหน่วยลงทุนครั้งแรกถึงวันที่ 28 กันยายนนี้
โดยฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ของเอ็มเอฟซีมองว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกมีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ เศรษฐกิจของประเทศแถบเอเชียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และมีอัตราการขยายตัวนำหน้าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นผลจากความต่อเนื่องของการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาลและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายการเงินการคลังแบบขยายตัวยังคงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคของประเทศแถบละตินอเมริกา ปัจจัยบวกจากนโยบายการคลังแบบขยายตัวเริ่มส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศโปแลนด์ รัสเซียและแอฟริกาใต้โดยดูจากตัวเลขภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศลาตินอเมริกา และ EMEA (Europe, Middle East, Africa) จากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวจะเป็นจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม และมีโอกาสสร้างความพึงพอใจให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเช่นเดียวกับกองทุนทาร์เก็ตฟันด์อื่นๆ ของเอ็มเอฟซีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บลจ.เอ็มเอฟซี ยังได้เพิ่มทางเลือกในการลงทุนโดยเปิดขายกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เกาหลี 5 มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท อายุประมาณ 9 เดือน ซึ่งจะเสนอขายถึงวันที่ 29 กันยายนนี้ โดยกองทุนเน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่เสนอขายในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีและมั่นคง และมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเต็มจำนวน ทั้งนี้ เมื่อครบอายุกองทุน บริษัทจะดำเนินการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกองทุนเปิด M-Korea 5 และสับเปลี่ยนอัตโนมัติไปยังกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี พันธบัตรตลาดเงิน (MM-GOV)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|