|
คุณรู้จัก “แฟร์เทรด” แค่ไหน?
โดย
วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
หากพูดถึง "แฟร์เทรด" เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านคงจะยังไม่คุ้นหูกับคำคำนี้ แต่ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ "แฟร์เทรด" กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของคนรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจต่อสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมโลกในประเทศยากจน โดยแสดงเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือประเทศเหล่านั้นผ่านอำนาจการซื้อของตน
กว่าสามสิบปีที่กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้พยายามผลักดันระบบการค้าทางเลือกที่สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา ภายใต้หลักการสำคัญสามประการคือ 1) การรับซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในราคาที่เป็นธรรมและสูงกว่าราคาตลาด 2) การผลิตสินค้าภายใต้กระบวนการการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการลดละ และเลิกการใช้สารเคมี และ 3) การส่งเสริมโครงการพัฒนาและระบบสวัสดิการสังคมภายในชุมชนของผู้ผลิต อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งต่อมาระบบการค้าทางเลือกดังกล่าวได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากสาธารณชนในประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้คำว่าระบบ "แฟร์เทรด" (Fair Trade) หรือระบบการค้าที่เป็นธรรม
การกำหนดราคารับซื้อสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นแฟร์เทรด กระทำโดยองค์กร Fairtrade Labelling Organisation หรือ FLO ในเยอรมนี แม้สินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะได้รับการกำหนดราคาให้สูงกว่าราคาท้องตลาด แต่สินค้าบางรายการ เช่น เครื่องเทศ (herbs and spices) จะไม่มีราคาประกันรับซื้อ แต่ทาง FLO จะอนุญาตให้ผู้ซื้อกับผู้ผลิตตกลงราคา กันเอง หากราคาตามท้องตลาดสูงกว่าราคารับซื้อที่ทาง FLO กำหนดไว้ ก็ให้ยึดราคาตลาดแทน
นอกจากนี้ ทาง FLO ยังกำหนดอีกว่าผู้รับซื้อต้องจ่ายราคาพรีเมียมให้แก่กลุ่มผู้ผลิต คิดเป็นประมาณ 15% ของยอด ซื้อสินค้าแฟร์เทรด เพื่อให้ผู้ผลิตนำเงินที่ได้ดังกล่าวนี้ไปลงทุนในสวัสดิการของชุมชน เช่นการสร้างโรงเรียนให้แก่ลูกหลานในชุมชน การจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อปรับปรุงการผลิตและคุณภาพของสินค้า ซึ่งเงินทุนดังกล่าวเป็นกองทุนของส่วนรวมที่สมาชิกของกลุ่มผู้ผลิตแฟร์เทรดได้รับประโยชน์เท่าเทียมกันทั่วหน้า
ปัจจุบัน ระบบแฟร์เทรดได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วอย่างแพร่หลาย ยอดขายสินค้าที่ประทับตราแฟร์เทรดแม้ยังคงเป็นรองสินค้าจากกระแสทางเลือกอื่นๆ ทั้งสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าปลอดสารเคมี และสินค้าเพื่อ สุขภาพ แต่แนวโน้มการเติบโตของตลาดสินค้าแฟร์เทรดกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยยอดขายสินค้าแฟร์เทรดทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากเพียง 29.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) มาเป็น 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีก่อน (2008)1
