ขยะ : โอกาสธุรกิจบนโลกไร้พรมแดน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจขยะรีไซเคิลเป็นธุรกิจที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ ในสังคมไทยมานาน จากรถเข็นเก็บขยะไปจนถึงผู้รับซื้อรายเล็ก รายกลาง รวมไปถึงอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่ต้องการขยะ เศษเหล็ก เศษกระดาษ หลายพันตันต่อวัน จึงทำให้อุตสาหกรรมรีไซเคิล ว่ากันว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าได้กว่าแสนล้านบาท แต่มีต้นทุนวัตถุดิบต่ำมาก

การเดินทางของขยะรีไซเคิลไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก เศษกระดาษ เศษเหล็ก กระป๋องอะลูมิเนียม ไม่จำกัดอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้กระจายออกไปทั่วโลก

ดังนั้น ระบบการจัดการเพื่อให้เกิดผลคุ้มค่าต่อธุรกิจขยะรีไซเคิลจึงเป็นหัวใจของธุรกิจนี้ สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ บริษัทวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป หนึ่งในผู้ประกอบการที่อยู่ในวงการขยะรีไซเคิลมา 35 ปี เล่าให้ผู้จัดการ 360 ํ ที่มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานคัดแยกขยะเพื่อ รีไซเคิล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ได้รับรู้

บนเนื้อที่ 12 ไร่ มีรถเข็น รถกระบะ และรถบรรทุก วิ่งเข้า-ออกตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. ตลอด 7 วัน ทำให้ปริมาณขยะในโรงงานแห่งนี้มีประมาณ 200 ตันต่อวัน หรือ 200,000 กว่ากิโลกรัม โดยมีสินค้าหลัก 3 ประเภท คือ เศษกระดาษ โลหะ และขวดแก้ว

"แนวคิดของเราคือเป็นผู้ค้าปลีก เพื่อการผลิตขายส่งในระดับนานาชาติ เรารับซื้อสินค้าทุกอย่าง รับซื้อทั้งจำนวนน้อยตั้งแต่ 50 สตางค์ 1 บาท รวมถึงรับซื้อปริมาณมาก"

วงษ์พาณิชย์จะรับซื้อสินค้ารีไซเคิลทุกประเภท บางอย่างก็คาดไม่ถึงว่าจะรับซื้อ อย่างเช่น กากมะพร้าว น้ำมันใช้แล้ว หรือ แม้กระทั่งเศษเทียนไข บทบาทวงษ์พาณิชย์ จึงเหมือนผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าในรูปแบบครบวงจร

วงษ์พาณิชย์เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ตรงกลางของวงจรธุรกิจรีไซเคิล เพราะทำหน้าที่เป็นผู้รับซื้อและขายต่อไปให้กับอุตสาหกรรมปลายทางในประเทศและต่างประเทศเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่และกลับมาขายอีกครั้ง

กระบวนการทำงานของวงษ์พาณิชย์ไม่ได้ทำงานเพียงผู้เดียวแต่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศถึง 400 แห่ง รวมทั้งร่วมมือกับเทศบาลเมืองพิษณุโลก จึงทำให้ปริมาณขยะที่วิ่งเข้า-ออกในกลุ่มวงษ์พาณิชย์มีปริมาณถึง 6,000 ตันต่อวัน

วิธีการจัดการขยะรีไซเคิลของวงษ์พาณิชย์ หลังจากที่ได้ขยะมาแล้วจะคัดแยกขยะ ออกเป็นแต่ละประเภท เช่น เศษกระดาษ ขวดขาวขุ่น ขวดแก้ว อิเล็กทรอนิกส์ เศษเหล็ก เศษกระป๋อง และนำไปบีบอัดให้เป็นก้อน ส่วนเศษขยะบางส่วนที่ยังไม่ได้อัดเป็นก้อนจะกองไว้เป็นภูเขา เหมือนเช่นกองภูเขาเศษเหล็กที่สมไทยบอกว่ามีมูลค่าถึง 100 ล้านบาท

