ประภา วิริยประไพกิจ อ่านใจได้ยากที่สุด


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

จริง ๆ แล้วประภาเป็นคนชอบเก็บตัวเงียบ ๆ

ทุกวันนี้ประภาจะตื่นนอนประมาณตี 5 ทำกิจวัตรยามเช้าแล้วก็จะให้คนขับรถมาส่งที่สวนลุมฯ เพื่อจ๊อกกิ้งออกกำลังกายจากนั้นราว ๆ 7 โมงก็กลับบ้าน

บ้านของประภาอยู่ริมถนนรัชดาภิเษกเส้นเลียบแม่น้ำย่านช่องนนทรี ประภาพักอาศัยอยู่ชั้นบน ส่วนชั้นล่างเป็นสำนักงานบริษัทสหวิริยาพาณิชย์กิจการค้าเหล็ก ที่เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของธุรกิจในเครือข่ายตัวอาคารนั้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำด้านหน้าติดถนน ก่อเป็นกำแพงยาวเหยียดรวมเนื้อที่ดินแล้วก็คงจะหลายสิบไร่ ซึ่งจุดเด่นที่สามารถเห็นชัดก็คือกองเหล็กจำนวนมากมายที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ

ประภาจะนั่งทำงานที่นี่เช่นเดียวกับน้องชายของเธอที่ชื่อ วิทย์ วิริยประไพกิจ

หากจะเรียกว่าเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ ที่ประภาและวิทย์ใช้ปักหลักบัญชาการกิจการมากมายหลายแขนง ที่กระจายอยู่หลายจุดทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็คงจะไม่ผิด

ประภาเก็บตัวอยู่ที่นี่เงียบ ๆ โดยไม่ต้องการเปิดเผยตัว

ก็นาน ๆ ทีนั่นแหละที่อาจจะต้องมีชื่อเธอและกิจการของเธอบางกิจการปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์บ้าง แต่ก็เป็นหนังสือพิมพ์จีนเท่านั้น

สังคมภายนอกไม่ค่อยมีใครทราบว่าประภาและครอบครัวทำอะไรรวยแค่ไหน

กระทั่งประภาตัดสินใจก่อตั้งบริษัทขายคอมพิวเตอร์ ธุรกิจที่มีการแข่งขันหนักหน่วงและต้องการภาพพจน์ที่มั่นคงสวยงาม

นั่นแหละที่ทำให้สังคมภายนอกค่อยรู้จักประภามากขึ้น

"ท่านประธาน" กลายเป็นชื่อที่คนสหวิริยาใช้เรียกประภาให้คนนอกได้ยิน

แต่ถ้าจะให้ถูกต้องยิ่งขึ้นสมควรเรียกเธอว่า ดร. ประภา วิริยประไพกิจ…

เจ้าของอาณาจักรธุรกิจที่เรียกกันว่า "สหวิริยากรุ๊ป" ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทในเรือกว่า 25 บริษัท มีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 3 พันล้าน กระจายอยู่ในอุตสาหกรรมเหล็ก, สถาบันการเงิน, เรียลเอสเตท, คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานและอุสาหกรรมการเกษตร

และเป็นหุ้นใหญ่กลุ่มหนึ่งของแบงก์กรุงศรีอุธยาอีกด้วย

กับอายุ 60 ต้น ๆ แล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประภาเป็นเจ้าของกิจการผู้ประสบความสำเร็จสูงมาก ๆ คนหนึ่ง

ทั้งที่เป็นผู้หญิง…ไม่ได้รับการศึกษาสูงและต้องเป็นม่ายตั้งแต่วัยสาวอีกทั้งไม่ใช่เจ้าของบุคลิกเข้มแข็งเฉียบขาดประดุล "เจ้าแม่" หากแต่นุ่มนวลและเป็นคนใจอ่อนเป็นที่สุด

แต่ก็ซ่อนบางสิ่งบางอย่างไว้ในตัวที่อ่านได้ยากยิ่ง

ไม่แนานักปมเงื่อนสัของความสำเร็จอาจจะเป็นบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวนี้กเป็นได้

ประภาเป็นลูกจีนที่เกิดในเมืองไทย แม้ว่าช่วงหลัง ๆ ประภาจะปรากฏตัวในงานสังคมมากขึ้นและมีข่าวของเธอสม่ำเสมอบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ส่วนมากแล้วก็จะเป็นข่าวประชาสัมพันธ์กิจการเสียส่วนมาก เรื่องราวของประภาเป็นเรื่องที่ถูกใส่ลิ้นชักปิดกุญแจมิดชิด ก็เลยทราบกันเพียงเลา ๆ ว่า เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วประภามีฐานะเป็นเพียงลูกสะไภ้ของร้านขายเหล็กชื่อเลี่ยงเซ่งฮวด กิการที่ต่อมาตกเป็นสมบัติของสามีและเมื่อสามีเสียชีวิตลงขณะที่ประภาอายุเพิ่งจะต้น ๆ 30 กิจการก็ตกอยู่ภายใต้การดูแลของเธอ

