ค่าโง่ทรูส่อพลิกทีโอทีเร่งยื่นหลักฐานใหม่หวั่นรัฐสูญหมื่นล.


ASTVผู้จัดการรายวัน(14 กันยายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

คดีค่าโง่ทรู 9 พันล้าน ส่อพลิก ทีโอทีเตรียมยื่นหลักฐานใหม่ให้ศาลปกครองกลาง มัด ‘ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล’ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัท อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิตในช่วงเดียวกับที่นายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานบริษัททรู เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น ถือมีส่วนได้เสียไม่เหมาะสมเป็นประธานอนุญาโตตุลาการ แถม ‘ประสิทธิ์’ยังปกปิดข้อเท็จจริง ด้านบอร์ดทีโอทีทำหนังสือด่วนแจ้งอัยการให้ยื่นหลักฐานเพิ่ม หลังพบพิรุธอัยการไม่สนหลักฐานใหม่ ไม่ยื่นเอกสารเพิ่ม ก่อนเส้นตาย 15 ก.ย.ชี้ทีโอทีแพ้รัฐสูญหลายหมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากบอร์ดบริษัท ทีโอที กล่าวว่าในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาบอร์ดได้มีมติให้ยื่นเอกสารเพิ่มเพื่อให้อัยการใช้ต่อสู้ในคดี ค่าโง่ทรู 9 พันล้านบาทในชั้นศาลปกครองกลาง ก่อนเส้นตายที่อัยการกำหนดไว้ในวันที่ 15 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดยนายธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานบอร์ดทีโอทีได้แนบหนังสือปะหน้าระบุว่าเนื่องจากภารกิจหนึ่งของสำนัก งานอัยการสูงสุดมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและโดยที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของประเทศที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ซึ่งรายได้จากผลประกอบการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะต้องส่งให้กระทรวงการคลังทุกปีเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จึงขอความกรุณาจากท่านได้โปรดส่งข้อมูลสำคัญใหม่เพิ่มเติม เพื่อความเป็นธรรมและรักษาผลประโยชน์ของรัฐไปยังศาลปกครองกลางได้พิจารณา บรรจุไว้ในสำนวนคดีความ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติไม่ให้เกิดความเสียหายในการต่อสู้คดี ความกับบริษัท เอกชนในครั้งนี้ต่อไป

‘การที่ประธานบอร์ดต้องทำหนังสือย้ำดังกล่าว เพราะอัยการที่ทำคดีคือนางสาววิรมณ ยืนนาน มีทีท่าจะไม่รับหลักฐานใหม่ และไม่ยื่นให้ศาลปกครองกลางประกอบการพิจารณา’

สำหรับคดีค่าโง่ทรู 9 พันล้านนั้น เกิดจากข้อพิพาทที่บริษัท เทเลคอมเอเชีย ฯ(ชื่อในขณะนั้น) ฟ้องร้องทีโอทีไม่ยอมจ่ายส่วนแบ่งค่าเชื่อมโยงหรือค่าแอ็คเซ็สชาร์จ จนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยมีนายประสิทธิ์ โฆวิไลกูล เป็นประธานอนุญาโตฯ ในปี 2546 และอนุญาโตฯได้ตัดสินให้ทีโอทีแพ้ต้องจ่ายส่วนแบ่งค่าแอ็คเซ็สชาร์จให้ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น เป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท โดยที่นายประสิทธิ์ได้แถลงเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าเคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ อิสระของบริษัท อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันภัยซึ่งมีคนตระกูลเจียรวนนท์เป็นกรรมการอยู่ด้วย โดยเป็นผู้แทนของฝ่ายอลิอันซ์ประเทศเยอรมัน โดยหลังจากการตัดสินของอนุญาโตฯ ทีโอทีได้ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ โดยต่อสู้ในประเด็นความไม่เป็นกลางของประธานอนุญาโตฯ

แหล่งข่าวกล่าวว่าหลักฐานใหม่ที่ทีโอทีต้องการให้ยื่นเป็นเอกสารเพิ่มไปยัง ศาลปกครองกลางชี้ได้เห็นได้ชัดเจนว่านายประสิทธิ์ปกปิดข้อเท็จจริงบางประการ ที่มีผลต่อความเป็นกลางของประธานอนุญาโตฯ กล่าวคือนายประสิทธิ์ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท อลิอันซ์ ซีพี ประกันชีวิต (เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ประกันชีวิต และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โดมิดี้) ในช่วงเดียวกับนายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริษัททรู เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น พร้อมทั้งเครือญาติเจียรวนนท์อีกหลายคนอย่างนายขจร เจียรวนนท์ (มือประสานงานภาครัฐ) นายนุกูล เจียรวนนท์ รวมทั้งมีบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือว่ามี conflict of interest อย่างชัดเจน

