ยกเครื่องโรลส์-รอยซ์ รักษาความคลาสสิกและวิ่งตามโลกให้ทัน


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

เดนนิส โจนส์ (DENNIS JONES) เป็นช่างประกอบหม้อน้ำรถยนต์โรลส์-รอยซ์ (ROLLS-ROYCE) ซึ่งตั้ง ณ เมืองครูว์ แขวงเชเชียร์ ตลอดช่วง 17 ปีที่ประจำการมา เขาผลิตผลงานได้เกือบ 6,000 ชิ้น โดยยังไม่เคยใช้วัสดุตามแบบมาตรฐานทั่วไปเลยสักชิ้น หม้อน้ำรถทุกคันของทางบริษัทได้รับการออกแบบประดิษฐ์ขึ้นเป็นการเฉพาะ เน้นให้มีลักษณะโค้งมนตามหลักการที่คาลลิเครตีส (KALLI KRATES) ใช้สร้างวิหารพาเธนอน ซึ่งเชื่อว่าเส้นตรงหรือพื้นผิวแบนราบไม่เอื้อต่อแสงเงา โจนส์สามารถทำให้ชิ้นงานของเขาเล่นเงาจับตาได้ด้วยการคงความโค้งกลมกลึงเอาไว้ตามหลักเช่นว่านี้เอง

โจนส์คือภาพลักษณ์แห่งมาตรฐาน ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมของบริษัทผู้ผลิตรถ "โรลเลอร์" ซึ่งคนส่วนใหญ่ล้วนยอมรับโดยไร้ข้อกังขาว่า เป็นรถยี่ห้อดีเลิศของโลก โรลส์รอยซ์โอ้อวดเช่นนี้ได้เต็มปากด้วยผลงานตลอดระยะ 80 ปีที่ก่อตั้งบริษัท เพราะรถคุณภาพเยี่ยมไร้ตำหนิที่ผลิตออกมาเป็นที่ปรารถนาของผู้ลงชื่อสั่งจองเรื่อยมา แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้วทางบริษัทตกอยู่ในสภาพเฉียด ๆ จะล่มจม จึงต้องเปลี่ยนมือให้นักการตลาดเข้ามาบริหารกิจการแทนเพื่อกอบกู้ฐานะเอาไว้ให้ได้ ปีเตอร์ เวิร์ด (PETER WARD) ประธานฝ่ายบริหารของโรลส์-รอยซ์ยืนยันว่า "ฝ่ายการตลาดพร้อมจะดำเนินแผนการตลาดให้ ถ้าหากทางวิศวกรเขาประสงค์?"

ความสำเร็จของนโยบายเยี่ยงนี้จะพิสูจน์ให้ประจักษ์ชัดอีกวาระ เมื่อทางวิคเกอร์ (VICKER) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโรลส์-รอยซ์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1980 จะแถลงผลการดำเนินงานประจำปีให้ทราบกันในเร็ว ๆ นี้ บริษัท วิคเกอร์มีสายผลิตภัณฑ์อยู่หลายหลากประเภท ตั้งแต่แผ่นเพลทสำหรับใช้กับกล้องจุลทัศน์อิเล็คตรอนไปจนกระทั่งถึงรถถังที่ใช้ในสมรภูมิรบ แต่กระนั้นก็ตามสินค้าตัวที่ทำการให้แก่บริษัทได้สูงสุดก็คือ รถโรลส์-รอยซ์ ในปี 1986 โรลส์-รอยซ์ทำยอดกำไรก่อนหักภาษีได้ 17.5 ล้านปอนด์ เท่ากับร้อยละ 10 ของรายได้จากห้องแสดงสินค้า และคิดเป็นร้อยละ 30 ของยอดกำไรของทางวิคเกอร์โดยรวม ปีที่ผ่านมาปริมาณการผลิตรถทวีขึ้นจาก 200 เป็น 2,800 คัน และมีแนวโน้มว่าผลกำไรต่อคันจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 7 รายชื่อสั่งจองรถล่วงหน้าในอังกฤษยืดเยื้อต่อเนื่องไปจนถึงปี 1989 เลยทีเดียว

เวิร์ด หนุ่มวัย 42 ผู้นำคณะบริหารโรลส์-รอยซ์ที่รับผิดชอบต่อผลลัพธ์นี้โดยตรงย้ายจากทัลบอทมอร์เตอรส์ (TALBOT MOTORS) มาสู่โรลส์-รอยซ์เมื่อปี 1983 ก่อนหน้านั้นเขาเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายอยู่ที่บริษัทบีแอลส์ยูนิพาร์ท (BL'S UNIPART) จากอดีตนักขายเครื่องอะไหล่กลับเข้ามารับภาระบริหารอุตสาหกรรมแสนโอ่อ่า ที่ภาคภูมิใจกันกับการผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จำนวน 80,000 ชิ้นขึ้นเองถึงร้อยละ 62 ผลิตเองแม้กระทั่งชิ้นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างวงแหวนรองตัวน็อตและตัวสลักเกลียว

