ฟิทช์คาดจีดีพีลบ3.1%ธปท.สวนเงินกองทุนยังแกร่ง


ASTV-ผู้จัดการรายวัน(1 กันยายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ฟิทช์ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 3.1% ระบุแม้ไตรมาส 3-4 จะกระเตื้อง แต่การส่งออกที่หดตัวทำให้การฟื้นตัวยังอ่อนแอ รวมทั้งปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายจะส่งผลต่อภาพรวมในอนาคต และยังคงต้องจับตาการด้อยค่าของสินทรัพย์แบงก์ที่อาจกระทบกำไร ด้านรมช.คลังฟุ้งมาตรการรัฐช่วยหนุนเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เชื่อหากการเมืองนิ่ง ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิต ด้านธปท.โต้ฟิทช์ เรทติ้ง แม้จะนำหลักเกณฑ์กำกับแบบรวมกลุ่มมาใช้ไม่ได้ส่งผลให้แบงก์และลูกรวมกันแล้วเอ็นพีแอลพุ่ง มั่นใจเงินกองทุนสูง

นายเจมส์ แมกคอร์แม็ค กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายจัดอันดับเครดิต ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยภายหลังงานสัมมนาฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) 2009 ถึงมุมมองของฟิทช์ที่มีต่อประเทศไทยว่า ฟิทช์ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของประเทศไทยทั้งปี 2552 นี้ไว้ที่ระดับติดลบ 3.1% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับของจีดีพีของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตามตัวเลขจีดีพีของไทย ซึ่งในไตรมาส 1 ที่ผ่านมามีการติดลบอยู่ในระดับที่สูงมากถึง 7.1% ส่วนไตรมาส 2 ตัวเลขจีดีพีติดลบลดลงมากพอสมควร แต่ก็ยังถือว่าติดลบอยู่ จนกระทั่งไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวดีขึ้น แต่การส่งออกของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียยังอยู่ในภาวะหดตัวจึงเป็นปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแออยู่

สำหรับปัจจัยเรื่องการเมืองในระยะสั้นมองว่ายังไม่มีผบกระทบต่อเรทติ้งส์ของไทยมากนัก เพราะเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวอยู่ในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ส่วนระยะปานกลางถ้าไทยสามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น

“การปรับเปลี่ยนเรทติ้งส์ของแต่ละประเทศนั้น เราจะนำปัจจัยมาประกอบการพิจารณา 3 ประการคือ1.ดูระดับหนี้ของรัฐบาล 2.ระดับหนี้ต่างประเทศ และ3.การเมือง ซึ่ง 2 ปัจจัยแรกคือระดับหนี้ของรัฐบาลและหนี้ต่างประเทศของไทยในขณะนี้อยู่ในระดับแข็งแกร่ง แต่ปัจจัยเรื่องการเมืองหากพิจารณาระยะปานกลางในอนาคตแล้วจะมีการปรับเรตติ้งส์ของประเทศหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาการเมืองมีการคลี่คลายไปได้หรือไม่” นายเจมส์ กล่าว

ทั้งนี้ มองว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารไทยอาจมีมูลค่าลดลงและมีความจำเป็นที่อาจต้องกันสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า

สำหรับนายวินเซนต์ มิลตัน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสถาบันการเงินและกรรมการผู้จัดการ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ถ้าหากการเมืองของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งทั้งในเรื่องของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีมากพอสมควร รวมไปถึงจำนวนหนี้หนี้สาธารณะก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจากการลงทุนของรัฐบาลที่จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคาดการณ์ว่าภาคการส่งออกของไทยก็น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2553 การลงทุนของภาคเอกชนก็จะตามมา ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นทางฟิทช์ เรทติ้งส์ ก็จะมีการปรับอันดับเครดิตของไทยแน่นอน

ฟุ้งฟิทช์หนุนแก้ศก.ถูกทาง

ด้านนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) 2009 ว่า ทางฟิทช์ เรทติ้งส์มองว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงิน และนโยบายของรัฐบาลที่ได้วางแผนและดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 8 เดือนเพื่อใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายปฏิบัติการไทยเข้มแข็งและแผนงานในอนาคตอีก 3 ปี ที่รัฐบาลจะเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณถึง 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งแผนงานดังกล่าวทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ ฟิทช์ เรทติ้งส์เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของไทยจะมีความมั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้น

