ไฮสปีดบรอดแบนด์ ถึงเวลาติดจรวดโลกไซเบอร์


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(31 สิงหาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

*ผู้ประกอบการบรอดแบนด์อัปเกรดไลฟ์สไตล์คน Gen C
* เซตมาตรฐานใหม่บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเทียบเท่าต่างชาติ
* เปิดประสบการณ์ใหม่ คนท่องเว็บ ต้องแรงสุดๆ

ตลาดบริการไฮเทคที่นับวันทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ และจะฮอตยิ่งขึ้นเมื่อประเทศไทยมีการออกใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี ก็คือ บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือจะเรียกว่า บรอดแบนด์ ก็ได้

บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นบริการที่เพิ่งได้รับความนิยมในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ เมื่อทางบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดฉากดัมป์ 'ราคา' อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ใช้เทคโนโลยี 'เอดีเอสแอล' ลงมาเหลือเพียง 590 บาท บนความเร็วในการดาวน์โหลด 1 เมก สำหรับผู้ใช้บริการ 'ทรู' ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญต่อตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทย หนึ่ง มาตรฐาน 'ราคา' ซึ่งถือเป็นการตั้งมาตรฐานราคาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขั้นต่ำขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งถูกกว่าของ 'บัดดี้ บรอดแบนด์' ที่เคยสร้างความฮือฮาราคาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1 เมก ไว้ที่ราคา 650 บาทมาก่อนหน้านี้ได้ในบัดดล สอง มาตรฐาน 'ความเร็ว' อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่จะต้องไม่ต่ำกว่า 1 เมก ในราคา 590 บาท

นับจากนั้นมาจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีการประเมินกันว่า ตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเอดีเอสแอลปีนี้น่าจะมีถึง 1,500,000 พอร์ต ซึ่งยังมีสัดส่วนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ที่ทางสภาพัฒน์ประเมินว่า น่าจะมีถึง 13,600,000 ราย

สาเหตุที่ทำให้อัตราการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในบ้านเราเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่ง เป็นการแข่งขัน 'ความเร็ว' อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่นับวันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุอีกประการน่าจะมาจากความต้องการใช้งานแอปพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปจากเดิม ที่ผู้ใช้หันมาใช้บริการมัลติมีเดียจากเว็บไซต์ดังๆ อย่าง ยูทูบ เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ ซึ่งต้องใช้แบนด์วิธหรือความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลที่สูงขึ้น

หากถามว่า 'ใคร' คือผู้จุดชนวนการแข่งขันเรื่อง 'ความเร็ว' ของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในตลาดเมืองไทยนั้น คำตอบคงไม่ใช่ 'ทรู' ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ราคาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พระเอกของงานนี้ ก็คือ บริษัท ทริปเปิ้ลที บรอดแบนด์ จำกัด เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ได้เปิดตัวแคมเปญ 'แม็กซ์เน็ต 3 เมก' ราคา 590 บาท พร้อมๆ กับการเปิดตัวเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ 'แม็กซ์เน็ต' รุกคืบเข้ามาแย่งตลาดของทรูในกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ตลาดหลักของแม็กซ์เน็ตอยู่ในตลาดต่างจังหวัดบนเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานของบริษัทแม่ 'ทีทีแอนด์ที' โดยเป็นไปตามข้อสัญญาสัมปทานเดิมที่ยังไม่ให้แม็กซ์เน็ตเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ ได้

การบุกตลาดในครั้งนั้นส่งผลให้แม็กซ์เน็ตมียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 470,000 ราย

เมื่อการรุกตลาดกรุงเทพฯ ของแม็กซ์เน็ต ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญของทรูออนไลน์ ทางทรูจึงได้เกทับด้วยการเปิดแพกเกจ 8 เมกออกมา จนกระทั่งต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัท ทริปเปิ้ลที บรอดแบนด์ จำกัด เปิดฉากรุกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอีกครั้งด้วยการเปิดตัวแพกเกจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เป็น 'พรีเมียมแพกเกจ' ภายใต้ชื่อบริการ '3บีบี' ด้วยข้อเสนอความเร็ว 10 เมก ในราคา 1,490 บาทต่อเดือน พร้อมๆ กับการเปิดตัวแคมเปญโฆษณาทางโทรทัศน์เพื่อตอกย้ำแบรนด์ให้ติดตลาดเร็วยิ่งขึ้น

