ระบบธุรกิจแบบครอบครัวยังไม่ถึงจุดดับ


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

จริง ๆ แล้วนั้นระบบธุรกิจแบบครอบครัวไม่ใช่ข้อเสียหายรุนแรงแต่อย่างใด ธุรกิจใหญ่ ๆ ในอเมริกาไม่ว่าจะเป็น ไอบีเอ็ม. หรือฟอร์ด ต่างเติบโตขึ้นมาบนพื้นฐานการดำเนินงานด้วยระบบแฟมิลี่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นระบบนี้โดยตัวของมันเองจึงเปรียบได้เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจโดยแท้

แต่ระบบนี้จะรักษาสถานภาพความยิ่งใหญ่ขององค์กรไว้ได้นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับข้อเด่นที่ว่าองค์กรนั้น ๆ จะดำรงเอกลักษณ์ของความเป็นแฟมิลี่ไว้ได้กี่ชั่วคน

สำหรับคำพังเพยที่ว่า "ธุรกิจครอบครัวจะอยู่ไม่เกินสามชั่วคน" นั้น เราก็ต้องมาพิจารณากันโดยละเอียดด้วย ว่าคำพังเพยแต่ละวลีนั้นมันก็มีกาลเวลา มีที่ใช้ที่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบแตกต่างกันไป บางทีก็มีความขัดแย้งในตัวเองอย่างสูงเช่นช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามทว่าในภาวะการณ์ขณะนั้นจำต้องเร่งรีบจะมัวไปรอรีอยู่ได้อย่างไร

ระบบธุรกิจแบครอบครัวก็มีหลายแห่งที่ยังโดดเด่น อย่างเช่นเต๊กเฮงหยู ด้วยนโยบายแบบ LOW PROFILE มุ่งแต่ทำมาหากินไม่ชอบไปซ่าส์ มีจังหวะจะโคนในการรุกรับทางการตลาดที่เหมาะสม ก็ทำให้เขาเพิ่มยอดขาย-กำไรมากขึ้น ๆ ในทุก ๆ ปีกระทั่งปัจจุบันนี้ทำได้มากกว่าห้าพันล้านบาทแล้ว สภาพภายในองค์กรเองก็อบอุ่น ที่ดีมาอย่างไรก็ยังคงเป็นอยู่เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่ที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเตชะไพบูลย์ โสภณพนิชผมว่าเขาก็ยังไปได้ดี

ส่วนที่ว่าการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีบางประการของระบบแฟมิลี่ในบางองค์กร ที่พยายามจะผสมผสานการบริหารงานสมัยใหม่ด้วยการนำเอามืออาชีพ (PROFESSIONAL) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุด มันเป็นการท้าทายความสามารถครั้งสำคัญของผู้บริหารทุกบริษัทไม่ว่าจะเป็นเต๊กเองหยู สยามซีเมนต์ หรือซีพี. ทุกบริษัทเหล่านี้ต่างมีปัญหาเดียวกันที่ว่ามืออาชีพกับคนที่อยู่เก่าแก่จะต้องทำงานร่วมกันให้ได้

ถึงตรงนี้ผมเองอยากชี้ให้เข้าใจกันว่า เราจะต้องทำความเข้าใจกับคำว่า "มืออาชีพ" เสียก่อนว่าแท้ที่จริงแล้วมันหมายถึงอะไร เราจะใช้มาตรอันไหนมาแบ่งวัด คนเก่า ๆ ในองค์กรที่เขามีความสามารถ เขาเก่ง ก็จัดเป็นมืออาชีพได้เหมือนกัน มืออาชีพนั้นจะต้องถูกยอมรับโดยสังคมเป็นสำคัญ ไม่ใช่อุปโลกน์กันขึ้นมาเองว่าจบไอ้นั่นจากที่นี่แล้วก็เรียกว่ามืออาชีพ ซึ่งถ้าเข้าใจคอนเซปท์นี้แล้วก็จะทำให้การทำงานคล่องตัวและลดปัญหาลงไปได้มาก

การออกไปของมืออาชีพบางคนในบางองค์กร อย่าไปมองว่ามันเป็นเรื่องเสียหายเสมอไป โดยเฉพาะกับองค์กรที่ใช้ระบบแฟมิลี่เป็นกุญแจสำคัญในการบริหารที่พอเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นมามักทำให้คนเข้าใจกันไปอย่างนั้น มันก็เหมือนกับเป็นการเรียนหนังสือที่ต้องมีการจบหลักสูตร คนที่ออกไปก็เป็นศิษย์มีครู

