AISพลิกแผนชู "การตลาด"นำเทคโนโลยี


ผู้จัดการรายวัน(23 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เอไอเอส ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำตลาด จากเทคโนโลยีนำการตลาดหรือเทคโนโลยีมาร์เกตติ้ง เป็น คอนซูเมอร์ มาร์เกตติ้ง ไม่เน้นโปรโมชั่นแต่เน้นบริการที่หลากหลายพร้อมปรับเปลี่ยน ร้านเทเลวิชขึ้นเป็นโอเปอเรเตอร์ เซอร์วิส สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายให้แกร่ง ส่วนผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกมีรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท มีฐานลูกค้าใหม่ 2.8 ล้านราย จากผู้ใช้บริการ 12.4 ล้านราย ตั้งเป้าผู้ใช้บริการสิ้นปีนี้ 13 ล้านราย จากตลาดรวม 22.2 ล้านราย

นายกฤษณัน งามผาติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า ปีหน้าเอไอเอสจะมีการเปลี่ยนแปลงตลาดจากเทคโนโลยี มาร์เกตติ้งเป็นคอนซูเมอร์มาร์เกตติ้ง ซึ่งจะทำให้ทิ้งห่างคู่แข่งจนตามแทบไม่ทัน

เนื่องจากจะมีการออกบริการใหม่ๆ ที่เป็นไวร์เลสเซอร์วิสอย่างต่อเนื่อง คือประมาณ 10 บริการต่อเดือน โดยผู้บริโภคไม่ต้องรอว่าจะมีโปรโมชั่นอะไรออกมา แต่บริการของเอไอเอสจะนำเสนอให้ผู้ใช้ได้เลือกทุกสัปดาห์

"เมื่อตลาดเริ่มอิ่มตัวการแข่งขันก็ต้องเป็นเรื่องของบริการ ซึ่งเราได้ทำล่วงหน้าไปแล้ว และขณะนี้เราได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กรแล้ว ปีหน้าคงจะเห็นชัดเจน โดยเน้นการออกบริการที่หลากหลายมากกว่าเรื่องของโปรโมชั่นเกี่ยวกับอัตราค่าบริการหรือTariff ซึ่งคู่แข่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่โปรโมชั่นเพื่อดึงลูกค้าใหม่เข้าระบบ โดยเน้น Tariff ใหม่ แต่ไม่ดูแล Tariff เก่า"

ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะร้านเทเลวิซ ภายในต้นเดือนต.ค.นี้ เอไอเอสมีแผนจะปรับเปลี่ยนชอปขายมือถือให้เป็นโอเปอเรเตอร์ เซอร์วิสเต็มตัว เพื่อให้ช่องทางการทำตลาดแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่เอไอเอสมุ่งเน้นในเรื่องของการรักษาฐานลูกค้าเก่า (Retention) และดึงลูกค้าใหม่ (Acquisition)

จากนโยบายที่เอไอเอสวางไว้ ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ จะมีบริการในลักษณะที่เป็นวาไรตี้ หรือความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีบริการที่อยู่ในฟิวเจอร์ แล็บหลายบริการที่พร้อมจะนำออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นดิจิเพน, ไฟแนนเชียล เซอร์วิส หรือโมบายล์ คาราโอเกะ

จากบริการที่หลากหลายจะทำให้เอไอเอสแตกต่างจากคู่แข่งมาก และการทำลักษณะนี้เอไอเอสเชื่อว่าจะทำให้รายได้กลับมามากเช่นกัน

นอกจากนี้ ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าเอไอเอสยังมีแผนจะปรับรูปแบบบริการ ที่เป็นโพสต์เพดกับพรีเพด ให้มีฐานที่ใกล้เคียงกัน เช่น เรื่องของค่าบริการ เพราะขณะนี้บริการที่เป็นพรีเพดกับโพสต์เพดแทบจะไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน นอกจากวิธีการชำระเงิน

ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เอไอเอสมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอับดับหนึ่ง เนื่อง จากมีกลยุทธ์การตลาดเชิงสร้างสรรค์หรือ Creative Growth ที่ไม่มุ่งเน้นการดึงลูกค้าเข้าระบบด้วยกลยุทธ์ด้านราคา แต่มุ่งเน้นที่คุณภาพด้านบริการและเครือข่าย ที่ปัจจุบันสามารถครอบคลุมการให้บริการถึง 795 อำเภอทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้ขยายลงไปถึงระดับตำบลด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นนโยบายต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีการดูแลลูกค้าทุกแง่ทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของ แพกเกจค่าบริการ การสรรหารูปแบบของกิจกรรมที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่ม

