การจัดการ “ขยะ” เริ่มต้นที่ “จิตสำนึก”


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่ว่าจะพิจารณา "ขยะ" ในฐานะที่เป็นปัญหา หรือประเมินค่า "ขยะ" ในฐานะที่อาจเป็นแหล่งรายได้และ
โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้าง ข้อเท็จจริงประการสำคัญของการจัดการในเรื่องขยะของไทยยังอยู่ในสภาพ embryonic ที่ไม่ต่างจากทารกในครรภ์มารดา แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงเรื่องขยะนี้มาอย่างยาวนานแล้วก็ตาม

ภาวะ embryonic ดังกล่าว ทำให้ความคาดหวังที่จะเห็นกระบวนการจัดการเรื่อง "ขยะ" ดำเนินไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หรือหลายทิศทางในลักษณะรอบด้าน ดูเป็นประหนึ่งประเด็นที่เกินเลยจากขีดความสามารถในการบริหารของกลไกรัฐไปโดยปริยาย และบ่อยครั้งกลายเป็นประเด็นถกเถียงไม่ต่างจากเรื่องของไก่ และไข่ ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นก่อนกัน

ปริมาณขยะที่มีมากมายและเพิ่มขึ้นเป็นลำดับทุกๆ วัน ในด้านหนึ่งสะท้อนศักยภาพและวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารอย่างเด่นชัดว่าเป็นอย่างไร

แต่นั่นอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ "ขยะ" กำลังบอกกล่าว

เพราะในความเป็นจริงประเทศอื่นๆ ในโลกใบนี้ก็พร้อมเผชิญกับข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ต่างกัน

หากแต่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ไม่ได้ฝากความหวังไว้ที่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐที่ต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยลำพังเท่านั้น

กระบวนการพัฒนาของประเทศเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดมิติของประชาสังคม และจิตสำนึกสาธารณะที่พร้อมจะมีส่วนร่วมดูแลและผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไล่เรียงไปสู่การจัดการขยะอุตสาหกรรมและวัตถุมีพิษ ซึ่งรวมถึง กากนิวเคลียร์ด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกันในหลายประเทศกำลังผลิตสร้างรูปการณ์จิตสำนึกใหม่ๆ ที่พร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการชะลอลัทธิบริโภคนิยมที่ถาโถมและเป็นประหนึ่งต้นตอของปัญหาขยะให้เติบโตในอัตราที่ช้าลง

ญี่ปุ่นอาจเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องที่ว่านี้

เพราะนอกจากจะมีกลไกในการคัดแยกขยะในระดับครัวเรือนที่เข้มแข็งและมีผลในทางปฏิบัติได้จริง โดยไม่จำเป็น ต้องอ้างอิงกับรายได้ที่เกิดขึ้นจากการคัดแยกขยะดังกล่าว หากแต่เป็นจิตสำนึกสามัญที่คนญี่ปุ่นถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานแล้ว

วลีว่าด้วย mottainai ซึ่งซึมลึกอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานในฐานะที่เป็นเพียงคำอุทาน แต่มีความหมายที่สะท้อนความน่าเสียใจเสียดายต่อสิ่งมีคุณค่าที่ต้องถูกทิ้งให้เสียหายไปอย่างเปล่า ประโยชน์ รวมถึงการใช้สิ่งมีค่าไปอย่างผิดวิธี กำลังกลายเป็นนิยามของแนวความคิดว่าด้วยการอนุรักษ์และพิทักษ์สิ่งแวด ล้อมในระดับสากลด้วย

ในด้านหนึ่งก็เพราะว่า mottainai มีความหมายเชิงลึกที่สามารถครอบคลุมและสื่อความแนวความคิดที่แฝงอยู่ใน "Reduce, Reuse, Recycle" ในภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี

แม้ว่า mottainai จะเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่ในวันนี้ Wangari Muta Maathai สุภาพสตรีชาวเคนยา ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หรือ Nobel Peace Prize เมื่อปี 2004 กลายเป็นประหนึ่งกระบอกเสียงในการเผยแพร่ความหมายของ mottainai สู่สังคมวงกว้าง

พร้อมทั้งยังจุดประกายให้สังคมญี่ปุ่นหันกลับมาทบทวนความเป็นไป โดยเฉพาะกรณีว่าด้วยการบริโภคและใช้ทรัพยากรอย่างกว้างขวาง รายการสำหรับ เด็กทางช่อง NHK TV มีการนำเพลง Mottainai ซึ่งแต่งโดย Masashi Sada นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังมาออกอากาศ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าอีกทางหนึ่ง

กระบวนการดังกล่าวมีนัยความหมายมากกว่าการถกแถลงกันในเรื่องของงบประมาณว่าจะลงทุนสร้างเตาเผาขยะกี่แห่ง และมูลค่าเท่าใด

หรือแม้แต่การครุ่นคิดว่าจะแสวงประโยชน์และเพิ่มรายได้เป็นอาชีพอย่างไร ซึ่งเป็นค่านิยมพื้นฐานในสังคมด้อยพัฒนาไปไกลแสนไกล

ซึ่งค่านิยมที่ด้อยปัญญาและขาดจิตสำนึกสาธารณะเช่นนี้นี่เอง ที่อาจทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาขยะไม่มีวันจบสิ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.