ประภามีน้องชายคนหนึ่งชื่อ วิทย์ และก็วิทย์คนนี้เองที่เป็นกำลังสำคัญในการก่อร่างสร้างตัวในยุคต่อมา

วิทย์ วิริยประไพกิจ เรียนหนังสือเพียงชั้นประถมพอ ๆ กับพี่สาว แต่ว่ากันว่าเขาเป็นคนฉลาดที่มีไหวพริบทางการค้าที่หาตัวจับยาก

ในช่วง 20 กว่าปีที่แล้วเมื่อกิจการเริ่มพอจะเป็นปึกแผ่นบ้าง วิทย์พยายามเสริมส่งตัวเองด้วยการเรียนภาษาจีนกลางอย่างหามรุ่งหามค่ำ ซึ่งผลพวงก็คือการเปิดประตูการค้าร่วมกับนักธุรกิจไต้หวัน วิทย์เดินทางเข้าออกไต้หวันเป็นว่าเล่น และการติดต่อกับไต้หวันนี่เองที่ทำให้เขาได้เพื่อนนักธุรกิจคนไทยคนหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์กับไต้หวันเหมือน ๆ เขา

คน ๆ นี้ชื่อ ชวน รัตนรักษ์ เจ้าของแบงก์กรุงศรีอยุธยา

ความใกล้ชิดเมื่อพัฒนาจนกลายเป็นความเป็นเพื่อน ต่อมาธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็ได้กลุ่มสหวิริยาเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นและวิทย์ วิริยประไพกิจ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการของแบงก์

วิทย์เป็นคนที่มีความมุมานะมาก นอกจากเรียนภาษาจีนกลางแล้วเขาเคยเรียนภาษาไทย โดยมีครูมาสอนพิเศษให้และช่วงใกล้ ๆ นี้เขากำลังคร่ำเคร่งกับการเรียนภาษาอังกฤษ

วิทย์กับประภานั้น ว่าไปแล้วก็เป็นพี่น้องที่ทำงานกันอย่างเข้าขามาก

วิทย์เป็นคนเด็ดเดี่ยวฉลาด แต่บางครั้งก็ดูจะแข็งเกินไป

ส่วนประภาเป็นคนอ่อนหวาน ใจดีจนหลายคนวิจารณ์ว่าอ่อนไปหน่อย

ความอ่อนหวานใจดีและนุ่มนวลของประภา มักจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ของกลุ่มอยู่เสมอ

ขณะเดียวกันถ้าหากกิจการเริ่มมีปัญหา บทบาทความเด็ดเดี่ยวของวิทย์ก็จะเข้ามาแทนที่ทันทีทันควัน

เมื่อหลายปีก่อน ทนุ กุลเศรษฐศิริ อดีตเจ้าของเมอร์ลินคอมมอดิตี้ส์อันอื้อฉาวที่ตอนนี้ยังหนีคดีฉ้อโกงอยู่ต่างประเทศ ได้มาชักชวนประภาให้ร่วมลงทุนตั้งกิจการผลิตบุหรี่และยาสูบชื่อ "บางกอกยาสูบ" ประภาความที่เชื่อใจทนุก็เลยตัดสินใจร่วมทุนด้วย

บางกอกยาสูบฮือฮาอยู่พักใหญ่ ๆ แต่ท้ายที่สุดก็ทำท่าจะไปไม่รอด

ก่อนที่ทุกอย่างจะลงเอยด้วยความเจ็บปวดของผู้ร่วมทุน วิทย์ วิริยประไพกิจก็เข้าไปคลี่คลายปัญหาด้วยการขายหุ้นคืนให้กับทนุและถอนตัวออกมาได้ก่อนที่กิจการจะล้มคว่ำไม่นานนัก

ว่ากันว่าเรื่องราวลงเอยแบบที่ทนุเองไม่มีอะไรที่จะต้องโกรธเคืองประภาเลยแม้แต่น้อย ถ้าจะเคืองก็คงเคืองวิทย์เสียมากกว่า

คนสหวิริยาเองก็ดูเหมือนจะเข้าใจสไตล์ของ "ผู้นำ" ทั้งสองได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

