เกษม-พรทิพย์ ณรงค์เดช สูตรผสมเกินพอดี


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

พรทิพย์ พรประภา ต้องเปลี่ยนมาใช้นามสกุล "ณรงค์เดช" แล้วผันเกษม ณรงค์เดช ให้กลายเป็นกุญแจดอกสำคัญของ "พรประภา" อย่างแยกไม่ออก นับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบบังเอิญจริง ๆ พร้อมกับงัดง้างสัจธรรมค้าขายคนจีนเสียยับยุ่ยว่า "บางครั้งความบังเอิญก็สร้างความสำเร็จขึ้นมาได้"

คู่ปึกส์คู่นี้เป็นบทพิสูจน์ที่ดี!!!

เกษมพบพรทิพย์ครั้งแรกในงานแต่งงานญาติคนหนึ่งของเธอ พร้อมติดคำพูดเหน็บแนบที่คนฟังคงไม่สบอารมณ์นักว่า "พรทิพย์ที่ว่าสวยไม่เห็นสวยเลย"

ก็ยังดีที่สาวเจ้าเข้าใจว่านั่นเป็นการหยิกแกมหยอก ไม่งั้นโอกาสที่คนทั้งคู่จะกลายมาเป็นคู่ผัวตัวเมียที่ยิ่งใหญ่คู่หนึ่งในโลกธุรกิจปัจจุบันคงไม่เป็นจริง

เกษมแต่งงานกับพรทิพย์อย่างเอิกเกริกเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2512 ท่ามกลางเสียงค่อนแคะหนาหูว่า "เขาได้ดีเพราะเมีย"

ถ้ามองเกษมอย่างผิวเผินคำตอบนั้นอาจเป็นจริง!

เกษม ณรงค์เดช เป็นคนเงียบ ลุ่มลึก แล้วยังเด็ดขาดเสียด้วย!!

คนที่พบความจริงข้อนี้เป็นคนแรกก็คือพี่ชายที่ชักนำเข้าสู่สนามธุรกิจนั่นแหละ ประสิทธิ์ ณรงค์เดช นึกไม่ถึงเลยว่าน้องชายที่เขาฟูมฟีกขึ้นมานั้นจะสามารถฝืนยิ้มทนดูพี่ชายถูกแล่เนื้อเถือหนังให้ตายไปทีละน้อย ๆ ในกรณีศึกผ้าอนามัยเซลล็อกซ์-สก็ตอเปเปอร์ ได้โดยไม่สะท้านหวั่นไหว

ปวดร้าวที่สุดของประสิทธิ์ซึ่งเขาไม่มีวันลืมได้เลยก็คือคนที่กล้ายัดเยียดความตายให้กับเขานั้นแท้ที่จริงก็เป็นน้องชายของเขานั่นเอง ประสิทธิ์ซื้อบทเรียนครั้งนั้นในสนนราคาที่แพงลิบลิ่ว ก่อนประกาศตามล้างตามเช็ดน้องชายคนนี้อย่างถึงที่สุด

ถ้าใจคนเป็นคมกระบี่ที่เฉียบคมเหนือศาสตราวุธทั้งหลายใจที่แน่วนิ่งไม่ไหวติงต่อสรรพสิ่งรอบข้าง เฝ้ารอคอย "เหยื่อ" พลัดหลงเข้ามาสังเวยความโหดเหี้ยมอย่างเย็นใจ คนที่บรรลุความเข้าใจในข้อนี้ย่อมเป็นคนที่น่าเกรงกลัวเป็นอย่างยิ่ง

เกษม ณรงค์เดช น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มคนจำพวกนั้น เขาอาจไม่มีความโหดเหี้ยม ทว่าความรัก ความยิ้มแย้มแจ่มใสที่เขาแสดงออกมาต่างหากที่น่าประหวั่นพรั่นพรึง