บริษัทใหญ่ ๆ หนีหน้าที่หนึ่งไม่พ้นก็คือการเป็นโรงเรียนสร้างผู้จัดการให้คนอื่นใช้ ธรรมชาติของธุรกิจมันมีความอึดอัดกันบ้าง เราก็มาคุยกันมาร่วมกันแก้ปัญหา เมื่อรู้ว่าความอึดอัดนั้นบางครั้งมันเป็นเรื่องของธรรมชาติก็ต้องทำใจ ยอมรับค่อย ๆ แก้กันไป ที่สุดปัญหาต่าง ๆ ก็จะคลี่คลาย อย่างเรื่องการวางแผนงานของคนที่เป็นมืออาชีพ กับคนที่เคยอยู่ในระบบครอบครัวมานานก็ย่อมต้องมีแปลกแยกมากบ้างน้อยบ้าง เป็นอย่างนี้เราก็มาคุยกันหาจุดที่มันลงตัว

การที่ผู้นำครอบครัวซึ่งถือเป็นผู้นำองค์กรในระบบแฟมิลี่จะปลดเกษียณตัวเองหรือวางมือจากการทำงานเหมือนเช่นที่คุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ บอกความประสงค์ของตัวเองที่จะหยุดการทำงานให้กับเต๊กเฮงหยูแล้วนั้น คิดว่าเป็นสภาพปกติ แต่อาจจะไม่ใช่ว่าธรรมดาเสียหมด อาจมีการเปลี่ยนแปลงกันบ้างเล็กน้อย อาจมีอะไรสะดุดติดขัดกันบ้าง ก็ตรงนี้ล่ะที่ผมว่า มันเป็นภาระท้าทายของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมา ว่าจะผสมผสานวัฒนธรรมของความเป็นมืออาชีพกับครอบครัวให้ผสมกลมกลืนกันได้อย่างไร ในกรณีของเต๊กเองหยูผมว่าเขาไปได้สบาย ๆ แม้จะไม่ฟู่ฟ่ามากนักก็ตาม เพาะเป็นไปตามวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว

ในบางองค์กรนั้นบางที "สินค้า" ไม่ใช่เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้รุ่งเรืองขึ้นมาโดยสมบูรณ์แบบ "คน" ต่างหากที่เงื่อนไขสูงสุด แล้วทำอย่างไรจึงจะสร้างจรรยาบรรณ ความรับผิดชอบให้กับคนภายในองค์กรได้ ซึ่งนี่ก็จำต้องอาศัยความเหนียวแน่นและการบริหารแบบครอบครัวมีส่วนสำคัญไม่น้อยที่จะเป็นพื้นฐานสร้างสรรค์

ผมไม่เชื่อว่าระบบแฟมิลี่โดยส่วนใหญ่โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ๆ ที่บอกว่า มักจะถูกส่งลูกหลานให้เข้าไปเป็นใหญ่ เพราะพฤติกรรมบางแห่งได้สะท้อนออกมาว่า เกิดการยอมรับความเป็นมืออาชีพมากขึ้น แต่เป็นไปได้ที่ว่าจะให้ลูกหลานเรียนงาน สะสมประสบการณ์กับมืออาชีพทั้งหลาย ส่วนพอถึงจุดหนึ่งแล้วจะปล่อยให้ลูกหลานเข้าไปแทนที่มืออาชีพเหล่านั้นหรือไม่นั้น จริงหรือไม่จริงในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันอีกที แต่ถ้าเป็นผมแล้วก็ผมก็ทำแบบเดียวกันนี้ ทว่าไม่ใช่เป็นการวางแผนล้ำลึกที่จะบีบจะบังคับมืออาชีพอะไร เราต้องดูว่าลูกหลานเหล่านั้นเข้าไปนั่งในตำแหน่งอะไรเป็นตำแหน่งที่ต้องการความศรัทธา หรือความไว้วางใจ ถ้าเป็นความไว้วางใจก็ไม่ผิดที่จะเลือกคนในครอบครัวขึ้นมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.