แม้ตลาดแฟร์เทรดในต่างประเทศจะเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ในเมืองไทยนั้น น้อยคนนักที่จะทราบว่า "แฟร์เทรด" คืออะไร
ผู้เขียนได้เคยโทรไปขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของห้างสรรพสินค้าชั้นนำแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างดังกล่าววางจำหน่ายสินค้าแฟร์เทรดบางรายการอยู่ คือเมล็ดกาแฟบดคั่วของบริษัท Lanna Cafe จาก เชียงใหม่ และข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากองค์กรกรีนเนท ทั้งสองได้รับตราแฟร์เทรด จากองค์กร Fairtrade Labelling Organisation (FLO) ในประเทศเยอรมนีแล้ว
แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อรายนั้นกลับ ถามผู้เขียนว่า "แฟร์เทรดคืออะไร" และ "เราขายสินค้าแฟร์เทรดด้วยหรือ"
ปฏิกิริยาดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ของห้างแห่งนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากคำว่า "แฟร์เทรด" ในเมืองไทยยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป และผู้บริโภคชาวไทย
แต่มีชาวไทยหลายกลุ่มเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของตลาดแฟร์เทรด โดยรับทราบข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ของไทย
สำหรับผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดแฟร์เทรดในต่างประเทศ หลายท่านอาจคิดว่าสินค้าแฟร์เทรดมีแต่อาหารและสินค้าเกษตรเท่านั้น
ความจริงแล้วสินค้าแฟร์เทรดมีทั้งอาหารและสินค้าหัตถกรรม ซึ่งองค์กรที่ดูแลด้านสินค้าหัตถกรรมคือ World Fair Trade Organisation (WFTO) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อว่า IFAT (International Federation for Alternative Trade) สำหรับสินค้าหัตถกรรมนั้น ระบบแฟร์เทรดไม่ได้ให้การรับรองบนตัวสินค้า แต่ให้การรับรองกับตัวองค์กรผู้ผลิตและผู้ค้าสินค้าหัตถกรรม ว่าเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอยู่บนหลักการของ "การค้าที่เป็นธรรม" แทน
ทั้งนี้ เนื่องจากขั้นตอนการผลิตสินค้าหัตถกรรมนั้นซับซ้อนกว่ากระบวนการการผลิตสินค้าเกษตรมากนัก และต้องมีปัจจัยการผลิตหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การผลิตกระเป๋าหัตถกรรมหนึ่งใบต้องอาศัยวัสดุมากมาย ทั้งผ้า ด้าย สีย้อมผ้า ฟองน้ำ ซึ่งวัสดุเหล่านี้ก็มีกระบวนการการผลิตของตน จึงเป็นการยากที่จะให้การรับรองได้อย่างแน่นอนว่าด้าย สีย้อมผ้าและวัสดุทั้งหลายนี้ได้รับการผลิตบนรากฐานของการค้าที่เป็นธรรม เช่น คนงานในโรงงานผลิตด้ายและสีย้อมผ้านั้นได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ความยุ่งยากในการตรวจสอบความเป็น "แฟร์เทรด" ใน ปัจจัยการผลิตของสินค้าหัตถกรรม ทำให้ WFTO เลือกที่จะรับรองตัวองค์กรเท่านั้น แทนที่จะรับรองตัวสินค้าดังในกรณีของสินค้าเกษตร
ประเทศไทยมีองค์กรเอกชนหลาย แห่ง เช่น Thai Craft และ Thai Tribal Craft ที่เป็นองค์กรแฟร์เทรด ทำหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยให้มีช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของตนได้มากขึ้นในราคา ที่ยุติธรรม
