|
นายแบงก์มองเศรษฐกิจโลกไม่เหมือนเดิม
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดขึ้นปี 2551 กำลังจะพลิกโฉมการค้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพมองเห็นเหมือนกันว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว
แม้ว่าศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยได้ถึงจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 แต่ก็เป็นเพียงการคาดเดาโดยใช้คำว่า "อาจถึงจุดต่ำสุด" เท่านั้น และในมุมมองของกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 และ 4 ปี 2551 เป็นวิกฤติที่หนัก ไม่จบง่ายๆ แต่สิ่งที่จะเห็นคือเศรษฐกิจจะอยู่รูปแบบขึ้นๆ ลงๆ มีความไม่แน่นอน
ในขณะที่ในฝั่งของโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพมองว่า แม้ว่าภาพรวมถึงจุดต่ำสุด แต่หลายๆ คนเห็นพ้องกับเขาว่า ปัจจัยพื้นฐานไม่เอื้ออำนวยให้ประเทศไทยพัฒนาเจริญเติบโตได้ง่าย ทั้งนี้เกิดจากผลลัพธ์ของวิกฤติเศรษฐกิจโลกส่งผลอย่างกว้างขวาง ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อประเทศไทยมากที่สุดก็คือ การค้าบวกกับการท่องเที่ยวของโลก
สถานการณ์การค้าของโลกที่ติดลบ อยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่งเกิดจากการบริโภคของสหรัฐอเมริกาลดลง เพราะประชากรว่างงานเพิ่มขึ้นทำให้มีรายได้ลดลง แต่ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกาแต่ได้ลุกลามไปในยุโรปและทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยโดยเฉพาะระดับรากหญ้า
ปริมาณสินค้าของทั่วโลกที่ลดลงส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกของไทยอย่างเห็นได้ชัดจากอัตราการส่งออก -25.9% ในเดือนกรกฎาคมในปี 2552
ในช่วงระยะ 6 ปีที่ผ่านมา (ปี 2544-2550) ประเทศไทยพึ่งพิงการส่งออกสูงส่งออกมากกว่าเกาหลีและไต้หวัน ธุรกิจส่งออกจึงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพียงตัวเดียว
แต่หลังจากการส่งออกได้รับผลกระทบโดยตรง การเติบโตของประเทศไทย จึงมีปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา
โฆสิตชี้ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาประชากรจำนวน 8 ล้านคน ทำงานชั่วคราว (Part time) ส่วนพนักงานประจำ ทำงานไม่ครบชั่วโมง หรือทำงานไม่รับค่าจ้าง จึงทำให้มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ และปัจจุบันมีจำนวนประชากรว่างงานประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จึงกลายเป็นความกดดันด้านค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรือราว 20 เปอร์เซ็นต์ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงและสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ความต้องการของผู้บริโภค (ดีมานด์) หายไป
ดังนั้น โฆษิตจึงเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วไม่เอื้ออำนวยให้เกิดสินค้าและบริการ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่วัฏจักรปกติ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับไปสู่สภาพเดิมได้อีกต่อไป และเมื่อโลกเปลี่ยนไปประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับทิศทางให้สอดคล้องกับโลก
ผลวิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์แสงความคิดเห็นสอดคล้องแนวคิดของโฆสิต ธนาคารกรุงเทพว่า สิ่งต่างๆ จะไม่ เหมือนเดิม การฟื้นตัวไม่ได้หมายความว่า สิ่งต่างๆ จะกลับไปอย่างที่เคยเป็นหากไม่ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างชัดเจน
แม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวไปในแนวทางใหม่ที่เติบโตน้อยกว่าเดิม เพราะประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมากและปริมาณ ที่มากขึ้น แต่ในอนาคตการส่งออกจะไม่ใช่ ขุมพลังการเติบโตที่มีประสิทธิภาพเช่นแต่ก่อน ครัวเรือนสหรัฐฯ จะไม่สามารถมีบทบาทเป็นแหล่งผู้บริโภคสุดท้ายที่โลกจะหันไปพึ่งพิงดังที่เคยเป็นมานานได้อีกต่อไปและเศรษฐกิจโลกก็ยังไม่สามารถหาแหล่งอื่นมาแทนที่
เศรษฐกิจจีนไม่สามารถมีบทบาทรองรับความต้องการของตลาดได้ทั้งหมดหากยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในการสร้างอุปสงค์ภายในประเทศอย่างยั่งยืน เช่น การปรับค่าจ้างและอัตราการเพิ่มผลิต
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บอกว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 4 2552 โดยอุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวคือ เครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งวัตถุดิบพื้นฐาน เช่น เหล็ก เหล็กกล้า ซีเมนต์ เนื่องจากภาครัฐมีแผนใช้งบประมาณมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาทสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม โดยจัดสรรงบประมาณไว้ดังนี้คือ โครงการพัฒนาด้านการขนส่ง และโลจิสติกส์ ประมาณ 40% โครงการชลประทาน 17% และลงทุนในภาคอุตสาหกรรมพื้นฐาน ประมาณ 40%
แต่จะมี 2 กลุ่มธุรกิจที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า คือ ธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว เพราะลูกจ้างได้ค่าแรง ต่ำกว่าเฉลี่ยและมีรายได้ลดลง ส่งผลทำให้ธุรกิจที่ผลิตสินค้าป้อนกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ ได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ธุรกิจจำหน่าย จักรยานยนต์และรถปิกอัพลดลง 40-50% รวมไปถึงธุรกิจคอนโดมิเนียมและบ้านราคา ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เศรษฐพุฒิบอกว่าธุรกิจ ท่องเที่ยวเป็นธุรกิจมีความเสี่ยงมากที่สุดสำหรับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโดยรวมและมีการจ้างงานสูง จึงคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าและรายได้จากการท่องเที่ยวจะตกลงมากถึง 15 เปอร์เซ็นต์และ 20 เปอร์เซ็นต์ในปี 2552
ส่วนปี 2553 ยังไม่มีความเชื่อมั่นธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นได้เร็ว เพราะผลจากความไม่สงบทางการเมือง การท่องเที่ยวขาลงในประเทศไทยได้รับผลกระทบมากกว่าการท่องเที่ยวขาลงในภูมิภาคเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบในไตรมาส แรกของปีนี้ ประเทศไทย -16 เปอร์เซ็นต์ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ -8 เปอร์เซ็นต์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ -4 เปอร์เซ็นต์
การส่งสัญญาณของนายแบงก์เปรียบเสมือนการเตือนล่วงหน้า ในอดีตการปรับตัวจะใช้เวลารอดูเหตุการณ์ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่มาวันนี้ทุกอย่างต้อง ปรับเปลี่ยนภายใน 1 วัน หรือ 1 สัปดาห์
กรรณิกาบอกว่าในความเป็นจริงแล้ว ปีนี้ผู้ประกอบการยังไม่ได้รับผลกระทบที่แท้จริงเพราะยังมีเงินหมุนเวียนจากกำไรสะสมที่มีอยู่ แต่ผลกระทบจะเห็นเด่นชัดมากขึ้นคือปี 2553 เมื่อเงินทุนเริ่มหมด
ปีนี้อาจจะเป็นปี "เผาหลอก" แต่ปีหน้าอาจเป็น "เผาจริง" ก็มีความเป็นไปได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|