ครั้นถึงกลางเดือนกรกฎาคม ทาง 'ทรู' ก็ลุกขึ้นมาสู้เพื่อทวงคืนความเป็นผู้นำในตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ด้วยการเกทับความเร็วเป็น 12 เมก

'นนท์ อิงคุทานนท์' ผู้จัดการทั่วไปสายงานธุรกิจไวร์ไลน์ บริการบรอดแบนด์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้ตรงใจตามไลฟ์สไตล์ผู้ชื่นชอบเน็ตความเร็วสูง ทรู ออนไลน์ จะปรับเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตให้ลูกค้าที่ใช้แพกเกจ 8 เมก เพิ่มขึ้นเป็น 12 เมก โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดเตรียมคอนเทนต์สตรีมมิ่ง ที่เหมาะกับความเร็วดังกล่าว อาทิ ทรูวิชั่นส์ ให้ทดลองใช้เป็นเวลา 2 เดือน

'ถ้าลูกค้าได้ทดลองใช้และมั่นใจว่าความเร็วสูงดังกล่าว เป็นความเร็วมาตรฐานสำหรับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง สามารถสมัครใช้บริการได้เลย และถ้าลูกค้าทรูต้องการใช้ต่อ เพียงเปลี่ยนแพกเกจบรอดแบนด์ 12 เมกได้ในราคาเดือนละ 1,690 บาท นอกจากนี้ลูกค้าทรูไฮสปีดอินเทอร์เน็ตแบบ 3 เมก กลุ่มที่เป็นคอนเวอร์เจนซ์แพกเกจยังได้รับสิทธิ์เพิ่มความเร็วแบนด์วิธไปต่างประเทศเป็นเท่าตัวด้วย'

การเพิ่มความเร็วเป็น 12 เมกในครั้งนี้ ทางทรูได้ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพชุมสายกว่า 7,000 โหนดทั่วกรุงเทพฯ ให้รองรับเอดีเอสแอล2+ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 1,500 โหนด โดยในแผนปีนี้จะเพิ่มอีก 200 โหนด รวมเป็น 1,700 โหนด ใช้งบประมาณโหนดละ 1 ล้านบาท

'ทางเทคนิคเครือข่ายของทรูสามารถให้ความเร็วได้สูงสุดที่ 20 เมก แต่รัศมีในการให้บริการจะสั้นเพียง 1 กิโลเมตรจากชุมสาย จึงเลือกที่ความเร็ว 12 เมก เพราะให้บริการได้กว้างกว่าและเพียงพอกับการใช้งาน'

เพื่อไม่ให้เสียหน้า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ได้โดดลงมาเล่นสงครามความเร็วอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเช่นกัน โดยได้ส่งแพกเกจที่เรียกว่า 'เน็ต ท็อป สปีด' ที่พัทยา เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ที่ความเร็ว 8 เมก ในราคา 1,000 บาทต่อเดือน และความเร็ว 12 เมก ในราคา 1,500 บาทต่อเดือน ฟรี ค่าแรกเข้าพร้อมรับโมเด็มฟรีหรือแลกซื้อ Wireless Router Modem ในราคา 1,500 บาท

แคมเปญดังกล่าวสามารถใช้ Peer-to-Peer ทั้งภายในและต่างประเทศได้ในช่วงเวลา 00.01-06.00 น.โดยมีการจำกัดความเร็วในการดาวน์โหลดไว้ไม่เกิน 512K สำหรับอินเตอร์เนชั่นแนล แบนด์วิธ และไม่เกิน 1 เมกสำหรับโดเมสติกแบนด์วิธ โดยมีพื้นที่ให้บริการทั่วประเทศและระยะทางไม่เกิน 1 กิโลเมตร จากจุดให้บริการทีโอที

นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการที่ขอใช้บริการแคมเปญนี้ในเขตพื้นที่ศรีราชาและพัทยา จะได้รับบริการ ทีโอที ไว-ไฟฟรีวันละ 10 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 เดือน

'แคมเปญ เน็ต ท็อป สปีด มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าครัวเรือนที่เน้นการใช้งานประเภทดาวน์โหลด รับ-ส่งอีเมล ตั้งเป้าจนถึงสิ้นปีจะมียอดลูกค้าบรอดแบนด์ 1 ล้านราย' ธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานกรรมการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าว

