|

EFTPOS เมื่อพลาสติกเข้ามาแทนที่เงินสด
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสสนทนากับนักวิชาการเอเชียที่มาสัมมนาในนิวซีแลนด์ ถามผมว่า ทำไมชาวนิวซีแลนด์ถึงไม่ชอบพกเงินสด ซึ่งเป็นคำถามที่ผมไม่เคยคิดที่จะถามตนเอง เพราะเวลาผมอยู่ที่เมืองกีวีนั้นผมเป็นมนุษย์พลาสติก เงินสดที่ติดตัวมีแต่เศษเหรียญเอาไว้จ่ายตามมิเตอร์จอดรถ แต่ช่วงหลังๆ เศษเหรียญผมยังไม่พกติดตัวเลยเพราะมีวิธีจ่ายเงินทางอื่น แต่แล้วผมก็ได้พบคำตอบเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เหตุเริ่มจากที่ผมกลับมาเมืองไทยเมื่อเดือนเมษายนและเอานิสัยนิวซีแลนด์ติดตัวไปด้วยคือการใช้บัตรเครดิต สองเดือนต่อมาผมพบว่ามีรายการซื้อของปริศนาจำนวนหนึ่งโผล่มาที่เครดิตการ์ดของผมพร้อมกับบทบรรณาธิการของคุณปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ในนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ของเดือนพฤษภาคม ที่ส่งมาถึงผมในวันเดียวกันอย่างน่าพิศวง ผมจึงใช้เวลาจากวันนั้นเริ่มเก็บข้อมูล ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ในนิวซีแลนด์ นักธุรกิจที่เดินทางไปเมืองไทยทั้งฝรั่งและชาวไทย จึงพบข้อมูลที่น่าสนใจ คือพนักงานด้านคดีบัตรเครดิตธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในนิวซีแลนด์ ให้ข้อมูลตรงกันว่าการเดินทางไปเอเชียมีความเสี่ยงสูงในการโดนขโมยเบอร์และรหัสบัตรเครดิต โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง บรรดาเจ้าหน้าที่ยังมีความน่ารักอยู่บ้างที่ไม่บอกว่ามาจากประเทศไหนแต่บอกว่าทุกที่มีความเสี่ยงสูง อาจจะยกเว้นแต่ญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยมีกรณีให้พบมากนัก
แต่ถ้าถามนักธุรกิจส่วนมาก ซึ่งโดนปล้นบัตรเครดิตกันมาแล้วต่างไม่ปกปิดแบบธนาคาร ถ้าเป็นนักธุรกิจฝรั่งแล้ว เมืองจีนกับเมืองไทยนั้นมาแรงแซงโค้งทุกชาติไปไกล ส่วนถ้าถามนักธุรกิจชาวไทยที่ไป ใช้บัตรในบ้านเรา หลายคนที่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่างบอกตรงกันว่า ถ้าไม่เจอบัญชีปริศนาก็จะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรมาแจ้งว่าบัตรของท่านกำลังทำรายการซื้อจำนวนมากขณะที่เจ้าตัวยังอยู่นิวซีแลนด์ โดยเจ้าหน้าที่จะสอบถามว่าเจ้าตัวเดินทางไปที่ใด ซึ่งร้อยละร้อยของนักธุรกิจชาวไทยที่โดนบัญชีปริศนานั้นต้องเดินทางกลับบ้านเราและใช้บัตรแบบที่เคยชินในนิวซีแลนด์ ทำให้เจอรายการอเมซิ่งไทยแลนด์ เช่นเดียวกับผู้เขียนกันถ้วนหน้า ซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าบรรดาอาชญากรบัตรเครดิตนี้ได้สร้างชื่อเสียงในทางลบให้ประเทศไทยอย่างมหาศาล
บทเรียนดังกล่าว ทำให้ผมสามารถตอบคำถามของนักวิชาการเอเชียที่เคยถามผมเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์พลาสติกของชาวกีวีได้อย่างหนึ่งคือ เวลาไปเอเชียผมยอมเป็นมนุษย์เงินสดเพราะแย่ที่สุด คือโดนปล้นก็อาจจะเสียเงินสดไปบ้าง แต่ถ้าโดนโจร บัตรเครดิตนี้เสียหายหนักกว่ามาก เมื่อผมหันมามอง ในประเทศนิวซีแลนด์ว่า ทำไมคนเขาถึงกล้าพกบัตร พลาสติกกันแบบไม่กลัวโจร ผมจึงเริ่มศึกษาและพบว่าในนิวซีแลนด์นั้นเต็มไปด้วยความหละหลวม