คนเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์และคนบางคนก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปโดยไม่รู้ตัวได้ง่าย
ๆ เหมือนกัน
คน ๆ หนึ่งเกิดและเติบโตขึ้นมาจนเป็นดาวที่แจ่มจรัสฟ้า จนดูเหมือนไม่มีวันจะโรยราแต่แล้ววันดีคืนดีดาวดวงเด่นก็ถูกสอยตกลงมาอย่างเหนือความคาดหมาย
อาจจะเป็นเรื่องโชคชะตาที่เล่นตลกเอากับเขา หรือเพราะความเป็นตัวของเขาเองนั่นยังไม่สำคัญเท่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้น?
นุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและล่าสุดอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารบริษัทสยามกลการ
อดีตคนใหญ่คนโตที่กลายเป็นสามัญชนผู้ตกงานแล้วโดยสมบูรณ์ คือตัวละครโดดเด่นที่เราเลือกหยิบยกขึ้นมาศึกษา
ข่าวดังที่สุดในรอบปี 2527 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่าเป็น DEPRESSION
YEAR เห็นจะไม่มีข่าวไหนเกิน "สั่งปลด…ผู้ว่าการแบงก์ชาติ" (ตำแหน่งที่ในเมืองไทยอาจจะเทียบเท่ารองปลัดกระทรวงเท่านั้นแต่สำหรับในต่างประเทศแล้วตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มีเกียรตสูง
และเป็นตำแหน่งที่เหนือกว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลังเสียอีก) อย่างกะทันหันแบบสายฟ้าแลบ
สำหรับวงการเงินเมืองไทยและทั่วโลกค่อนข้างจะเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนกไม่น้อย
และสำหรับนุกูล มันเป็นโศกนาฎกรรมครั้งสำคัญในชีวิต
คู่กรณีในครั้งนั้นคืออดีตรัฐมนตรี สมหมาย ฮุนตระกูล ผู้ได้รับฉายาว่า
"ซามูไรบ้าเลือด" เขาเป็นผู้ลงดาบนุกูล ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ลงดาบนุกูล
ที่ได้ชื่อว่าเป็นคน "หัวรั้นจอมทะนง"
เหตุของปัญหาคือความขัดแย้งกันในเรื่องความคิดความเชื่อในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน
ละเรื่อยไปถึงความขัดแย้งเชิงบุคลิกภาพในการทำงานและเรื่องส่วนตัว นำไปสู่จุดแตกหักแล้วจบลงด้วยบทโหด
ของผู้ที่อยู่ในอำนาจที่เหนือกว่า ซึ่งการปลดผู้ว่าแบงก์ชาติครั้งนั้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
(เบื้องหลังความคิดขัดแย้งโดยละเอียดอ่านจาก "ผู้จัดการ" ปีที่
2 ฉบับที่ 13)
คำพูดของนุกูลที่ระบายความอัดอั้นตันใจออกมาให้พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยในวันประกาศอำลาจากแบงก์ชาติ
สะท้อนถึงความคิดของเขาอย่างชัดเจน และดูเหมือนว่าสถานภาพของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันภายใต้ผู้ว่าชื่อ
กำจร สถิรกุล ออกจะไม่ต่างจากสิ่งที่นุกูลไม่อยากให้เกิดขึ้น
"ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ ที่มีความรับผิดชอบและเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ
เป็นตำแหน่งที่ให้คุณประโยชนแก่ธนาคาร กลุ่มธุรกิจได้มากมาย และในเวลาเดียวกันโดยอำนาจหน้าที่อาจทำความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินได้เช่นกัน
ผมหวังอย่างยิ่งว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมคงจะไม่เป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
แบบอย่างที่ไม่ดีนั้นคือ ผู้ว่าการจะต้องยอมอยู่ภายใต้การครอบงำ เป็นที่พอใจของนักการเมืองจึงจะอยู่ได้
เมื่อใดก็ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปราศจากอิสรภาพในการดำเนินนโยบายต่าง
ๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เมื่อไรก็ตามที่ผู้ว่าการจะต้องคอยเอาอกเอาใจนักการเมืองจึงจะอยู่ในตำแหน่งได้
เมื่อนั้นศักดิ์ศรีของธนาคารชาติจะไม่มีเหลือ ทำนบกั้นความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศจะพังทลายไปอีกทำนบหนึ่ง"
