"สยามกลการ" ภายใต้การนำของถาวร พรประภา ในยุคหนึ่งนั้นฐานะเทียบเคียงที่จะเป็นเจ้าของแบงก์เล็ก
ๆ สักแห่งหนึ่งได้ไม่ยากเย็น แต่สภาพของสยามกลการยุคที่ถาวรปรารถนาที่จะล้างมือในอ่างทองคำแล้วปล่อยให้อำนาจร้าวฉานของศึกสายเลือดอา-หลาน
เข้าครอบงำในระยะผ่านที่ไม่นานนักนั้น กลับกลายเป็น "ความห่วงใย"
ที่แบงก์เจ้าหนี้ต้องเข้าไปประคบประหงมอย่างใกล้ชิด
การลาจากายามกลการของนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติที่ถูกดึงเข้าไป
เพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่ให้กับบริษัทแล้วสามารถพลิกฟื้นสถานะที่ขาดทุนของบริษัทให้กลับมีกำไรงดงามภายในห้วงเวลาสั้น
ๆ นับเป็นเรื่องที่เหลือเชื่ออยู่ไม่น้อย และการลาออกของนุกูลเป็นภาพสะท้อนค่อนข้างแจ่มชัดว่า
ความพยายามที่จะนำเอาระบบบริหารสมัยใหม่เข้าไปใช้ในบริษัทแห่งนี้ดูเหมือนจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
"สยามกลการ" ในปัจจุบันและอนาคต ที่ตกมาอยู่ในกำมือของ "พรประภา"
โดยมีคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ลูกสาวสุดรักของถาวรเป็นตัวชูโรง คงต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักหน่วงว่า
แม้จะต่อสู้โดยลำพัง ทว่าสยามกลการย่อมไม่สิ้นอายุขัยเพียงแค่ชนรุ่นที่ 2
อย่างที่หลายคนสงสัย…
เมษายน 2531
"ช่วย ๆ กันหน่อยนะสยามกลการก็ถือว่าเป็นบริษัทคนไทยรายสุดท้ายแล้วที่เหลืออยู่"
ให้ตายถอะ…ถ้าถาวร พรประภา จะไม่ปล่อยให้ความทรงจำในวันที่ 16 ตุลาคม 2529
เป็นเพียงระยะผ่านช่วงสั้น ๆ ที่จบลงอย่างไม่ค่อยสู้ดีนักนั้น บางทีเขาอาจไม่ต้องมาเล่นบทตลก
ๆ แสดงออกมาซึ่งอาการปริวิตกกังวลแกมขอร้องข้างต้น ราวกับว่าสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เสนอข่าวการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งดุจดั่งเทพเจ้าที่สามารถชี้เป็นชี้ตายอนาคตของสยามกลการได้กระนั้นแหละ
16 ตุลาคม 2529…
วันนั้นประวัติศาสตร์เหนือจริงถูกบันทึกลงไปอีกบทอย่างที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อนว่าผู้บริหารธุรกิจระบบครอบครัวขนาดใหญ่อย่างถาวร
พรประภา จะยินยอมพร้อมใจถอดถอนอำนาจเบ็ดเสร็จที่เคยควบคุมสยามกลการมายาวนาน
34 ปียอมเดินลงจากเวทีเหมือนไม่ติดเยื่อเหลือใยใด ๆ ทั้งสิ้น
และไม่ว่าการกระทำครั้งนั้น (จะเป็นไป) โดยมูลเหตุที่ว่า สยามกลการกำลังโยกคลอนอย่างหนัก
อุปมาอุปไมยแม้แต่กางเกงในสักตัวก็แทบจะไม่มีใส่อย่างไรนั้น ทว่าสิ่งที่ถาวรตัดสินใจลงไปก็เรียกร้องเสียงสรรเสริญเยินยอได้ไม่น้อยเลย
นับเป็นการจัดฉากชัยชนะที่แนบเนียนและน่าภาคภูมิใจของถาวรเลยจริง ๆ!!!
