ธุรกิจรีไซเคิลเสริมรากฐานเอสซีที


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

วัตถุดิบธรรมชาติที่นำมาผลิตสินค้านับวันจะเหลือน้อยลงไปทุกวัน ทำให้วัสดุของเหลือใช้ถูกนำมาใช้หมุนเวียนใหม่มากขึ้น จึงทำให้บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด เห็นช่องทางและกำหนดยุทธศาสตร์ธุรกิจรีไซเคิลเป็นธุรกิจอนาคต

บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ SCT เป็นบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ที่ให้บริการจำหน่ายสินค้าในเครือและบริษัทภายนอก

ยุทธศาสตร์ของเอสซีทีสอดคล้องไปกับนโยบายของบริษัทแม่ที่มีนโยบายชัดเจนดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แนวคิด SCG eco value จึงเกิดขึ้นด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้นวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กิจกรรมหลายๆ อย่างเกิดขึ้นภายในบริษัทในเครือ เช่น ในกลุ่มเอสซีจี เปเปอร์ มีโครงการ Idea Green นวัตกรรมกระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด (Think for a better environment) ด้วยการใช้เยื่อ EcoFiber ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้จากการคัดสรร จัดการเศษวัสดุเหลือใช้ภายนอกโรงงาน จึงลดการใช้ต้นไม้ลงถึง 30% ทำให้ได้กระดาษขาวคุณภาพพรีเมียม การใช้กระดาษ Idea Green 1 รีม ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.7 กิโลกรัม

หรือเอสซีจี ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (SCG Building Materials) ได้ผลิตฉนวนกันความร้อน ตราช้าง Green-3 ใช้เศษแก้วเป็นวัตถุดิบทดแทนทราย ช่วยลดปริมาณขยะ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1,100 ตันต่อปี อีกทั้งลดปริมาณความร้อนที่เข้ามา และกักเก็บความเย็นให้คงอยู่ในอาคาร จึงช่วยประหยัดค่าไฟจากเครื่องปรับอากาศ


สิ่งที่เกิดขึ้นของกลุ่มเอสซีจีเปรียบเหมือนกลยุทธ์ทางการตลาดที่เดินไปพร้อมๆ กันภายใต้วิสัยทัศน์ของบริษัทแม่

บริษัทเอสซีทีก็เช่นเดียวกันในฐานะ เป็นเหมือนแขนขาของกลุ่มเอสซีจี และจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มมาเป็นเวลานาน 30 ปี โดยเฉพาะเป็นช่องทางจำหน่าย

สินค้าไปยังต่างประเทศ จนกระทั่งมีสาขากระจายอยู่ทุกมุมโลก 24 แห่ง ใช้นโยบาย บริษัทแม่สร้างโอกาสให้กับธุรกิจรีไซเคิล

บริษัทเอสซีทีจึงใช้ช่องทางที่มีอยู่ รับซื้อสินค้ารีไซเคิล เศษเหล็ก และเศษกระดาษ เพื่อจำหน่ายต่อให้กับบริษัทในเครือคือ กลุ่มธุรกิจเอสซีจี เปเปอร์และบริษัทเหล็กสยาม เพราะทั้งสองบริษัทต้องการสินค้าจำนวนมากและไม่สามารถจัดหาได้เพียงพอจึงจำเป็นต้องพึ่งพาบริษัท ในเครือช่วยเหลือจัดซื้อและจำหน่าย

ด้วยประสบการณ์ที่ทำธุรกิจในต่าง ประเทศจึงสามารถติดต่อลูกค้าเพื่อซื้อเศษ เหล็กและเศษกระดาษเข้ามาจากหลายแห่ง เช่น ไต้หวัน จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา และสิงคโปร์

จากการบริหารสินค้ารีไซเคิล ทำให้ ปัจจุบันบริษัทเอสซีทีนำส่งเศษกระดาษและเศษเหล็กประมาณ 900,000 ตันต่อปี โดยเศษกระดาษจำหน่ายให้กับกลุ่มธุรกิจเอสซีจี เปเปอร์ เป็นหลัก ส่วนเศษเหล็กจำหน่ายให้กับบริษัททาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด

ก่อนหน้านั้นกลุ่มเอสซีจีมีธุรกิจเหล็ก บริหารโดยบริษัทเหล็กสยาม จำกัด แต่ได้ขายกิจการให้กลุ่มทาทา สตีลฯ ในปี 2549 จึงทำให้กลุ่มทาทากลายเป็นลูกค้าหลักรับซื้อเศษเหล็กจากบริษัทเอสซีที