หลังจากพ้นตำแหน่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว นุกูลก็อยู่บ้านพักผ่อน โดยปฏิเสธไม่ยอมรับการขอร้องจากสมหมายที่จะให้ไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
นุกูล เป็นคนที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า STRONG PERSONALITY เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก
ๆ เขาได้ชื่อว่าเป็นคนที่ "ฉลาดเฉลียวและมือสะอาดมาก ๆ คนหนึ่ง"
บุคลิกจึงค่อนข้างแข็งกร้าว ไม่เคยยอมอ่อนข้อให้ใคร สไตล์การทำงานมีลักษณะ
AGGRESSIVE เป็นคนโผงผางและพูดจาแบบไม่ค่อยมีซิปรูด การเข้าใจปูมหลังทางครอบครัวซึ่งมีส่วนหล่อหลอมบุคลิกภาพของเขาอาจจะช่วยให้เข้าใจเขามากขึ้น
ตระกูล "ประจวบเหมาะ"เป็นตระกูลคหบดีใหญ่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต้นตระกูลเป็นคนแซ่ลิ้ม
อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยรับราชการเป็นนายภาษีอากรให้กับรัฐบาล
มีความดีความชอบได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนอากรทรงโปรด"
รัชกาลที่ 6 เป็นผู้ทรงพระราชทานนามสกุล "ประจวบเหมาะ" ให้
ตระกูลนี้เป็นตระกูลใหญ่มีหลายสายแยกย้ายกันประกอบอาชีพต่าง ๆ สายพ่อของนุกูลคือ
ประกอบ ประจวบเหมาะ ทำการค้าขายเหล้า บุหรี่ รับซื้อของป่า ทำกิจการเหมืองแร่
นอกจากนี้ยังมีที่ดินอีกเป็นจำนวนมากมาย ประกอบแต่งงานกับลูกสาวเศรษฐีบางสะพานตระกูล
"เลาหะลีนุ" ชื่อ ดัด ซึ่งเป็นผู้หญิงเก่ง และมีความสามารถในการค้ามาก
จนใคร ๆ เรียก "เจ้าแม่ดัด" เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะดีอยู่แล้ว
จึงกลายเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยยิ่งขึ้น
เมื่อครอบครัวฐานะดีขนาดนี้ นุกูลจึงเติบโตขึ้นมาอย่างสุขสบายได้เรียนหนังสือเต็มที่
เขาสามารถเลือกอาชีพที่ปรารถนาจะทำประโยชน์ได้โดยไม่ต้องคิดเรื่องการหาเงินหาทองมากนัก
นุกูลจบ ม. 8 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเมลเบอร์น
ประเทศออสเตรเลีย คว้าปริญญาตรีพาณิชยศาสตร์บัณฑิตกลับมาเมื่อปี 2495 เริ่มทำงานครั้งแรกที่กระทรวงการคลังในตำแหน่งเศรษฐกร
ทำได้พักหนึ่งก็เดินทางไปเรียนต่อระดับปริญาโทที่มหาวิทยาลัยยอร์ชวอชิงตัน
สหรัฐอเมริกา สำเร็จมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ระหว่างที่เรียนอยู่ก็ฝึกงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศไปด้วย
ปี 2500 เดินทางไปทำงานที่สถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันในสำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง
เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปี 2507 เข้ารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมทางหลวง ในเวลาเดียวกันก็เป็นผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างถนนสายต่าง
ๆ ที่ใช้เงินกู้จากธนาคารโลกและเป็นรองอธิบดีกรมทางหลวงคนแรกที่ไม่ได้จบมาทางด้านวิศวะ
นุกูลทำงานที่กรมทางหลวงเป็นเวลานานถึง 10 ปี ได้ปรับปรุงระบบงานหลายอย่างจนทำให้กรมทางหลวงสามารถประหยัดเงินได้เป็นจำนวนมหาศาล
นอกจากนั้นยังขยายการสร้างทางออกไปทั่วทุกแห่งทั้งประเทศ ถนนหนทางที่ได้มาตรฐานกระจายออกไปสู่จังหวัดต่าง
ๆ ที่ห่างไกลความเจริญได้แผ่ขยายออกไปสู่ท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว ผลงานครั้งนั้นของนุกูลจึงได้รับการกล่าวถึงอยู่มาก
จากกรมทางหลวงก็มาเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังในปี 2517 ในสมัยที่บุญมา
วงศ์สวรรค์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ประมาณ