นุกูล ประจวบเหมาะ….การเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารสืบแทนถาวรในสยามกลการของอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติผู้นี้
มีทั้งคำถามและตอกย้ำความสนใจต่อความเป็นไปของสยามกลการในเงื้อมมือของเขาให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ว่าไปแล้วกระทั่งถึงวันนี้…วันที่นุกูลสิ้นสุดความอดทน ตัดฟางเส้นสุดท้ายยอมโบกมืออำลาสยามกลการไปเมื่อวันที่
1 เมษายน 2531 ขณะที่บทบาทและภาระหน้าที่ของเขากำลังมีอนาคตที่สุกปลั่งกับการสร้างสรรค์ปรากฏการณ์รุ่งโรจน์ครั้งใหม่ให้บริษัทนี้
ก็ยังเป็นที่อึมครึมกังขาของหลายคนอยู่อีกว่า "นุกูลจับพลัดจับผลูเข้าไปในสยามกลการได้อย่างไร"
แหล่งข่าวใกล้ชิดถาวรคนหนึ่งเคยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า เดิมทีคุณถาวรคิดอยากจะรอคอยให้คุณพารณ
อิศรเสนาฯ ผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์เกษียณอายุที่นั่นแล้วดึงมานั่งเก้าอี้แทนแก
แต่เรื่องนี้ติดขัดที่ผู้ใหญ่ของแบงก์กรุงเทพบางคนไม่ยอม"
ผู้ใหญ่ท่านนั้นคืออำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารของแบงก์ที่เห็นควรว่าบทบาทสืบแทนถาวรนั้นน่าเป็นนุกูล
ประจวบเหมาะ จะดูเหมาะสมกว่าเพราะความที่เป็นคนชนิดยอมหักไม่ยอมงอของนุกูลมีน้ำหนักที่จะกำราบ
"ความขัดแย้ง" ลุ่มลึกของเทือกเถาเหล่ากอ "พรประภา"
ที่เป็นปมปัญหาหนึ่ง ซึ่งยับยั้งการก้าวหน้าของบริษัทให้ทุเลาเบาบางลงไปได้
"เรื่องมันผ่านไปแล้วอย่าให้ผมรื้อฟื้นอีกเลย" ถาวรแบ่งรับแบ่งสู้กับ
"ผู้จัดการ" เมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้อีกครั้ง
ถ้าจะสืบค้นลงลึกถึงที่มาของนุกูลสู่สยามกลการก็คงให้คำตอบได้ 2 แนวทางคือ
หนึ่ง-เป็นการผลักดันโดยตรงจากเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างแบงก์กรุงเทพที่รวมยอดเงินกู้ให้สยามกลการนับตั้งแต่ปี
2505 จนถึง ณ สิ้นปี 2529 แล้วไม่น้อยกว่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งภาวะในช่วงปี
2527-28 ซึ่งสยามกลการถูกโหมกระหน่ำจากพิษเงินเยนจนโอนไปเอนมา แบงก์กรุงเทพคงมองเห็นว่า
หากปล่อยให้สภาพการณ์เป็นไปอย่างนั้นตัวเองคงมีแต่เจ๊ากับเจ๊ง
และอาจเป็นเพราะมองเห็นว่าความยุ่งยากที่ไม่เคยลงตัวของคนในตระกูล "พรประภา"
ที่กลายเป็นอุปสรรคเรื้อรังต่อการแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น แบงก์อาจคิดว่าขืนปล่อยให้มีเสรีบริหารงานแบบไม้หลักปักขี้เลนกันต่อไปคงยิ่งเร่งวันล่มจมให้เร็วขึ้น
จึงจำเป็นต้องหาทางออกด้วยการดึงเอาคนนอกที่มีอำนาจบารมีพอตัวอย่างนุกูลเข้าไปเป็น
"ตัวชน" และวางระบบงานเสียใหม่
สาเหตุนี้มีความเป็นไปได้ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อคือหนึ่ง-โดยบุคลิกส่วนตัวของนุกูลที่เป็นคนแข็งกร้าว
