|
แบงก์แข่งฉกเงินออม-พันธบัตรขายไม่คล่องกดดันรัฐออกล็อตใหม่ต้องเพิ่มดอกเบี้ยล่อใจ
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 กันยายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
พันธบัตรแบงก์ชาติส่อเค้าฝืด หลังไทยเข้มแข็งฉกเงินไปก่อนหน้า แถมแบงก์พาณิชย์เริ่มโดดลงเล่นสงครามเงินฝากระยะยาวแข่ง กลายเป็นทางเลือกหากพลาดหวังด้วยผลตอบแทนที่ต่างกันแค่ 0.2% นักบริหารเงินประเมินหากกระแสตอบรับครั้งนี้ไม่ดีเพิ่มการบ้านให้พันธบัตรรุ่นต่อไปที่อาจต้องขยับดอกเบี้ยเพื่อล่อใจมากขึ้น พร้อมแนะดูเงื่อนไขจ่ายเงินยิ่งถี่ยิ่งดี
พันธบัตรหน่วยงานรัฐได้ฤกษ์จำหน่าย คิวนี้เป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เสนอขายพันธบัตรด้วยผลตอบแทนและระยะเวลาแตกต่างไปจากพันธบัตรของกระทรวงการคลัง
พันธบัตรออมทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2552 ครั้งที่ 1 ที่จำหน่ายในช่วง 3-4 และ 7 กันยายน 2552 ได้เปิดขายต่อประชาชน รวมไปถึงสหกรณ์ มูลนิธิ องค์กรสาธารณะที่ไม่มุ่งหวังกำไร ด้วยวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท จำหน่ายผ่านธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง
โดยพันธบัตรดังกล่าวมี 2 รุ่นคืออายุ 4 ปีผลตอบแทน 3.5% ต่อปี และอายุ 7 ปี ผลตอบแทนแบ่งเป็นช่วงคือ 1-2 ปีแรก 3% ปีที่ 3-4 ผลตอบแทน 4% ปีที่ 5-6 ผลตอบแทน 5% และปีที่ 7 ผลตอบแทน 6% ผู้ถือพันธบัตรจะได้รับดอกเบี้ยทุก 6 เดือนในวันที่ 3 มีนาคมและ 3 กันยายนของทุกปี
นับว่าเป็นการเปิดขายพันธบัตรของหน่วยงานรัฐเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ หลังจากที่พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของกระทรวงการคลังได้เปิดขายไปเมื่อ 13-21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด พันธบัตรที่ตั้งไว้มูลค่า 5 หมื่นล้านบาทหมดลงอย่างรวดเร็ว แม้จะเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาทก็หมดก่อนเวลาที่กำหนดเช่นกัน ครั้งนั้นเป็นพันธบัตรอายุ 5 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 4%
คึกแพ้ไทยเข้มแข็ง
ผู้บริหารเงินลงทุนรายหนึ่งกล่าว การจำหน่ายพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ มีความแตกต่างกับไทยเข้มแข็งของกระทรวงการคลัง เห็นได้จากตัวพันธบัตรตัวนี้มีอายุ 4 ปีและ 7 ปี ผลตอบแทนที่ 3.5% และเฉลี่ยที่ 4.29% ตามลำดับ
นอกจากนี้สถานการณ์แวดล้อมยังแตกต่างกัน เห็นได้จากความตื่นตัวของผู้ต้องการลงทุนช่วงไทยเข้มแข็งมีมากกว่าในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการทำประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับรู้ในวงกว้าง ขณะที่พันธบัตรของแบงก์ชาติมักจะรับรู้กันไม่แพร่หลายนัก
หากพิจารณาถึงเรื่องความเหมาะสมในการลงทุนแล้ว พันธบัตรทั้ง 2 รุ่นจัดว่าผลตอบแทนอยู่ในระดับที่เหมาะสมหากเทียบกับเงินฝากปกติของธนาคารพาณิชย์ แต่ปัญหาคือตัวพันธบัตรอายุ 7 ปีน่าจะได้รับความสนใจน้อยกว่า 4 ปี เนื่องจากถือว่าเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนานซึ่งคนไทยมักไม่คุ้นเคยกับการฝากเงินระยะยาว ๆ เช่นนี้
คาดการณ์ว่าการตอบรับของพันธบัตรแบงก์ชาติน่าจะได้รับความสนใจจากภาคประชาชนและหน่วยงานที่ได้รับสิทธิในการซื้อครั้งนี้ไม่มากนัก ระยะเวลาในการจำหน่ายนั้นอาจต้องใช้เวลานานกว่าพันธบัตรไทยเข้มแข็ง
ทั้งนี้เป็นผลมาจากบรรยากาศของพันธบัตรแบงก์ชาตินั้น มีคู่แข่งเช่นแบงก์พาณิชย์ที่เริ่มหันมาแข่งขันล็อกเงินฝากระยะยาวมากขึ้น หลังจากที่พันธบัตรไทยเข้มแข็งขายเสร็จสิ้นลง ซึ่งในครั้งนั้นแบงก์พาณิชย์ยังไม่เปิดศึกในเรื่องเงินฝากมากนัก จากนั้นสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ได้หายไปไม่น้อย ประกอบกับกองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีก็ยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนมากแม้จะครบอายุไปจำนวนหนึ่งก็มีการออกกองใหม่เข้ามารับช่วงต่อทันที รวมไปถึงหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนต่าง ๆ เริ่มทยอยออกจำหน่ายด้วยผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงและบริษัทประกันภัยได้เร่งระดมเงินฝากเช่นกัน