"ถ้าเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องได้รับการไฟเขียว เรื่องนั้นจะถูกเสนอไปที่ท่านประธานฯ แต่ถ้าต้องการให้ยับยั้งหรือแก้ไขแล้ว เรื่องก็จะไปที่คุณวิทย์…" คนที่รู้เรื่องเล่า

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า สไตล์ 2 สไตล์นี้เป็นธรรมชาติติดตัวหรือเป็นกลยุทธ์ที่นัดแนะกันไว้แล้ว แต่จะอย่างไรก็ตามผลที่ตามมาก็คือ

การโตวันโตคืนของกลุ่มสหวิริยา

มีบ่อยครั้งที่สหวิริยาดูเหมือนจะถลำตัวเข้าไปอยู่ในธุรกิจที่สุ่มเสี่ยง

แต่สหวิริยาก็ถอนตัวได้ทันทีทันควันก่อนที่หายนะจะมาถึงทุกทีไป

สหวิริยากรุ๊ปนั้นในสายอุตสาหกรรมเหล็กประกอบด้วยกิจการที่แตกแขนงออกเป็น 8 บริษัทคือ สยามอินดัสตรี, ที.เอส. สตีล. สหวิริยา สตีลเวิร์ค. สหวิริยา นิททัน. สหวิริยา ไลท์เกจ สตีล, สหวิริยา เพรทชีท, สหวิริยาเมทัล อินดัสตรี้ ทั้งนี้มีบริษัทสหวิริยาพาณิชย์เป็นแกนของกลุ่มในสายนี้

สายสถาบันการเงินประกอบด้วยบริษํทเงินทุนหลักทรัพย์สหวิริยาทรัสต์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์สหวิริยา

สายเรียลเอสเตทประกอบด้วย บริษัทประภาวิทย์ ดีเวลล้อปเม้นท์ บริษัทประภาวิทย์บิลดิ้ง, บริษัทวิริยาเอสเตทและบริษัทบางนาการ์เดนเจ้าของโครงการบ้านสวนบางนาที่ปลูกสวนแล้วขายพื้นที่ดินให้ปลูกสร้างบ้าน

สายคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้สำนักงาน ประกอบด้วย บริษัทสหวิริยา อินฟอร์เทค คอมพิวเตอร์, บริษัทสหวิริยา อินเตอร์เนชั่นแนล คอมพิวเตอร์, บริษัทสหวิริยา เทเลคอม, บริษัทสหวิริยาซีสเต็ม, บริษัทสหวิริยา คอมเซอร์วิส โดยมีบริษัทสหวิริยาโอเอกรุ๊ปเป็นแกนของกลุ่ม

และสายอุตสาหกรรมการเกษตรประกอบด้วยบริษัท วี.พี. ยูคาลิป ชิพวู้ด, บริษัทวิริยาอโกร อินดัสตรี้ และบริษัทยูคาฟอร์เรสตี้

ซึ่งถ้าจะเรียงลำดับการก่อตั้งแล้ว กลุ่มนี้ เริ่มต้นจากอุตสาหกรมเหล็ก ต่อมาก็มีสถาบันการเงินพร้อมกับธุรกิจเรียลเอสเตท ากนั้นก็กระโจนเข้าสู่ธุรกิจขายและให้บริการทางด้านอมพิวเตอร์และเครื่องใช้สำนักงานและอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นแขนงล่าสุดที่จับ

อุตสาหกรรมการเกษตรนั้นที่ได้ลงมือทำไปแล้วก็คือการปลูกยูคาลิปตัส

"ก็มีปลูกที่ระยองและหลายจังหวัดทางภาคอีสาน" แหล่งข่าวที่ทราบเล่าให้ฟัง

การปลูกยูคาลิปตัสซึ่งใช้เนื้อที่นับเป็นพัน ๆ ไร่ เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยลูกชายคนเดียวของประภา

"ลูกชายของคุณประภาคนนี้อายุ 40 กว่าแล้ว เรียนจบทางด้านเกษตร อยู่อเมริกาเป็นสิบปี แม่ตามไปขอร้องให้กลับบ้านก็ไม่ยอมกลับ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเพราะสาเหตุอะไร แต่พอกลับมาก็ได้ขอให้แม่ลงทุนทำยูคาลิปตัส ซึ่งคุณประภาก็เห็นดีเห็นงามด้วย" แหล่งข่าวคนเดิมสาธยาย

นอกจากนี้โครงการยูคาลิปตัสยังได้เข้าไปร่วมกับอีสานเขียวของทหารด้วย ว่ากันว่าการติดต่อนั้นผ่านทางรองเสธฯ ฝ่ายกิจการพลเรือนที่ชื่อ พลโทปัญญา สิงห์ศักดา ซึ่งก็คืบหน้ามาก