ยึดความถูกต้องเป็นหลักขนาดเคยพุ่งชนอดีต รมว. สมหมาย ฮุนตระกูล อย่างไม่อินังขังขอบมาแล้วย่อมเหมาะที่จะปราบพยศคนในตระกูล
"พรประภา" ให้กลับเข้ามาอยู่ในร่องในรอยได้
สอง-ก่อนหน้านั้นเคยมีข่าวว่าชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสแห่งแบงก์กรุงเทพคิดที่จะเข้าไปเป็นกรรมการสยามกลการเสียเอง
แต่ติดขัดที่ว่าถ้าทำอย่างนั้นอาจเป็นการไม่ไว้หน้าถาวรซึ่งยังคงเป็นกรรมการของแบงก์กรุงเทพอยู่มากเกินไป
ชาตรีเลยต้องเลี่ยงมาเล่นทางอื่นถึงอย่างไรก็ยังคงส่งคนสนิทอย่าง ดร. วิชิต
สุรพงษ์ชัย เข้าไปเป็นกรรมการตามประกบสอดส่องความเคลื่อนไหวทุกย่างก้าว
คนอย่างชาตรีเขาคงไม่นึกคิดเพียงแค่ฐานะแบงก์เจ้าหนี้เท่านั้นหรอก หากว่าเขาอาจฝันใฝ่ถึงการเป็นผู้ครอบครองอาณาจักรอุตสาหกรรมรถยนต์
(AUTOMOBILE INDUSTRY) อีกด้วย เนื่องเพราะอุตสาหกรรมนี้ถ้าพัฒนาเต็มรูปแบบแล้วไม่เพียงมีอนาคตสดใสทว่ายังสร้างชื่อเสียงเป็นอันมาก
แต่เมื่อสยามกลการอยู่ภายใต้อาณัติ "พรประภา" ในทุก ๆ จุด จึงกลายเป็น
"ม่าน" กีดกั้นการรุกคืบของใครก็ได้เป็นอย่างดี "คงเหมือนที่แบงก์อยากเข้าไปในธุรกิจตระกูลไหนสักตระกูลแต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
เพราะทุกจุดที่สำคัญเชื่อว่าคนของตระกูลคุมไว้ได้หมด ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีย่อยสลายระบบครอบครัวลงไป"
แหล่งข่าวท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกต
สอง-เป็นการยอมรับสภาพแท้จริงของถาวรเองว่า ถ้าเขายังยึดติดกับระบบบริหารงานแบบครอบครัวต่อไป
สยามกลการอาจจะกลายเป็น "สุสาน" ไปโดยไม่รู้ตัว จึงยอมที่จะเปลี่ยนใจต้อนรับการเข้ามามีอำนาจอย่างเต็มที่ของมืออาชีพอย่างนุกูลซึ่งถาวรมองว่า
ฐานะที่เคยเป็นอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติมาก่อน คงมีส่วนช่วยในการเจรจากับแบงก์ทั้งในและนอกประเทศได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะกับญี่ปุ่นที่นุกูลมีความสนิทสนมกับสถาบันหลาย ๆ แห่ง
คนที่มีส่วนผลักดันนุกูลสู่สยามกลการในสาเหตุนี้ก็คือ เกษม ณรงค์เดช ลูกเขยของถาวรนั่นเอง
ด้วยเหตุผลที่ว่าเกษมเคยเป็นลูกน้องเก่าของนุกูลมาก่อนสมัยเป็นอธิบดีกรมทางหลวง
ซึ่งเกษมก็ยอมรับในความสามารถของนายเก่าผู้นี้เป็นอย่างมาก เมื่อผนวกเข้ากับการที่เกษมเป็นลูกเขยสุดโปรดของถาวรที่แสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์มาแล้วกับการบริหารงานสยามยามาฮ่าจนทำกำไรสะสม
สิ้นปี 2529 ได้ถึง 590 ล้านบาท เมื่อเกษมให้เครดิตนุกูลมีหรือที่ถาวรจะไม่ปรีดาปราโมทย์ไปกับลูกเขยของตน
แต่วันเวลาอาจเปลี่ยนกระแสความคิดคนได้ฉันใด บทสุดท้ายของนุกูลกับสยามกลการก็อาจเปลี่ยนทีท่าของเกษมที่ประหนึ่งคือ
"พรประภา" ด้วยคนหนึ่งให้ต้องทำตัวเป็น "ทองไม่รู้ร้อน"
นั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้อีกเช่นกันนั้นแหละ???
