เปิดยุทธศาสตร์กูเกิ้ล ได้เวลาหาตังค์

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

บรรยากาศการทำตลาดของกูเกิ้ลในประเทศไทยปีนี้คึกคักมากกว่าปีไหนๆ หลังจากกูเกิ้ลมีผู้บริหารดูแลภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

กูเกิ้ลเป็นบริษัทมีชื่อเสียงด้านบริการระบบสืบค้นข้อมูล หรือเรียกว่าเสิร์ชเอ็นจิ้น (Search Engine) มากว่า 10 ปี จนทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดโลก แม้แต่ประเทศไทยประชาชน ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจำนวน 14 ล้านคนก็เลือกใช้กูเกิ้ล 98.7 เปอร์เซ็นต์

ด้วยความนิยมของผู้ใช้ที่เลือกใช้กูเกิ้ลในปัจจุบันจึงทำให้กูเกิ้ลเริ่มหันมาทำ ตลาดเพื่อสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากบริการสืบค้นข้อมูลที่เป็นบริการหลักของกูเกิ้ลแล้ว รายได้หลักของบริษัทคือ ให้บริการโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต

แต่ดูเหมือนว่ารายได้จากโฆษณาส่วนใหญ่เกิดจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาหรือฝั่งยุโรป ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังไม่ได้เริ่มต้น มากนัก

แต่หลังจากที่กูเกิ้ลตั้งผู้บริหาร ดูแลตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และมีสำนักงานใหญ่ดูแลประจำอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับทีมงานจากทั่วโลกรวมถึงคนไทยร่วม 100 คน ยุทธศาสตร์ของกูเกิ้ลจึงเริ่มต้น

กลยุทธ์ของกูเกิ้ลในภูมิภาคนี้คือ การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในระดับท้องถิ่นด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการที่มีของกูเกิ้ลให้สอดคล้องกับภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมากที่สุด

สำหรับประเทศไทยถูกเลือกให้เปิดตัวกิจกรรมใหม่ๆ ในลำดับแรกของกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีฐานการใช้งานกูเกิ้ลเป็นอันดับต้นๆ

จากข้อสังเกตพบว่าผู้บริหารมักจะอ้างอิงเกี่ยวกับการเปิดตัวบริการ เช่น บริการ google maps ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้เปิดตัว แพลตฟอร์มการค้นหาข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ในเวอร์ชั่นท้องถิ่น

หรือแต่งตั้งบริษัท แกรนด์ แพลนเน็ท เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็นผู้ให้บริการ Google Adwords เป็นรายแรก รวมถึงร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพให้บริการชำระเงินผ่านธนาคาร ก็เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ ของกูเกิ้ลที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 8 เดือนมาพร้อมกับกิจกรรมและบริการใหม่ 7 ประเภท จึงเสมือนว่ากูเกิ้ลกำลังรุก อย่างหนักในตลาดประเทศไทย

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่กูเกิ้ลได้เปิดตัวเว็บไซต์ภาษาไทย ภายใต้ชื่อว่า www.google.co.th เมื่อปี 2547 ความเคลื่อนไหวของกูเกิ้ลในประเทศไทยไม่เห็นเด่นชัดเหมือนกับปีนี้

ชารีฟ เอล อันซี หัวหน้างานออนไลน์และตัวแทนจำหน่ายกูเกิ้ล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกเหตุผลที่รุกกิจกรรม มากขึ้นในประเทศไทย เพราะว่ากูเกิ้ลเริ่มต้นจากศูนย์ ดังนั้น กูเกิ้ลจึงเริ่มทำตลาดในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น

ส่วนเหตุผลที่กูเกิ้ลเริ่มเข้ามายึดหัวหาดและเลือกที่จะรุกตลาดในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ทั่วโลกรวมถึงในภูมิภาคเอเชีย เป็นเพราะต้องการให้กูเกิ้ลเป็นทางเลือกในการใช้สื่อโฆษณาออนไลน์ในต้นทุนที่ถูกกว่าโทรทัศน์หรือสิ่งพิมพ์

กิจกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของพรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย ซึ่งเธอเป็นคนไทยคนแรกที่รับหน้าที่ดูแลและพัฒนากิจกรรมของกูเกิ้ลในประเทศไทย

พรทิพย์ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการ 360 ํ ว่า ธุรกิจหลักของกูเกิ้ลในประเทศไทยมี 3 ส่วน คือ 1. ผู้ใช้ (user) 2. ผู้ประกอบการลงโฆษณา (advertiser) และ 3. พันธมิตร (partner)