สถานการณ์ค่อนข้างย่ำแย่ของบริษัทปะทุขึ้นในปี 1983 เนื่องมาจากการประเมินปริมาณการผลิตคลาดเคลื่อน และการจัดการผิดพลาดจนผลกำไรตกฮวบเหลือเพียง 1.1 ล้านปอนด์เท่านั้น บรรดาตัวแทนจำหน่ายพากันตระหนกต่อยอดขายที่ลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องไม่น่าเกิดขึ้นได้ ปีนั้นคนงานจำนวน 2,800 คนต้องเลิกทำงานไปนานถึง 5 สัปดาห์ ถือเป็นการให้หยุดงานอย่างจริงจังหนแรกในระยะ 23 ปีที่ผ่านมา วิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นที่ตื่นตะลึงในหมู่นักสังเกตการณ์อย่างยิ่ง หนังสือไฟแนนเชียลไทมส์ (FINANCIAL TIMES) รายงานบรรยากาศเอาไว้ว่า "รอบเขตโรงงานระอุด้วยความขุ่นเคืองและทุกถ้อยสนทนาเจือด้วยน้ำเสียงคัดค้าน" เนื่องจากวิกฤตเยี่ยงนี้ไม่เคยเป็นที่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้นกับบริษัทที่บรรดาคนงานผูกพันภักดีสืบมาหลายชั่วอายุคน เป็นบริษัทที่บุตรชายเคยตามรอยเท้าบิดาเข้ามาทำงานด้วยความภูมิอกภูมิใจมาก่อน

ตั้งแต่นั้นมางานกว่า 2,000 ตำแหน่งก็ถูกยกเลิกทิ้งไป โดยที่เหล่าคนงานประมาณกว่า 4,000 คนที่ถูกเลิกจ้าง ได้รับการแถลงให้ทราบเป็นครั้งสุดท้ายถึงรายละเอียดทางการเงินที่ทางบริษัท ถือว่าเป็นเรื่องลับสุดยอดในที่ประชุมประจำเดือนก่อนออกกันไปราวกลางปีนี้งานในฝ่ายผลิตก็จะ "ว่ากันสด ๆ" ด้วยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงไปยังห้องแสดงสินค้าของตัวแทนจำหน่ายรายต่าง ๆ ทางโรงงานจะสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยวิธีการอันทรงประสิทธิภาพ ซึ่งส่อนัยให้เห็นว่า ในที่สุดโรลส์-รอยซ์ก็ได้เรียนรู้แล้วว่า การตลาดจำต้องร่ายกลยุทธเบิกทางให้แก่ตัวสินค้า

โรลส์-รอยซ์เริ่มขยายและเบนตำแหน่งครองใจไปยังกลุ่มลูกค้าอีกลักษณะหนึ่ง จากภาพลักษณ์ดึงดูดใจเศรษฐีเก่าที่สะท้อนออกมาด้วยการใช้พวกดารายอดนิยมหรืออื่น ๆ ในทำนองนั้นเป็นสื่อมาเป็นกลุ่มเศรษฐีใหม่และครอบคลุมไปถึงบรรดาพวกที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอย่างสุ่มเสี่ยงด้วย แผนการโฆษณาที่ทางบริษัทบรู๊คส์แอนด์เวอร์นอนส์ (BROOKES AND VERNONS) เป็นตัวแทนรับทำให้แก่โรลส์-รอยซ์นั้นวางตำแหน่งครองใจไว้ที่ตลาดกลุ่มนี้อย่างเห็นได้ชัด โดยใช้ถ้อยคำยั่วยุใจเศรษฐีใหม่ อย่างเช่น "อย่าเขินที่จะเป็นเจ้าของโรลส์-รอยซ์สักคันถือว่ามันคือเครื่องประดับความมานะบากบั่นแก่คุณเถิด"

ด้านตัวแทนจำหน่ายนั้น เวิร์ดเป็นผู้เลือกเฟ้นตัดทอนลงจาก 72 เหลือเพียง 38 รายเท่านั้น ทั้งยังสร้างเรื่องชวนพิศวงด้วยการส่งเสริมการขายรถมือสอง แทนที่จะเป็นรถใหม่เอี่ยม เพื่อคงยอดจำหน่ายไม่ให้ลดลง นอกจากนี้เขายังเร่งมือในการเจาะตลาดสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ตัวแทนจำหน่ายโรลส์-รอยซ์ในแมนฮัตตันยืนยันว่า ทำยอดขายได้ไม่เกินปีละ 35 คัน แต่เวิร์ดไม่สนใจขีดจำกัดที่ว่า เขาตรงไปเจรจากับเจ้าของโกดังสินค้าย่านใจกลางเมืองที่ค้ารถโรลส์-รอยซ์ซึ่งสั่งเข้าจากแคนาดามาค้าแบบกึ่งตลาดมืด แล้วเสนอข้อตกลงทำสัญญากันไว้ ปรากฏว่าบัดนี้ไมเคิล ชูดรอฟฟ์ (MICHEAL SCHUDROFF) ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายที่มีอำนาจเต็มตามสิทธิ์ประจำสาขานิวยอร์ก สามารถทำยอดขายรถให้ได้ถึง 175 คันเมื่อปีก่อน

ทางบริษัทเร่งปลุกเร้าแผนการตลาดใหม่ ๆ ชนิดที่ไม่เคยนึกฝันกันมาก่อนเลยอย่างเต็มที่ พยายามครองใจลูกค้าด้วยกิจกรรมประเภทยิงเป้านิ่ง แข่งโปโลสุดสัปดาห์ และงานเลี้ยงค็อกเทล ประกอบกับจัดพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์รูปเล่มหรูชื่อ เควสต์ (QUEST) แจกให้แก่ผู้ใช้รถโรลส์และรถเบนท์ลีย์ (BENTLEY) ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไป

ไม่มีอะไรเร่งปลุกเร้าแผนการตลาดใหม่ ๆ ชนิดที่ไม่เคยนึกฝันกันมาก่อนเลยอย่างเต็มที่ พยายามครองใจลูกค้าด้วยกิจกรรมประเภทยิงเป้านิ่ง แข่งโปโลสุดสัปดาห์ และงานเลี้ยงค็อกเทล ประกอบกับจัดพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์รูปเล่มหรูชื่อเควสต์ (QUEST) แจกให้แก่ผู้ใช้รถโรลส์และรถเบนท์ลีย์ (BENTLEY) ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไป

ไม่มีอะไรสะท้อนทัศนะใหม่ของโรลส์-รอยซ์ได้แจ่มแจ้งเท่ากับการเข็นรถเบนท์ลีย์กลับคืนสู่ตลาดอีกครั้งแล้วช่วงต้นทศวรรษ 1980 เบนท์ลีย์แทบไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับโรลส์ เมื่อปี 1982 รถยี่ห้อนี้ทำยอดขายให้ทางบริษัทได้เพียงร้อยละ 4 ของรายได้บริษัทเท่านั้น ระหว่างที่เวิร์ดนั่งรถไฟจากครูว์ไปลอนดอน จู่ ๆ เขาก็คิดตกว่าจะวางตลาดรถเบนท์ลีย์ในกลุ่มลูกค้าที่ประสงค์จินตภาพแบบลำลองในราคาที่ย่อมเยาลงสักหน่อย เขาออกตัวว่า "นักการตลาดที่ตาบอดหรือมือไม่ถึงเท่านั้นที่นึกไม่ออกว่า เบนท์ลีย์เคยมีชื่อแค่ไหนในอดีต" รถเบนท์ลีย์เคยกวาดชัยชนะในการแข่งรถประเภท 24 ชั่วโมงของเลอมังส์ (LE MANS) ปีแล้วปีเล่าตลอดการแข่งขันช่วงทศวรรษ 1920 ทางบริษัทจึงพยายามปลุกชื่อเสียงอันเคยครึกโครมในอดีตกาลกลับคืนมาใหม่ ถึงกับยอมใช้แผ่นตะแกรงหน้าหม้อน้ำแบบมาตรฐานทั่วไปสำหรับรถรุ่นที่ราคาต่ำสุด คือ เบนท์ลีย์ 8 ในช่วงปีที่แล้วเบนท์ลีย์ทำยอดขายสูงถึงร้อยละ 48 ของยอดจำหน่ายโรลส์-รอยซ์ในอังกฤษ และบุกตลาดสหรัฐอเมริกาตลอดจนญี่ปุ่นได้อย่างสวยงาม

มือบริหารที่ผลักดันอยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ ล้วนเพิ่งเข้ามาทำงานที่นี่ใหม่ทั้งนั้น คณะกรรมการระดับบริหารของบริษัทเปลี่ยนตัวกันใหม่หมดในชั่วเวลาเพียง 4 ปีที่ผ่านมา น่าจะให้คนนอกเข้าใจไปหรอกว่า บริษัทรถยนต์ชั้นนำแห่งนี้ถูกยำใหญ่โดย "เจ้าพ่อ" จากหลาย ๆ บริษัทรถเสียแล้ว ผู้จัดการฝ่ายการตลาดคือเวิร์ด ย้ายมาจากทัลบอท มอเตอรส์ เมื่อปี 1986 เขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะบริหาร โดยควบเอาตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหารไว้พร้อม ๆ กัน ในบริษัทที่ยังถือแบบแผนพิธีรีตองอย่างเหนียวแน่นเช่นนี้ การทะยานก้าวของเขาถือว่าควรต้องจับตามองอย่างยิ่ง

ไมค์ ดันน์ (MIKE DUNN) ผู้เคยคุมงานด้านพัฒนาผลผลิตที่บริษัทฟอร์ด (FORD) ย้ายเข้ามาเป็นผู้จัดการแผนกวิศวกรรมเมื่อปี 1983 เค็น เลีย (KEN LEA) เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตที่บริษัทเลย์แลนด์วีเคิลส์ (LEYLAND VEHICLES) เพิ่งเข้ามาทำงานกับโรลส์-รอยซ์ในตำแหน่งเดิมเมื่อปีที่แล้วนี้เอง มัลคอล์ม ฮาร์ท (MALCOLM HART) อดีตผู้จัดการสาขาจากบริษัทออสตินโรเวอร์ (AUSTIN ROVER) เข้ารับช่วงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดต่อจากเวิร์ดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1986 ส่วนอีกคนที่เพิ่งมาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้วคือโฮเวิร์ด โมเชอร์ (HOWARD MOSHER) ผู้จัดการฝ่ายวางแผนผลผลิตและควบคุมกำหนดการผลิตคนใหม่ เขาได้เอ็มบีเอมาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ทำงานอยู่กับบริษัทอเมริกันมอเตอร์ส (AMERICAN MOTORS CORPORATION) อยู่นาน 12 ปี จากนั้นก็มาเป็นรองประธานฝ่ายการตลาดของโรลส์-รอยซ์ภาคพื้นอเมริกา ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งนี้ในที่สุด

ผู้บริหารชุดนี้อันได้แก่ โมเชอร์ อายุ 41 ปี เลีย 48 ฮาร์ทจะครบ 50 เดือนนี้ ส่วนดันน์มีอาวุโสที่สุดคืออายุ 52 ปี ช่างดูเป็นรูปลักษณ์ที่แปลกไปจากผู้บริหารหน้าเก่าของบริษัทไม่น้อย เพราะพวกนั้นล้วนแต่เป็นลูกหม้อโรลส์-รอยซ์มาแทบจะชั่วชีวิตก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น จิม ไซมอนส์ (JIM SYMONDS) ซึ่งทำงานที่นี่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1966 เขาไต่เต้าขึ้นมาเป็นลำดับ จากเด็กฝึกงานมาจนกระทั่งถึงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวางแผนการผลิต และอย่างปีเตอร์ ฮิลล์ (PETER HILL) ที่เข้าทำงานหลังจิม 2 ปี จนล่าสุดเป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารบุคคลและระบบงาน ทั้งคู่อยู่ในวัยต้น 40

