เรื่องอื้อฉาวเคล้าสาบเงินใน รพช. ที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อเก้าปีที่แล้วเป็นเรื่องที่เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนทั่วไปแล้ว
แต่สำหรับคนใน รพช. เองเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องที่จดจำกันอยู่ เพราะตัวผู้ถูกกล่าวหาในครั้งนั้น
ทุกวันนี้ยังนั่งเก้าอี้ตัวเดิมกับที่เคยนั่งอยู่เมื่อครั้งที่มีเรื่องมีราวกัน
กรณีนี้ลงเอยด้วยคำพิพากษาของศาลสถิตยุติธรรมว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์
ปลอดพ้นจากมลทินแห่งความทุจริต ฉ้อโกง เป็นเรื่องพลิกล็อคที่ทำให้หลาย ๆ
คนต้องอารมณ์ค้าง เพราะหมายมั่นปั้นมือกันมาแต่แรกว่า "ไม่รอดแน่"
แต่เมื่อศาลเห็นเป็นเช่นนี้ ก็ต้องว่ากันตามศาล จะมีอะไรยอกย้อนซ้อนเงื่อนก็ไม่ต้องไปใส่ใจแล้ว
คดีกินถนน รพช. 26 สายเมื่อปี 2522 ผู้ถูกกล่าวหาโดยตรงคือ ประดลเดช กัลยาณมิตร
นายช่างใหญ่ของ รพช. ในขณะนั้น
ตำแหน่งนายช่างใหญ่ เป็นตำแหน่งระดับ 9 เทียบเท่ารองเลขาธิการ รพช. มีหน้าที่ควบคุมงานด้านเทคนิคของกองสำรวจและออกแบบ
ว่ากันตามอำนาจหน้าที่แล้ว ตำแหน่งนี้ไม่มีช่องทางที่จะแสวงหาผลประโยชน์แต่อย่างใดเพราะเป็นตำแหน่งทางด้านวิชาการ
เผอิญในตอนนั้นประดลเดชกินตำแหน่งผู้จัดการโครงการเงินกู้จากธนาคารโลกอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
เป็นโครงการสร้างถนนในภาคอีสานที่ธนาคารโลกช่วยเหลือ ซึ่งได้รับอนุมัติเงินกู้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
2520 เป็นจำนวน 575 ล้านบาท เพื่อสร้างถนนยาว 1,310 กิโลเมตร อยู่ในภาคอีสานทั้งหมด
การก่อสร้างถนนแบ่งออกเป็น 9 สัญญา สัญญาหนึ่ง ๆ กำหนดระยะทางที่จะต้องสร้างประมาณ
130-150 กิโลเมตร ถนนสายที่เกิดปัญหาเพราะว่ากันว่ามีคนจ้องจะงาบอยู่ในสัญญาที่
4 และ 5 มีจำนวน 26 สาย ในสามจังหวัดคือ เลย ขอนแก่นและอุดรธานี
รพช. ในระยะแรกที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ๆ นั้น ขาดแคลนกำลังคนที่มีความชำนาญงาน
องค์การยูซ่อมซึ่งช่วยเหลือในการจัดตั้ง รพช. จึงแนะนำรัฐาลไทยให้ว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาโครงการต่าง
ๆ ของ รพช.
คำชี้แนะของยูซ่อมเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ รพช. มองเห็นลู่ทางในการทำมาหากิน
บรรดานายช่างจึงได้จัดตั้งบริษัทที่ปรึกษาขึ้นโดยมีเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องเป็นผู้ถือหุ้น
ประดลเดชเองก็มีบริษัทของตนเองชื่อ ที. อี. ซี. หรือ ไทยแลนด์ เอนจิเนียริ่ง
คอนซัลแตนท์ มีประกอบ อุดมเดชเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้จัดการ
ประกอบกับประดลเดชเป็นเพื่อนเรียนวิศวที่จุฬาฯ มาด้วยกันและยังไปเรียนต่อที่เมืองนอกพร้อม
ๆ กันด้วย นอกจากประกอบแล้วยังมีภรยาของประดลเดชคือ สายัณห์ และพี่ชายของสายัณห์
ชื่อ ร.ท. เรืองฤทธิ์ เลิศพฤกษ์ ถือหุ้นอยู่ใน ที.อี.ซี. ด้วย
ที.อี.ซี. ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทที่ปรึกษาในโครงการสร้างถนน 26
สายนี้ มีหน้าที่สำรวจ ออกแบบ ประเมินราคากลางและควบคุมการก่อสร้าง ถึงแม้ว่าเลขา
รพช. ในตอนนั้นประสงค์ สุขุม จะพายามตรวจสอบความเป็นมาของบริษัทนี้ก่อนที่จะเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา
แต่ประสงค์กลับถูกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนเสียก่อน
มหาดไทยในปี 2520 มีสมัคร สุนทรเวชเป็นเจ้ากระทรวงอยู่ แม่ของประดลเดชก็คือป้าของสมัคร
ประดลเดชจึงมีศักดิ์เป็นลูกผู้พี่
กรสำรวจและประเมินราคาของ ที.อี.ซี. นั้น ต่อมาได้ถูกตีแผ่ว่าเป็นเรื่องแหกตาเพื่อหวังจะเขมือบ
โดยที่ประดลเดชในฐานะผู้จัดการโครงการเงินกู้ที่เป็นเจ้าของเองก็เห็นดีด้วยกับรายงานของ
ที.อี.ซี.