ดังนั้นการที่นายประสิทธิ์ไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเข้าข่ายเป็นเหตุที่ควรสงสัยถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระของนาย ประสิทธิ์ในขณะได้รับแต่งตั้งและตลอดเวลาที่ดำเนินการทางอนุญาโตฯ เป็นการขัดกับมาตรา 19 ของพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ประกอบกับเป็นการไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งส่วนที่เป็นอดีตและปัจจุบันในขณะ เป็นอนุญาโตฯซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระและความเป็นกลาง รวมทั้งขัดต่อข้อ 12 ของประมวลจริยธรรมของอนุญาโตฯซึ่งกำหนดโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม

โดยที่นายประสิทธิ์ เป็นกรรมการ บริษัท บริษัท อลิอันซ์ ซีพี ประกันชีวิต ตั้งแต่ 7 ก.ค. 2543 ถึง 29 ม.ค. 2547 และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทดังกล่าวตั้งแต่ 7 ก.ค. 2543 ถึง 11 เม.ย. 2544 ซึ่งนายประสิทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทอยู่ก่อนที่จะได้รับการแต่ง ตั้งให้ทำหน้าที่ประธานคณะอนุญาโตฯและยังคงเป็นกรรมการอยู่ต่อมาแม้ว่าจะได้ รับแต่งตั้งให้เป็นประธานอนุญาโตฯแล้วก็ตาม

แหล่งข่าวกล่าวว่าสำหรับเหตุผลที่อัยการจะไม่ยอมยื่นหลักฐานใหม่ของทีโอที เนื่องจากอ้างว่าการเป็นกรรมการในบริษัท อลิอันซ์ ซีพี ประกันชีวิต หรือ อลิอันซ์ ซีพี ประกันภัยที่นายประสิทธิ์แถลงเปิดเผยข้อเท็จจริง ก็เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นกี่นิติบุคคลก็ตาม รวมทั้งเห็นว่าไม่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมตามสัญญาพิพาทแต่อย่างใด ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นสาระสำคัญที่มีผลเปลี่ยนแปลงทางคดีแต่อย่างใด

‘คนกำลังจมน้ำ ขอแค่มีกิ่งไม้หรือขอนไม้ลอยมา ก็คงตะเกียกตะกายสุดชีวิตเพื่อคว้ามันไว้ ไม่มมีใครอยากตาย ก็เหมือนทีโอที ให้มีทางพอสู้คดีความได้ เราก็ต้องสู้สุดชีวิต ยิ่งหลักฐานใหม่ชี้ให้เห็นถึงข้อสงสัยของความไม่เป็นกลางของประธานอนุญาโตฯ ทีโอทีก็มีความหวัง ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมอัยการถึงมีท่าทีไม่อยากรับหลักฐานใหม่ ทำไมไม่ส่งหลักฐานไปให้มากที่สุด เพราะถ้าแพ้คดี รัฐต้องเสียหายเป็นหมื่นล้านบาท’

แหล่งข่าวกล่าวว่าความน่าสงสารของทีโอทีคือปัญหาสนิมที่เกิดจากเนื้อในตน เพราะหลักฐานดังกล่าวฝ่ายกม.ได้ทำเรื่องชี้แจงไปยังรักษาการกรรมการผู้ จัดการใหญ่ในปี 2550 เพื่อให้ดำเนินการทางคดีความแล้ว แต่ปรากฏว่ากรรมการชุดบอร์ดท้อปบู๊ตในอดีตบางคน ได้สั่งการด้วยวาจาให้ลืมมันเสีย ไม่ต้องส่งเอกสารไปยังศาลปกครอง พร้อมทั้งสั่งแขวนผู้บริหารด้านกม.ที่รับผิดชอบ เรื่องจึงได้หายเงียบไปจนกระทั่งถึงบอร์ดของนายธีรวุฒิ บุณยโสภณ จึงได้รีบดำเนินการในเรื่องนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.