ครม. ไฟเขียวตั้งบริษัท อุตสาหกรรมการบิน ลงทุนขั้นแรก 100 ล้านบาท หวังเตรียมความพร้อม
สานฝันไทยเป็นศูนย์กลางการบิน สั่งกระทรวงคมนาคม-กลาโหม ศึกษา 2 แนวทาง ให้ต่างชาติตั้งทั้งหมด
หรือให้คนไทยทำ แต่ระยะแรกอาจดึงต่างชาติร่วมทุนก่อน ขณะที่ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่งหุ้นการบินไทย
เตรียมขาย 385 ล้านหุ้นให้ประชาชนทั่วไปรอบ 2 สิ้นปีนี้ แถม 15 ล้านหุ้น บวกวอร์แรนต์ให้พนักงาน
คลังพร้อมซื้อหุ้นเพิ่มไม่เกิน 57.75 ล้านหุ้น เพื่อเพิ่มฟรีโฟลทหุ้น THAI ในตลาดหลักทรัพย์
โดยรัฐบาลไทยมีเป้าหมายถือหุ้นสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ไม่เกิน 67%
น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้
(23 ก.ย.) มีมติเห็นชอบในหลักการ ตั้งบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด เบื้องต้นเสนอเงินลงทุนขั้นแรก
100 ล้านบาท ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมอบหมายกระทรวงคมนาคมและกลาโหม
ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางตั้งบริษัท
โดยให้เน้นในรายละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินลงทุนและการดำเนินการต่าง
ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการตั้งบริษัทอุตสาหกรรมการบิน ควรต้องทำให้เป็นระบบ
และทำให้พร้อมมากที่สุดเพื่อ จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน
กระทรวงคมนาคมรายงานที่ประชุมครม. ว่ากิจการการบินของไทย ดำเนินการเกือบ 100
ปีแล้ว มีอากาศยาน 1,000 กว่าลำ ทั้งของเอกชนและรัฐวิสาหกิจ แต่ที่ผ่านมาไทยยังขาดศูนย์ซ่อมอากาศ
ยานขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันไทยส่งอากาศยานซ่อมต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์
ไต้หวัน หรือมาเลเซีย เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีศูนย์ซ่อมขนาดใหญ่ครบวงจร การส่งเครื่องบินซ่อม
ทำให้ประเทศไทยเสียรายได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท/ปี
ทั้งนี้มี 2 วิธีการดำเนินการตั้ง วิธีแรก ชักจูงบริษัทต่างชาติลงทุนดำเนินตั้งบริษัท
วิธีที่ 2 ตั้งและลงทุนโดยคนไทยพร้อมเชิญต่างชาติร่วมทุนระยะแรก ซึ่งระยะยาวจะให้คนไทยดำเนินการเองทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณยังให้ความเห็นอีกว่าการตั้งบริษัทอุตสาหกรรมการบินเชื่อว่าประเทศ
ไทยจะสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากศักยภาพเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นด้านพื้นที่ตั้ง
รวมถึงบุคลากร ซึ่งการดำเนินการตั้งดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้
นับ 1 ไฟลิ่งการบินไทย
ด้าน ก.ล.ต. นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล บริษัท การบินไทย (THAI) จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไป
385 ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นสามัญ และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ให้พนักงานบริษัท 15 ล้านหุ้น ระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน ลงทุนโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
และปรับปรุงผลิตภัณฑ์บนเครื่องบิน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่
22 ก.ย. สำนักงานก.ล.ต.เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) บริษัท การบินไทยซึ่งจะเสนอขายหุ้น
สามัญเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไป
คลังหวังเพิ่มฟรีโฟลท THAI
ตามมติคณะรัฐมนตรี บริษัทและกระทรวงการคลัง จะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป
385 ล้านหุ้น บริษัทจะเสนอขายหุ้นสามัญ และ/หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ
พนักงานบริษัท โดยมีหุ้นสามัญออกใหม่เพื่อเสนอขาย หรือรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าว
15 ล้านหุ้น ตามโครงการจัดสรรหลักทรัพย์ให้พนักงาน
การเสนอขายหุ้นครั้งนี้ กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิม จะซื้อหุ้นหลังจากการบินไทยเสนอ
ขายหุ้น ไม่เกิน 57.75 ล้านหุ้น เพื่อให้ผู้จัดจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย
สามารถจัดสรรหุ้นเกินจำนวนที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปได้ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ความต้องการซื้อหุ้นการบินไทย
ในหมู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น เมื่อราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่าราคาเสนอขาย หากราคาหลักทรัพย์สูงกว่าราคาเสนอขาย
อาจมีปริมาณหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Free float) ได้มากขึ้น
บริษัทแต่งบริษัทหลักทรัพย์ 6 แห่งเป็นที่ปรึกษาการเงิน และผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการ
จำหน่าย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เจ พี มอร์แกน (ประเทศไทย) ในเครือกลุ่มมอร์แกนจากแดนมะกัน
บล.ธนชาติ บล.เมอร์ริล ลินช์ ภัทร บล.ไทยพาณิชย์ บล.บัวหลวง และบล.แอสเซท พลัส
รัฐบาลถือไม่เกิน 67%
