|
VANILLA GARDEN ตัวตนที่เติบโตของ “วิสาขา ไรวา”
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เป็นเวลาเกือบ 6 ปีสำหรับแบรนด์ "วนิลา" แม้ทั้ง 4 ร้านของวนิลาฯ จะมีบุคลิกที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปนั่นคือ "สไตล์" ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของไอเดียและประสบการณ์ชีวิตที่หล่อหลอมเป็นตัวตนของเธอคนนี้
ท่ามกลางความวุ่นวายของซอยเอกมัย 12 ความเขียวขจีของสวน ธรรมชาติที่มีทั้งต้นไม้น้อยใหญ่ดึงดูดคนเมืองที่โหยหาความรื่นรมย์จากธรรมชาติแวะเวียนเข้าไป ส่วนบ้านไม้สีขาวที่มีกลิ่นอายแห่งยุค 70s ก็ทำหน้าที่ยั่วยวนความสงสัยของแขกผู้แวะมาเยือนได้สำเร็จเกือบทุกครั้ง
ภายในพื้นที่เกือบ 1 ไร่ของสวนวนิลา หรือ "Vanilla Garden" โซนแรกที่เปิดประตูต้อนรับผู้แวะเวียน ได้แก่ "Royal Vanilla" ร้านอาหาร จีนสีขรึมบรรยากาศโรงเตี๊ยม ที่ให้อารมณ์ Chinese tea-break ในร้าน น้ำชามากกว่าที่จะเห็นเป็นภาพโต๊ะจีนโต๊ะกลมเต็มไปด้วยอาหารจานใหญ่ที่ทานกันจนพุงกาง ตามขนบวิถีการทานอาหารจีนในเหลาหรือภัตตาคารหรูแบบเดิมๆ
อาหารจีนทั่วไปทั้งติ่มซำ ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว และเมนูอื่นๆ นำมา ใส่ดีไซน์ในเรื่องรสชาติพอร์ชั่น (portion) ที่เล็กลง และมีการนำเสนอ (presentation) ใหม่ให้ดูโมเดิร์นขึ้นจนหลายเมนูดูไม่คุ้นตา ส่วนขนมหวานจานหรูประจำร้านอาหารจีนอย่างบัวหิมะ ที่นี่ก็มีการประยุกต์สูตร จนออกมาเป็นไส้ต่างๆ อย่างหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีเมนูขนมที่ผสมผสานความเป็นจีนกับกลิ่นอายไทยอย่างลงตัว
ทั้งนี้ พ่อครัวแม่ครัวของที่นี่หลายคนเป็นเชฟมือเอกจากภัตตาคาร "มังกรทอง" ในเครือของ S&P ซึ่งเป็นแบ็กอัพสำคัญของแบรนด์ "Vanilla" เพราะไม่เพียง S&P จะเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ Vanilla แต่ "วิสาขา ไรวา" ผู้ก่อตั้งแบรนด์ก็คือบุตรสาวคนโตของ "วรากร ไรวา" ผู้บริหาร ระดับสูงแห่งบริษัท S&P นั่นเอง
บ้านไม้ 2 ชั้น สีขาวสะอาดตาและกะทัดรัด ตกแต่งด้วยสไตล์โมเดิร์นผสมกลิ่นอายย้อนยุคเล็กๆ ตามอายุบ้านที่ร่วม 50 ปี ดูจะมีเสน่ห์ดึงดูดแขกชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นและชาว ไทยที่หลงใหลอารมณ์ของคาเฟ่ในมหานคร โตเกียว ให้เข้ามาเยี่ยมเยียนเป็นประจำ
บ้านไม้หลังนี้เป็นที่ตั้งของ "Vanilla Cafe" ร้านอาหารและเบเกอรี่ที่มีทั้งเมนูอาหารอิตาเลียนกลิ่นอายญี่ปุ่นและเมนูอาหารญี่ปุ่นที่ถูกปรับสไตล์ให้ดูโมเดิร์น นอกจากนี้ยังมีชา กาแฟ เครป และเบเกอรี่ แนวญี่ปุ่นไว้คอยเอาใจสาวกแบรนด์ Vanilla ที่หลายคนเริ่มหลงรักร้านอาหารชื่อนี้จากเบเกอรี่