สรุปแล้วไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม การผินผายเข้าสยามกลการของนุกูลในช่วงนั้นก้หนักอานไปด้วยปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งสะสางอย่างเร่งด่วนคือหนึ่ง-การเรียนรู้เพื่อปรับภาวะวิสัยการทำงานจากระบบราชการมาสู่เอกชน
สอง-แก้ปัญหาสภาพคล่องและหนี้สิน สาม-แก้ปัญหาน้ำเน่าความระหองระแหงของลูกหลาน
"พรประภา" ทั้งหลายให้มีเอกภาพ
ดูไปเหมือนไม่น่าหนักใจสำหรับมือดีอย่างเขาที่ผ่านศึกมาอย่างโชกโชน แต่ปัญหาเส้นผมบังภูเขาง่าย
ๆ 3 ข้อนี้แหละที่บางคนกล้าพอจะให้บทสรุปล่วงหน้าเลยว่า "นุกูลมีสิทธิเสียตัวได้ง่าย
ๆ"
"ผมมันคล้ายคนที่ผ่านมาชั่วคราว เขามีปัญหาก็ให้มาช่วย"
ความในใจที่หวานอมขมกลืนเช่นนี้ถ้าเกิดขึ้นกับคนอื่นอาจเป็นเพียงการตัดพ้อ
แต่เมื่อเจาะจงจากปากของนุกูล คนที่มีอายุขัยในสยามกลการเพียงปีเศษ ทว่าเขาสามารถกู้สถานภาพที่แทบสิ้นเนื้อประดาตัวด้วยหนี้สินสะสมเกือบพันล้านบาทของบริษัทให้กลับมามีกำไร
ณ สิ้นปี 2530 ถึง 100 ล้านบาทกับยังมีความหวังที่จะทำกำไร ณ สิ้นปีนี้ไม่ต่ำกว่า
300 ล้านบาท
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้หากไม่มีอะไรผิดสำแดงแฝงเร้นก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริง
ๆ!!!
เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของสยามกลการที่มีผลมาจากการลาออกของนุกูลเมื่อ
1 เมษายน สร้างปัญหาน่าสนใจต่อแวดวงนักบริหารมืออาชีพมากพอสมควรว่า สาเหตุแท้จริงของการลาออกนั้นคืออะไร
และชะตากรรมอนาคตของสยามกลการนับจากนี้ไปจะเป็นเช่นไรเล่า?
การที่คน ๆ หนึ่งที่มีผลงานพอตัวอย่างนุกูลจู่ ๆ พลันยื่นใบลาออกโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า
คงไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องตลกฝืด ๆ ตามถ้อยแถลงของถาวรที่บอกอออกมาว่า "ท่านคงอยากพักผ่อน"
ตามนั้นแน่… เหตุผลง่าย ๆ ดูไร้สาระอย่างนี้เหมือนกับเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดไปวัน
ๆ !!
ณ เวลานี้ต่อให้ถาวรชักแม่น้ำทั้งห้าออกมากล่อมอย่างไรก็ไม่อาจคลี่คลายความสงสัยลงได้
บาปบริสุทธิ์ที่นุกูลได้รับจากใครบางคนในตระกูล "พรประภา" อย่างที่หลายคนกังขานั้น
ว่าไปแล้วชะตากรรมของเขาย่อมไม่ผิดเพี้ยนอะไรเลยกับการที่ ลี ไออาค๊อคคา
ถูกเฮนรี่ ฟอร์ด ถีบไสไล่ส่งจากฟอร์ด มอเตอร์ เพียงแต่บางคนของ "พรประภา"
เล่นบทนี้ได้นุ่มนวลกลมกล่อมมากกว่ากันเท่านั้น
"ท่านอยากออกมานานแล้ว เพราะอยู่ต่อไปคงขัดแย้งกันอย่างหนักกับลูกหลานของคุณถาวร
เป็นคุณจะยอมไหมที่จะให้เรื่องซึ่งไม่ค่อยคลีนนักมาชักใบเรือให้เสีย ขณะที่เรือลำนี้ซึ่งท่านเป็นกัปตันอยู่กำลังที่จะฟันฝ่ามรสุมไปได้แล้ว"
แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
ตรงนี้แหละที่สอดคล้องกับข้อสังเกตของ "ผู้จัดการ" มาแต่ต้นแล้วว่า
การเข้าสู่สยามกลการของนุกูลนั้นเพื่อทำหน้าที่ชำระเลือดเน่าโดยแท้ และเขาต้องป้องกันทุกวีถีทางที่จะไม่ให้เลือดเสียเหล่านั้นไหลกลับมาเกลือกกลั้วกับสยามกลการ
(บริษัทแม่) ที่กำลังมีอนาคตแจ่มใสขึ้น จนการกระทำหลาย ๆ อย่างอาจไปกระทบประโยชน์โภชผลของบางคนเข้าโดยเจตนา
ด้วยจรรยาใสสะอาดของนักบริหารมืออาชีพ ไม่เลือกที่จะเป็นใครก็ตาม "ผู้จัดการ"
เชื่อว่าทุกคนเลือกที่จะเล่นเกมอย่างบริสุทธิ์มากกว่าที่จะสมรู้ร่วมคิดกับคนบางคนผ่องถ่ายปัญหาและจุดนี้เองที่เป็น
"ปริศนา" หนึ่งของการลาออกของนุกูลที่ "ผู้จัดการ" จำต้องไขข้อเท็จจริงให้ฟังผสานร่วมกับอีกหลายปัญหาที่เขาสิ้นสุดแล้วซึ่งความอดทน!!