รายการแหกตาครั้งนี้ก็คือถนนทั้ง 26 สายที่ ประดลเดชมอบหมายให้ ที.อี.ซี.
สำรวจออกแบนั้น เป็นถนนที่มีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่สร้างขึ้นตามโครงการเงินผันในสมัยที่คึกฤทธิ์เป็นนายกและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เพียงแต่ปรับปรุงเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยเท่านั้น
แต่ผลการสำรวจของ ที.อี.ซี. ต้องสร้างขึ้นใหม่ทั้ง 26 สาย บางสายต้องใช้งบประมาณในการถางทางเพื่อทำการสำรวจเพราะว่าเป็นป่าทึบ
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการยกเมฆขึ้นทั้งสิ้น
ถนนสายหนึ่งในอำเภอกุมภวาปี เป็นถนนที่โรงงานน้ำตาลกุมภวาปีสร้างขึ้นเพื่อลำเลียงอ้อยเข้าโรงงาน
มีความยาว 10.8 กม. กว้าง 7 เมตร บางส่วนได้ลาดยางไปแล้ว ประดลเดชกลับกำหนดให้เป็นถนนที่ต้องสำรวจเพื่อสร้างใหม่
และระบุว่าเป็นป่าต้องใช้งบประมาณในกรถางป่า 180 ไร่เพื่อทำการสำรวจ ในรายงานการสำรวจถนที่จะสร้างใหม่ทับเส้นเดิมมีความกว้างเพียง
5 เมตรเท่านั้น และเป็นถนนลูกรังทั้งหมด
การประเมินราคาสร้างถนนใหม่ของ ที.อี.ซี. ตกกิโลเมตรละ 4 แสนบาท ขณะที่ถ้า
รพช. ทำเองจะตกไม่เกินกิโลเมตรละ 1 แสน 6 หมื่นบาท หรือถ้าเป็นการซ่อมก็ตกกิโลเมตรละ
6 หมื่นบาทเท่านั้น
ทั้ง 26 สายมีระยะรวมกันเกือบ 300 กิโลเมตร จะเป็นเงินเท่าไรก็ลองคำนวณกันเองก็แล้วกัน
ถ้าหากว่าญาติสนิทยังคงเป็นใหญ่อยู่ที่ริมคลองหาด รายการนี้ก็คงจะผ่านอย่างสบาย
ถึงขั้นที่หาตัวผู้รับเหมาเข้ามาเล่นละครกันต่อไปอีก พอดีตอนนั้นมีการผลัดอำนาจ
รัฐบาลหอยโดนเปลือกหอยเขี่ยทิ้งไป ผู้ที่มานั่งเป็นเจ้ากระทรวงคือ พลเอกเล็ก
แนวมาลี มีนายทหารบ้านนอกที่เป็น ผบ. ทบ. ในขณะนั้นชื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ และรักษาการในตำแหน่งประธานโครงการเงินกู้ธนาคารโลกอยู่
ข่าวคราวการเขมือบถนน 26 สายนี้ ลอยไปเข้าหูพลเอกเปรม จึงมีการตั้งกรรมการสอบสวนและย้ายประดลเดชเข้าประจำกระทรวงเมื่อเดือนมกราคม
2522
ผลการสอบสวน ประดลเดชมีความผิดจริง พลเอกเปรมจึงส่งเรื่องต่อให้ทางกองปราบเพื่อสอบต่อทางอาญา
ปลายเดือนมีนาคม 2522 กองปราบได้จับกุมตัวประดลเดช และบรรจงศักดิ์ ปานทอง
หัวหน้ากองวิชาการและเทคนิควิศวกรรมในฐานะนายช่างผู้ควบคุมโครงการ ทั้งสองคนถูกส่งตัวฟ้องศาลเมื่อเดือนมิถุนายน
2522 ในข้อหาร่วมกันปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
และทำให้รัฐต้องเสียผลประโยชน์
การต่อสู้กันทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์ว่า รายการแหกตากินถนนครั้งนี้ เป็นการแหกตากันจริง
ๆ หรือเปล่า ยืดเยื้อกันถึงสามศาลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2522 ถึงเมษายน 2526
ทั้งศาลชั้นต้น อุทธรณ์และฎีกาตัดสินให้ยกฟ้อง เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า
การกระทำของประดลเดชเป็นไปตามระเบียบแบแผนของทางราชการ ไม่ปรากฏว่าได้มีการทุจริต
ตามที่โจทก์ฟ้องแต่ประการใด
ประดลเดชจึงกลับมานั่งเป็นนายช่างใหญ่ตามเดิมจนถึงทุกวันนี้ แต่ยังมีคดีทางแพ่ง
ซึ่งสืบเนื่องจากกรณีนี้อยู่ โดย รพช. เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาท
กว่าจะรู้ดำรู้แดงคงกินเวลาอีกหลายปี เพราะเริ่มฟ้องตั้งแต่ปี 2527 จนถึงตอนนี้เพิ่งจะสืบพยานโจทก์ไปได้ปากเดียว