คณะบริหารชุดเก่าที่นำโดยเซอร์ เดวิด พลาสโตว์ (SIR DAVID PLASTOW) ผู้กอบกู้สถานะของโรลส์-รอยซ์ไว้เมื่อคราวประสบหายนะในปี 1971 เปิดทางให้แก่คนรุ่นใหม่ด้วยการสละตำแหน่งในปี 1980 หรือทันทีที่วิคเกอร์เข้าถือช่วงดำเนินกิจการของโรลส์-รอยซ์นั่นเอง ตัวเขาย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารที่สำนักงานใหญ่ของวิคเกอร์ ณ มิลล์แบงค์ เทาเวอร์ (MILLBANK TOWER) โดยพาเอาทอม เนวิลส์ (TOM NEVILLE) ฝ่ายการเงินกับ โทนี่ แมคแคน (TONI McCANN) ฝ่ายแผนงานติดตามไปด้วย ทิ้งภาวะสูญญากาศของงานระดับบริหารเอาไว้รับสถานการณ์ พลาสโตว์เองก็ยอมรับว่า "ผมไม่ได้คาดถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจล่วงหน้าหรอก คิดแต่ว่าพวกที่เหลือก็คงพอใช้ได้เลยตัดสินใจปลดพวกที่อายุเกือบ ๆ 60 แล้วออกเสียเพราะเห็นว่าจำเป็น ถึงแม้ผมเองจะลำบากใจมากที่ต้องทำแบบนั้นก็ตาม"

พลาสโตว์ก้าวเข้าสู่วงการด้วยตำแหน่งเด็กฝึกงานที่วอกซ์ฮอลล์ (VAUXHALL) แล้วค่อยไต่เต้ามาจนถึงโรลส์-รอยซ์ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการบริหารสูงสุดของบริษัท เขาย้อนระลึกถึงครั้งก่อนว่า "พูดถึงเชิงการค้าแล้วมันต่างกันเลยนะ แต่ก่อนไม่ค่อยมีใครสนใจจะถือหุ้นบริษัทรถเท่าไหร่นักหรอก" ก่อนที่จะประสบหายนะในเดือนกุมภาพันธ์ 1971 ทางบริษัทถูกซ้ำเติมด้วยค่าโสหุ้ยสิ้นเปลืองที่ทุ่มลงไปในการปรับปรุงเครื่องยนต์รุ่นอาร์บี 211 ที่รับผลิตให้แก่สายการบินล็อคฮีดไตรสตาร์ (LOCK HEED TRISTAR) โดยไม่คุ้มทุน จึงปรากฏว่าบริษัทต้องขาดทุนอยู่ถึง 7 ใน 10 ปี

ในฐานะที่พลาสโตว์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการแผนกชิ้นส่วนประกอบรถตอนที่อายุ 39 ช่วงก่อนที่จะบริษัทจะทรุดลงเพียง 1 สัปดาห์ เขาให้ความไว้วางใจแก่ผู้ที่จะเข้ามาช่วยกอบกู้บริษัท คือเอ็ดเวิร์ด นิโคลสัน (EDWARD NICHOLSON) เป็นอย่างยิ่ง เขาเชื่อมั่นในความสามารถของนิโคลสัน เท่าที่เห็นได้จากการตรวจเยี่ยมโรงงาน การพบปะกับสหภาพแรงงาน ว่าเป็นผู้ที่มีความอดทนตลอดจนความเข้าอกเข้าใจสูงยิ่ง พลาสโตว์เห็นว่าแม้โรลส์-รอยซ์จะเพิ่งทรุดลงไปด้วยผลกำไรที่ตกต่ำ แต่รถโรลส์แต่ละคันก็สามารถจะกลับทำงเงินคืนมาให้บริษัทได้อย่างแน่นอน เป็นเพียงต้องอาศัยเวลาเท่านั้น

นิโคลสันศึกษาแบบจำลองดินเหนียวของรถรุ่นคามาร์ก (CAMARGUE) ซึ่งพลาสโตว์ระบุว่าเด่นด้านการคุ้มครองอันตรายแก่ผู้ขับขี่ แล้วเขาก็ออกปากวิพากษ์วิจารณ์ตรงฝาครอบล้ออยู่นานสักครึ่งชั่วโมง พลาสโตว์เล่าว่า "อยู่ ๆ เขาก็มองหน้าผมแล้วบอกว่า ผมล้อคุณเล่นหรอกนะ ที่จริงมันดีมากแล้วล่ะ" นิโคลสันทำให้บริษัทหัวปั่นอยู่ 3 ปี แต่พอเดือนพฤษภาคม 1973 หลังจากวิกฤติการณ์เพิ่งล่วงผ่านไปได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ฐานะของบริษัทก็กระเตื้องขึ้นด้วยผลกำไร 33 ล้านปอนด์ ทำให้ใบประมูลราคาซื้อช่วงกิจการที่มีบริษัทอื่นเสนอราคาให้ 30 ล้านปอนด์เป็นอันพับไป

