|
อนาคตของเอเชียในทัศนะของ ADB
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
"เพื่อให้ได้ความเจริญที่เป็นจริง มั่นคง และรวดเร็ว ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมตัวกันเป็นภูมิภาค"
ราจัท เอ็ม นาค (Rajat M. Nag) ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank-ADB) กล่าวขณะบรรยายในหัวข้อเรื่อง "ความเป็นผู้นำในเอเชียยุคใหม่" หรือ "Leadership in new Asia" ภายในงานเสวนา Asia Leadership Dialogues 2009 เมื่อไม่นานมานี้
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ เอเชียเป็นภูมิภาคที่รวมความแตกต่างในด้านต่างๆ เอาไว้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ได้ทำให้เกิดห่วงโซ่กลไกพิเศษที่จะช่วยขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทั้งในด้านเศรษฐกิจและการค้า
"ขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังดำเนินไป แต่ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมกลับทวีเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ผลที่ตามมาคือการปรากฏขึ้นของสองโฉมหน้าของภูมิภาคเอเชีย หรือ "Two Faces of Asia" เช่น ความเจริญรุ่งเรืองของกรุงปักกิ่ง และเมืองมุมไบ ซึ่งฉายภาพที่ขัดกันกับสลัมและเขตชนบทที่กว้าง ใหญ่ไพศาลและเสื่อมโทรมที่สุดในโลก เป็นที่ซึ่งชาวนาผู้ที่อาศัยอยู่ในป่า และชาวประมงหลายล้านคนแทบจะไม่สามารถเลี้ยงชีพ ตัวเองได้"
สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและสภาพอากาศที่เปลี่ยน แปลงไป ทำให้สถานการณ์ความยากจนเลวร้ายลง ซึ่งการทำให้ทวีปเอเชียสามารถเจริญเติบโตบนรากฐานที่เท่าเทียมกันและมั่นคงได้นั้น กลไกความช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องมาจากทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค หรือแม้กระทั่งระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติการณ์ทางการเงินของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
ปัจจุบันทวีปเอเชียมีประชากรที่ยากจนอยู่ประมาณ 900 ล้านคน และมีเกณฑ์รายได้เฉลี่ย 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน มีชาวเอเชียถึง 700 ล้านคนที่ไม่มีน้ำดื่มที่สะอาดเพียงพอ และประมาณ 1.9 พันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงสุขอนามัยที่เหมาะสม ประชากรเด็กในเอเชีย 100 ล้านคน ไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเด็กที่อายุต่ำกว่าห้าปีในเอเชียจำนวน 107 ล้านคนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ความไม่เสมอภาคกันเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้าง ความเสียหายในระยะยาวต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางสังคม
"โฉมหน้าทั้งสองของเอเชียกำลังถูกแยกขาดออกจากกันแทนที่จะหันมาเจอกัน นี่คือความท้าทายสำคัญของเอเชียในวันนี้" Rajat M. Nag ระบุ
Rajat M. Nag เชื่อว่าการเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ ภูมิภาคเอเชียจำเป็นต้องให้ประชาชนของตนมั่นใจได้ว่าจะได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโต โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา อาชีพ และปัจจัยขั้นพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในหนทางที่ดีที่สุดในการพัฒนา ให้ไปถึงจุดหมาย
ซึ่งผลการศึกษาล่าสุดจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียเสนอว่า ทวีปเอเชียต้องการงบประมาณเพื่อการลงทุนราว 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 ถึงปี ค.ศ.2020 ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระดับชาติและระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและ ครอบคลุมไปทั่วภูมิภาคในทศวรรษที่ผ่านมา ได้สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย ที่ไม่ได้มีแค่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการจัดรูปแบบใหม่ในการพัฒนาเมือง การผลิตและ การบริโภคพลังงาน รวมถึงการจัดการการใช้ที่ดินและกำจัดขยะ มูลฝอยอย่างถูกต้องและมีสมรรถภาพมากขึ้น
ก่อนที่ภูมิภาคนี้จะตกเป็นเหยื่อของการพัฒนาเสียเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|