เกษมเป็นน้องชายประสิทธิ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง พื้นเพเดิมเป็นคน จ. อุบลราชธานี จบชั้นมัธยมที่เซนต์คาเบรียล และเตรียมอุดม แล้วไปจบปริญญาตรีที่จุฬาฯ จากนั้นจึงไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแคนซัส สมัยเรียนจุฬาฯ เขาดังมากในฐานะประตูฟุตบอลมือกาวที่มีไหวพริบดีเป็นเลิศ

ทักษะในการเป็นประตูฟุตบอลมีค่าอนันต์กับธุรกิจของเขาเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากผู้รักษาประตูเป็นคน ๆ เดียวที่มองเห็นเกมได้ทั่วถึง สามารถที่จะแก้เกมการเล่นให้เพื่อนร่วมทีมเล่นกันอย่างสบายใจได้ในสงครามธุรกิจ เกษมจึงชอบการเป็นเสธฯ ที่คอยวางแผนให้คนสนิทเป็นคนเล่น

เกษมเริ่มชีวิตการทำงานในปี 2502 โดยเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่จุฬาฯ เป็นอาจารย์สอนบรรยายที่จุฬาฯ แล้วไปเป็น CHIEF ACCOUNTANT ที่กรมทางหลวง ที่นี่เขากลายเป็นลูกน้องคนสนิทของนุกูล ประจวบเหมาะ กระทั่งถึงปี 2512 จึงถูกประสิทธิ์พี่ชายดึงมาทำกิจการส่วนตัว

เกษมร่วมสร้างฐานะทางธุรกิจกับพี่ชายด้วยการทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ย่อท้อ และระยะหลังเขาต้องปักหลักสู้เพียงคนเดียว ขณะที่ประสิทธิ์หันเหความสนใจไปกับงานการเมือง ซึ่งสร้างความขุ่นข้องหมองใจแก่เกษมเป็นอย่างมาก

เพราะเกษมรู้สึกว่างานทั้งหมดเขาเป็นคนทำ ทว่าคุณงามความดีและผลประโยชน์อะไรต่อมิอะไร พี่ชายเก็บกวาดเรียบไปเสียหมด ความอัดอั้นตันใจก็สั่งสมมานานก็เลยถึงจุดระเบิด ประกาศแยกทางกันเดินเหมือนไม่ใช่ "ณรงค์เดช" ด้วยกันอย่างนั้น

ธุรกิจคือธุรกิจ ไม่มีพี่ไม่มีน้อง ภายหลังแยกตัวออกมาเกษมตัดสินใจเข้าร่วมทุนกับสก๊อต เปเปอร์ อดีตพาร์ทเนอร์ของประสิทธิ์มานานแล้วเช่นกัน เมื่อหัวอกคนบาดเจ็บมาผนึกกำลังร่วมกัน "การล่าสังหารทางธุรกิจที่ไม่เคยคำนึงถึงสายสัมพันธ์เก่าก็เลยบังเกิด" พร้อมบทสรุปในฉากแรกเป็น "ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของประสิทธิ์"

เกษมเป็นคนเอาจริงเอาจังในเรื่องการทำงานอย่างมาก ไม่จำเป็นแล้วเขาจะไม่ออกนอกหน้านอกตาเป็นอันขาด ความเป็นจริงนี้ไม่ใช่รับรู้แค่การทำงานร่วมกับพี่ชายเท่านั้น หากเมื่อเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามยามาฮ่า ซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งขอพ่อตาและเมีย เกษมก็ทำหน้าที่ได้รับขึ้นก่อผลกำไรให้กับบริษัทอย่างสูง

ผลกำไรสะสมร่วม 500 ล้านบาทของสยามยามาฮ่า ณ สิ้นปี 2529 โดยฝีมือการบัญชาการของเกษมในฐานะประธานกรรมการบริษัท และเงินส่วนนี้ได้ถูกนำไปจุนเจือให้กับหลายบริษัทในเครือสยามกลการ ย่อมชี้ให้เห็น "กึ๋น" ของเกษมได้ชะงัดนัก!!