…………
นุกูลนั้นทราบมานานแล้วว่าปัญหาหนึ่งที่ร้ายแรงของสยามกลการก็คือ ความขัดแย้งแย่งชิงกันเป็นใหญ่ของสายเลือด
"พรประภา" ทั้งหลาย โดยเฉพาะคู่เอกอาหลาน ปรีชา พรประภา-พรทิพย์
ณรงค์เดชที่เป็นคู่ชิงการนำในอาณาจักรสยามกลการมาหลายปีดีดัก
"คุณถาวรเองแกลำบากใจไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าจะมอบโอนอำนาจให้ใครดีระหว่างน้องกับลูก
เพราะปรีชาก็ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาแต่ต้น ขณะที่พรทิพย์ก็เป็นลูกสุดรักจริงอยู่เลือดย่อมข้นกว่าน้ำแต่ในกรณีนี้พูดยาก
ก็กระอักกระอ่วนเรื่อยมาที่เอาคุณนุกูลเข้ามาด้านหนึ่งเพื่อระงับความขัดแย้งมิให้ขยายวงมากไปกว่าที่เป็นอยู่ด้วย"
แหล่งข่าวคนหนึ่งบอก
โรคจิตหลอนทางการบริหารที่คิดปีนป่ายเหยียบย่ำกันเองของคนในตระกูล "พรประภา"
กล่าวไปแล้วก็เป็นผลพวงมาจาก "COCKTAIL SYSTEM" ที่ถาวรคิดค้นและถือเป็นความปราดเปรื่องที่ภูมิใจนักนั่นแหละ-(อ่านเพิ่มในล้อมกรอบ)
ความที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวของระบบนี้ ถาวรอาจไม่นึกเฉลียวใจเลยสักนิดก็ได้ว่าเนื้อแท้ของมันจะกลายเป็นโรคร้ายที่ลามแทะองคาพยพขององค์กรให้ง่อยเปลี้ยเสียขาไปทีละส่วน
ๆ
ถาวรนั้นมีหลักการส่งมอบธุรกิจอย่างหนึ่งว่า เขาจะจัดสรรธุรกิจที่มีอยู่ให้ทายาทแต่ละคนรับไปทำโดยอิสระ
ใครขายของได้เงินเท่าไรจะต้องนำเข้ากองกลาง และใครมีความจำเป็นจะต้องใช้ก็ใช้เงินเดือนเหมือนพนักงานทุกคน
ในเวลาเดียวกันถ้าใครทำขาดทุนก็จะถูกสับเปลี่ยนให้ไปดูแลกิจการที่เล็กกว่าเดิมเผื่อว่าถ้าทำขาดทุนอีกยอดเงินจะได้เล็กลง
การที่ไม่สามารถแยกแยะรายละเอียดออกมาได้ว่านี่มันระบบสากลหรือระบบครอบครัวกันแน่
จึงกลายเป็นข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิด "ศึกสายเลือด" ขึ้นในสยามกลการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ระบบ "เส้นข้าสายเอ็ง" ในสยามกลการคุกรุ่นเด่นชัด ก็ในยุคผลัดเปลี่ยนอำนาจที่คุณหญิงพรทิพย์ลูกสาวสุดรักของถาวร
ขยับจากตำแหน่งเลขาส่วนตัวของถาวรขึ้นมาเป็นใหญ่ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักประธานกรรมการสืบแทนอุษา
พรประภา เมียคู่บุญของถาวรที่ตายจากไป
งานในหน้าที่เลขาธิการก็คือตัวแทนกลาย ๆ ของถาวร เพียงแต่ไม่มีอำนาจสั่งการได้เท่านั้น
กระนั้นก็ยังเป็นช่องทางที่คุณหญิงสามารถใช้ความชำนิชำนาญสร้างอาณาจักรย่อยของตัวเองขึ้นมาได้ไม่ยากเย็น
ทั้งนี้เพื่อบดบังรัศมีของอา-ปรีชา พรประภา ที่เริ่มไม่กินเส้นกันเสียแล้ว
อิทธิพลของคุณหญิงพรทิพย์มีมากขึ้นอีกเมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสคุมงานด้านบริหาร-การตลาด