Thai Craft ก่อตั้งเมื่อปี 1992 ถือกำเนิดจากการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมชาวเขาในงาน Hilltribe Sales ที่จัดโดยองค์กร International Church of Bangkok ที่โรงเรียนนานาชาติกรุงเทพฯ จนต่อมาได้จัดตั้งสมาคม Thai Craft อย่างเป็นกิจลักษณะ ทำ หน้าที่รวบรวมผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผู้ผลิตทั่วประเทศ เพื่อจัดจำหน่ายในงาน Thai Craft Fair ที่สมาคมไทยคราฟท์จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน
สำหรับ Thai Tribal Craft นั้นมีประวัติที่ยาวนานกว่า โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1973 ในเชียงใหม่ ได้รับงบสนับสนุนเบื้องต้นจากมูลนิธิ Christian Service Foundation (Baptist) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือให้ชาวเขาทางภาคเหนือของไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
Thai Craft ในกรุงเทพฯ และ Thai Tribal Craft ที่เชียงใหม่ เป็นองค์กรพันธมิตรที่ได้รับการรับรองด้านแฟร์เทรดจาก IFAT หรือ WFTO ในปัจจุบัน ทั้งสองก่อกำเนิดมาจากโครงการของศาสนาคริสต์ ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทย ก่อนที่จะค้นพบว่าวิธีที่จะช่วยเหลือชาวบ้านอย่างยั่งยืนนั้น น่าจะเป็น การหาช่องทางที่ทำรายได้ให้แก่ชาวบ้าน โดยชาวบ้านได้รับราคาจากสินค้าที่ตนผลิต อย่างเป็นธรรมมากกว่า
ดังนั้น Thai Craft และ Thai Tribal Craft จึงเริ่มทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมสินค้าหัตถกรรมจากกลุ่มผู้ผลิตทั้งหลาย และหาช่องทางตลาดให้แก่ผู้ผลิต ทั้งในและต่างประเทศ โดย Thai Craft มีสมาชิกที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตถึง 70 กลุ่มทั่วประเทศซึ่งผลิตสินค้าหลากหลาย เช่น กลุ่ม Hot Chilli ผลิตสินค้าสบู่หอมทำมือและผลิตภัณฑ์สปาต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มมาจาก Kerry และ David Verkade ชาวนิวซีแลนด์ สองสามีภรรยา ที่เป็นอาสาสมัครมิชชันนารี เข้ามาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กๆ ในสลัมย่านสวนพลูเมื่อ 12 ปีที่แล้ว จนลงหลักปักฐานในย่านสลัมแห่งนั้น เพื่อหาทางช่วยชุมชนต่อไป โดยก่อตั้งโครงการทำสบู่สร้างรายได้ให้กับผู้หญิงและแม่บ้านในสลัมแห่งนั้น และเปิดโรงเรียนสอนหนังสือเด็กๆ แถวนั้นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จนปัจจุบันครึ่งหนึ่งของยอดขายเป็นการส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งออสเตรเลีย แคนาดา และเอเชีย อีกครึ่งหนึ่งเป็นการขายตามงาน Thai Craft Fair ซึ่งทาง Thai Craft จัดเป็นประจำทุกเดือน โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของ Hot Chilli เป็นชาวญี่ปุ่นที่มาต่อคิวคอยซื้อสินค้าสปาของ Hot Chilli ตั้งแต่เช้า เพื่อรอจนงาน Thai Craft Fair เปิด
หรือกลุ่ม Hope Card ที่ช่วยเหลือ ผู้ด้อยโอกาสในย่านสลัมคลองเตย โดยสร้างงานทำการ์ดอวยพรประดิษฐ์และตกแต่งด้วยมือ ให้แก่ชาวบ้านในละแวกนั้น เพื่อเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว โดยเป็น การรับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งทาง Hope Card จะออกค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์และรูปแบบของการ์ดให้แก่แม่บ้านที่เข้าเป็นสมาชิก และให้ค่าตอบแทนถึงใบละ 13-15 บาท ช่วยให้แม่บ้านไม่ต้องเดินทางไปทำงานนอกบ้าน มีเวลาเลี้ยงดูลูกๆ อยู่ที่บ้านในขณะที่ก็สามารถหารายได้ให้กับตนเองไปพร้อมๆ กัน