เกษมกับความสำเร็จทุกแง่มุมของเขาช่างเป็นเรื่องบังเอิญเสียจริง ๆ ความเป็นไปของเขากับสยามยามาฮ่าก็ไม่ผิดไปจากทำนองนี้

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2514 ตอนที่บริษัทยามาฮ่ามอเตอร์ญี่ปุ่น ซึ่งร่วมทุนกับสยามกลการในนามบริษัทสยามยามาฮ่ามาตั้งแต่ปี 2507 ประสงค์จะถอนตัวโดยให้เหตุผลว่า กรรมการผู้จัดการ ฮิโรชิ โคยสุจิ ต้องการกลับญี่ปุ่นและจะไม่มาเมืองไทยอีก ซึ่งทำให้ขาดผู้บริหารที่มีอำนาจลงนามไปหนึ่งคน ดังนั้นจึงได้มีการประชุมตกลงกันเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2514 ให้บริษัทยามาฮ่ามอเตอร์ โอนหุ้นที่ถืออยู่ 54,000 หุ้นให้กับสยามกลการ ซึ่งยามาฮ่ามอเตอร์ก็ไม่ขัดข้อง

แต่การประชุมครั้งนั้นกลับขลุกขลักเมื่อ มร. โคยสุจิ ทนคิดถึงบ้านไม่ไหวหนีกลับญี่ปุ่นไปก่อน ถาวร พรประภา เลยจับเอา เกษม ณรงค์เดช ลูกเขยที่กำลังข้าวใหม่ปลามันเข้ามาสอดรับตำแหน่งเดิมของ มร. โคยสุจิทันที นับเป็นก้าวแรกของเกษมสู่สยามยามาฮ่าก่อนผยองได้ในวันนี้

ถาวรนั้นกล่าวกันว่าเขาใช้เวลาเพียง 2 ปีในการตรวจสอบเววเฉลียวฉลาดของลูกเขยคนนี้ ที่สุดจึงตกลงใจแยกบริษัทสยามยามาฮ่าออกจากสยามกลการเพื่อให้มีอิสระในการทำงาน ในปี 2514 ซึ่งอีกเหตุผลหนึ่งมีคนบอกว่า "สยามยามาฮ่าคือของขวัญของเกษม-พรทิพย์"

ช่วงบริษัทสยามกลการประสบมรสุมด้านหนี้สินจากค่าเงินเยนแข็งตัวเมื่อเทียบกับเงินบาทประมาณปี 2526 เกษมและพรทิพย์ได้นำบริษัทสยามยามาฮ่าเข้ามาช่วยทั้งในรูปเงินให้ยืม (ไม่คิดดอกเบี้ย) และค้ำประกัน L/C ให้

นี่เป็นข้อต่อที่สร้างความชื่นชมให้กับถาวรเอามาก ๆ เครดิตของสามี-ภรยาคู่นี้ เมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ แล้วทั้งคู่ลอยลมบนยากที่จะร่วงหล่นเสียแล้ว

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในแต่ละครั้งของสยามกลการค่อนข้างเป็นที่เชื่อได้ว่า คนที่มีส่วนผลักดันอย่างมากคนหนึ่งคือเกษม บางคนเปรียบเขาเป็นเสนาธิการคู่ใจของคุณหญิงพรทิพย์ และอนาคตใหม่ของสยามกลการที่มีเมียเขาครอบครองอำนาจโดยเบ็ดเสร็จนั้น คนที่จะร่วมชี้ชะตากับคุณหญิงพรทิพย์ก็เป็นสามีของเธอคนนี้นี่เอง

ปี 2530 เกษมเดินหมากรุกเงียบทางธุรกิจ??

ปี 2531 คงถึงเวลาที่เขาจะเปิดเผยตัวเองสักที!!

โชคดีเป็นของถาวร พรประภาที่ได้ลูกเขยเฉียบฉลาดมาประสานเข้ากับความเข้มงวดของลูกสาวสุดรักได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.