บล.ภัทรผงาดของไทย100%


ผู้จัดการรายวัน(22 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงเวลาที่บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ซึ่งเคยเป็นโบรกเกอร์อันดับ 1 ของเมืองไทยก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจไทย-เอเชีย ปี 2540 เตรียมกลับมาผงาดอีกครั้ง หลังจากกลุ่มโบรกเกอร์-นักลงทุนมืออาชีพของไทย นำโดยนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบล.เมอร์ริล ลินช์ ภัทร ผู้คร่ำหวอดวงการตลาดทุนไทย-โลกกว่า 23 ปี ตัดสินใจซื้อหุ้นคืนจากกลุ่มเมอร์ริล ลินช์ วาณิชธนากร ยักษ์ใหญ่จากแดนมะกัน ที่มีนโยบาย "เน้นรักษาชีวิตยอมตัดอวัยวะ" ขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักนอกสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางเศรษฐกิจมะกันที่กำลังดิ่งเหว ซึ่งดีลนี้จะเสร็จสมบูรณ์ภายใน พ.ย. ปีนี้

นายบรรยงกล่าวว่าบล.ภัทรในฐานะตัวกลางทางการเงิน (Financial intermediary) มุ่งให้บริการลูกค้า 2 กลุ่ม คือนักลงทุนทั้งสถาบัน และบุคคล ที่ไม่ใช่นักเก็งกำไร และบริษัทจดทะเบียน ผู้ระดมทุน โดยบริษัทพยายามผลิตสินค้าคุณภาพ ให้ได้มาตรฐาน โดยเน้นหลักธรรมาภิบาล (Good corporate governance) เพื่อป้อนตลาดทุนไทยมาตลอด

ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 บล.ภัทรซึ่งเดิมชื่อภัทรธนกิจร่วมมือกับวาณิชธนากรยักษ์ใหญ่ระดับโลกมา ตลอด เริ่มจากการทำสัญญาทำงานวิจัย-วิเคราะห์หลักทรัพย์ร่วมกับเอสจี วอร์เบอร์ก (SG Warburg) วาณิชธนากรชั้นนำจากอังกฤษ ซึ่งตอนหลังถูกกลุ่มธนาคารยูเนียน แห่งสวิตเซอร์แลนด์ (Union Bank of Switzerland) ควบรวม และเปลี่ยนชื่อเป็นยูบีเอส วอร์เบอร์ก (UBS Warburg)

ปี 2537 ภัทรธนกิจเปลี่ยนมาจับมือกับโกลด์แมน ซาคฌ์ (Goldman Sach) จากแดนมะกัน ขณะที่ตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ-การเงินไทย-เอเชียปี 2540 ส่งผลให้บริษัทเงินทุนในไทยส่วนใหญ่ต้องปิด ซึ่งร่วมถึงบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ บริษัทแม่ของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร เพราะต่างประสบความยากลำบากจากพิษวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้กันถ้วนหน้า

ขณะเดียวกัน กลุ่มภัทรพยายามรักษา บล.ภัทรเอาไว้ โดยกลางปี 2541 บล. ภัทรตัดสินใจ ขายหุ้น 49% ราคา 5.2 พันล้านบาท ให้กลุ่มเมอร์ริล ลินช์ วาณิชธนากรยักษ์ใหญ่จากแดนมะกันอีกราย ขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นคนไทย รวมถึงธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นส่วนใหญ่ที่เหลือ

นายบรรยงเล่าว่า กลุ่มภัทรขายหุ้นให้เมอร์ริล ลินช์ ซึ่งขณะนั้นมีนโยบายกระจายการลงทุนทั่วโลก ทั้งเชิงกว้างและลึก (Wider and deeper strategy) ถึงระดับท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ด้วย 3 เหตุผลหลัก คือเพื่อให้ธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทดำเนินต่อได้ หลังจากบริษัทแม่ถูกสั่งปิด ประกอบกับต้องการเงินเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการปิด บง. ภัทรธนกิจ ทำให้ประหยัดเงินกองทุนฟื้นฟูฯ ถึงกว่า 5.2 พันล้านบาท

หลังจากเมอร์ริล ลินช์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน บล. ภัทร ระบบธรรมาภิบาลที่บริษัทใช้มาตลอด ก็ยิ่งเน้นมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงการดำเนินงานของบริษัท ให้เข้าสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น

5 ปีฟันกำไร 1.2 พันล้านบาท

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บล. เมอร์ริล ลินช์ ภัทร เพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดทุนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะได้ลูกค้า ที่เป็นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 3% ของฐานลูกค้าทั้งหมดของบริษัท 5 ปีที่แล้ว เป็น 12% ปัจจุบัน นอกจากนี้ บริษัทยังได้กองทุนในประเทศเป็นลูกค้า จาก 5 ปีที่แล้ว น้อยกว่า 5% เป็นมากกว่า 10% ปัจจุบัน

ขณะที่บริษัทช่วยลูกค้าองค์กรเอกชนระดมทุน ผ่านตราสารทุนและตราสารหนี้ มากกว่า 1.5 แสนล้านบาท ด้านกำไรตลอด 5 ปี กว่า 1.2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรต่อเนื่องทุกปี "เราไม่เคยมีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน" เขาย้ำ