การบริหารพื้นที่จัดเก็บขยะเป็นสิ่งจำเป็น สมไทยชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัญเพราะการโยกย้ายขยะมีผลต่อต้นทุน เช่น เศษกระดาษ เศษกระป๋อง เศษเหล็ก จะถูกจัดวางไว้อยู่ด้านหน้าและเข้า-ออกง่าย เพราะเป็นสินค้าที่หมุนเวียนตลอดเวลา

การรับ-ซื้อขยะรีไซเคิลของวงษ์พาณิชย์ไม่ได้ตั้งรับเป็นผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว แต่ได้ออกไปซื้อสินค้า โดยเฉพาะสินค้าปริมาณมากๆ จากบริษัทใหญ่และห้างสรรพสินค้า

สมไทยเล่าให้เห็นรอบการซื้อ-ขายสินค้า เช่นวิธีการซื้อเศษกระดาษในห้างสรรพสินค้าให้ฟังว่า บริษัทส่งรถหกล้อ 1 คัน คนงาน 3 คนไปห้างโลตัส รับกล่อง ที่แกะเสร็จเรียบร้อยบ่าย 2 ขับรถกลับถึงโรงงานบ่าย 3 โมงครึ่ง ภายใน 6 โมงเย็นอัดเป็นแท่งแล้ว 2 ทุ่มส่งขึ้นรถบรรทุก รถไปจอดอยู่หน้าโรงงาน ตี 5 นำของลง 9 โมงเช้าและ 11 โมงเงินเข้าบัญชีแต่วงษ์พาณิชย์ยังไม่ได้นำเงินไปจ่ายห้างสรรพสินค้า

วงษ์พาณิชย์มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น วิธีการซื้อ-ขายจึงเป็นสองทาง ลูกค้าบางรายมาซื้อถึงโรงงาน แต่บางรายวงษ์พาณิชย์ไปส่งถึงบริษัทหรือท่าเรือ ส่วนรถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งจะมีหลายประเภท ตั้งแต่ 18 ล้อ ขนส่งได้ 29 ตันต่อคัน หรือรถบรรทุก 22 ล้อ ขนส่งได้ 35 ตันต่อคัน

ศูนย์กระจายสินค้ารับ-ส่งสินค้า (WONGPANIT DISTRIBUTION CENTER: WDC) ปัจจุบันมี 2 แห่งคือ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ ถนนทุกสาย ทั่วประเทศ และลาว จะวิ่งไปที่ 2 แห่งนี้ ซึ่งวิธีการทำงานจะคล้ายคลึงกับห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี และ 7-eleven สินค้ามารวมกันและแยกออกไป การที่วงษ์พาณิชย์มีเศษขยะรีไซเคิล ที่ครบวงจรทุกประเภท สมไทยให้คำนิยาม ธุรกิจของตัวเองเปรียบเหมือนดีพาร์ตเมนต์ สโตร์ที่ลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้หลายประเภท

จำนวนสินค้าที่มีหลากหลายและมีปริมาณมาก ทำให้สมไทยขายสินค้าโดยอ้างอิงตลาดโลก ตลาดไหนหรือประเทศใดที่ให้ราคาสูงเขาก็เลือกขายให้กับประเทศ นั้นๆ เพื่อเพิ่มรายได้และกำไร

ราคาสินค้าของวงษ์พาณิชย์มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน สินค้าที่ส่งไปขายในต่างประเทศและสินค้าที่มีปริมาณมากจะอ้างอิงราคาตลาดโลก ในขณะที่ราคาซื้อขายในเมืองไทยจะกำหนดราคาตามดีมานด์ซัปพลาย ราคาจะติดไว้บนกระดานทางเข้าของโรงงาน หรือลูกค้าสามารถตรวจสอบราคาได้ที่เว็บไซต์ www.wongpanit.com

การซื้อขายที่อ้างอิงราคาตลาดโลก ทำให้วงษ์พาณิชย์จำเป็นต้องว่าจ้างพนักงาน ที่มีความรู้ความชำนาญในการติดตามราคา สินค้าทั่วโลกและมีความรู้ทางด้านภาษา เช่น ภาษาญี่ปุ่น จีน อังกฤษ