หลังจากพลาสโตว์ขึ้นดำรงตำแหน่งใหม่ได้ 3 สัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์หลังวิกฤติ รถรุ่นคอร์นิช (CORNICHE) ก็ออกตลาดด้วยรูปลักษณ์หรูเลิศ วงการรถยนต์แทบไม่เชื่อตากันเลยว่ามันสามารถเจาะตลาดได้จริงจัง ในปี 1975 รุ่นคามาร์กก็ตามหลังคอร์นิชออกมา พลาสโตว์จำได้แม่นว่า "เป็นรถรุ่นที่อวดได้เลยว่าฟันกำไรถึง 90,000 ดอลลาร์ในตลาดสหรัฐอเมริกา และ 30,000 ปอนด์ในตลาดอังกฤษ นับเป็นสองเท่าของรถทุกรุ่นที่เราเคยทำได้เลยทีเดียว

พลาสโตว์นำโรลส์-รอยซ์รุดหน้าฝ่าวิกฤตการณ์การขึ้นราคาน้ำมันในช่วงทศวรรษ 1970 ได้ด้วยดี แต่ผู้ที่รับงานต่อจากเขาไม่อาจรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ได้ เวิร์ดซึ่งเพิ่งเข้ามาร่วมงานได้ไม่นานก่อนสถานการณ์เลวร้ายในช่วงปี 1983 ระบุว่า "หลายคนหลับหูหลับตาเชื่อแต่ว่า ยี่ห้อโรลส์-รอยซ์จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้กลีบดีได้เอง ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วทางบริษัทตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ เพราะมีผลิตภัณฑ์เพียงสายเดียวเท่านั้นเอง" พลาสโตว์พยายามเฟ้นหาแนวความคิดใหม่ ๆ เข้ามาปรับปรุงแก้ไขโดยตั้งให้ดิกค์ เปอร์รี่ (DICK PERRY เป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารในปี 1982 เปอร์รี่อยู่กับโรลส์-รอยซ์มานาน เขาเคยคุมงานตัวถังรถอยู่ที่มัลลิเนอร์พาร์คเวิร์ด (MULLINER PARK WARD) ในลอนดอน (ต่อมาช่วงปี 1984-1986 เขาได้เลื่อนขึ้นเป็นประธานคณะบริหาร)

เปอร์รี่วิเคราะห์ข้อบกพร่องได้ในทันทีทันใด เขาพบว่าอุตสาหกรรมแห่งนี้ ซึ่งมีสหภาพแรงงานสังกัดอยู่ถึง 14 องค์กร กำลังถูกกดดันอยู่ด้วยแนวปฏิบัติประเภทเดียวกับที่เป็นพิษต่อวงอุตสาหกรรมทั่วไปของอังกฤษนั่นเอง ระบบการจัดการล้าสมัยเหลือกำลัง ยังใช้ระบบจ่ายค่าแรงตามชิ้นงานที่ทำได้ แต่ไม่มีมาตรการตรวจสอบผลงานว่าสำเร็จสมบูรณ์อย่างไร ระบบควบคุมพัสดุมีก็เหมือนไม่มี จัดว่าเป็นลักษณะที่ไม่เข้าท่าอยู่แล้วแม้ในช่วงที่กิจการราบรื่นดี และสำหรับช่วงที่กิจการซวดเซด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเข้าก็ถือเป็นเรื่องไม่เอาไหนได้เลย การขึ้นค่าแรงเป็นอันต้องระงับไป ในช่วงนั้นคนงานแผนกผลิตทำการประท้วงโดยยื่นข้อเสนอคัดค้านระบบการขีดคั่นชนชั้นของบริษัท ซึ่งมีช่องว่างถ่างกว้างมานานนับทศวรรษแล้ว

เปอร์รี่จัดการยุบรวมห้องอาหารที่เคยแบ่งแยกออกเป็น 3 ส่วน สำหรับระดับบริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงาน และคนงานฝ่ายผลิตเข้าด้วยกัน (ปัจจุบันห้องอาหารรวมแห่งนี้ยังคงใช้ชื่อว่า ดิสก์คาเฟ่) เขาปลดนาฬิกาที่ตั้งคุมไว้ที่ฝ่ายผลิตออกเสียด้วย ระหว่างช่วงนั้นผู้ปฏิบัติงานทุกคนจำเป็นต้องทำงานกันเต็มไม้เต็มมือ เพื่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ต่างก็รู้ซึ้งว่าเป็นยอดอยู่ในตลาดโลกก็แต่เพียงด้านชื่อเสียงเท่านั้น

ถ้าอยากรู้จักโรลส์-รอยซ์ให้ลึกซึ้งก็จำเป็นต้องมองย้อนกลับไปยังประวัติความเป็นมาของมัน กระเทาะเข้าไปถึงแก่นของหลักการที่เหล่าวิศวกรของบริษัทยึดมั่น ที่จะเนรมิตแต่ยวดยานชั้นเยี่ยมเท่านั้น ต้องเข้าใจให้ซึ้งถึงแรงดึงดูดใจให้กล้าเสี่ยง แรงกระตุ้นให้เกิดพลังสร้างสรรค์ตลอดจนแนวทางและจุดมุ่งหมายของบริษํท รวมถึงกระทั่งสัญลักษณ์อักษรอาร์คู่อันเลื่องลือ และทุกสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นโรลส์-รอยซ์