ด้วยความที่ชาวไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของแฟร์เทรด และยังตั้งคำถามอยู่ว่า "ทำไมต้องจ่ายแพง" ทำให้ที่ผ่านมาองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือสังคมผ่านระบบการค้าสินค้าแฟร์เทรดเพื่อนำรายได้จากการค้ามาพัฒนาชุมชน ต้องหัน ไปพึ่งพาการส่งออกเป็นส่วนใหญ่
แต่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน กลับทำให้ตลาดส่งออกเริ่มไม่สดใสดังเดิม และมีผลกระทบต่อยอดขายขององค์กรอย่าง Thai Craft อย่างมาก รสลิน แซลมอน ผู้จัดการของ Thai Craft กล่าวว่า ยอดออร์เดอร์จากสหรัฐอเมริกาและยุโรปในปีนี้ลดลงถึง 20% การต้องพึ่งตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ Thai Craft ต้องถูกกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับสินค้าแฟร์เทรดด้วยกัน ที่มาจากประเทศอื่นซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าไทย เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ไม่ว่าจะในด้านของค่าแรงและต้นทุนด้านวัตถุดิบ ทำให้สินค้าไทยสู้ในเรื่องราคาไม่ได้ แม้จะมีความเรียบร้อยและสวยงามกว่าสินค้าแฟร์เทรดจากอีกหลายประเทศก็ตาม
ดังนั้น แนวทางใหม่ที่ Thai Craft เลือกเดินคือการลดการพึ่งพาตลาดส่งออกลง โดยตั้งใจจะขยายตลาดภายในประเทศ และเพิ่มสัดส่วนยอดขายในประเทศให้เป็น 70% และส่งออก 30% ซึ่งทุกเดือนทางองค์กรจะจัดงาน Thai Craft Fair ซึ่งเป็น การรวบรวมสินค้าจากกลุ่มผู้ผลิตที่เป็นสมาชิกของ Thai Craft เพื่อเปิดบูธขายสินค้าในงานที่ตนเป็นผู้จัด และหลังจากที่เคยจัดงานที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ที่สุขุมวิท ทุกเดือนมาเป็นเวลาร่วมสิบปี Thai Craft ได้ตัดสินใจเช่าพื้นที่ที่ใหญ่กว่าเดิม ที่อาคาร จัสมิน ถ.สุขุมวิท 23 เพื่อจัดงาน Thai Craft Fair นับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า Thai Craft ได้เริ่มลุยตลาดภายในประเทศอย่างจริงจัง ตามเป้าหมายที่ตนตั้งไว้แล้ว (ดูรายละเอียดตารางการจัดงาน Thai Craft Fair ได้ที่ http://www.thaicraft.org)
รสลินกล่าวว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่มางาน Thai Craft Fair 80% เป็นชาวต่างชาติทั้งที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยและแม้จะย้ายไปประจำการที่ประเทศอื่นแล้ว แต่ก็ยังเดินทางกลับมาอุดหนุน Thai Craft ทุกครั้งที่กลับมาเยี่ยม เมืองไทย ลูกค้าชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของแฟร์เทรดแล้ว ยินดีที่ จะจ่ายเงินให้กับสินค้าในราคาสูงกว่าท้องตลาด เพราะทราบว่าเงินที่เสียไปจะถูกนำไปแบ่งปันอย่างเป็นธรรมให้แก่ผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยที่เป็นสมาชิกของ Thai Craft
ส่วนชาวญี่ปุ่นนั้นก็เป็นฐานลูกค้าที่สำคัญเช่นกัน แม้ว่าลูกค้าชาวญี่ปุ่นจะยังคงไม่ค่อยมีความเข้าใจในเรื่องแฟร์เทรด นัก และที่ซื้อสินค้าจาก Thai Craft Fair เป็นประจำก็เพราะติดใจในคุณภาพของสินค้านั่นเอง
นอกจากนี้ Thai Craft ยังจัดงานออกร้านสินค้าแฟร์เทรดตามโรงเรียนนานาชาติ และออกไปให้ความรู้เรื่องแฟร์เทรดให้แก่เด็กๆ ตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากบรรดาผู้ปกครองของนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และรับทราบถึงวัตถุ ประสงค์ของระบบแฟร์เทรดมาตั้งแต่อยู่ในประเทศของตนแล้ว จึงยินดีสนับสนุน