พันธบัตรของแบงก์ชาติรุ่นนี้จึงมีคู่แข่งค่อนข้างมาก ผู้ฝากเงินจึงมีทางเลือกหลายทางหากไม่สามารถซื้อพันธบัตรได้ แตกต่างจากช่วงที่ไทยเข้มแข็งเสนอขาย ที่ไม่มีแหล่งฝากเงินที่มีความมั่นคงสูงแล้วให้ผลตอบแทนดีเข้ามาแข่ง อีกทั้งในช่วงนั้นประเทศไทยว่างเว้นจากการมีพันธบัตรรัฐบาลออกมาจำหน่าย
'เอาง่าย ๆ วันนี้มีบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารอาคารสงเคราะห์ 24 เดือนผลตอบแทน 2.5% ฝาก 36 เดือน 3.25% และ 60 เดือน 3.75% หรือของธนาคารกรุงไทยและกรุงศรีอยุธยา 48 เดือน 3.3% ที่ระยะเวลาฝาก 4 ปีเท่ากับพันธบัตรของแบงก์ชาติแต่ผลตอบแทนน้อยกว่าแค่ 0.2% เท่านั้น หรือถ้าจะเทียบ 5 ปีของอาคารสงเคราะห์กับพันธบัตรไทยเข้มแข็งผลตอบแทนน้อยกว่าแค่ 0.25%'
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ยังไม่โดดมาเล่นบัญชีเงินฝากประจำระยะ 4-5 ปีมากนัก เน้นที่ฝากประจำไม่เกิน 18 เดือนเป็นส่วนใหญ่ด้วยดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยปกติเล็กน้อย แต่ก็ดูดลูกค้ากลุ่มที่ต้องไม่ต้องการฝากเงินระยะยาวได้ไปไม่น้อย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ความต้องการพันธบัตรจากนี้ไปมีน้อยลง
'เราไม่กล้าประเมินว่าพันธบัตรของแบงก์ชาติจะจำหน่ายไม่หมด แต่คาดหมายได้ว่ายอดขายคงจะไม่ร้อนแรงเท่าไทยเข้มแข็งแน่ แต่หากจำหน่ายได้หมดทั้ง 5 หมื่นล้านบาท คนที่ต้องการซื้อแล้วพลาดหวังก็คงไม่ต้องรอนาน เพราะเท่าที่ทราบแบงก์ชาติยังมียอดที่เตรียมขายอีกราว 5 หมื่นล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าแบงก์ชาติจะขายต่อเนื่องหรือรอดูสถานการณ์อีกระยะ'แหล่งข่าวกล่าว
กดดอกเบี้ยต่ำ
การที่พันธบัตรแบงก์ชาติเสนอขายต่อจากพันธบัตรไทยเข้มแข็งนั้น เท่ากับดูดสภาพคล่องไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท หากแบงก์ชาติเตรียมจะขายอีก 5 หมื่นล้านและไทยเข้มแข็งเตรียมขายอีกขึ้นต่ำ 3 หมื่นล้าน เฉพาะพันธบัตรก็จะดูดเงินไป 2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้คงต้องรอการตัดสินใจของแบงก์ชาติและกระทรวงการคลังว่าจะออกพันธบัตรรุ่นต่อไปหรือไม่ แต่ผลจากการออกพันธบัตรที่ผ่านมาจะทำให้การออกพันธบัตรครั้งต่อไปทำได้ไม่ง่ายเหมือนเดิม
สภาพตลาดถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของทางการ แน่นอนว่าคงต้องขึ้นกับเจตนาของหน่วยงานที่ออกพันธบัตรว่าต้องการอะไรเป็นหลัก เช่น ต้องการให้ดอกเบี้ยสูงเพื่อซื้อใจประชาชนหรือต้องการต้นทุนต่ำเพื่อมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่น้อยลง
แต่จากการสังเกตถึงการที่รัฐบาลพยายามติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์แทนนั้น สะท้อนถึงทิศทางที่ลดต้นทุนของเงินลงมากกว่าที่จะใช้ดอกเบี้ยสูงเหมือนครั้งแรก เพราะการเลือกกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐนั้นจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการออกพันธบัตรเสนอขายประชาชน
รวมถึงกระทรวงการคลังพยายามส่งสัญญาณให้แบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ด้วยการพิจารณากรอบของเงินเฟ้อใหม่ ตรงนี้จะทำให้ผลตอบแทนของตลาดซื้อขายพันธบัตรลดลง เพราะสูตรในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรจะใช้ผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้เป็นเกณฑ์แล้วจึงค่อยบวกเพิ่มอีก 15% เข้าไปเพื่อนำไปเป็นตัวในการหักภาษีเงินได้จากดอกเบี้ย
