'ทียูโดม'ฉุดความเชื่อมั่นกองทุน


ASTVผู้จัดการรายวัน(7 กันยายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

“พิชิต” ชี้ เคส “ทียูโดมฯ” กระทบความเชื่อมั่น กดดัน ก.ล.ต. คุมเข้ม หวังเรียกความเชื่อมั่น คืน ระบุนักลงทุนได้บทเรียน แยกออกกองทุนไหนเสี่ยงไม่เสี่ยง พร้อมเรียกร้องผู้จัดการกองทุน รับผิดชอบร่วมกัน ย้ำเอาเงินลูกค้ามาบริหาร ต้องโปร่งใส แนะ ก.ล.ต. แก้ปัญหาให้ถูกทาง เร่งป้อนข้อมูลนักลงทุน แทนการปิดกั้นโอกาส

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกลงทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภาคทัณฑ์ผู้บริหารและปรับเงิน บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) หลังจากพบว่ามีความบกพร่องในการบริหารกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์ (TUPF) ว่า ในระยะสั้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุนกองทุนอสังหาฯ อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงผลกระทบต่อการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขื้น ของฝ่ายกำกับอย่าง สำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมคงอยู่ต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องนี้นักลงทุนเอง ได้เรียนรู้อะไรไปพอสมควรว่า ก่อนการลงทุนควรมีพิจารณารายละเอียด ดูเนื้อหาข้างในว่า เป็นการลงทุนประเภทใด ซื้อขาดในกรรมสิทธิ์ของอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือเป็นการลงทุนในสิทธิการเช่า รวมถึงควรดูที่มาของเงินนั้นและควรพิจารณาหรือประเมินความเสี่ยงจากการลงทุนให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย

“ในระยะยาวแล้ว มองว่าตัวอย่างครั้งนี้ จะทำให้นักลงทุนสามารถแยกแยะได้ว่า กองทุนไหนดีหรือกองทุนไหนไม่ที่ดี”นายพิชิตกล่าว

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในครั้งนี้ ในส่วนของผู้จัดการกองทุนเอง ก็ควรต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นจะกระทบความเชื่อมั่นทั้งอุตสาหกรรม ดังนั้น หลังจากนี้ ผู้จัดการกองทุนควรระมัดระวังและให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา บลจ.เอ็มเอฟซีเอง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับแรกอยู่แล้ว เนื่องจากกองทุนรวมอสังหาฯ ยังถือเป็นเรื่องใหม่ และนักลงทุนมีความเข้าใจไม่มากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

“ผู้จัดการกองทุนควรพยายามดูแลให้อุตสาหกรรมมีความเข้มแข็งเช่นเดิม หลังจากที่ได้พยายามช่วยกันสร้างอุตสาหกรรมกองทุนให้มีเกิดความเชื่อมั่นร่วมกันมากว่า 20 ปี เพราะประเด็นความเชื่อมั่น ถือเป็นเรื่องสำคัญ เราใช้เวลาสร้างกันมานาน ดังนั้น บลจ. ควรแสดงความรับผิดชอบต่อการลงทุนมากที่สุด ซึ่งการที่เราเอาเงินเขามาบริหาร ก็ควรมีการชี้แจงข้อมูลหรือบอกข้อมูลความเสี่ยงการลงทุนให้ชัดเจน ไม่ควรทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องของศีลธรรมและจริยธรรม”นายพิชิตกล่าว

สำหรับบทบาทของผู้กำกับดูแล นายพิชิตกล่าวว่า ควรเพิ่มบทบาทและความสามารถในการเข้าไปดูรายละเอียดให้มากกว่านี้ เพื่อการกำกับดูแลความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่นักลงทุนสามารถรับได้มากขึ้น ซึ่งวิธีที่ทำให้นักลงทุนสามารถรับรู้ความเสี่ยงได้มีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้จัดการกองทุน

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้น ไม่คิดว่าเป็นความผิดพลาดของโพรดักส์ เพราะถ้านักลงทุนรับความเสี่ยงได้ และตัดสินใจเข้าไปลงทุน ก็ถือเป็นการลงทุนปกติเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้กำกับจึงควรสร้างความเข้าใจให้นักลงทุนรู้ว่าความเสี่ยงคืออะไร ไม่ใช่การไปห้ามไม่ให้โปรดักส์ประเภทนี้มีออกมาอีก ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสของนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจ และรับความเสี่ยงของการลงทุนประเภทนี้ได้

โดยสิ่งที่ฝ่ายกำกับจะต้องพยายามมากขึ้นคือ มุ่งมั่นไปกับการปฏิบัติให้อำนาจการตัดสินใจอยู่กับที่นักลงทุนมากที่สุด (Disclosure Base) นั่นคือ การสร้างความเข้าในให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจเองได้ ซึ่งถือเป็นปรัชญการทำงานเบื้องต้นของ ก.ล.ต. อยู่แล้ว แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเริ่มจากที่ให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนให้ครบถ้วนมากที่สุดก่อนเพื่อให้เพียงพอต่อการตัดสินใจ

“ในส่วนของผู้ลงทุนเอง ต้องบอกว่าไม่มีใครพร้อมทั้งหมด แต่การเรียนรู้เหล่านี้ จะเกิดจากการทดลองและทำจริง ซึ่งมีทั้งแรงจูงใจและองค์ความรู้ที่เกิดจาการทำงาน ถ้าไม่เริ่มต้นก็ไม่มีวันเรียนรู้“นายพิชิตกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.