นอกจากการจัดหาช่องทางการตลาดและการกระจายสินค้าให้แก่ผู้ผลิตรายย่อยแล้ว Thai Craft ให้ความช่วยเหลือ แก่กลุ่มผู้ผลิตในด้านอื่นๆ โดยการจัดการอบรมให้คำแนะนำในด้านเทคนิคการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุกปี รวมทั้งให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในระบบแฟร์เทรดให้แก่หมู่สมาชิก
สำหรับ Thai Tribal Craft (www. ttcrafts.co.th) นั้นมีพื้นที่ทำงานในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ โดยมีสมาชิกเป็นชาวเขาทั้งหมด 7 เผ่า สินค้าที่จำหน่ายทั้งหมด ได้รับการผลิตจากชาวเขา Harry Wathittayakul ผู้อำนวยการของ Thai Tribal Craft เล่าว่าชาวเขาพอใจที่จะทำงานร่วมกับ Thai Tribal Craft เนื่องจากราคาที่ชาวเขาได้รับ จากองค์กรนั้นสูงกว่าราคาตามท้องตลาด ถึง 4 เท่า ตลาดหลักของ Thai Tribal Craft อยู่ในฝรั่งเศส โดยมีองค์กร Solidar' Monde (http://www.solidarmonde.fr/) ซึ่งเป็นแขนขาหลักในการจัดจำหน่ายสินค้าแฟร์เทรดให้กับเครือข่ายของ Artisans du Monde (www.artisansdumonde.org/) ในฝรั่งเศส เป็นผู้รับซื้อ นอกจากนี้ Thai Tribal Craft ยังมีเครือข่ายองค์กรแฟร์เทรดในประเทศอื่นๆ ที่รับซื้อสินค้าหัตถกรรมของตน เช่น Ctm altromercato ในอิตาลี Ten Thousand Villages ในสหรัฐอเมริกา
สำหรับในเมืองไทย ลูกค้าส่วนใหญ่ของ Thai Tribal Craft เป็นชาวต่างชาติในประเทศไทย ซึ่ง Thai Tribal Craft เองก็วางแผนที่จะขยายตลาดในประเทศมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเริ่มเปิดร้านค้าของ Thai Tribal Craft ร่วมกับพันธมิตรอีกหลายองค์กรเพิ่มขึ้นที่แม่สอด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่ผู้ที่ทำงานด้านการพัฒนา สังคมว่าเป็นเมืองที่หนาแน่นไปด้วยองค์กร เอ็นจีโอ และองค์กรระหว่างประเทศหลากหลายหน่วยงานที่เข้ามาทำงานด้านผู้อพยพ และแรงงานต่างด้าวตามรอยตะเข็บชาย แดนไทย-พม่า และเจ้าหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้เองได้กลายเป็นฐานลูกค้าสำคัญให้แก่สินค้าแฟร์เทรดได้เป็นอย่างดี
แฮรี่กล่าวว่าคนไทยมักนิยมสินค้าแบรนด์จากต่างประเทศ และยังคงมองว่าสินค้าที่ผลิตโดยชาวเขาว่าเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ เนื่องมาจากอคติต่อชาวเขาในหมู่ของชาวไทย อีกประการหนึ่งคือคนไทย นิยมต่อราคาสินค้า แต่สินค้าของ Thai Tribal Craft มีราคาที่ตายตัว ทางร้านไม่สามารถลดราคาจากป้ายได้ เนื่องจากราคาที่ตั้งไว้ได้รวมราคาพรีเมียมที่มอบให้แก่ผู้ผลิต เพื่อช่วยให้ชาวเขาลืมตาอ้าปากได้ แต่ลูกค้าชาวไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ เพราะ ชินกับระบบต่อราคา แฮรี่กล่าวต่อว่าโชคดีที่ Thai Tribal Craft ได้ถูกเขียนถึงในหนังสือไกด์นำเที่ยวชื่อดังอย่าง Lonely Planet ทำให้ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนมากได้แวะเข้ามาซื้อสินค้าถึงที่ร้าน อีกช่องทางหนึ่งในการกระจายสินค้าของ Thai Tribal Craft คือเข้าร่วมงานออกร้าน ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่นงาน BIG+BIH (Bangkok International Gift Fair & Bangkok International House-ware Fair 2009) ฯลฯ