“ถ้าปัจจัยการเมืองค่อยๆคลี่คลายลงรวมไปถึงพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นคาดว่าการประชุมฟิทช์ เรทติ้งส์ในปี 2553 ก็อาจจะปรับอันดับเครดิตของไทยกลับมาอยู่ในเชิงบวกได้ เพราะรัฐบาลมีทุกอย่างทั้งงบประมาณและนโยบายที่แสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติได้” นายประดิษฐ์ กล่าว

ธปท.มั่นใจหนี้เน่าแบงก์ไม่พุ่ง

นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงกรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเมินไว้ว่าการนำหลักเกณฑ์กำกับแบบรวมกลุ่มมาใช้กับธนาคารพาณิชย์จะส่งผลให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรวมบริษัทลูกด้วย เพิ่มขึ้นเป็น 10% ในช่วงปลายปีนี้ว่า ธปท.เชื่อว่ายอดเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์จะไม่เพิ่มขึ้นถึงระดับ 10% เนื่องจากในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ในระบบมีเงินกองทุนสูงถึง 15.9% ซึ่งเฉพาะเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ระดับ 12.4% อีกทั้งสภาพคล่องในปัจจุบันมีจำนวนมาก

นอกจากนี้ ในขณะนี้สินทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ที่ตัวธนาคารพาณิชย์มากกว่าบริษัทลูก ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อโดยรวมยังคงเป็นส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ 6-7 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนนี้เป็นของบริษัทลูกแค่ 2-3 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งตัวบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ทำธุรกรรมปล่อยสินเชื่อเท่านั้น แต่ยังเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือประกันภัยด้วย ดังนั้น แม้จะมีการกำหนดให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอสเรโช)อยู่ที่ระดับ 8.5% ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรวมบริษัทลูกด้วยในช่วงปลายปีนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

ชี้ทิศทางศก.ดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจไทยโดยรวมในขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่วนเศรษฐกิจเดือนก.ค. ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 3 เริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยสัญญาณเศรษฐกิจโลกดี แต่การว่างงานยังมีสูง และสถาบันการเงินยังติดปัญหาอยู่ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังมีการลงทุนน้อยอยู่ จึงต้องพึ่งการลงทุนในประเทศเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนมิ.ย.แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนยังคงหดตัว 14.3% ด้านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ แม้จะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบางอยู่ โดยล่าสุดในเดือนก.ค.ลดลงอยู่ที่ 45 จากเดือนก่อน 46.3 และยังคงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับความเชื่อมั่น โดยสาเหตุปรับลดลงเกิดจากคำสั่งซื้อในประเทศ และแรงกดดันด้านต้นทุนที่มาจากราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปข้างหน้าอีก 3 เดือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 51.3 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งองค์ประกอบความเชื่อมั่นทุกตัวปรับตัวดีขึ้น

“จากการสอบถามผู้ประกอบการถึงข้อจำกัดในการทำธุรกิจ พบว่า ความไม่แน่นอนการเมืองขยับขึ้นมาอยู่ที่ 49.2% เป็นอันดับ 3 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่อันดับ 4 ขณะที่เรื่องต้นทุนมีผลต่อธุรกิจ 30% จากเดิม 41.4% โดยหากเศรษฐกิจขยายตัวในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง แม้ความต้องการยังมีอยู่ก็ไม่ได้เป็นภาระของผู้ประกอบการนัก แต่เมื่อใดที่เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว กำไรส่วนต่าง (มาร์จิน)ต่ำ ต้นทุนเพิ่มขึ้นผู้ประกอบการอาจแบกรับภาระและบั่นทอนความเชื่อมั่นได้ ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนในอนาคตด้วย จึงต้องติดตามดูต้นทุนที่เป็นความเสี่ยงตัวนี้ด้วย”

สำหรับภาพรวมการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ 73.4 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งความเชื่อมั่นในปัจจุบันและอนาคต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.