หากรัฐบาลจะหันกลับมาเลือกวิธีออกพันธบัตรอีกครั้งก็สามารถทำได้ และจะได้ดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเดิม แต่อาจจะทำให้การขายไม่ประสบความสำเร็จเหมือนไทยเข้มแข็งครั้งแรก
เชื่อว่าหากรัฐเลือกที่จะขายพันธบัตรไทยเข้มแข็งรุ่นต่อไปคงต้องมีลูกเล่นของดอกเบี้ยที่มากขึ้นกว่าเดิม ครั้งที่แล้วเราได้เห็นดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ครั้งต่อไปอาจจะเป็นดอกเบี้ยลอยตัวแล้วบวกเพิ่มผลตอบแทนเข้าไปก็เป็นได้
หากผลของการขายพันธบัตรแบงก์ชาติออกมาแล้วได้รับการตอบรับไม่ดีนัก ครั้งต่อไปของพันธบัตรอาจต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อหุ้นกู้ของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน เมื่อพันธบัตรรัฐบาลได้รับความสนใจน้อยลง หุ้นกู้ก็ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอีกเพื่อดึงดูดความสนใจ เนื่องจากตัวหุ้นกู้จะมีความเสี่ยงที่มากกว่าพันธบัตรรัฐบาล
การเสนอขายพันธบัตรทั้ง 2 หน่วยงานคือของกระทรวงการคลังและของแบงก์ชาตินั้นเป้าหมายเน้นไปที่ภาคประชาชนและหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการออมที่ดีให้กับคนกลุ่มนี้ แต่อีกด้านหนึ่งเท่ากับไม่ได้ช่วยพัฒนาตลาดรองตราสารหนี้เท่าใดนัก เนื่องจากผู้ที่ซื้อส่วนใหญ่จะซื้อแล้วถือยาวจนครบอายุ ดังนั้นในตลาดรองตราสารหนี้จึงไม่มีพันธบัตรรุ่นใหม่เข้ามาซื้อขายเพิ่มความคึกคักให้กับตลาดนี้
จ่ายดอกเบี้ยถี่น่าสน
เมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกที่คาดหมายกันว่าเริ่มดีขึ้น รวมไปถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจของไทยว่าเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ นั้น ส่งผลให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเริ่มที่จะปรับขึ้น แบงก์ก็ต้องรีบสำรองเงินต้นทุนต่ำให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมปล่อยกู้ให้กับลูกค้า ผู้ที่จะออกหุ้นกู้หรือพันธบัตรก็ต้องประเมินตลาดดอกเบี้ยกันใหม่เช่นกัน
หลายคนอาจคาดหวังว่าดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วดอกเบี้ยเงินฝากคงไม่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้นหากคิดจะรอให้ดอกเบี้ยปรับขึ้นก่อนแล้วค่อยเลือกลงทุนนั้นอาจทำให้ต้องเสียโอกาสการลงทุนไป
ทางที่ดีที่สุดคือแบ่งเงินออมที่มีอยู่แล้วเลือกลงทุนในพันธบัตรบ้าง เงินฝากประจำบ้าง หรือพักเงินบางส่วนไว้รอช่วงที่ดอกเบี้ยฝากขยับขึ้น แต่ต้องสำรองเงินบางส่วนไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็นด้วย
ผู้ที่ต้องการออมเงินในระยะยาวต้องประเมินความต้องการใช้จ่ายเงินของตนเองให้ได้ว่า สามารถที่จะฝากเงินได้ตามกำหนดที่ระบุไว้ มิเช่นนั้นจะเสียประโยชน์จากดอกเบี้ยที่พึงได้รับ แหล่งข่าวคนเดิมยังให้คำแนะนำว่า ก่อนตัดสินใจฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรนั้นควรอ่านรายละเอียดเรื่องการจ่ายดอกเบี้ยให้ดีว่าผู้รับฝากนั้นจ่ายแบบใด ดีที่สุดคือถ้าจ่ายทุกเดือนหรือ 3 เดือนครั้งได้ก็จะเป็นการดี หรือปีละ 2 ครั้งอย่างพันธบัตรแบงก์ชาติก็น่าสนใจ เพราะหากเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ แล้วต้องถอนเงินออกมาก่อนครบกำหนดเราก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ไปก่อน
ส่วนใครที่สนใจหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรนั้น ต้องเลือกบริษัทที่มีความมั่นคง เป็นบริษัทขนาดใหญ่ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระเงินได้ แต่ไม่ควรเลือกลงทุนระยะยาวเกินไป เพราะจะมีความเสี่ยงมากขึ้นหากเศรษฐกิจทั่วโลกและของไทยไม่ฟื้นตัว ดังนั้นหากต้องการลงทุนระยะยาวจริงควรลงทุนในพันธบัตรจะดีกว่า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|