ทั้งการให้เบอร์บัตรเครดิตกันทางโทรศัพท์ เวลากดบัตรเครดิตก็ไม่มีการป้องกัน บางคนก็กดกันอย่างเปิดเผยในซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ผมพบความจริงอย่างหนึ่งว่าไม่ใช่ว่าเขามีระบบที่วิเศษอะไรเลยแต่เป็นเพราะสิ่งเดียวนั่นคือการที่คนส่วนมากของเขา มีความซื่อสัตย์อย่างมนุษย์ที่พัฒนาแล้วสมควรที่จะเป็น ผมพบสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างว่าประชาชน ทุกคนในนิวซีแลนด์นั้นเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์โดยมีเบอร์โทรศัพท์ให้แจ้งความเกี่ยวกับผู้ที่กระทำผิดทุกอย่าง เช่น ถ้าชาวนิวซีแลนด์ขับรถตอนตีสอง ถนนโล่งแต่เมื่อเจอไฟแดงเขาก็หยุดและรอจนกว่าไฟจะเขียว และถ้ามีใครทำผิดฝ่าไฟแดงเขามีฮอตไลน์โดยกด 555 จากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเบอร์โทรฟรีเข้าไปหากองบัญชาการตำรวจจราจรเพื่อแจ้งความ นอกจากนี้ล่าสุดยังมีกฎหมายลงโทษพวกที่เอาถนนหลวงมาซิ่งว่าถ้ารถที่ผิดมาตรฐานและมาแข่งกันบนถนน ตำรวจจะเอารถไปและไม่กี่อาทิตย์ต่อมาจะมีวีซีดีส่งมาให้ที่บ้าน โดยวีซีดีจะเป็นภาพที่ตำรวจเอารถแต่งไปทำลายเมื่อเครื่องยนต์อัดรถแต่ง จนกลายเป็นซากรถแล้วก็เป็นอันจบวีซีดีและส่งมาให้เด็กซิ่งดูให้ช้ำใจ
ส่วนถ้าพูดถึงบัตรเอทีเอ็มและเครดิตการ์ดซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเพื่อนร่วมงานของผม เมื่อไม่นานมานี้ลืมบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็มไว้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง เขาก็จำไม่ได้ว่าไปลืมไว้ที่ไหน จนกระทั่งเขาไปชอปปิ้งที่ห้างเดิมและพนักงานเอาบัตรที่ลืมไว้มาให้ เช่นเดียวกับคนที่ลืมโทรศัพท์มือถือ ในที่สาธารณะและมีพลเมืองดีนำมาคืน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สังคมฝรั่งจะมีแต่คนที่ซื่อสัตย์ เปล่าเลยครับ สังคมเขาก็มีคนไม่ดี อย่างที่นิตยสารรีดเดอร์ไดเจส เคยทำการสำรวจจากทั่วโลกถึงความซื่อสัตย์ ผลออก มาว่า ชาวไทยมีความซื่อสัตย์ราวๆ ห้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ฝรั่งกับญี่ปุ่นนั้นได้ระหว่างเจ็ดสิบห้าถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ การที่ประชาชนส่วนมากเป็นคนที่ซื่อสัตย์มีระเบียบวินัย ย่อมส่งผลให้คนที่คิดเรื่องทุจริตไม่กล้าที่จะกระทำความผิดอย่างเปิดเผย
เมื่อกฎหมายของเขาจริงจังรุนแรงและประชาชนต่างให้ความร่วมมือกับตำรวจในการลงโทษ ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายทำให้การนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับการเงินถูกนำมาใช้ในนิวซีแลนด์เสมอ หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีในการใช้บัตรเอทีเอ็ม ในการซื้อตรงและกดเงินจากร้านค้า ซึ่งเข้ามาในนิวซีแลนด์ เมื่อประมาณยี่สิบปีก่อนเรียกว่าเอฟโพส (EFTPOS)
เอฟโพสไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่อะไรเลย เพราะชาวกีวีใช้มาเกือบ 20 ปีแล้ว ดังนั้น คนที่อยู่นิวซีแลนด์มานานๆ อย่างผมเองก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ ปกติมากๆ แต่สำหรับคนที่มานิวซีแลนด์อาจจะมีบางกลุ่มที่เห็นเป็นเรื่องน่าสนใจ ระบบ EFTPOS นั้น มาจากคำย่อของชื่อเต็มๆ ว่า Electronic Funds Transfer at The Point of Sales หรือระบบโอนเงิน อัตโนมัติที่จุดซื้อขาย ซึ่งเริ่มใช้ในประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 และมาแพร่หลายในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 ซึ่งมีอายุเกือบ 25 ปีทีเดียว ซึ่งนิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่นำระบบเอฟโพสมาใช้ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ EFTPOS หรือ EFT ซึ่งในประเทศไทยเองก็ได้นำระบบดังกล่าวมาใช้ได้ระยะหนึ่งแล้วแต่จำกัดอยู่ที่บัตรเครดิตเท่านั้น
ในประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นต้นแบบของระบบ EFTPOS นั้นไม่ได้จำกัดแค่บัตรเครดิต แต่รวมไปถึงบัตรเอทีเอ็มของธนาคารต่างๆ โดยในยุคเริ่มต้นนั้นจะมีป้ายบอกเกี่ยวกับธนาคารที่อยู่ในระบบเอฟโพสโดยจะมีตราของบัตรเอทีเอ็มของแต่ละธนาคารอยู่ในป้ายที่แคชเชียร์ของร้านค้าหรือภัตตาคาร ในช่วงต้นของทศวรรษ 90 นั้นระบบเอฟโพสได้กระจายไปตามเมืองต่างๆ ในประเทศนิวซีแลนด์อย่างรวดเร็ว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากบรรดาธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจและหน่วยราชการ
ปัจจุบันเทคโนโลยีของเอฟโพสและการจ่ายเงินด้วยวิธีต่างๆ เช่น ใช้เครดิตจากโทรศัพท์มือถือในการจ่ายค่าจอดรถ การที่เทคโนโลยีได้ทำให้ชาวนิวซีแลนด์ไม่พกเงินสดอีกต่อไปแต่ใช้เครดิตจาก โทรศัพท์มือถือหรือบัตร เอทีเอ็มในทุกสถานที่ แน่นอนครับ อย่าว่าแต่ โดนขโมยเบอร์บัตรเครดิตเลย แค่ลืมทิ้งไว้ในที่สาธารณะก็อาจจะเกิดภัยอย่างมหันต์ได้ แต่เมื่อคนส่วนมากเป็นคนดี การนำเทคโนโลยี ต่างๆ เข้ามาในนิวซี แลนด์จึงเป็นเรื่องที่สะดวก เพราะธนาคาร ก็มีความกล้าที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้ประชาชนได้ใช้เพื่อความสะดวกในขณะที่ประชาชนก็กล้าที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นไม่ใช่เพราะว่ามาจากความเชื่อมั่นในความปลอดภัยแต่มาจากความไว้ใจว่าจะไม่มีคนไม่ดีมาฉวยโอกาสจากความหละหลวมของระบบ
การที่ธุรกิจใดก็ตามต้องการติดตั้งระบบเอฟโพสต์นั้นสามารถทำได้โดยง่ายคือติดต่อกับธนาคาร ซึ่งประกอบด้วยสองกลุ่มในนิวซีแลนด์คือ กลุ่มธนาคาร ANZ กับ National Bank ซึ่งใช้ระบบ ที่เรียกว่า Eftpos New Zealand ขณะที่ธนาคารอีก สามแห่งคือ Bank of New Zealand, Westpac Bank, และ ASB Bank ใช้ระบบ Paymark Eftpost ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย เพียงแต่มีอุปกรณ์ที่ต่างกันซึ่งผู้ประกอบการต้องเช่ามาจากธนาคาร จากนั้นทางธนาคารก็จะนำเอาอุปกรณ์ โบราณแบบซิบแซบ ซึ่งใช้กันตั้งแต่สมัยโบราณมาให้ ดูเล่นเผื่อระบบเสีย ซึ่งผมก็ไม่เห็นจะมีปัญหาเสียที จากนั้นธนาคารก็จะเอาเครื่องเอฟโพสมาต่อเข้ากับโทรศัพท์และทำการทดลอง ทางผู้ประกอบการก็จะนำเอาเครื่องมือดังกล่าวมาเก็บเงินลูกค้าได้อย่างง่าย ดาย การใช้งานก็แสนง่าย ตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่างตั้งระบบไว้อยู่แล้วแค่เอาสินค้า สแกนจนครบก็จะมีมูลค่าขึ้นมาให้เห็นเอาบัตรรูดก็เป็นอันเริ่มทำงานได้