6 เดือน สมหมาย ฮุนตระกูล ก็มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผอิญช่วงนั้นสมหมายเกิดความขัดแย้งกับสมัคร
สุนทรเวช กับ สวัสดิ์ อุทัยศรี เกี่ยวกับเรื่องกรมธนารักษ์ เกิดการสไตร๊ค์ขึ้นในโรงกษาปณ์ซึ่งเวลานั้น
สวัสดิ์ อุทัยศรี เป็นอธิบดีกรมนี้ สมหมายเลยย้ายสวัสดิ์มาตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลังแล้วย้ายเอานุกูลไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์สลับตำแหน่งกัน
"ผมเข้าไปอยู่ที่นั่นประมาณ 6 เดือน เข้าไปถึงปรากฏว่าคุณสวัสดิ์แกทิ้งเรื่องไว้กองพะเนินเทินทึก
เรื่องที่ดินอะไรต่าง ๆ ทั่วประเทศผมก็ไปสาวปัญหาจนเสร็จ ระหว่างนั้นผมก็ออกกฎหมายให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังรับผิดชอบที่ดินของราชพัสดุทั้งหมดทั่วประเทศ
ซึ่งเมื่อก่อนนี้อำนาจยังเป็นของกระทรวงมหาดไทย พอทำเรื่องเสร็จคุณบุญชู
(โรจนเสถียร) ก็เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณบุชูมาตามผมไปบอกว่า
ผมต้องไปอยู่กรมสรรพากร" นุกูลเล่าถึงชีวิตในหน้าที่การงานของตนช่วงที่ย้ายจากอธิบดีกรมธนารักษ์ไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากร
มาถึงยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร นุกูลถูก สุพัฒน์ สุธาธรรม รัฐมนตรีคลังย้ายไปอยู่กรมบัญชีกลาง
เพราะขอร้องให้ช่วยบริษัทที่ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 10 กว่าล้านแล้วนุกูลไม่สนใจแม้นิดเดียวก็เลยถูกย้ายจากกรมอันดับหนึ่งไปอยู่กรมแถวหลัง
ๆ เป็นรางวัล!!!
ว่ากันว่าความแข็งของนุกูลนั้นแข็งถึงขนาดเวลาเดินสวนกับรัฐมนตรีคลังที่ชื่อ
สุพัฒน์ สุธาธรรม นุกูลแม้กระทั่งเหลือบมองยังไม่มองเลย และไม่ยอมยกมือไหว้รัฐมนตรีด้วย
นุกูลเป็นอธิบดีกรมสรรพากรได้ 3 ปีครึ่ง ซึ่งนุกูลยอมรับว่างานที่นี่หนักมาก
ๆ ปี 2521 ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง ถัดมาปี 2522 ก็ย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการของนุกูล
นุกูลเป็นคนที่มีจุดยืนของตัวเองอย่างแจ่มชัด และเป็นตัวของตัวเองมาก ๆ
เป็นคนที่ทำงานอย่างเดียวไม่สนใจที่จะต้องเอาใจใครทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ทุกอย่างจะต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของหลักการทำงานอย่างเป็นระบบว่าไปแล้วเขาเป็นคนที่วงการราชการไทยต้องการมาก
ๆ เพราะเป็นคนตรงเป็นเส้นตรงและเป็นคนไม่ยอมคนไม่ว่าเป็นใครมาจากไหน
ถ้าผิดจากหลักการไปแล้ว นุกูลจะยอมหักไม่ยอมงอเด็ดขาด ความข้อนี้ทุกคนประจักษ์ชัดแล้วจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลาย
ๆ เหตุการณ์
ในมุมกลับการที่เขามีสไตล์ที่แข็งกร้าวเช่นนี้สร้างศัตรูหรือความไม่พอใจให้กับผู้บังคับบัญชาและกน้องไม่น้อย
บางคนบอกว่าเขาเชื่อมั่นในตัวเองจนล้นเกินจนคนที่มีความเห็นต่างไปค่อนข้างลำบากใจ
ชีวิตของนุกูลหลังจากพ้นตำแหน่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนับได้ว่าเป็นชีวิตของคนว่างงานผู้ยิ่งใหญ่
มีคนมาทาบทามจะให้นุกูลเข้าร่วมงานด้วยหลายราย แต่นุกูลปฏิเสธหมดขออยู่เฉย
ๆ ที่บ้านสักระยะหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่า "ยังไม่พบงานที่ชอบและถูกใจ"
16 ตุลาคม 2529 มีการจัดแถลงข่าวอย่างใหญ่โตที่สยามกลการว่า นุกูล ประจวบเหมาะจะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแทนถาวร
พรประภา ซึ่งขึ้นไปเป็นประธานกิตติมศักดิ์ ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนร่วมร้อยที่สนใจจะได้คำตอบว่าทำไมนุกูล
จึงตัดสินใจมาที่นี่และสยามกลการจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่หรือไม่?