อีกทั้งทีโอทีมีแผนจะให้บริการบรอดแบนด์ เข้าไปยังกลุ่มหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเริ่มนำร่องไปแล้วที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รวมถึงการเข้าไปติดตั้งเครือข่ายไว-ไฟให้บริการตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจาก วิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นกรรมการบอร์ดทีโอที ซึ่งจะให้ทีโอทีเข้าไปให้บริการอินเทอร์เน็ตร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และทีโอทียังมีแผนเข้าไปให้บริการกับหน่วยงานราชการ กระทรวงต่างๆ

นอกจากนี้ ทีโอทียังปรับเปลี่ยนทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้นด้วยการส่งพนักงานเข้าไปเสนอบริการให้ลูกค้าถึงหน้าบ้าน เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งที่มีการทุ่มงบประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก

'ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหน้าหรือเสียภาพลักษณ์ ขอเพียงให้ขายบริการบรอดแบนด์ทีโอทีได้ก็พอใจแล้ว'

ส่วนทาง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ถึงแม้จะไม่ได้โดดลงมาแข่งเรื่องความเร็วเหมือนผู้เล่นรายอื่น แต่ได้ปรับกลยุทธ์หาลูกค้าร่วมกับพันธมิตรอย่างเคเบิลทีวีตามต่างจังหวัด ภายใต้ชื่อบริการ 'เน็ตออนเคเบิลทีวี'

'เน็ตออนเคเบิลทีวีไปได้สวย แม้เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน แต่ได้รับความนิยมอย่างในหาดใหญ่ จันทบุรี มีลูกค้า 2-3 พันรายแล้ว กำลังจะเปิดที่เชียงใหม่ พิษณุโลก ด้วย รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้หลังหักส่วนแบ่งกับเคเบิลทีวี ซึ่งมีตั้งแต่ 70-160 บาท กสทฯ จะได้รับราว 300 บาทต่อเดือน แต่กับบรอดแบนด์เพาเวอร์ไลน์กำลังหาสาเหตุว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีหรือสภาพเศรษฐกิจทำให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นไม่มาก' สมพล จันทร์ประเสริฐ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

ในซีกของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็มีความเคลื่อนไหวในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน ล่าสุด ทางบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เพิ่งเปิดตัว 'เอสเอ็มเอส อินเทอร์เน็ต ซิม' ซึ่งเป็นซิมเวอร์ชั่นที่ 2 ที่ออกแบบมาสำหรับคนเล่นเน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉพาะ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานบริการเสริม เอสเอ็มเอสและดาต้า ด้วยราคาเพียงเดือนละ 149 บาท ส่งเอสเอ็มเอสได้ 200 ข้อความ ใช้จีพีอาร์เอส/เอดจ์ 20 ชั่วโมง ส่วนที่เกินจ่ายแค่ครึ่งจากปรกติ

ชัยยศ จิรบวรกุล ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มธุรกิจโพสต์เพด ดีแทค กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเราได้ทยอยเปิดตัวซีรีส์ต่างๆ ของซิมที่ 2 ออกมาเป็นระยะๆ เริ่มด้วย อินเทอร์เน็ต ซิมที่ให้ลูกค้ากลุ่มที่เน้นใช้บริการดาต้าได้ใช้บริการอย่างเต็มที่ในราคาสุดคุ้ม ตามมาด้วย เอสเอ็มเอส ซิมสำหรับลูกค้าที่ต้องการส่งข้อความเอสเอ็มเอสบ่อยๆ โดยไม่เน้นการโทร.ออก ซึ่งทั้งสองซิมได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีผู้ใช้งานร่วม 1 แสนราย

'ลูกค้าให้การตอบรับแนวคิดซิมที่สองอย่างน่าพอใจ อย่างไรก็ดีเราเล็งเห็นว่ายังมีลูกค้าโพสต์เพดอีกกลุ่มที่มีความต้องการใช้ทั้งบริการดาต้าและเอสเอ็มเอสไปพร้อมๆ กัน จึงเป็นที่มาของเอสเอ็มเอส อินเทอร์เน็ต ซิมที่ให้ลูกค้าใช้บริการดาต้าและเอสเอ็มเอสได้อย่างสบายใจ ส่วนค่าโทร.ทุกเครือข่ายนาทีละ 1.50 บาท โดยเชื่อว่าน่าจะฟิตกับความต้องการใช้งานของลูกค้ากลุ่มนี้เป็นอย่างดี'


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.