แถมได้รางวัลต่างๆ จากทั่วโลกหลายรางวัล รวมถึงรางวัลบริษัทหลักทรัพย์ดีที่สุดในประเทศ ไทย ขณะที่คุณภาพพนักงาน และระบบงานดีขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน ถือว่าเข้ามาตรฐานสากล แล้ว สะท้อนจากการที่เมอร์ริล ลินช์ ช่วงเริ่มต้นที่ถือหุ้นใหญ่ บล. เมอร์ริล ลินช์ ภัทร ส่ง 5 ผู้บริหารระดับสูงชาวมะกันร่วมบริหารบริษัท รวมถึงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (Co-Chief Executive Officer) แต่ปัจจุบัน ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเป็นคนไทยทั้งหมด

เมอร์ริล ลินช์ "ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต"

นายบรรยงกล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่กลุ่มเมอร์ริล ลินช์ ถอนตัวจากการถือหุ้น บล. เมอร์ริล ลินช์ ภัทร เนื่องจากระหว่างปี 2543-44 สถานการณ์ตลาด เงิน-ตลาดทุนของโลกเปลี่ยนไป ดัชนีทั้งตลาดหุ้นนิวยอร์ก และแนสแดค ดิ่งต่อเนื่อง ทำให้วาณิช ธนกิจยักษ์ใหญ่ของโลกทุกค่าย โดยเฉพาะวาณิชธนากรมะกัน ต้องปรับนโยบายใหม่ มุ่งเน้นธุรกิจหลัก เน้นลูกค้ารายใหญ่ และบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศตะวันตก

เลิก-ถอนตัวจากการทำธุรกิจในตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) ทั่วโลกเข้าทำนอง "ตัดอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต" ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง "สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่หลายๆ ค่ายจึงต้องปรับตัวตาม" เขากล่าว

บล. ภัทรผงาดอีกครั้ง

บล. เมอร์ริล ลินช์ ภัทร จะเปลี่ยนชื่อเป็น บล.ภัทร หลังดีลคนไทย โดยเฉพาะฝ่ายบริหารบริษัทไทยปัจจุบัน ซื้อคืนหุ้นบริษัทนี้เสร็จพ.ย.นี้ ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานกว่า 150 คน ขณะที่เมอร์ริล ลินช์ และบล.ภัทรยังมีข้อตกลงร่วมกัน พัฒนางานวิจัยตลาดทุนไทย รวมถึงให้บล.ภัทรเข้าถึงข้อมูลวิจัยของเมอร์ริล ลินช์ได้ทั่วโลก เพื่อ บล.ภัทรจะยังคงสามารถให้บริการลูกค้านักลงทุนสถาบันต่างประเทศทั่วโลกงานวาณิชธนกิจให้บริษัทไทยระดมทุนใหญ่ข้ามชาติ ผ่านเครือข่ายเมอร์ริล ลินช์

บล. ภัทรมีเป้าหมายให้บริการลูกค้าบุคคลไทย กองทุนรวมของไทย ต่อเนื่อง รวมถึงบริษัทไทยขนาด ใหญ่ ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market capitalization) ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทต่อแห่ง ซึ่ง ยืดหยุ่นได้

"เรายังมุ่งเน้นที่จะใช้ทรัพยากร เครือข่ายและ เทคโนโลยีร่วมกัน ด้วยจุดมุ่งหมายที่ลูกค้าต้องได้รับบริการที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน บล. ภัทรมุ่งแนะนำนักลงทุนลงทุนหุ้นโดยดูปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก เน้นให้บริการลูกค้านักลงทุนสถาบัน รวมถึงรายบุคคลที่เน้นปัจจัยพื้นฐาน" เขากล่าว

แบงก์กสิกรก็ขาย

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทปัจจุบัน ก็จะขายหุ้นคืนให้ฝ่ายบริหาร-พนักงาน บริษัททั้งหมด

"เราต้องขอขอบคุณธนาคารกสิกรไทย ที่เป็นผู้มีบุญคุณกับบริษัทของเรา เพราะเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ทำนุบำรุงให้เราเติบโต ค้ำจุนเราเมื่อเราเซ ผมคิดว่าการที่ธนาคารกสิกรไทยขายหุ้น บล.ภัทร เพราะคิดว่าขณะนี้ เราโตพอที่จะดูแลตัวเองได้แล้ว" นายบรรยงกล่าว

โครงสร้างใหม่ฝ่ายบริหารถือหุ้นใหญ่

ปัจจุบัน บล. เมอร์ริล ลินช์ ภัทร ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 800 ล้านบาท 160 ล้านหุ้น พาร์ 5 บาท กำไรสะสมประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งดูน้อย เพราะบริษัทจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นทุกปี โครงสร้าง ผู้ถือหุ้นใหม่ ประกอบด้วย 61 ผู้ถือหุ้น เป็นผู้บริหาร ระดับสูงคนไทยในบริษัทปัจจุบัน 9 คน รวมทั้งตัวนายบรรยง ถือหุ้นรวมกัน 50.5% พนักงาน 40 คน ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่าย ถือ 38% ขณะที่ที่เหลือ อีก 11.5% ถือโดยบุคคลภายนอก 12 คน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.