เหตุผลของถาวร พรประภาที่ชี้แจงวันนั้นคือต้องการประสิทธิภาพในการบริหารงานให้มากยิ่งขึ้น
ด้วยการเชิญนักบริหารมืออาชีพที่มีความสามารถสูง มีพลัง มีเวลาเต็มที่ให้มาช่วยกันบริหารบริษัทสยามกลการให้เจริญรุดหน้า
จึงตัดสินใจเชิญนุกูลเป็นประธานกรรมการ โดยจะให้อำนาจเต็มที่ และแต่งตั้ง
ดร. วิชิต สุรพงศ์ชัย จากแบงก์กรุงเทพเป็นกรรมการบริษัทด้วย
"การที่ผมตัดสินใจเข้าทำงานที่สยามกลการก็มีเหตุผลอยู่ 2-3 ประการ
ประการแรก ผมคิดว่าคุณถาวรเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ ซึ่งผมมอง ๆ ดูแล้วมีไม่ค่อยมากนักในสังคมแบนี้
ท่านได้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนมีหลักฐานมั่นคง เวลานี้ท่านก็บอกตรง ๆ
ว่ามีปัญหาบางประการที่มันขยายตัวมาแล้วและเอาคนนอกที่เป็นกลางเข้ามา ถ้าไม่ส่งเสริมก็ขัดกับความรู้สึกเพราะใจผมอยากส่งเสริมระบบนี้อยู่แล้ว
อีกประการหนึ่งผมเห็นว่าธุรกิจภาคเอกชนเป็นงานใหญ่และผมไม่เคยทำมาก่อน ประกอบกับช่วงนี้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ปัญหาต่าง ๆ มีมาก งานนี้จึงเป็นงานท้าทาย" นุกูลให้เหตุผลของการตัดสินใจเข้ารับงานที่สยามกลการ
นุกูลเข้าไปขณะที่บริษัทสยามกลการสะบักสะบอมจากพิษของเงินเยนที่แข็งตัว
และการบริหารภายในที่ผิดพลาดจนบริษัทขาดทุน อีกทั้งพรประภาเป็นครอบครัวใหญ่
พี่น้องไม่ค่อยลงรอยกัน
การเข้ามาของนุกูลนอกจากคำขอร้องของถาวรแล้ว แรงบีบของธนาคารกรุงเทพในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่คงมีส่วนอยู่ไม่น้อย
ดร. อำนวย วีรวรรณซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพเป็นเพื่อนสนิทนุกูลคงจะเป็นแรงหนุนส่งอีกทางและชาตรียังส่งมือขวาอย่าง
ดร. วิชิตเข้าไปคุมอีกแรงหนึ่งด้วย
เวลาผ่านไป 1 ปี 5 เดือน การลาออกอย่างกระทันหัน เป็นข่าวที่อยู่ในความสนใจของคนในวงการว่าทำไม?
ครึกโครมไม่แพ้ตอนที่เข้ามาเช่นกัน
นุกูลให้เหตุผลว่าเขาเข้ามาช่วยจนผลประกอบการดีขึ้น จนมีกำไรในปีนี้กว่าร้อยล้านบาท
วิกฤติการณ์ทางการเงินและปัญหาของบริษัทได้คลี่คลายไปเกือบหมดสิ้นแล้ว ขณะนี้ฐานะของบริษัทมั่นคงขึ้นมาก
ภาพพจน์ของบริษัทในสายตาประชาชนทั่วไปก็ดีขึ้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป
แต่แหล่งข่าวในสยามกลการวิเคราะห์ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้นุกูลตัดสินใจลาออก
เพราะเบื่อหน่ายในสไตล์การทำงานที่แตกต่างกันของตน (ซึ่งเขาเองมองว่าเป็นแบบสากล)
กับคนพรประภา ซึ่งเป็นแบบระบบครอบครัว โดยเฉพาะมีปัญหาขัดแย้งกับคุณหญิงพรทิพย์ซึ่งคาดกันว่าจะเข้าคุมอาณาจักรสยามกลการต่อไปด้วย
นุกูลยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ปัญหามันก็มีบ้างเพราะแบ๊คกราวด์ไม่เหมือนกัน
คุณหญิงพรทิพย์จบอะไรมาผมขอถามหน่อย ก็ไม่ได้จบอะไรมาใช่ไหมครับ ความรู้แกไม่ค่อยมีก็ไปเก่งเรื่องประชาสัมพันธ์
และที่บอกว่าผมใช้ระบบแบบแบงก์ชาติเข้ามาซึ่งไม่เหมาะกับธุรกิจเอกชนนั้น