แล้วจะเข้าใจอย่างซาบซึ้งว่า ปีเตอร์ เวิร์ดได้สืบทอดคำมั่นที่เคยมีผู้ลั่นวาจาไว้เมื่อ ค.ศ. 1904 ณ โรงแรมมิดแลนด์ (MIDLAND HOTEL) แขวงแมนเชสเตอร์ คำมั่นที่นักขายให้ไว้แก่วิศวกรที่เพิ่งรู้จักหน้าค่าตากัน คำมั่นที่ชาร์ลส์ สจ๊วร์ต โรลส์ (CHARLES STEWART ROLLS) ผู้สืบตระกูลขุนนางมอบแก่เฟรเดอริค เฮนรี่ รอยซ์ (FREDERICK HENRY ROYCE) นายช่างหนุ่มว่า เขายินดีจะซื้อรถทุก ๆ คันที่เป็นฝีมือสร้างของรอยซ์ โรลส์อยู่ในตระกูลเศรษฐีเก่ารุ่นที่กำลังต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ เขาเป็นบุตรขุนนางเก่า รู้ดีว่าในอีกไม่ช้าไม่นานชนระดับตนนั้นต้องซื้อหารถชนิดไม่ใช้ม้าเทียมเอาไว้ใช้แล้ว บางทีอาจจะต้องซื้อไว้นับเป็นร้อยคันก็เป็นได้

โรลส์เป็นบุคคลประเภทที่ต้องเป็นที่หนึ่งในทุกกรณีเสมอ (ดูแต่ข้อตกลงที่ระบุกันไว้ว่าชื่อยี่ห้อรถห้ามขึ้นต้นด้วยรอยซ์ก่อนโรลส์เป็นอันขาดเถอะ) เขาเป็นคนที่ 5 ในอังกฤษที่มีรถยนต์ใช้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนที่ทรินิตี้คอลเลจ และเป็นนักศึกษาเคมบริดจ์ในช่วงทศวรรษ 1890 ด้วยซ้ำ ปี 1900 โรลส์ขับแพนเฮิร์ด (PANHARD) 12 แรงม้าชนะการแข่งรถบริติชเทาซันด์ไมลส์ (BRITISH THOUSAND MILLESTRIAL) ซึ่งจัดเป็นการแข่งขันที่สามารถกระตุ้นวงการรถยนต์ในอังกฤษให้ตื่นตัวกันอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก

เขาตั้งห้องแสดงสินค้าขึ้นมาแห่งหนึ่งที่ถนนคอนดุยท์ แถบเมย์แฟร์ (ซึ่งทางโรลส์-รอยซ์ยังใช้ดำเนินการมาจนกระทั่งทุกวันนี้) ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายรถโดยช่วงแรกสั่งรถแพนเฮิร์ด (PANHARD) และรถมิเนอร์วัส (MINERVAS) เข้ามาขาย แต่ต่อมาในปี 1904 เขาเกิดไปประทับใจรถขนาด 10 แรงม้าที่รอยซ์ทดลองสร้างขึ้นมาเข้า

รอยซ์นั้นเป็นลูกเจ้าของโรงสีจน ๆ ธรรมดา เขาเคยเป็นช่างทำโคมไฟบ้าง ทำเครื่องไดนาโมบ้าง จนกระทั่งประสบความสำเร็จในฐานะนักธุรกิจสมัยใหม่ เขาซื้อรถยนต์คันแรกตามคำแนะนำของแพทย์ประจำตัว เป็นรถเฟรนช์เดอโควิลล์ (FRENCH DECAUVILLE) แต่เกิดเชื่อมือตัวเองว่าต้องทำได้ดีกว่าคันที่ซื้อมาแน่ ฝ่ายโรลส์ก็ตกลงรับประกันจะดำเนินงานด้านจัดจำหน่ายให้เอง

ตอนที่ทั้งคู่ร่วมกันตั้งบริษัทเมื่อปลายปี 1906 สาธารณชนทั่วไปไม่เลื่อมใสถึงขนาดจะร่วมซื้อหุ้นด้วย จนสุดท้ายจึงได้เพื่อนของเพื่อนอีกทียื่นมือช่วยเหลือ อาเธอร์ บริกส์ (ARTHUR BRIGGS) ชาวยอร์คเชียร์เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้ถึง 1 หมื่นปอนด์ โรงงานผลิตเริ่มต้นโดยปราศจากอุปกรณ์เครื่องมือตามมาตรฐานใด ๆ ทั้งสิ้น รอยซ์กับบรรดานายช่างของเขาต้องคิดประดิษฐ์เครื่องมือนานาขึ้นมาใช้เองอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากตั้งโรงงานได้ไม่นานพวกเขาก็ตกลงใจจะเลือกผลิตเพียงแบบเดียวก่อน คือรถรุ่นซิลเวอร์โกสต์ (SILVER GHOST) และเริ่มรุกสู่ตลาดด้วยคำขวัญ "รถที่เป็นเลิศในโลก" ซึ่งขจรขจายไปทั่วด้วยแผนการโฆษณาอันวิเศษสุด กล่าวคือ ROYAL AUTOMOBILE CLUB ยอมสนับสนุนให้โรลส์เป็นผู้ทดลองการเดินทางมาราธอนรอบโลกโดยใช้รถซิลเวอร์โกสต์นี้ และรถชั้นเยี่ยมก็สามารถทำสถิติได้ถึงสองเท่าของสถิติเดิมที่ทำไว้ 14,731 ไมล์ โดยใช้เงินยกเครื่องให้คืนสภาพเหมือนรถใหม่ไปเพียง 2 ปอนด์ 2 ชิลลิ่ง 7 เพนนีเท่านั้นเอง

แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี โรลส์กลับหันไปสนใจกิจกรรมด้านการบินแทน เขาเป็นคนแรกที่บินไปกลับข้ามช่องแคบอังกฤษได้ในเที่ยวบินเดียว เขารบเร้าให้คณะกรรมการของโรลส์-รอยซ์จดทะเบียนสิทธิบัตรขอผลิตเครื่องบินแบบปีกสองชั้นในยุโรป ตามที่ตัวเขาได้ไปเจรจาทาบทามพี่น้องตระกูลไรท์เอาไว้แล้ว แต่ทางคณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เมื่อผิดหวังในการนี้โรลส์จึงจืดจางความใส่ใจในด้านรถยนต์ลงอย่างรวดเร็ว

โรลส์กลายเป็นคนแรกที่เสียชีวิตในอุบัติเหตุเครื่องบินชนกัน ขณะที่เขาเข้าร่วมการแข่งนำเครื่องลงสู่ลานบิน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1910 ส่วนรอยซ์นักอุดมคตินิยมผู้แข็งขัน ก็ล้มป่วย เนื่องจากหักโหมงานเกินกำลัง เขาจำใจต้องรามือจากงานบริหารกิจการของบริษัท ทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตยืนยาวต่อมาจนถึงปี 1933 แต่แม้ในช่วงที่ละจากงานมาตั้งรกรากอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสแล้วเขาก็ยังให้คำแนะนำปรึกษาด้านงานออกแบบแก่คนของบริษัทที่หมั่นแวะมาเยี่ยมเยียน โดยอาศัยการเขียนบันทึกช่วยจำและภาพร่างให้

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทางบริษัทยอมรับคำขอร้องที่รัฐบาลอังกฤษของให้ช่วยสร้างเครื่องยนต์สำหรับประกอบเครื่องบินแบบฝรั่งเศส และเมื่อถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานที่คูรว์ก็เป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์แบบเมอร์ลินแอนด์กริฟฟอน (MERLIN AND GRIFFON) คุณภาพเยี่ยม จำนวน 29,632 เครื่อง ซึ่งทางกองทัพใช้เป็นยุทโธปกรณ์สำคัญยิ่งในการเอาชนะสงคราม

สำหรับรถเบนท์ลีย์นั้น ทางบริษัทไม่มีความสามารถจะจัดการกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 ได้ แม้เบนท์ลีย์จะกวาดความสำเร็จจากชัยชนะช่วงทศวรรษ 1920 ระยะที่สงครามสิ้นสุดใหม่ ๆ นั้นตลาดต้องการรถยนต์ราคาถูกเป็นอย่างยิ่ง โรงงานโรลส์-รอยซ์จึงฉวยโอกาสผลิตเบนท์ลีย์ออกจำหน่าย และขายดียิ่งกว่าโรลส์-รอยซ์ถึง 9 ต่อ 1 คันทีเดียว แต่หลังจากนั้นชื่อเบนท์ลีย์ก็กลับซบเซาลงตามที่เอ่ยถึงไว้แล้ว

รถรุ่นเบนท์ลีย์ 8 ที่ปีเตอร์ เวิร์ดนำออกตลาดเมื่อเดือนกรกฎาคม 1984 จัดว่ามีรายละเอียดใกล้เคียงกับรถโรลส์-รอยซ์มากเหลือเกิน เพราะใช้ฝีมือทางวิศวกรรมระดับเดียวกัน แต่ตั้งราคาจำหน่ายในช่วงแรกวางตลาดเพียง 49,500 ปอนด์เท่านั้น นับว่าราคาต่ำกว่ารถที่บริษัทเคยผลิตมาทุกรุ่นถึงเกือบ 6,000 ปอนด์ เวิร์ดเปิดเผยว่าบริษัทต้องควบคุมต้นทุนการผลิตกันอย่างเข้มงวด แต่รถรุ่นนี้ก็เปิดทางให้บริษัทสามารถเจาะตลาดระดับใหม่ได้อย่างง่ายดาย ลูกค้าระดับที่ยังหนุ่ม และนิยมบุคลิกแบบลำลองมากกว่า ทั้งยังไม่มีกำลังจะซื้อรถโอ่อ่าระดับโรลส์-รอยซ์ได้ รถเบนท์ลีย์รุ่นเทอร์โบอาร์ (TURBO R) นั้นเน้นจุดขายที่อัตราความเร็วสูงสุดถึง 150 ไมล์ต่อชั่วโมง จัดว่าเป็นรถชั้นหรูที่มีพิกัดความเร็วสูงที่สุดในโลก ตั้งราคาขายตกคันละเกือบ 85,000 ปอนด์ แถมทางบริษัทยังสามารถฟันกำไรเพิ่มได้อีกโดยรับดัดแปลงแต่ละคันให้เหมาะสมกับแต่ละภูมิภาค แต่ละทวีป ในราคาบวกเพิ่มไป 1 แสนปอนด์ (ราคารถโรลส์ตกระหว่าง 73,000 ปอนด์ สำหรับรุ่นซิลเวอร์สปิริต จนถึง 207,000 ปอนด์สำหรับรุ่นแฟนธอม 6)

บัดนี้ทางสหภาพแรงงานต่างเข้าใจซึ้งกันทั่วไปแล้วว่า ความสำเร็จของงานที่ตั้งหน้าตั้งตาทำอยู่านั้น ขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของการตลาดอย่างยิ่ง เวิร์ดยกระดับความรับรู้ของบรรดาคนงานด้วยการจัดบรรยายในโรงงาน นอกจากนี้ยังปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการควบคุมงานเช่นการคุมวัสดุอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบเบิกใช้ได้สะดวก และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยติดตั้งคอมพิวเตอร์มูลค่า 750,000 ดอลลาร์ เพื่อช่วยในการผลิตชิ้นส่วนนานาชนิด ทั้งยังกำลังจัดสร้างแผนกพ่นสีรถแบบล้ำสมัยในราคา 10 ล้านปอนด์ และยังมีการปรับปรุงด้านอื่น ๆ ในทำนองนี้อีกมากมาย