หลายคนเชื่อว่าอุตสาหกรรการเกษตรโดยเฉพาะยูคาลิปตัสจะเป็นตัวที่สร้างผลกำไรมหาศาลให้กับกลุ่มสหวิริยาในอนาคต นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเหล็กที่เป็นเสาหลักของรายได้ในปัจจุบัน

และก็จะเป็นดาวรุ่งที่พุ่งแรงกว่ากิจการขายคอมพิวเตอร์อย่างไม่ต้องสงสัย

กิจการขายคอมพิวเตอร์ในเครือสหวิริยานั้นพุ่งแรงมาก ๆ ในช่วง 5 ปีที่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบันนี้

กิจการด้านนี้เริ่มต้นจากความคิดของ 2 พี่น้องที่ชื่อ แจ๊ค มินชุน ฮู ที่คนในวงการคอมพิวเตอร์รู้จักกันในชื่อ "แจ๊ค" กับ รงค์ อิงค์ธเนศ

แจ๊กเกิดและเติบโตที่ไต้หวันส่วนณรงค์เกิดและเติบโตที่เมืองไทย ทั้งคู่อายุ 3 และ 31 ตามลำดับ

พ่อของแจ๊คและณรงค์เป็นคนไต้หวันที่อพยพมาทำงานเมืองไทยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็นไทยชื่อ อุดม อิงค์ธเนศ

อุดมเป็นวิศวกรทางด้านอุตสาหกรรมเหล็ก เมื่อมาอยู่เมืองไทยก็เข้าทำงานเป็นวิศวกรอยู่ที่โรงงานบางกอกสตีลเวิ์ค ต่อมาเมื่อประภาซื้อกิจการบางกอกสตีลเวิร์คและเปลี่นชื่อเป็นสหวิริยาสตีลเวิร์ค อุดมก็ได้รับโอกาสให้ได้ทำงานต่อ

และท้ายที่สุดอุดมก้กลายเป็นผู้จัดการโรงงานเหล็กที่ประภาและวิทย์ไว้เนื้อเชื่อใจมาก

"ปัจจุบันเขาเป็นคนที่คุมโรงงานเหล็กทุกโรงของเครือ" คนที่รู้จักอุดมบอก

สำหรับประภาและวิทย์นั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่ทราบหรอกว่าธุรกิจคอมพิวเตอร์จะสำคัญมากน้อยเพียงไหน แต่เพราะเป็นโครงการที่ลูกชาย 2 คนของอุดมเสนอ ก็เลยอนุมัติทุนก้อนหนึ่งไปให้ดำเนินการ

ก็คงคล้าย ๆ กับซื้อหวยแล้วถูกหวยนั่นแหละ

กิจการขายคอมพิวเตอร์และต่อมาขยายเครื่องใช้ในสำนักงานรวมเข้าไปด้วย เริ่มต้นจากเงินลงทุนไม่กี่ล้านบาทก็กลายเป็นกิจการที่สร้างยอดขายได้ถึงปีละกว่า 400 ล้านบาท

ประภาและวิทย์นั้น มีสไตล์การบริหารงานที่ค่อนข้างจะตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานการไว้วางใจคน

กิจการเหล็กเป็นกิจการที่อุดม อิงค์ธเนศดูแลโรงงานโดยที่ประภาและวิทย์แทบจะไม่ต้องเกี่ยวข้อง ยกเว้นบริษัทสหวิริยาพาณิชย์ที่เป็นบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าเหล็กจากทุกโรงงานเท่านั้นที่ประภาดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด

วิทย์เป็นคนที่ดูแลสถาบันการเงินและเรียลเอสเตท

คอมพิวเตอร์ก็มีแจ๊คกับณรงค์เป็นผู้บริหาร ซึ่งประภาให้อำนาจเต็มที่

ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรก็เป็นงานที่ลูกชายของประภา "วันแมนโชว์" จริง ๆ

ถ้าหากมองในแง่ของธุรกิจแบบครอบครัวแล้ว ก็คงจะมีเพียงคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่คนในครอบครัวไม่ได้เข้าไปดูแลเลย

เผอิญเหลือเกินที่วิทย์มีลูกสาวคนหนึ่งสำเร็จคอมพิวเตอร์มาจากสิงคโปร์

ประภากับวิทย์ก็เลยให้ลูกสาวคนนี้เข้าทำงานร่วมกับแจ๊คและณรงค์

อย่างน้อยวันใดวันหนึ่งที่แจ๊คเกิดเบื่องานขึ้นมา กลุ่มสหวิริยาก็คงจะได้ทายาทสายตรงดูแลกิจการต่อไป (ส่วนณรงค์เพิ่งจะประกาศลาออกจากสหวิริยาไปเมื่อเร็ว ๆ นี้)