แบงก์ชาติเป็นยังไง แบงก์ชาติก็เหมือนกับธุรกิจธรรมดาและที่อ้างอย่างนั้นอย่างนี้ผมถามจริง
ๆ ถ้าบอกว่าคุณหญิงมีความสามารถทำไมไม่ตั้งแกเป็นตั้งแต่ตอนที่มีปัญหามาก
ๆ ล่ะ"
ภายใต้สถานการณ์วิกฤติและการทะเลาะเบาะแว้งของคนในครอบครัว นุกูลเข้าไปเป็นคนกลางที่เหมาะสมมากเพราะเขาไม่เข้าไปเกี่ยวด้วยเขาอยู่ตรงกลาง
จัดระบบต่าง ๆ ให้เข้าที่เข้าทาง โดยเฉพาะแก้วิกฤติทางการเงินนั้นทำให้ความขัดแย้งชะลอตัวไปชั่วคราว
ทุกคนหันมาทำงาน แต่พอสถานการณ์ดีขึ้นประกอบกับความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ตลอด
และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นุกูลมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะอยู่ต่อ
อย่างไรก็ตามถ้ามองไปที่ตัวนุกูลจะเห็นว่าสไตล์การทำงานของเขาสมัยรับราชการที่แข็งกร้าว
ไม่แคร์ยังคงดำรงอยู่แม้ว่าจะมาอยู่ในธุรกิจเอกชนแล้วก็ตาม ว่ากันว่าแม้แต่งานที่สยามกลการส่งรถนิสสันไปขายบรูไน
ซึ่งเชิญประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมมาเปิดงาน นุกูลไม่ได้เอาใจใส่ออกไปต้อนรับยังนั่งอยู่ในที่ของตนเองอย่างไม่สนใจ
อันนี้เป็นเครื่องชี้บอกเหมือนกันว่าเขายังไม่ปรับตัวเข้ากับคนและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ดูเหมือนทุกคนจะต้องเป็นฝ่ายปรับตัวเข้ากับเขาเสียมากกว่า
ซึ่งตรงนี้เขาต่างจาก ดร. อำนวย วีรวรรณ ซึ่งเคยประสบชะตากรรมคล้ายกันในเรื่องที่ถูกปลดจากตำแหน่งปลัดกระทรวงกลางอากาศเช่นกัน
แต่ ดร. อำนวยได้เปรียบตรงเขาถูกปลดก่อนนานกว่า เขาเคยเป็นประธานสหยูเนียนกรุ๊ป
เป็นรัฐมนตรี ก่อนที่จะมาเป็นประธานแบงก์กรุงเทพ ดร. อำนวยเป็นคนอ่อนนอกแข็งใน
และเป็นคน COMPROMISE มาก ๆ ที่สำคัญคือเขาเล่นการเมืองเป็น ทุกวันนี้ ดร.
อำนวยจึงอยู่ในแบงก์กรุงเทพได้อย่างสบาย ๆ ทั้ง ๆ ที่วิกฤติการณ์ความขัดแย้งมาหลายครั้งหลายหน
นุกูลที่สยามกลการยังเป็นคนหยิ่งยโสทระนงในตนเองและเลือกที่จะทำงานในสไตล์ของตัวเอง
เป็นคนที่ยังทั้งแข็งนอกและใน ซึ่งในที่สุดก็หักอีกครั้งหนึ่งที่สยามกลการ
หลายคนกล่าวว่าสไตล์การทำงานของเขาไม่เหมาะกับองค์กรไหนในสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมประนีประนอม
เขาน่าจะเหมาะกับงานแบบที่ธนาคารโลก หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพราะเขาจะได้โชว์ฝีมือในการทำงานของเขาได้เต็มที่
อนาคตของคนเก่งอย่างนุกูลนั้นว่าไปแล้วเขายังน่าจะไปได้อีกไกลด้วยวัยเพียง
59 ปี แต่จะมีงานอะไรที่เหมาะกับศักยภาพแบบเขา เป็นสิ่งที่เขาจะต้องคิดต่อไปอย่างรอบคอบ
บางคนบอกว่าเขาพลาดที่ตัดสินใจผิดในการเข้ามาร่วมงานกับตระกูลที่มีปัญหาโดยตัวของตัวเองค่อนข้างมาก
และต้องเดินจากไปอย่างไม่ค่อยสบอารมณ์นัก
แม้แต่เพื่อนสนิทเขา เกษม จาติกวณิช เจ้าของฉายาซูเปอร์เคยังบอกว่า "นุกูลเป็นคนเก่ง
แต่โชคร้าย" "ผู้จัดการ" เดาว่าคงจะโชคร้ายที่ลงเรือผิดลำ
ซึ่งความจริงชะตากรรมของคนคู่นี้ก็มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่มาก