ในห้างบางแห่งเริ่มระบบให้ลูกค้าเช็กเอาต์ได้เอง โดยให้ลูกค้าสแกนเองและรูดบัตรเอทีเอ็มจ่ายเงินเองก็เป็นอันเสร็จการชอปปิ้ง ซึ่งถ้านำระบบ ดังกล่าวมาใช้ในบ้านเราคงเกิดสินค้าหายกันอย่างแน่นอน เมื่อรูดบัตรแล้วเครื่องเอฟโพสก็จะถามว่าจะสั่งจ่ายจากบัญชีใดระหว่างกระแสรายวัน ออมทรัพย์ หรือเครดิต จากนั้นให้กดรหัสเอทีเอ็ม เมื่อทำเสร็จแล้วเครื่องก็จะต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ที่ธนาคารเพื่อหักเงินออกจากบัญชีลูกค้าตามจำนวนที่ได้ซื้อขายทันที ขั้นตอนทั้งหมดสามารถทำเสร็จได้ในเวลาไม่กี่วินาที และผู้ประกอบการมีหน้าที่เพียง ปิดบัญชีเพื่อให้เงินเข้ามาฝากในบัญชีหลังจากหมดวันแล้ว
แน่นอนครับ ขั้นตอนดังกล่าวทั้งหละหลวมและง่ายต่อมิจฉาชีพที่จะปลอมแปลง อย่างไรก็ตามคดีบัตรเอทีเอ็มในนิวซีแลนด์กลับไม่มีปัญหา นั่นเกิด มาจากความซื่อสัตย์และความไว้ใจของประชาชน ผมพบว่าการที่ฝรั่งสอนลูกหลานนั้นเขาเน้นเรื่องความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ถ้ากระทำผิดให้ยอมรับตรงๆ แม้แต่ในอเมริกาก็ยังมีเรื่องของวอชิงตันแสดงความซื่อสัตย์เมื่อเขาตัดต้นไม้ ผมเชื่อว่าการไม่แก้ตัว การยอมรับผิด การไม่โกหกเป็นตัวอย่างของคนที่มีการพัฒนาแล้ว ในขณะที่บ้านเรานิยมเล่าเรื่องศรีธนญชัย ให้เด็กๆ ฟัง เพื่อให้เด็กซึมซับเอาความกะล่อน ปลิ้นปล้อนไปใช้แทนความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา
ผมเชื่อว่าตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเขาเจริญกว่าเรา ไม่ใช่เพราะว่าคนไทยโง่ เปล่าเลยครับ คนไทยที่ฉลาดๆ นั้นเหนือกว่าฝรั่งหลายเท่าตัว ไม่ใช่ว่าฝรั่งเขาค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อนเรา แต่เพราะว่าเขากล้าที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ก่อน เราเพราะเขาไม่กลัวว่าจะมีคนมาฉวยโอกาสจากระบบ ในขณะที่เราต่างไม่กล้าที่จะนำเอาออกมาใช้เพราะว่ากลัวศรีธนญชัยจะมาปล้น แค่เรื่องเล็กๆอย่างเทคโนโลยีทางการเงินประเทศเล็กๆ อย่างนิวซีแลนด์ซึ่งมีประชากรแค่สี่ล้านกว่าคนกลับแซงหน้าประเทศไทยไปถึงยี่สิบปี ผมไม่เชื่อว่าประเทศไทย ไม่มีศักยภาพหรือเทคโนโลยีที่จะทำได้ แต่เราไม่ทำเพราะความเสี่ยงต่อการโดนจารกรรมจากมิจฉาชีพซึ่งไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเกิดชื่อเสียงในทางไม่ดีต่อนักท่องเที่ยวเท่านั้นแต่ได้ทำให้ประเทศของเราล้าหลังประเทศที่พัฒนาแล้วไปถึงยี่สิบปีอย่างไม่น่าจะเป็น
ผมเชื่อเหลือเกินว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นทำได้จากการที่ผู้ใหญ่ทำดีให้เด็กดู ให้เด็กได้ซึมซับการเป็นคนดี ส่งเสริมความซื่อสัตย์ในสังคมโดยผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างที่ดี ประเทศไทยจะสามารถเจริญขึ้นได้ยี่สิบปีในเวลาไม่นานเท่าที่คิด เพราะความเจริญนั้นไม่ได้อยู่ที่วัตถุอย่างตึกระฟ้าแต่อยู่ที่จิตใจของคน ประเทศจะพัฒนาหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่เงินหรือตึก แต่อยู่ที่คน ถ้าคนเราพัฒนาทางจิตใจ ประเทศนั้นๆ ย่อมเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|