สำหรับอัตราการโตของเอไอเอสรอบปี 2546 สิ้นสุดเดือนก.ค. ประกอบด้วย 1.การให้บริการด้านเสียงหรือวอยซ์ในแบรนด์หลักคือ จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ อีโวลูชั่น, จีเอสเอ็ม 1800 และวัน-ทู-คอล! ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรวมทั้งหมด 12,453,100 ราย เป็นโพสต์เพด 20% ที่เหลือเป็นพรีเพด และเป็นลูกค้าใหม่ 2.8 ล้านราย หรือมีอัตราการโต 58%

ขณะที่ดีแทคมีลูกค้าใหม่ 9 แสนราย หรือโตประมาณ 20% ส่วนอัตราการโตโดยรวมของตลาดรอบปีนี้ เอไอเอสได้ประเมินจากอัตรการโต และการเปิดเผยของผู้ประกอบการรายอื่นแล้วคาดว่าจะอยู่ที่ 22.2 ล้านราย หรือโตขึ้นประมาณ 35% เป็นลูกค้าของเอไอเอสประมาณ 13 ล้านราย และดีแทคคาดว่าจะเพิ่มจาก 5.5 ล้านรายเป็น 6 ล้านราย ส่วนออเร้นจ์ประมาณ 2 ล้านราย

ส่วนรายได้ต่อเลขหมายของเอไอเอสจะอยู่ที่ 1,196 บาท และ 1,100 บาท สำหรับโพสต์เพด (จีเอสเอ็ม แอดวานซ์และจีเอสเอ็ม 1800) และ 321 บาทต่อเลขหมายสำหรับพรีเพด มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 60%

2.การให้บริการด้านนอน วอยซ์ และไวร์เลส เซอร์วิส ผ่านโมบายไลฟ์ อย่างดิจิไลฟ์ หรือการดูทีวีผ่านมือถือมีผู้ใช้บริการกว่า 1.5 หมื่นราย บริการ จีเอสเอ็ม อี-เมลมีผู้ใช้กว่า 5 หมื่นราย ทำให้ยอดการใช้จีพีอาร์เอสมีการโตแบบก้าวกระโดดถึง 100% ในไตรมาส 2 โดยมีผู้ใช้บริการกว่า 1.5 แสนราย ที่ใช้งานกว่า 2.5 แสนเมกะไบต์ เนื่องจากเอไอเอสมุ่งเน้นการพัฒนาบริการให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์, ง่าย และมีรูปแบบบริการที่หลากหลาย

3.การให้บริการลูกค้าองค์กร หรือเอ็นเตอร์ไพรซ์ บิสซิเนส ที่นอกเหนือจากการให้บริการแพกเกจค่าบริการด้านเสียง ที่ทำให้คุ้มค่าต่อการทำธุรกิจแล้ว เอไอเอสยังเน้นที่การพัฒนาบิสซิเนส โซลูชั่น จากแพลตฟอร์มของสมาร์ท โซลูชั่น โดยเฉพาะในแต่ละองค์กร ซึ่งประกอบด้วย

1.เอสเอ็มเอสทั้ง Push และ Pull ซึ่งมีลูกค้าให้บริการแล้ว เช่น แอมเวย์, เชลล์, โตโยต้า และอีกหลายราย 2.จีพีอาร์เอส อินเทอร์เน็ต และอินเทอร์เน็ต แอ็คเซ็ส เช่น แลนด์แอนด์เฮ้าส์, ยูนิลีเวอร์, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

3.เอ็มเอ็ม วอลล์ บรอด เช่น กองทัพภาคที่ 4

ปัจจุบันมีลูกค้าที่เป็นประเภทองค์กรถึง 71,254 ราย จากปีที่ผ่านซึ่งอยู่ที่ 3,000 ราย ขณะที่ดีแทคมีลูกค้า 3,472 ราย จากปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 2,000 ราย

สิ่งที่ทำให้เอไอเอสประสบความสำเร็จคือ การมุ่งเน้นคุณภาพ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การให้ความสำคัญกับลูกค้าทั้งในรูปแบบของแมสและ ซีอาร์เอ็ม ที่มีการศึกษาถึงเซ็กเมนเตชั่นอย่างละเอียดและอิมพลีเมนต์เป็นรูปแบบของกิจกรรมตอบแทนลูกค้าอย่างต่อเนื่องตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละแบรนด์รวมถึงการพัฒนารูปแบบของสำนักงานบริการและช่องทางการจัดจำหน่ายตลอดเวลา

สำหรับผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรก เอไอเอสมีรายได้รวม 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นรายได้จากนอนวอยซ์ประมาณ 3,000 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะทำได้ถึง 5,000 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.