เภา VS อักขราทรใครโกหก?


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้ใหญ่บ้านเมืองนี้ เขากำลังเล่นอะไรกัน ยิ่งไม่รู้ว่าทำไมต้องเอาชื่อผมไปอ้างด้วย"

ใครก็ตามที่ได้ยินคำพูดนี้ คงเดาออกถึงความงุนงงสงสัยและสมเพชเวทนาในการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่คำนึงว่าจะเป็นผลเสียแก่คนที่ถูกพาดพิงถึงอย่างไรบ้าง

ถ้าไม่มีเรื่อง "เบนซ์แวน" ชื่อของ "ดร. อักขราทร จุฬารัตน์" คงยังเป็นเพียงกรรมการร่างกฎหมายประจำของสำนักงานกฤษฎีกา เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายของนักศึกษาหลายสถาบันทั้งที่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ทำงานด้วยความสุขใจ ไม่ต้องยุ่งยาก รำคาญใจกับคำถามที่หลายคนต้องการทราบว่าไปเกี่ยวข้องกับเรื่อง "เบนซ์แวน" ที่อื้อฉาวทุกวันนี้ได้อย่างไร???

อักขราทรจบปริญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์สอบได้เนติบัณฑิตไทย ได้รับทุนรัฐบาลของสำนักงานกฤษฎีกาไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกจาก UNIVERSITY OF ROME แล้วกลับมาเมืองไทย โดยทำงานที่สำนักงานกฤษฎีกามาโดยตลอด

"ท่านคงเห็นว่าผมเป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมากมั้งถึง "ยืม" ชื่อของผมไปใช้" อักขราทรกล่าวอย่างติดตลกเมื่อ "ผู้จัดการ" ถามถึงสาเหตุที่ "บังเอิญ" มีชื่อว่าได้เสนอแนะให้คำปรึกษาข้อกฎหมายในการอนุญาตจดทะเบียนเบนซ์แวนเจ้าปัญหา

ซึ่งใคร ๆ ก็ทราบว่า จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ตลกเลยสักนิด!!!

"ท่าน" ในที่นี้ก็คือ พล.ต.อ. เภา สารสิน อธิบดีกรมตำรวจคนปัจจุบัน ที่ขณะทำหนังสือพาดพิงถึงอักขราทร ยังเป็นผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายกิจการพิเศษอยู่

พล.ต.อ. เภา สารสินเป็นบุตรคนที่2 ของอดีตนายกรัฐมนตรีพจน์กับท่านผู้หญิงสิริ สารสิน เป็นพี่น้องท้องเดียวกันกับรองนายกรัฐมนตรีพงส์, เอกอัครราชทูตอาสา และอธิบดีกรมสรรพากรบัณฑิต บุณยะปานะ

สำเร็จมัธยมหกจากวชิราวุธวิทยาลัย แล้วไปเรียนต่อที่ไฮสคูลที่วิลบราแฮม สหรัฐอเมริกา จบปริญาตรีทางวิทยาศาสตร์สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์และปริญญาตรีอาชญวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

พล.ต.อ. เภา จัดได้ว่าเป็นนายตำรวจที่ "มือสะอาด" ของกรมตำรวจ เริ่มรับราชการตำรวจครั้งแรกประจำที่กองวิทยาการ แล้วขึ้นเป็นผู้กำกับการ 1 กองพิสูจน์หลักฐาน จากนั้นเป็นรองหัวหน้ากองพิสูจน์หลักฐาน หัวหน้ากองพิสูจน์หลักฐาน ผู้ชาวยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางตามลำดับ

เป็นเลขาธิการคนแรกของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งริเริ่มก่อตั้งเองในช่วงปี 2521-2525 แล้วกลับมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขึ้นเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในปี 2527 เป็นรองอธิบดีในปี 2529 และเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจในปี 2531 นี่เอง

หนังสือดังกล่าวอ้างว่า พล.ต.อ. เภา ให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสำนักงานผู้ช่วย อ.ตร. นำเรื่องไปปรึกษาเป็นการส่วนตัวกับ ดร. อักขราทร ซึ่ง พล.ต.อ. เภา ขอให้ช่วยงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจตราควบคุมแร่และสรุปเป็นความเห็นส่งขึ้นไปให้ พล.ต.ท. ประเนตร ฤทธิฤาชัยในการพิจารณาสั่งการ

ทั้ง ๆ ที่ ดร. อักขราทรเองก็ไม่เคยพบ พล.ต.อ. เภามาก่อนและยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนไหนมาปรึกษาหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยสักครั้ง!?!

และยังรวมไปถึงการที่มีหนังสือพิมพ์บางฉบับที่รายงานผลการประชุมคณะกรรมาธิการปกครองสภาผู้แทนฯ ที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชน ผลักดันให้มีการสอบสวน พล.ต.อ. เภา ว่า พล.ต.อ. เภาได้มีเอกสารแสดงว่ามีการหารือเป็นส่วนตัวกับ ดร. อักขราทรแสดงต่อที่ประชุม ทำให้คณะกรรมการไม่ติดใจประเด็นดังกล่าวอีก

"ถ้าท่านมีเอกสารที่ว่าจริง ผมก็มีสิ่งที่ยืนยันได้ว่าไม่เคยมีการหารือเช่นนั้นเลยเหมือนกัน "อักขราทรปฏิเสธเรื่องที่ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวกับ "ผู้จัดการ" อย่างหนักแน่น

ในฐานะที่เป็นถึงผู้บริหารระดับสูง เป็นข้าราชการมหาดไทยคนหนึ่ง ยังคงจำได้ถึงความหมายของมหาดไทยที่ว่า

"มหาดไทย หมายถึง ข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีอิสระพอที่จะสั่งปฏิบัติงานได้ด้วยอำนาจของตนเอง(ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา) คือมีอำนาจสั่งการ หรือปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทุกกรณีด้วยตนเอง ตามหลักการที่ได้มอบหมายไว้ และตนเองจะต้องผูกพันรับผิดชอบในการปฏิบัตินั้นด้วย"

กับข้าราชการอีกคนหนึ่งที่เป็นทั้งนักวิชาการ เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย เป็นคนที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในสาขาวิชาที่ตนเองทำงานอยู่

ซึ่ง "ผู้จัดการ" เชื่อมั่นลึก ๆ ว่า ทั้งสองย่อมสำนึกในหน้าที่ และบทบาทที่ตนเองมีอยู่อย่างมาก

แต่เรื่องจริง ๆ เล่าเป็นฉันใด??



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.