บัตรกรุงไทยมั่นใจปีหน้าโต30%หลังเพิ่มทุนขยายสินเชื่อส่วนบุคคล


ผู้จัดการรายวัน(24 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

บัตรกรุงไทย เผยปีหน้าบริษัทเติบโต 30% หลังขยายสินเชื่อบุคคล พร้อมคาดการณ์ 1 ปี ยอดลูกค้าถึงแสนราย ชี้ตลาดบัตรเครดิตยังโตได้อีกมากปีหน้าทะลุล้านใบ ฐานการเงินแข็งหลังเพิ่มทุนอีกกว่า 3 พันล้านให้สิทธิผู้ถือเดิม 1 หุ้นต่อ 1.5 หุ้นใหม่ D/E ลดลงเหลือ 1.9 เท่า ขณะที่โบรกเกอร์เสียงแตกแนะนำทั้งซื้อลงทุน และขายหุ้นทิ้ง

นายนิวัตน์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในอนาคตว่า ในปี 2547 บริษัทคาดว่าจะมีอัตราการขยาย ตัวสูงกว่าปีนี้ โดยในปีนี้คาดจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 30%

สำหรับสาเหตุที่ทำให้บริษัทมั่นใจว่าในปีหน้าจะมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าปีนี้ สืบเนื่องจากในเดือนหน้าบริษัทจะออกสินเชื่อส่วนบุคคล และคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า พอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัทจะอยู่ที่ 30% ของพอร์ตรวม

ทั้งนี้หลังจากที่บริษัทได้ออกสินเชื่อส่วนบุคคลไปแล้วคาดว่าใน 12 เดือนแรก จะมีฐานลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 100,000 ราย วงเงินที่ปล่อยกู้เฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 บาทต่อคน หรือจะทำให้พอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 21-25% โดยแบ่งอัตราดอกเบี้ยออกเป็น 3 ระดับตามความเสี่ยงของลูกค้า กลุ่มเป้าหมายคือ บุคคลที่มีรายได้ 7,500-15,000 บาทต่อเดือน ในช่วงเริ่มแรกเน้นในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

ส่วนธุรกิจด้านบัตรเครดิตจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าในปีนี้จะมียอดบัตรเพิ่มอีก 250,000 บัตร จากสิ้นปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 800,000 บัตร จำนวนผู้ถือบัตรในประเทศไทยเฉลี่ย 3 บัตรต่อ 1 คน ซึ่งน่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่มียอด 5.5 บัตร ต่อ 1 คน

ด้านฐานะทางการเงินจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นภายหลังการเพิ่มทุนจาก 1,050 ล้านบาท เป็น 2,579 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 152.9 ล้านหุ้น เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิม ต่อ 1.5 หุ้นสามัญใหม่ ในราคาหุ้นละ 20 บาท ส่วนอีก 2.9 ล้านหุ้น จัดสรรเพื่อรองรับการปรับอัตราการใช้สิทธิแปลงสภาพของใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จัดสรรให้กับพนักงานและกรรมการบริษัท ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งบริษัทจะไม่ทำการเพิ่มทุนอีกในระยะเวลา 2-3 ปี แต่ในด้านของการกู้ยืมเงินเพื่อนำมาขยายธุรกิจนั้นยังมีอยู่

"การที่เลือกวิธีเพิ่มทุนเนื่องจากมองว่าจะได้ต้นทุนทางการเงินที่คงที่ สามารถควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าการกู้ยืมจากตลาดเงิน เพราะตลาดเงิน ทุกคนมองว่าดอกเบี้ยในอนาคตอาจมีการปรับเปลี่ยน และที่สำคัญบริษัทใหญ่ที่เตรียมออกตราสารทางการเงินที่คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ได้เริ่มมีปัญหาเนื่องจากไม่สามารถขายในตลาดได้ เราจำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องนี้มากและต้องมองระยะยาว และต้องปรับตัวก่อนให้เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอีก และการเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงจาก 5.58 เท่า มาเป็น 1.9 เท่า ทำให้สถานะทางการเงินแข็งแกร่ง ในการระดมทุน หรือกู้ยืมครั้งหน้าก็จะทำได้ง่ายขึ้น"

สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นครั้งนี้จำนวน 3,000 ล้านบาทนั้น เพื่อนำไปขยายธุรกิจ และรองรับการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะออกในเดือนหน้า สำหรับในสิ้นปีนี้คาดว่าพอร์ตรวมของบริษัทจะอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากในแต่ละเดือนยอดลูกหนี้คงค้างได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 400 ล้านบาทต่อเดือน

"ในปีหน้าเชื่อว่ายอดลูกหนี้คงค้างจะเพิ่มมากกว่านี้ เพราะมีพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลเข้ามาอีกในอนาคตอีกไม่เกิน 2 ปี สัดส่วนของพอร์ตสินเชื่อบุคคลจะเพิ่มเป็น 30% ของพอร์ต"

หลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินว่า บริษัทจะได้เงินจากการเพิ่มทุนครั้งนี้จำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจใหม่คือสินเชื่อส่วนบุคคลและ Asset Finance ซึ่งการประกาศเพิ่มทุนครั้งนี้อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ราคาหุ้นมีการปรับสูงขึ้น โดยราคาหุ้นที่เสนอขาย ที่ 20 บาท ต่ำกว่าราคาตลาด

ขณะเดียวกันราคาเสนอขายยังสูงกว่ามูลค่าบัญชีที่ 17.93 บาท ณ สิ้น ปี 2546 ทำให้มูลค่าบัญชีใหม่ไม่ถูก dilute สำหรับกำไรต่อหุ้นในปีนี้ถูก dilute จากจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น 1 เท่าครึ่ง แต่มองว่าการเพิ่มทุนแทนการออกหุ้นกู้จะทำให้ไม่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยอีกทั้งฐานทุนที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้บริษัทสามารถกู้เพิ่มได้มากขึ้น ในอนาคต เพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปี 2547 กำไรต่อหุ้นคง จะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง เนื่องคงเป็นไป ได้ยากที่บริษัทจะสามารถทำกำไรให้เติบโตได้ในอัตราจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น แต่บล.ฟิลลิปยังคงมีมุมมองเป็นบวกในระยะยาว โดยมองว่าอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูง การเพิ่มทุนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด

ทั้งนี้มองราคาหุ้น KTC ควรซื้อขายอยู่ที่ราคาเฉลี่ยของค่าทั้งสองหรือ ที่ราว 38.60 บาท เปรียบเทียบกับราคา หาก XR เมื่อวานที่ 30.10 บาท โดยยังคงแนะนำให้ "ซื้อลงทุน"

บล.กรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่าได้ ปรับลดคำแนะนำจาก ซื้อ เป็นขาย จาก Dilution Effect ของ EPS ในการเพิ่มทุนครั้งนี้ที่สูงถึง 60% แม้ว่าประมาณการกำไรสุทธิปี 2547 จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ถึง 67% แต่ไม่สามารถเอาชนะ DilutionEffect ที่เกิดขึ้นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.