ก่อนมาอยู่ใต้ร่มเงากรุงไทย


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทนี้เดิมชื่อ "บริษัท ซี.อี. คอนเซาล์แทนส์" เป็นคอนเซาล์ติ้งคอมปานี ซึ่งผู้ที่ริเริ่มความคิดตั้งบริษัทคือ วัย วรรธนะกุล อดีตกรรมการผู้จัดการคนแรกและผู้ก่อตั้งบริษัทอาคเนย์ประกันภัย ซึ่งบริหารอาคเนย์จนเป็นสถาบันที่ยอมรับนับถือกันทั่วไป

เมื่อวัยซึ่งออกจากผู้จัดการอาคเนย์ แต่ยังเป็นกรรมการอยู่ (อายุประมาณ 57 ปี) เล็งเห็นว่าเมืองไทยยังไม่ค่อยมีบริษัทที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ เขาจึงก่อตั้งบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมาย การลงทุน การบริหาร การออกแบบอาคารบ้านเรือนและโรงงาน การวิศวกรรม และการประกันภัย

บริษัทถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2512 ด้วยทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท โดยมีอดีต ร.ม.ต. นาม พูนวัตถุสมัยที่เพิ่งเกษียณจากตำแห่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วยปกรณ์ อังศุสิงห์, อุเทน เตชะไพบูลย์, ไกรศรี นิมมานเหมินท์, บุญเกื้อ เหล่าวิณิชย์ แจ็ค เบลหลี่, เมธี ดุลยจินดา, ปราณี เอื้อชูเกียรติ และชัย วรรธนะกุล

ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แก่ธนาคารศรีนครและธนาคารเอเชีย

2 มีนาคม 2515 บริษัทได้เพิ่มทุนเป็น 20 ล้าน และหลังจากประกาศกระทรวงการคลัง โดยอาศัยตามความในประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 บริษัทมีฐานะเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และนายหน้าตามกฎหมาย

กรรมการผู้จัดการคนแรกคือ ดร. เมธี ดุลยจินดา อดีตผู้อำนวยการฝ่าย ธปท. อดีตผู้จัดการทั่วไปธนาคารมณฑล และธนาคารไทยพัฒนา จำกัด

การดำเนินธุรกิจในช่วง 10 ปีแรกบริษัทเติบโตขึ้นตลอดและมีกำไรเสมอมาจากรายงาน การประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 8/2519 ซึ่งปกรณ์ อังศุสิงห์เป็นประธานกรมการ รายงาน ผลการดำเนินการซึ่งเป็นตัวกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเท่ากับ 1.4 ล้านบาท และ 1.47 ล้านบาท (2518 และ 2517) ซึ่งประธานกล่าวว่าสาเหตุที่กำไรน้อยลงเพราะ

"ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงฐานะเจ้าหน้าที่ภายในของบริษัท ทั้งธุรกิจนายหน้าประกันภัย ซึ่งเคยเป็นส่วนทำกำไรให้กับริษัทฝ่ายหนึ่ง จำต้องแยกออกไปเป็นอีกบริษัทหนึ่งตามกฎหมาย บริษัทนี้มีชื่อว่าบริษัทที่ปรึกษาสากลธุรกิจ (IFCC ADVISER LIMITED) และกลุ่มบริษัทเซควิคฟอร์บส์ ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรบริเทนใหญ่ได้ให้เกียรติมาร่วมถือหุ้นด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทในเครือของเรานี้ได้รับจัดธุรกิจประกันให้แก่บริษัทการค้าและอุตสาหกรรมชาวต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งในอนาคตคงจะทำกำไรให้บริษัทในเครือของเราได้ดีพอสมควร และก็จะเป็นผลดีต่อไอเอฟซีซีด้วย"

นั่นเป็นแนวทางที่ผู้บริหารเดิมมองไว้

กรรมการผู้จัดการคนที่สองคือ บุญเสริม คุ้มพวงเพชร อดีตผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการเงินบริษัทอาคเนย์ประกันภัย เข้ารับช่วงต่อ ซึ่งก็เป็นเวลาไม่นานนักก่อนบริษัทจะเข้าสู่วิกฤติการณ์

เมื่อบริษัทราชาเงินทุนล้ม แม้บริษัทจะไม่มีหุ้นราชาอยู่โดยที่ซื้อขายหุ้นราชาให้ลูกค้ามาก และกรรมการผู้จัดการก็แสดงความสนิทสนมกับทางราชาเงินทุน บริษัททั้งหลายจึงเข้าใจว่าบริษัทเองคงมีหุ้นราชาอยู่มาก บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และธนาคารทั้งในและสาขาต่างประเทศ 10 กว่าแห่ง ได้เรียกเงินคืนพร้อม ๆ กัน แต่บริษัทก็ยังอยู่ในสภาพที่จัดการกับหนี้สินและทรัพย์สิน เปลี่ยนสภาพเป็นเงินสดคืนไปได้ทั้งหมด นอกจากส่วนของธนาคารศรีนครและธนาคารเอเชีย

คณะกรรมการบริษัทคิดว่าจะรักษาบริษัทไว้ได้ต้องมีการเพิ่มทุนเป็น 100 ล้านซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อยในเวลานั้น จึงเกิดความคิดว่าถ้ายกให้ทางการเสียบริษัทน่าจะอยู่รอดได้ดีกว่า

เวลาผ่านมาเกือบ 10 ปี ความเชื่อของผู้ถือหุ้นเดิมดูเหมือนจะสั่นคลอนลงไปมาก เพราะบริษัทที่พวกเขาสร้างกันมา กลับมีปัญหาใหม่ที่นับวันจะสะสมทับทวี คงจะทั้งสงสัย และเสียดายว่าถ้าหากพวกเขากัดฟันบริหารกันต่อมาบริษัทอาจจะอยู่ในสภาพที่ดีกว่าปัจจุบันก็เป็นได้!?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.