ทั้ง 3 ส่วนจะพัฒนาและเปิดให้บริการไปพร้อมๆ กัน และเปิดตัวบริการที่ผ่านมาจะสอดคล้องกับธุรกิจของกูเกิ้ล ดังที่เธอกล่าวถึง โดยเฉพาะบริการโฆษณา Google AdWords และ AdSense บริการโฆษณาที่มุ่งเน้นหารายได้เพิ่มให้กับกูเกิ้ล

Google AdWords คือบริการที่ให้ผู้ประกอบการมาลงโฆษณาในเว็บไซต์ของกูเกิ้ล และบริการนี้เปิดให้บริการพร้อม กันทั่วโลกเมื่อปี 2543 หรือ 9 ปีที่ผ่านมา

ส่วน AdSense คือการนำโฆษณาของกูเกิ้ลไปลงในเว็บไซต์อื่นๆ ที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยม ทำให้เจ้าของเว็บไซต์ และกูเกิ้ลมีรายได้จากการคลิกของผู้อ่าน

พรทิพย์ชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นของบริการ AdSense คือ นำโฆษณาที่เกี่ยวข้องไปลงใกล้กับเนื้อหาในเว็บไซต์ของพันธมิตร เช่น เจ้าของเว็บไซต์ลงข้อมูลเกี่ยวกับข่าวโทรศัพท์มือถือ กูเกิ้ลจะเลือกสินค้าจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ หรือโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือไปลงคู่กับข่าว

เธอบอกว่าโอกาสความเป็นไปได้ของผู้อ่านข่าวโทรศัพท์มือถือจะคลิกไปที่โฆษณาของกูเกิ้ลเกี่ยวกับข้อมูลขายโทรศัพท์ เพื่อซื้อโทรศัพท์จึงมีมากขึ้น

กลยุทธ์ของ Google AdWords ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเน้นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกลุ่มเอสเอ็มอีในประเทศไทยที่มีเว็บไซต์ เป็นของตัวเองประมาณ 100,000 รายจากเอสเอ็มอีประมาณ 850,000 รายทั่วประเทศ

กูเกิ้ลให้เหตุผลว่าผู้ประกอบการที่ลงโฆษณาในเว็บของกูเกิ้ล จะทำให้ได้พบลูกค้าใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะกูเกิ้ลมีเครือข่ายที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 1 พันล้านราย

ความคืบหน้าล่าสุดของกูเกิ้ลที่มีเป้าหมายสร้าง Google AdWords ให้ติดตลาดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้เลือกพันธมิตรเพิ่ม 2 รายคือ บริษัทแกรนด์ แพลนเน็ท เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และธนาคารกรุงเทพ

กูเกิ้ลเลือกบริษัท แกรนด์ แพลนเน็ทฯ ให้เป็นผู้ให้บริการ Google AdWords อย่างเป็นทางการรายแรกในไทย เพื่อทำหน้าที่ช่วยวางกลยุทธ์และวางแผนทำตลาด รวมถึงวิเคราะห์แผนการตลาดหลังจากให้บริการไปแล้วว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ผู้ประกอบการที่จ้างบริษัทแพลนเน็ทฯ จะต้องจ่ายค่าบริการเริ่มต้น 2,000 บาท ส่วนกูเกิ้ลจะเป็นผู้สนับสนุนเทคโนโลยีและอบรมบุคลากรให้กับบริษัท แกรนด์ แพลนเน็ทฯ

กูเกิ้ลเลือกบริษัท แกรนด์ แพลนเน็ทฯ เพราะเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปมาเป็นเวลา 9 ปี ภายใต้ชื่อ www.ReadyPlanet.com และมีคอลเซ็นเตอร์บริการตลอด 24 ชั่วโมง

แม้ว่าก่อนหน้านี้กูเกิลจะมีเอเยนซี่เป็นตัวแทนให้บริการ Google AdWords แล้วก็ตาม แต่เอเยนซี่จะทำหน้าที่ขายโฆษณาเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ให้บริการหลังการขาย แต่กูเกิ้ลก็พึงพอใจจะมีตัวแทนขายหลายประเภท เพราะกูเกิ้ลก็มีทีมขายเป็นของตัวเองเช่นเดียวกัน

เว็บไซต์ของผู้ประกอบการที่เลือกลงโฆษณาผ่าน Google AdWords จะมีข้อความโฆษณาสั้นๆ 4 บรรทัดภายใต้หัวข้อ "ลิงก์ผู้สนับสนุน" ซึ่งจะแสดงอยู่บน มุมขวาของหน้าผลลัพธ์ ในขณะที่ข้อมูลทั่วไปอยู่ทางด้านซ้ายมือตามปกติ

กูเกิ้ลจะมีรายได้เมื่อผู้ใช้เลือกไปคลิกข้อมูลที่อยู่บนมุมขวา หรือประมาณ 35 สตางค์ต่อการคลิกหนึ่งครั้ง