หลังจากบริษัทเอสซีทีปรับโครง สร้างธุรกิจใหม่เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา และมุ่งเน้น 4 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจ ซีเมนต์ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจรีไซเคิล

เป้าหมายการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ในระยะกลางและระยะยาว

"วัตถุดิบจากธรรมชาติในอนาคตไม่สามารถนำมาผลิตได้ทัน จึงมองว่าธุรกิจรีไซเคิล เป็นธุรกิจอนาคตของโลก" อนันต์ จุฬาพิมพ์พันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจรีไซเคิล บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด บอกกับผู้จัดการ 360 ํ

ในอดีตธุรกิจรีไซเคิล รายได้ส่วนใหญ่มาจากจำหน่ายสินค้าให้บริษัทในเครือ เป็นหลัก แต่ปัจจุบันธุรกิจรีไซเคิลสามารถ สร้างยอดขายเทียบเท่ากับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ คือมีรายได้ใกล้เคียงกันประมาณกลุ่มละ 25 เปอร์เซ็นต์

จากรายได้ที่ใกล้เคียงกับกลุ่มธุรกิจ ในเครือ ทำให้บริษัทกำหนดบทบาทของกลุ่มธุรกิจรีไซเคิลเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จัดส่งสินค้าให้บริษัทในเครือเป็นหลัก บริษัทเริ่มขยายพันธมิตรใหม่ๆ เพิ่มเติม

พร้อมเพิ่มประเภทสินค้าให้หลาก หลาย เริ่มจากจัดซื้อทองแดงเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และเอสซีทีได้ศึกษาสินค้ารีไซเคิลใหม่ๆ เพิ่ม เช่น อะลูมิเนียม โลหะอื่นๆ ยางรถยนต์ รวมถึงกลุ่มพลาสติก

สินค้ารีไซเคิลของเอสซีทีจะมุ่งเน้นซื้อและจำหน่ายสินค้าเฉพาะกลุ่ม และซื้อในปริมาณมาก เพราะเป้าหมายจำหน่ายให้กับบริษัทอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่นำสินค้า รีไซเคิลผลิตเป็นสินค้าใหม่

การให้ความสำคัญต่อธุรกิจรีไซเคิลของเอสซีที ส่วนหนึ่งต้องการขยายกลุ่มลูกค้าออกไปในวงกว้างให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์รีไซเคิลใหม่ๆ ที่บริษัทได้กำหนด ไว้ในอนาคต กลุ่มลูกค้าจะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบริษัทในเครือเท่านั้น แต่ลูกค้าจะอยู่ในประเทศและต่างประเทศ และเอสซีที ต้องการทำธุรกิจกระจายความเสี่ยงมากกว่าที่จะพึ่งพาบริษัทในเครือเท่านั้น เพราะ บริษัทจำเป็นต้องบริหารพอร์ตของตัวเองด้วยเช่นกัน

บริษัทเอสซีทีจึงเริ่มเรียนรู้สินค้ารีไซเคิลและสร้างบุคลากรใหม่เพิ่มขึ้น โดยให้พนักงานเรียนรู้แยกตามประเภทสินค้า แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มเศษกระดาษ กลุ่มเศษเหล็กกลุ่มเยื่อและกระดาษ และกลุ่มเศษพลาสติก อะลูมิเนียม ทองแดง ซึ่งกลุ่มพนักงานเหล่านี้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 26 ปี การเรียนรู้ธุรกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ได้สร้างโรงงานเศษกระดาษแห่งแรก ณ โรงงานอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบฝึกพนักงานของเอสทีซีให้เรียนรู้กระบวนการทำงาน การจัดซื้อ จัด-ส่งกระดาษ และเรียนรู้เทคโนโลยี

โรงงานแห่งนี้รับซื้อเศษกระดาษประเภทกล่อง กระดาษเอ 4 กระดาษเขียน และกระดาษพิมพ์ใช้แล้วรวมทั้งหนังสือพิมพ์

สาเหตุที่เลือกก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมบางปู เพราะมีลูกค้าอยู่ในเขตอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว บริษัทจะรับซื้อกระดาษจากลูกค้าและนำเข้าโรงงานเข้าสู่กระบวนการอัดให้เป็นก้อนและนำส่งต่อให้ กับกลุ่มเอสซีจี เปเปอร์ ที่จังหวัดนครปฐม และกาญจนบุรี