ย้อนกลับไปกว่า 10 ปี หลังจากลงลึกในรายละเอียดเรื่องของการทำอาหาร เพื่อทำหน้าที่พัฒนาสร้างสรรค์ลุคและดีไซน์ ใหม่ให้กับบรรจุภัณฑ์ของ S&P มานาน ด้วยวัย 28 ปีกว่า วิสาขานึกอยากท้าทาย พลังสร้างสรรค์ของตัวเองด้วยการแตกหน่อ ธุรกิจร้านอาหารแนวใหม่ที่มีเธอเป็นผู้พัฒนา และฟูมฟักคาแรกเตอร์ของแบรนด์ใหม่นี้ด้วยตัวเองในทุกรายละเอียด ทั้งคอนเซ็ปต์ แบรนด์ ดีไซน์ร้าน เมนูอาหาร ดิสเพลย์ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ
ในปี 2547 กับวัยยังไม่ย่างเข้าเลขสาม ร้าน Vanilla แห่งแรกจึงเปิดตัวในรูปแบบ ร้านเบเกอรี่ที่มีสีสันสดใส ตั้งอยู่ในสยามสแควร์ ซอย 11 ติดกับร้าน S&P ภายใต้ชื่อ "Vanilla Industry" ซึ่งเป็นร้านเบเกอรี่ขนาดเล็กแนว DIY Bakery สำหรับกลุ่มคนที่รักการทำเบเกอรี่ โดยเริ่มจาก 5 โต๊ะและมีพื้นที่ของโรงเรียนสอนทำอาหารอยู่ภายในร้านด้วย
"แนวทางในการทำร้าน Vanilla ที่เรายึดมาตลอดคือ เลือกในสิ่งที่เราชอบเหมือน ว่าเลือกให้ตัวเอง ทำในสิ่งที่ดีที่สุดเหมือนทำให้ตัวเอง ก็คิดดูง่ายๆ ว่าถ้าเราทำอะไรแล้ว ขนาดตัวเองยังไม่ชอบ คนอื่นก็คงไม่ประทับใจ" วิสาขากล่าวถึงวิธีคิดของเธอที่มีมาตั้งแต่ร้านแรกจนถึง Vanilla Garden ซึ่งเป็นร้านที่สี่
ด้วยความสนใจในทุกดีไซน์ของรายละเอียดภายในร้านจนกลายมาเป็นกราฟิกและกิมมิคที่มีสไตล์โดดเด่นจนเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ จึงไม่น่าแปลกที่ลูกค้าบางคนกลับหลงใหลในรสสัมผัสของบรรยากาศร้านมากกว่ารสชาติอาหารด้วยซ้ำ
1 ปีถัดไป แบรนด์ Vanilla เปิดสาขาที่สองในซอยทองหล่อ (ตั้งอยู่ในทองหล่อมิดทาวน์) ภายใต้ชื่อ "Vanilla Restaurant" ร้านอาหารเต็มรูปแบบที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และแสงสีโทนขรึมดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น โดยเปิดเป็นร้านอาหาร แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะมีเมนูเค้กและของหวาน ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายมากขึ้นโดยต่อยอดไอเดียเมนูและสูตรใหม่มาจากร้านแรก
ปีรุ่งขึ้น Vanilla Brasserie ร้านอาหารกึ่งคาเฟ่สไตล์ฝรั่งเศสโบราณเปิดตัว ณ สยามพารากอน ซึ่งอาหารจานเด่นที่แตกต่างจาก 2 ร้านแรก ได้แก่ "เครป" นานาเมนูทั้งแบบคาว และหวาน โดยที่ยังได้พัฒนาหน้าตาและสูตรเค้กที่มีอยู่ให้มีกลิ่นอายฝรั่งเศสผสมผสานเข้าไป
ความสำเร็จของทั้ง 3 ร้าน พัฒนาเป็นความเชื่อมั่นในแนวทางของแบรนด์ Vanilla อีกปีถัดมาจึงเกิด Vanilla Garden สวนสวรรค์ของคนลุ่มหลงในสไตล์และคาแรกเตอร์ของแบรนด์นี้ ด้วยทุนสร้างที่มากกว่าทุกร้าน ทั้งในเรื่องของการตกแต่งและสถานที่ที่ใหญ่ขึ้น