แต่สิ่งที่กูเกิ้ลทำเหนือชั้นกว่านั้นก็คือ การสร้างรายได้ที่มากขึ้น ด้วยการนำ "คำ" ที่ได้รับความนิยมหรือมีการใช้งานมากที่สุดมาประมูล เป็นการกำหนดอัตราค่าโฆษณา ดังนั้นคำที่ได้รับความนิยมและมีการใช้มากก็จะมีราคาสูง ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ประมูลว่ามีมากน้อยเพียงใด และราคาเริ่มต้นประมูลเริ่มที่ 35 สตางค์ หรือ 1 เซ็นต์ แต่กูเกิ้ลไม่เปิดเผยว่าราคาสูงสุดต่อวันที่ประมูลราคาเท่าไร เปิดเผยแต่เพียง ว่าปัจจุบันกูเกิ้ลมีลูกค้าที่ใช้บริการโฆษณา Google AdWords ประมาณ 1,000 ราย

ช่องทางการจ่ายเงินเป็นสิ่งที่กูเกิ้ลได้วางแผนไว้แล้วเช่นกัน หลังจากที่ผ่านมา ระบบการจ่ายเงินต้องจ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งไม่ได้สร้างความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบ การ

กูเกิ้ลได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ เพิ่มช่องทางการจ่ายเงินผ่านธนาคาร 4 ช่องทาง ประกอบด้วย 1. เคาน์เตอร์สาขาทั่วประเทศ 1,000 สาขา 2. เอทีเอ็ม 24 ชั่วโมง 6,000 จุด 3. บริการทางโทรศัพท์ บัวหลวงโฟน โทร.1333 และ 4. บริการทางอินเทอร์เน็ต

ในส่วนของผู้ใช้ (User) ในประเทศไทย เป็นอีกธุรกิจหลักของกูเกิ้ลที่ต้องการให้มีบริการหลากหลายและในปีนี้กูเกิ้ลได้เปิดบริการที่เน้นใช้บริการเป็นภาษาไทยมากขึ้น

เช่น กูเกิ้ลเปิดตัว AdSense สำหรับเนื้อหาภาษาไทย ที่คาดหวังให้ผู้ประกอบการหันมาร่วมมือกับกูเกิ้ลเพื่อสร้างรายได้ร่วมกัน

แผนที่กูเกิ้ล http://maps.google. co.th เป็นอีกบริการหนึ่งทำหน้าที่ช่วยค้นหาข้อมูลทางภูมิศาสตร์แบบใหม่ เช่น แผนที่ออนไลน์ ภาพถ่ายดาวเทียม เส้นทางขับรถ ที่อยู่ และรายชื่อองค์กรธุรกิจ บนเครื่องพีซีหรือโทรศัพท์มือถือ โดยเนื้อหานำเสนอในรูปแบบภาษาไทย

แผนที่ของกูเกิ้ลยังได้สร้างแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้ องค์กรธุรกิจ และนักพัฒนาในเมืองไทยเข้ามาแลกเปลี่ยนแผนที่และความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น เป็นการเพิ่มเนื้อหา ให้กูเกิ้ลโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้กูเกิ้ลเปิดตัวเครื่องมือช่วยแปลภาษาแบบเต็มรูปแบบจากต้นฉบับ ที่มีความหลากหลายมากถึง 42 ภาษาให้เป็นภาษาไทย และในทางกลับกันยังสามารถใช้ภาษาไทยในการค้นหาข้อมูลเป็นภาษาอื่นๆ ทั้ง 42 ภาษา ที่ http://translate.google.co.th

การรุกตลาดอย่างหนักของกูเกิ้ลในประเทศไทย โดยเฉลี่ยจัดกิจกรรมหรือเปิดตัวบริการใหม่ๆ 7 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้งในระยะเวลา 8 เดือน นับว่าเป็นการก้าวกระโดดอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกูเกิ้ล เพราะบริการและเทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว

แต่ความท้าทายของกูเกิ้ลคือ การเปิดตลาดใหม่ในเมืองไทยว่าจะประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด ถึงแม้กูเกิ้ลจะมองว่าตลาดไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตามที

เพราะความเคลื่อนไหวของธุรกิจสื่อสารเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว และหลังจากที่ยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ และยาฮู ผู้นำอันดับหนึ่งในฐานะผู้ให้บริการฟรีอีเมลจับมือกันเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อผลักดันเสิร์ซเอ็นจิ้น BING ของไมโครซอฟท์ โดยมียาฮูช่วยเป็น ผู้จัดการเกี่ยวกับการตลาดและโฆษณาบนเว็บไซต์

ต้องติดตามดูว่า กูเกิ้ลจะพลาดท่าเสียทีให้กับไมโครซอฟท์และยาฮูหรือไม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.