มีบางคนสรุปว่า แม้ด้านหนึ่งประภาและวิทย์จะดูเสมือนไว้วางใจผู้บริหารที่ไม่ใช่ลูกหลานหรือทายาทก็จริง

แต่ประสบการณ์ของทั้งคู่ก็คงจะสอนว่า ทุกอย่างนั้นเป็นอนิจจังไม่แน่นอน และอย่างไรเสียเลือดก็คงจะต้องข้นกว่าน้ำอย่างไม่ต้องกังขา

ประภานั้นเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงพอ ๆ กับที่ชอบเสี่ยง ซึ่งโชคมักจะเข้าข้างมาโดยตลอดอย่างนี้เสมอ ๆ

ไม่ต่างจากการตัดสินใจให้แจ๊คก่อร่างสร้างกิจการขายคอมพิวเตอร์ ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และชื่อเสียงอันเกิดจากงานพีอาร์อย่างถล่มทลายภายใต้การบัญชาของแจ๊คและณรงค์เท่านั้น

การค้าที่ดินและการเก็งกำไรตั๋วทองตลอดจนการซื้อขายพืชผลล่วงหน้าหรือที่เรียกกันว่าคอมมอดิตี้ส์ก็ล้วนแต่เป็นงานที่ประภาเคยจับ โดยเฉพาะทุกวันนี้การเก็งกำไรเรื่องที่ดินประภาเองก็ยังไม่ทิ้ง หลายคนเชื่อว่าเธอเป็นเจ้าของผืนที่ดินงาม ๆ หลายผืนในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านช่องนนทรีใกล้ ๆ กับที่ที่อยู่อาศัยปัจจุบันนั้นก็มีอยู่อีกหลายผืน

ส่วนคอมมอดิตี้ส์ในช่วงปี 2520-2522 ที่กำลังบูม ประภาเองก็มีบริษัทคอมมอดิตี้ส์อยู่ 2-3 แห่ง และตัวเธอเองก็ขึ้นชื่อลือชาในฐานะนักเก็งกำไรมือหนักที่คนในวงการเรียกขานว่า "อี๊ประภา" (อี๊เป็นภาษาแต้จิ๋วหมายถึงน้าสาว)

กิจการคอมมอดิตี้ส์นั้นทำคนหลายคนร่ำรวยขึ้นมาทันตาเห็น ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่ต้องล่มจมหรือที่ต้องหนีคดีก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย เอกยุทธ อัญชัญบุตร เสริมชีพ เจริญธน ตลอดจน ทนุ กุลเศรษฐศิริ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างประเภทหลัง

ขณะที่ประภาก็คงจะเป็นตัวอย่างประเภทแรก ที่รวยแล้วก็ล้างมือได้ในที่สุด

และตั้งหน้าตั้งตาพัฒนากิจการหลักคือ สถาบันการเงินและอุตสาหกรรมเหล็กของเธอต่อไป

ทุกวันนี้ประภาขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าในบรรดาเจ้าของกิจการผู้ประสบความสำเร็จอย่างน่าภาคภูมิใจ

ผู้หญิงม่ายคนหนึ่งกับเส้นทางชีวิตนับหลายสิบปีที่ผ่านมา มีบ้างที่ต้องผ่านอุปสรรคแทบเลือดตากระเด็นสลับกับหนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ในวันนี้กิจการหลากหลายของเธออยู่ในฐานะที่มั่นคงและก็คงจะต้องพัฒนากันต่อไปโดยพลังของรุ่นลูก ๆ ทั้งของเธอ (ประภามีลูกสาว 2 ลูกชาย 1) และของวิทย์ผู้น้อง

จากเหล็กเส้นแล้วสร้างฐานการเงินของตนเองจากนั้นก็ขยายไปหลายทิศหลายทาง ถ้าจะตั้งคำถามว่ากลุ่มสหวิริยาในยุคที่เธอยังนั่งเป็นประธานใหญ่นั้นจะขยายไปทางไหนอีก

คำตอบก็คงจะเป็นความดำมืด

เนื่องจากจริง ๆ แล้วประภาเป็นคนที่มีปริศนาอย่างน้อยอย่างหนึ่ง

นั่นก็คือเป็นคนที่อ่านใจยาก

ไม่ค่อยมีใครทราบหรอกว่าเบื้องลึกของความนุ่มนวล ใจดีนั้นแฝงอะไรไว้บ้าง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.