เพราะทำมา 3 ร้านล้วนแต่อยู่ในห้างหรือไม่ก็มีพื้นที่จำกัด ก็อยากเปลี่ยนมาทำร้าน ที่มีบริเวณนั่งด้านนอกในบรรยากาศสวน ก็เป็นอะไรที่เราชอบ ส่วนตัวด้วย ทั้งบรรยากาศบ้านไม้หลังเก่าและต้นไม้ล้อมบ้าน" วิสาขาในวัย 35 ปีเล่าถึงที่มาของร้านในสวนแห่งนี้ ซึ่งเปิดมาแล้วกว่า 2 ปี
นอกจากบ้านไม้ที่เป็นที่ตั้งของร้านอาหารสไตล์เอเชีย ทั้ง 2 ร้านของ Vanilla อาคารกระจกสไตล์ลอฟท์ (loft) ก็เป็นอีกอย่างที่เชิญชวนให้มีแขกเข้าออก ณ สวนวนิลาแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง อาคารนี้เป็นที่ตั้งร้านหนังสือชื่อเก๋ "ซอส (Sauce)" ที่แปลความได้ว่าเครื่องปรุงอาหาร ซึ่งนับเป็นหนึ่งในความโดดเด่นของเมนูอาหารคาวหวานของร้าน Vanilla และยังเป็นการเลียนเสียงกับคำว่า Source ที่แปลว่า "คลังความรู้"
ในร้าน Sauce มีทั้งหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศ และหนังสือในประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นหนังสือว่าด้วยตกแต่งและดีไซน์ในแขนงต่าง คู่มือทำอาหาร หนังสือว่าด้วยเรื่องสุขภาพ วรรณกรรมไทยและวรรณกรรมแปล ตลอดจนหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนา ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจส่วนตัวของวิสาขา
"ภายใต้ข้อจำกัดหลายๆ อย่าง หนังสือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่ทำให้เราได้เห็นอะไรและเข้าใจชีวิตได้มากกว่า" การอ่านหนังสือเป็นงานอดิเรกที่วิสาขาโปรดปรานและกลายเป็นวิธีกลั่นกรองหนังสือเข้าร้านให้กับเธอด้วย
เนื่องจากไม่ได้อยู่ในย่านศูนย์การค้า ร้านหนังสือจึงเป็นแหล่งเดียวที่จะทำให้ลูกค้าได้มาพักผ่อนและฆ่าเวลาขณะที่ต้องมาคอยเพื่อน นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ร้าน Vanilla แห่งนี้ต้องลงทุนร่วม 30 ล้านบาท และเพราะงบลงทุนที่ค่อนข้างสูง เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้วที่แบรนด์ Vanilla ยังไม่ได้มีการเปิดร้านใหม่เพิ่มเติม
"นอกจากเงิน ร้านนี้ยังลงทุนแรงและจินตนาการเยอะเพราะค่อนข้างเรียกว่าเริ่มใหม่ทั้งหมด เพราะ 3 ร้านที่เปิดมาเป็นสไตล์ยุโรป ก็ยังอยู่ในอารมณ์เดียวกัน เมนูอาหารก็ยังมีหลายตัวที่ซ้ำกันดึงสูตรดึงซอสมาใช้กันได้ แต่พอมาร้านอาหารจีนและญี่ปุ่น เราไม่เคยทำมาก่อน มันก็เลยเหมือนเริ่มใหม่หมด"
นับเป็นอีกความท้าทายใหม่ที่ทำให้วิสาขากลับมารู้สึกสนุกสนานกับการเปิดร้านแห่งใหม่มากขึ้น หลังจากที่เธอค่อยๆ เริ่มรู้สึกว่าคอนเซ็ปต์เดิมที่ใช้ใน 3 ร้านแรกเริ่มหมดอารมณ์ สนุกแปลกใหม่ที่เคยเป็นพลังขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นในสมัยเปิดร้านแรก จนเกือบ "จบ" แล้ว
แม้ร้าน Vanilla Garden จะลงทุนมากกว่าและเหมือนว่าเธอจะได้เริ่มต้นสร้างสรรค์รายละเอียดหลายอย่างขึ้นใหม่ แต่วิสาขายังจำได้ดีถึงความรู้สึกในช่วงแรกของการเปิดร้าน Vanilla Industry