สำหรับ WEAVE (http://www. weave-women.org/) นั้นเป็นองค์กรในเชียงใหม่ที่จำหน่ายสินค้าหัตถกรรมแฟร์เทรดจากชาวเขาเช่นกัน โดยเป็นสมาชิกของ Fair Trade Federation ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1998 ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้าของ WEAVE ถูกนำไปใช้ ในโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งโครงการสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กในปฐมวัย โครงการสร้างศักยภาพให้แก่ผู้หญิงในแคมป์ผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่า อินเดีย-พม่า และจีน-พม่า โดยจัดการเรียนการสอนในเรื่องการพัฒนาและสิทธิสตรี โครงการสร้างงานให้แก่สตรีชาวเขาและสตรีพม่าในเมืองไทย ให้มีรายได้เป็นของตนเอง และให้ความรู้ในเรื่องเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐาน รวมทั้งโครงการพัฒนาสื่อเป็นภาษาพม่า ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั้งในเรื่องการป้องกันโรคเอดส์ การวางแผนครอบครัว การดูแลเด็กเล็ก ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง WEAVE กับองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงานเช่น World Health Organisation (WHO) United Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR) และ International ORganisation for Migration (IOM)
ยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินค้าแฟร์เทรดในต่างประเทศและจำนวนสินค้าแฟร์เทรดที่ปัจจุบันมีมากกว่า 6,000 รายการแล้วนั้น เป็นสัญญาณสื่อให้เห็นว่า ผู้บริโภคในต่างประเทศได้แสดงพลังของตนผ่านการซื้อสินค้า เพื่อให้บริษัทห้างร้านได้รับทราบว่า การขายสินค้าที่มาจากการกดขี่ค่าจ้างและแรงงานของคนงานและผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนานั้น เป็น สิ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วยและจะไม่ยอมรับอีกต่อไป
แม้เแฟร์เทรดจะไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่นักชอปชาวไทย แต่การที่ผู้บริโภค ชาวไทยหลายกลุ่มให้การสนับสนุนสินค้าโครงการหลวง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่คล้าย คลึงกับวัตถุประสงค์ของแฟร์เทรด คือช่วยเหลือชาวเขาและผู้ด้อยโอกาสให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ ผ่านระบบการค้า ที่เป็นธรรม ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกให้เห็นถึงโอกาสที่ตลาดแฟร์เทรดในเมืองไทย จะสามารถเติบโตได้ในอนาคต หากคนไทย มีความเข้าใจและยอมรับในคอนเซ็ปต์ของระบบแฟร์เทรดมากขึ้น และตระหนักว่าสินค้าราคาถูกที่ตนซื้อมา อาจมาจากการขูดรีด กดขี่แรงงาน และการเอาเปรียบเกษตรกรเพื่อนร่วมประเทศของตนเองก็เป็นได้ หากผู้บริโภคชาวไทยได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวมากขึ้น เชื่อว่าคนไทยซึ่งเป็น คนมีน้ำใจโอบอ้อมอารี อาจหันมาให้ความสนใจและยินดีสละเงินเพิ่มอีกไม่กี่สิบบาท เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตแฟร์เทรดในไทยสามารถลืมตาอ้าปากได้สักวัน
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย "การเข้าถึงตลาดสินค้า 'Fair Trade' ในสหภาพยุโรป: โอกาสด้านการส่งออกสำหรับประเทศไทย" ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
1 ข้อมูลจากหนังสือ Fighting the Banana Wars and other Fairtrade Battles โดย Harriet Lamb และรายงานประจำปี 2008-2009 ขององค์กร Fairtrade Labelling Organisation International
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|