วิธีการจัดส่งสินค้าที่โรงงานบางปู เพื่อให้เกิดความคุ้มทุนจะขนส่งสินค้าไปและกลับเพื่อไม่ให้รถว่างเปล่า คือหลังจาก ที่โรงงานอัดเศษกระดาษให้เป็นก้อน จะส่งขึ้นรถเดินทางไปจังหวัดนครปฐมและกาญจนบุรีของกลุ่มเอสซีจี เปเปอร์ และหลังจากนั้นรถจะขนกล่องใหม่ที่ผลิตจากเศษกระดาษกลับมาที่บริษัทในโรงงาน อุตสาหกรรมบางปู

ซึ่งเอสซีทีมองว่าเป็นการบริหารจัดการระบบขนส่งสินค้าที่คุ้มค่าและบริหารต้นทุน ที่ดีเพราะเศษกระดาษที่เข้ามาในโรงงานแห่งนี้มีประมาณ 3,000 ตันต่อเดือน

พนักงานที่มีประสบการณ์จะนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับโรงงานรับ-ซื้อเศษกระดาษ ในต่างประเทศ เช่น นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์

การค้าขายสินค้ารีไซเคิลของบริษัทเอสซีทีไม่ได้จัดซื้อสินค้าจากต่างประเทศแล้ว นำมาจำหน่ายให้ลูกค้าในประเทศไทยเท่านั้น แต่บริษัทได้ซื้อ-ขายสินค้าระหว่างประเทศ เช่น ซื้อเศษกระดาษจากประเทศกัมพูชา ไปจำหน่ายให้กับบริษัทลูกค้าในเวียดนาม

เอสซีทีค่อนข้างให้ความสำคัญกับธุรกิจเศษกระดาษรีไซเคิล ทั้งนี้เพราะว่ามีประสบ การณ์ให้บริการกับบริษัทในเครือมาตั้งแต่แรก และเหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ตลาดมีความต้องการทั่วโลก จึงทำให้มีการแข่งขันกันสูงในปัจจุบัน และราคาที่กำหนดในตลาดมีความผันผวนทำให้ผู้ขายสามารถเลือกจำหน่ายให้กับผู้ซื้อที่ให้ราคาสูง จึงเป็นโอกาสของเอสซีทีเพื่อสร้างรายได้

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดแข็งที่ทำให้บริษัทเอสซีทีสามารถป้อนสินค้าให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ในปริมาณจำนวนมาก เพราะระบบลอจิสติกส์ของบริษัท รวมถึงการพึ่งพาสาขาของบริษัท เอสซีจีทั่วโลก

ระบบลอจิสติกส์ไม่ได้พึ่งพาเครือข่ายภายในเครือเพียงอย่างเดียว แต่ยังร่วมมือกับพันธมิตรภายในประเทศที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลขนาดเล็กและกลาง เช่น กลุ่มวงษ์พาณิชย์ที่มีสาขาทั่วประเทศ รวมไปถึงกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่อื่นๆ

สำหรับคู่ค้ากลุ่มวงษ์พาณิชย์ นอกจากบริษัทจะรับซื้อสินค้าแล้ว บริษัทยังได้ส่งพนักงานไปเรียนรู้ธุรกิจรีไซเคิลอีกด้วย

ความร่วมมือของบริษัทเอสซีทียังกระจายไปสู่การร่วมมือกับบริษัทเอกชนในรูปแบบไมโคร ด้วยการร่วมมือกับบริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของอาคารสยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามเซ็นเตอร์ รณรงค์ให้ลูกค้าแยกทิ้งขยะรีไซเคิล ภายใต้โครงการจัดการขยะอย่าง ครบวงจร Green Recycling Project ห้างสรรพสินค้าจะทำหน้าที่ติดตั้งถังขยะแบบคัดแยกประเภทกระดาษ กระป๋อง ออกจากขยะประเภทอื่นๆ ปัจจุบันมีปริมาณขยะภายในศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน 3-5 ตันต่อเดือน และเอสซีทีจะรับทำหน้าที่นำขยะรีไซเคิลไปสู่กระบวนการรีไซเคิลอีกครั้ง

การผลักดันธุรกิจรีไซเคิลให้เป็นยุทธศาสตร์ของเอสซีทีเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และหากมองในอีกมุมหนึ่งธุรกิจรีไซเคิลสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับกลุ่มเอสซีจีอีกด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.