รัฐบาลจะลดสัดส่วนถือหุ้นการบินไทยเหลือไม่ ต่ำกว่า 70.6% ของทุนชำระแล้วของบริษัท
หรือ 67.2% กรณีผู้ถือหุ้นทั่วไปใช้สิทธิซื้อหุ้นเกินจำนวนที่จัดสรร
ปัจจุบันบริษัท การบินไทยทุนจดทะเบียน 1.7 หมื่นล้านบาท 1.7 พันล้านหุ้นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ
10 บาท ทุนชำระแล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท หลังเสนอขาย หุ้นประชาชนทั่วไปรอบนี้ และขายได้หมดทั้งจำนวน
จะทำให้ทุนชำระแล้วเพิ่มเป็น 1.685 หมื่นล้านบาท
ณ 14 ส.ค. โครงสร้างผู้ถือหุ้น ได้แก่ กระทรวงการคลัง ถือ 79.46% ธนาคารออมสิน
13.39% ที่เหลือ 7.15% กระจายสู่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพนักงานบริษัท
5 ปีลงทุนแสนล้านบาท
บริษัทมีโครงการดำเนินงานตามแผนวิสาหกิจของบริษัทปีงบประมาณ 2546-2550 จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น
1.20 แสนล้านบาท ใน 5 ปี โดยมีโครงการต่างๆ ดังนี้
ขยายเส้นทางบิน โดยลงทุนจัดหาเครื่องบิน เงินลงทุนทั้งสิ้น 7.07 หมื่นล้านบาท
มีแผนขยายให้บริการการบินไป 27 จุดบิน และเพิ่มเที่ยวบิน 154 เที่ยว หาเครื่องใหม่
17 ลำ ซึ่งจะกำหนดจะรับมอบช่วงระหว่างปีงบประมาณ 2547-2550 มีแผนลดเครื่อง บินเก่า
2 ลำปี 2550 หลังดำเนินการตามแผนการลงทุน บริษัทจะมีเครื่องบิน 96 ลำ
บริษัทจะลงทุนหาเครื่องยนต์ อุปกรณ์ และอะไหล่เครื่องบิน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1.8
หมื่นล้านบาท ลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์บนเครื่องบิน 7.53 พันล้านบาท ลงทุนโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
1.3 หมื่นล้านบาท และลงทุนสินทรัพย์ถาวรอื่น ไม่รวมโครงการสุวรรณภูมิ 9.19 พันล้านบาท
หรือประมาณ1.83 พันล้านบาทต่อปี
การบินไทยโยกย้ายผู้บริหาร
รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าในการประชุมคณะกรรมการบริษัทที่มี
นายทนง พิทยะ เป็นประธาน จะมีการพิจารณาอนุมัติตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ การบินไทย
จำนวนกว่า 29 ตำแหน่ง แบ่งเป็น รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการพาณิชย์ และรองกรรมการ
ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายบริการลูกค้า และอนุมัติโยกย้าย และแต่งตั้งตำแหน่ง ผู้อำนวยการใหญ่
เพิ่มอีก กว่า 27 ตำแหน่ง ตามที่ฝ่ายบริหารการบินไทยเป็นผู้เสนอ โดยจะมีการเสนอโยกย้ายให้นายสุเทพ
สืบสันติวงศ์ ดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ฝ่ายการพาณิชย์
จากเดิมที่บอร์ดการบินไทยเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมาอนุมัติให้ดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
ฝ่ายบริการลูกค้า ส่วนตำแหน่ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายบริการลูกค้านั้น
มีตัวเก็งที่คาดว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติ อยู่ 2 คน คือ นายชาญชัย สิงห์โตโรจน์
ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่าย วางแผนการตลาดและบริหารรายได้ และนายธรรมศักดิ์ ชุติวงศ์ ผู้อำนวย
การใหญ่ ฝ่ายบริหารภาวะฉุกเฉินและศูนย์ข้อมูลการ บริหาร
สำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่จะมีการเสนออนุมัติ โยกย้าย และแต่งตั้ง รวมกว่า
27 ตำแหน่ง โดยจะมีการแต่งตั้งใหม่เพิ่มอีก 6 ตำแหน่ง ตามโครงสร้างใหม่ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างสำหรับ
ตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจะประกอบด้วย ตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขายภาคพื้นตะวันออก,
ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขายภาคพื้นตะวันตก , ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการพนักงานต้อนรับบน
เครื่องบิน , ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการลงทุนสัมพันธ์, ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายธุรกิจปิโตรเลียมการเชื้อเพลิง
และประกันภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากการบินไทยต่อว่า สำหรับตำแหน่ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
ฝ่ายการพาณิชย์นั้น เดิมบอร์ดการบินไทย เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้
นายกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย รักษาการในตำแหน่ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
ฝ่ายการพาณิชย์ และโยกย้ายให้นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่าย
บริหารทรัพยากรบุคคล มาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริการลูกค้า
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่าการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูง
การบินไทย นั้นตนไม่ทราบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอำนาจในการดำเนินการ อยู่ที่ นายทนง
พิทยะ ประธานบอร์ด การบินไทย จะเป็นผู้พิจารณาให้มีความเหมาะสมกับตำแหน่งมาก ที่สุด
เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามโครงสร้างที่มีการปรับปรุงใหม่