"ตอนเปิดร้านที่สยามลนสุด และก็เป็นอะไรที่ต้องดิ้นรนมาก เพราะเราเคยทำแต่แพ็กเกจจิ้งให้กับ S&P มาตลอด แค่ดีไซน์ออกมาเสร็จทุกอย่างก็ขายได้หมด ไม่เคยรู้สึกว่าแบรนด์มันยากแค่ไหน แต่พอมาสร้างร้านใหม่ แล้วร้านดันอยู่ชั้นสองด้วย ช่วงสามเดือนแรกไม่มีคนมาเลย มีรายได้วันละ 500 บาท แต่พอสื่อเห็นว่าร้านมีคาแรกเตอร์แปลกใหม่ฉีกแนวก็มาทำ คนก็เริ่มรู้จักระดับหนึ่งก็เลยต่อยอดมาถึงวันนี้ได้" เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม
อันที่จริงการตกเป็นข่าวในหน้าประชาสัมพันธ์ของสื่ออาจง่ายกว่านี้ หากเพียงวิสาขา ใช้นามสกุลและความเป็นลูกหลานเจ้าของ S&P หรือเพียงใช้ "by S&P" ต่อท้ายชื่อแบรนด์ Vanilla แต่ก็ย่อมจะมีปัญหาภาพลักษณ์และกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ชัดเจนตามมาทันที
ตรงกันข้ามเมื่อได้คอนเซ็ปต์และสร้างแบรนด์ได้ชัดเจนและแข็งแรงพอ ก็ง่ายที่จะต่อยอดด้วยการฉีกแนวไปสู่บุคลิกที่ต่างไป เหมือนกับที่วันนี้ Vanilla มีร้านอาหารในบุคลิกที่แตกต่างถึง 4 แนว ทั้งที่เมื่อเกือบ 6 ปีก่อน วิสาขาเองก็ไม่เคยคิดถึงการขยายสาขาที่สองเลยด้วยซ้ำ
จากความมั่นใจที่สั่งสมผ่านการเรียนรู้จากร้านทั้ง 4 แห่ง ณ วันนี้ วิสาขากำลังสนใจ จะทำร้านอาหารสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในความชอบและความสนใจตามวัยวุฒิที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันด้วยประสบการณ์สร้างแบรนด์ที่เติบโตขึ้น วิสาขาจึงท้าทายตัวเองอีกครั้ง ด้วย "ของเล่น" ตัวใหม่ ได้แก่ ไอศกรีมผัดที่เธอลงทุนซื้อ Know-how มาจากประเทศญี่ปุ่น แต่คิดค้นสูตรขึ้นเอง โดยเธอหวังจะใช้สินค้านี้มุ่งเข้าสู่ตลาดแมส (mass) แทนที่จะใช้แบรนด์ Vanilla ซึ่งมีจุดยืนที่แข็งแรงแล้วในตลาดนิช (niche)
ยิ่งเวลาหมุนผ่านไปจนพลบค่ำ ดูเหมือนสวนวนิลาแห่งนี้กลับยิ่งมีชีวิตชีวาและมีสีสันที่ถูกแต่งเติมด้วยลูกค้าที่หลากหลายทั้งเด็กเล็กที่มากับพ่อแม่ วัยรุ่น วัยทำงาน ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย ที่พากันเข้ามานั่งตามมุมต่างๆ ภายในสวนแห่งนี้ ภาพน่ารักๆ เหล่านี้เติมความชุ่มฉ่ำ ให้กับวิสาขาทุกครั้งที่เธอแวะมาทำงานที่นี่
"ร้านแรกตอนนั้นเรายังเด็ก บุคลิกร้านก็เลยดูเด็กสุด แต่พอถึงร้านที่ทองหล่อก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้นอีกนิด พอร้านที่สยามพารากอนก็ดูโตขึ้นอีกหน่อย แต่พอมาถึงร้านนี้ เราก็อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง (หัวเราะ) แต่จริงๆ ก็คือทุกอย่างก็ควรพัฒนาไปตามผลึกความคิดและประสบการณ์ ไม่ใช่แค่แก่ไปตามวัย" วิสาขาสรุป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|