พนักงานจะมีความรู้ความสามารถวิเคราะห์ตลาดล่วงหน้า รับรู้ดีมานด์ซัปพลายของสินค้าแต่ละประเภท รวมทั้งข่าวสารสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นของตลาดและเรียนรู้วิธีการส่งมอบสินค้าล่วงหน้า

จากการติดตามข่าวสาร ทำให้สมไทยรู้ว่าสินค้าช่วงไหน ประเภทใดมีความต้องการมากหรือน้อย เช่น การจัดเก็บแร่ทองแดงของโลกเหลือ 482 ล้านตัน และปัจจุบันคนใช้แร่ทองแดง 50 กิโลกรัมต่อคนต่อปีโดยไม่รู้สึกตัว การบริโภคทองแดง มาในรูปการใช้แอร์ ตู้เย็น คอมพิวเตอร์การก่อสร้างต่อเติมถนน บ้าน

การบริโภคทองแดงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดคะเนว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า แร่ทองแดงจะหมดโลก ส่วนตะกั่วอีก 8 ปีจะหมดโลก สมไทยจึงเห็นว่าการนำขยะมารีไซเคิลทวีความสำคัญขึ้นทุกวัน

ลูกค้าของวงษ์พาณิชย์กระจายอยู่ทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย บังกลาเทศ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในยุโรป

การติดตามข่าวสาร ทำให้บริษัทเลือกส่งสินค้าไปแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่นส่งขวดพลาสติกขาวขุ่นไปประเทศจีน และจีนนำขวดพลาสติกขาวขุ่นไปแปรรูปผลิตเป็นเส้นใยสังเคราะห์ผลิตเป็นเสื้อผ้าขายราคาไม่ถึง 100 บาท และส่งกลับมาขายในประเทศไทย ทำให้ขวดพลาสติกขาวขุ่นมีราคาแพงกว่าขวดเพ็ท หรือราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนขวดเพ็ทราคา 10.50 บาทต่อกิโลกรัม (ราคา ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2552) ส่วนเศษกระป๋องอะลูมิเนียม บริษัทส่งออกไปขายในบังกลาเทศ และที่อื่นๆ

วงษ์พาณิชย์ยอมรับว่าการส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศได้ราคาดีกว่าขาย ในประเทศ จึงทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนการขายต่างประเทศ 60 เปอร์เซ็นต์และขายในประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์

สินค้าในประเทศบริษัทจะจัดส่งไปยังผู้ผลิตสินค้าต้นทาง เช่น ขวดเบียร์ ส่งให้กับเบียร์ช้าง ไฮเนเก้น หรือสิงห์ ส่วนกล่องกระดาษส่งให้กับบริษัทสยามคราฟอุตสาหกรรม (ในเครือซิเมนต์ไทย) บริษัทปัญจพลไฟเบอร์คอนเทนเนอร์ บริษัทเอเชีย คราฟท์เปเปอร์ จำกัด หรือเหล็กเส้นส่งให้ กับกลุ่มบริษัทเหล็กสยาม

แม้ว่าวงษ์พาณิชย์จะอยู่ในอุตสาหกรรมธุรกิจรีไซเคิลมา 35 ปีก็ตาม แต่สมไทยยอมรับว่าบริษัทเป็นเพียงผู้ประกอบ การในระดับกลางเท่านั้น แต่ในอุตสาหกรรมนี้ยังมีรายใหญ่เป็นผู้ให้บริการสั่งซื้อกันเองในปริมาณมาก สินค้าเหล่านี้จึงมีระบบโควตา บางครั้งในวงการเรียกว่า "เจ้าพ่อ" เป็นธุรกิจที่อยู่มานานและหน้าเก่า

ในขณะที่สมไทยบอกว่าธุรกิจของเขาคือหน้าใหม่ในระบบโควตา จึงอาจเป็น เหตุผลหนึ่งที่ทำให้วงษ์พาณิชย์เลือกส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ

การออกไปแสวงหาตลาดในต่างประเทศ ทำให้เวทีการแข่งขันกว้างมากขึ้น จึงรู้ว่าธุรกิจรีไซเคิลในต่างประเทศมีการปรับตัวอย่างมาก และมีวิธีการทำตลาดที่เหนือกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว

โดยเฉพาะประเทศจีน รัฐบาลส่งเสริมให้ก่อตั้งอุตสาหกรรมรีไซเคิล ปัจจุบันก่อตั้งอุตสาหกรรมรีไซเคิล 4 มลฑลและส่งคนออกไปไล่ล่าซื้อสินค้ารีไซเคิลจากทั่วโลกเข้าประเทศ นอกจากนั้นรัฐยังยกเว้น ภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์ให้กับพลาสติกรีไซเคิล ในขณะที่เม็ดพลาสติกใหม่นำเข้าจีน ต้องเสียภาษี 36 เปอร์เซ็นต์

ความเคลื่อนไหวของจีนที่ให้ความสำคัญกับขยะรีไซเคิล เป็นเพราะว่าบางประเทศเริ่มตั้งกฎเกณฑ์และเงื่อนไขการผลิตสินค้า ต้องมีส่วนผสมของสินค้ารีไซเคิล เช่น สัญญากลุ่มอียูได้ระบุไว้ว่าสินค้าเม็ดพลาสติกใหม่บังคับให้มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล 30 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจปิโตรเคมี ที่เป็นหัวใจหลักสำคัญในการผลิตเม็ดพลาสติก แต่ไทยก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาอนุสัญญาในรายละเอียด หลังจากที่ไปลงนามในสัญญาหลายแห่ง เช่น อนุสัญญาที่ลงนามที่กรุงสตอกโฮล์มหรือ อนุสัญญาสิ่งแวดล้อมเกียวโต

หรือความเคลื่อนไหวของประเทศอื่นๆ ที่มีข้อตกลงมากมายเกี่ยวกับสินค้ารีไซเคิล ซึ่งไทยจำเป็นต้องปรับตัวเนื่องจากการซื้อขายสินค้าเริ่มเปลี่ยนไป

และปัจจุบันบริษัทต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ทำธุรกิจเม็ดพลาสติกเริ่มไหวตัว และติดต่อขอซื้อสินค้าจากบริษัทวงษ์พาณิชย์บางส่วนเพื่อผลิตส่งออกไปต่างประเทศ

ในขณะที่ต่างประเทศเริ่มมีการตื่นตัวส่งเสริมให้ประกอบอาชีพธุรกิจรีไซเคิล มากขึ้น แต่ในประเทศไทยระบบการทำงานของรัฐในฐานะฟันเฟืองหลักสำคัญ ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เพราะปัญหาการเมืองในปัจจุบัน

รวมถึงระบบการทำงานมีหน่วยงานดูแลจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครอง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้การทำงานไม่มีความชัดเจน

แต่ปัญหาอุปสรรคใหญ่ในการทำธุรกิจขยะในประเทศไทย คือโครงสร้างภาษีจำนวนมากที่มีถึง 11 รายการ กรณีธุรกิจมีรายได้ 1,200,000 บาท ผู้ประกอบ การต้องเสียภาษี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ ภงด.91 (ภาษีปลายปี) ภงด.90 (ภาษีกลางปี) ภาษีสังคมรังเกียจ ภาษีเก็บสิ่งของเหลือใช้ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย ภาษีการค้าของเก่า กรมการปกครอง ภาษีอนุญาตกรมโรงงานอุตสาหกรรม 105 และ 106 ของกรมโรงงานฯ ภาษีป้าย ที่กำหนดให้แสดงเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาษีเขตพิเศษเขตอีทีแซด เป็นเขตผลิตอุตสาหกรรมพิเศษ

หลายๆ ประเทศได้ส่งเสริมธุรกิจรีไซเคิลให้เกิดขึ้นภายในประเทศ ร่วมมือกับคู่ค้าระหว่างประเทศหลายแห่ง เพราะ ตระหนักดีว่าทรัพยากรโลกนับวันจะน้อยลงทุกที จึงทำให้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การนำสินค้ากลับมาใช้ใหม่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

ในขณะที่นโยบายภาครัฐยังไม่ชัดเจน แต่เอกชนได้เดินไปข้างหน้าหลายก้าวแล้ว เหมือนดังเช่นธุรกิจกลุ่มวงษ์พาณิชย์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.