เวิร์ดมีนโยบายที่จะ "เข้มงวดกับแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ และเอาใจใส่สนับสนุนพวกที่มีฝีมือมีความชำนาญงาน" เขาเสริมถึงความก้าวหน้าทางวิศวกรรมบางส่วนไว้ว่า "ถัดจากแผนกผลิตเครื่องยนต์จะมีเครื่องเจาะโลหะขนาดใหญ่ราว 30 เครื่อง ซึ่งใช้ผู้เชี่ยวชาญควบคุมโดยตรง เพราะแต่ละร่องต้องตั้งเครื่องกันเป็นการเฉพาะไป ถึงแม้มันออกจะฟังดูเหลวไหลหน่อย เพราะรถของเราไม่ได้ตั้งราคาแพงได้ด้วยรูเรี้ยวพวกนั้นหรอก"

ราคาอันสูงลิบลิ่วของโรลส์-รอยซ์นั้นเป็นค่าความพิถีพิถันเอาใจใส่ต่อรายละเอียดเฉพาะคันชนิดที่แทบจะเหลือเชื่อ อย่างหนังสัตว์ที่ใช้หุ้มเบาะรถนั้นต้องสั่งโดยตรงมาจากเดนมาร์ก ทั้ง ๆ ที่ราคาสูงกว่าในอังกฤษถึงร้อยละ 40 แม้แต่แผ่นไม้วอลนัทที่นำมาใช้ประกอบเครื่องเคราเป็นการตกแต่งในรถก็ต้องเลือกเฟ้นให้กลมกลืนงดงาม เมื่อเร็ว ๆ นี้เองลูกค้าสตรีรายหนึ่งยืนยันว่าหล่องต้องการไม้ที่มีลายวงปีวนเป็นรูปลักษณะคล้ายหมาพูเดิ้ล ติดตรงแผงหน้าปัทม์แบบเดียวกับรถโรลส์คันหนึ่งที่ได้เห็นมา ทางบริษัทก็สนองตอบด้วยการบรรจงคัดหาลายไม้เช่นนั้นอยู่นานนับสัปดาห์กว่าจะได้พบที่คล้ายกันด้วยเหตุบังเอิญตามธรรมชาติ

รถรุ่นสปิริตออฟแอคตาสีย์ (SPIRIT OF ACSTASY) หรือที่เรียกกันว่ารุ่นอนงค์เหิรเวหานั้น สร้างขึ้นตามแบบจำลองขี้ผึ้งที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 1911 รถแต่ละคันที่สำเร็จสมบูรณ์ตามแบบงานฝีมือจะมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นการเฉพาะ อย่างการเลือกใช้หินเชอร์รี่ขัดเงารถ หรือถ้าทำส่งลูกค้าทางตะวันออกกลางก็จะมีที่รองเข่าสำหรับสุภาพสตรีเป็นพิเศษด้วย ทางโรงงานรู้ดีว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้เสริมประโยชน์ใช้สอยมากมายอะไร แต่มันส่งผลต่อคุณค่าทางจิตใจมากกว่า

โรลส์-รอยซ์แหวกกฎเกณฑ์ข้อแรกในการขายรถที่เฮนรี่ ฟอร์ด (HENRY FORD) ตั้งเอาไว้โดยยินดีให้ผู้ซื้อเลือกสีรถเอาเองตามใจชอบ ทางบริษัทจะเป็นฝ่ายสนองบริการให้อย่างเต็มความสามารถ กระทั่งเส้นสีฝาครอบล้อก็ยังสามารถระบุเอาไว้ได้ด้วย

เวิร์ดยังยึดมั่นในหลักที่พลาสโตว์วางเอาไว้โดยไม่ยอมเสี่ยงต่อการผลิตรถออกวางตลาดล่วงหน้าโดยไม่ต้องสั่งจองไว้ก่อน เพื่อเลี่ยงการเสี่ยงกับปัญหาค่าเงินดอลล์ผันแปร เนื่องจากยอดขายในอเมริกาค่อนข้างสูง ขนาดที่ทางบริษัทอวดไว้ว่าโรลส์-รอยซ์เป็นรถยุโรปยี่ห้อเดียวที่เพิ่มยอดขายในสหรัฐอเมริกาได้ในช่วงปี 1987 ญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงซึ่งทางบริษัทกำลังให้ความสนใจเป็นลำดับต่อไป ปีที่แล้วยอดจำหน่ายในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งเป็น 82 คันแล้ว และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็มีบุคคลสำคัญในวงรัฐบาลขอรายละเอียดการสั่งซื้อรถเบนท์ลีย์รุ่นเทอรโบอาร์ไว้แล้วด้วย

เวิร์ดขยายความว่า "เป็นครั้งแรกที่กิจการโรลส์-รอยซ์กำหนดแผนการระยะยาวถึง 10 ปี โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1988 โดย 3 ปีแรกเป็นการรุกอย่างรอบคอบแม่นยำ 2 ปีถัดไปต้องยืดหยุ่นปรับเปลี่ยน ส่วนอีก 5 ปีที่เหลือก็รอรับรายชื่อสั่งจองรถได้เลย" เขายังคาดการณ์ในด้านดีไว้ด้วยว่า กิจการโรลส์-รอยซ์จะต้องขยายตัวขึ้นราวร้อยละ 8 ถึง 10 ต่อปีอย่างแน่ยิ่งกว่าแน่

แต่ก็ใครจะไปรู้แน่…



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.