ค่าที่เคยทำให้บริษัทลูกยางสยาม ยามาฮ่ามีกำไรเหลือเฟือพอที่จะจุนเจือบริษัทอื่นได้นั้น
จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทุกคนไม่มีสิทธิปฏิเสธเมื่อเธอจัดการโยกย้ายคนของปรีชาคุมด้านนี้ออกไปแล้วนำของตนจากสยามยามาฮ่ามาสวมแทน
ประพัฒน์ เกตุมงคล ผจก. ฝ่ายการตลาดคนปัจจุบันคือคำตอบดีที่สุดในเรื่องนี้
หรืออย่างครั้งที่เธอมอบหมายงานขายรถยนต์นิสสันเขต กทม. ให้กับพรเทพ ซึ่งเป็นน้องชายท้องเดียวกันแทนพรพินิจน้องชายต่างมารดา
ครั้งนั้นปรากฏว่าพรเทพที่ไม่ค่อยลงรอยกับพรพินิจอยู่แล้วสั่งปิดโชว์รูม
3-4 แห่งที่พรพินิจเปิดไว้อย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย สร้างความชอกช้ำแก่พรพินิจเป็นอย่างมาก
พรพินิจ-พรเทพ กับการยอมรับของคนส่วนใหญ่แล้วพรพินิจทิ้งห่างไปหนึ่งช่วงตัว??
สิ่งที่พรเทพกล้ากระทำใครเล่าจะเถียงได้ว่า เขาจะไม่ได้รับ "ไฟเขียว"
จากพี่สาว!!
สยามกลการยุคหลังที่ถาวรคิดจะรามือแล้วนั้นไม่ผิดเลยที่จะระบุว่า ได้ตกอยู่ภายใต้อาณัติคำสั่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคุณหญิงพรทิพย์
ณรงค์เดช ที่ได้สามีมันสมองเฉียบลึกอย่างเกษม ณรงค์เดช กระทั่งมีเสียงกล่าวขานมากว่า
ไม่เพียงทุกคนต้อง "ฟัง" ตัวถาวรเอง ก็ใช่ว่าจะ "สั่ง"
ลูกสาวคนนี้ได้เสียทุกเรื่องไม่???
ย่างก้าวแรกของนุกูลสู่สยามกลการจึงสุดวิสัยที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะปะทั่งกับคุณหญิงพรทิพย์
"ผู้หญิงที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง" ขวากหนามสำคัญที่ต้องเผชิญท้าทายนุกูลมากกว่าจะสามารถจัดระเบียบเส้นสายต่าง
ๆ มิให้เกิดการลักหลั่นมากไปกว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่
ยกที่หนึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยความน่ากลัวที่เปราะบาง!!
นุกูลในช่วง "หัวเลี้ยวหัวต่อ" ของสยามกลการจริงอยู่ "เขามาคนเดียว"
แต่เมื่อรู้ถึงความหละหลวมของสายงานต่าง ๆ แนวทางแรกที่เขานำมาใช้ปฏิสังขรณ์ก็คือ
"การปรับปรุงและพัฒนาด้านบุคลากร" ด้วยการดึงมืออาชีพจากที่ต่าง
ๆ เข้ามาเสริมอย่างคับคั่งอาทิเช่น
วิรัช ไพรัชพิบูลย์ ผจก. ฝ่ายสินเชื่อธนาคารเชสแมนฮัตตัน มาเป็นรองผู้จัดการใหญ่ด้านการเงิน
ปราโมทย์ อิทธิกุล จาก ธกส. เข้าคุมด้านบุคคล สมศักดิ์ ฮันทานุศาสตร์ จาก
บงล. เอ. จี. ซี. คุมด้านสินเชื่อ ธวัชชัย เพ่งศรี คุมด้านรถเก่า ธีรยุทธ
กิตติภัทรกุลจาก เอ. ไอ. เอ. ดูแลด้านบัญชีและการเงิน
นับเป็นปฏิบัติการที่พยายามแยกสลายสายอำนาจที่เคยมีอย่างแยบยล!!
และถ้าสังเกตอย่างลึกซึ้งจะเห็นว่าจุดที่เน้นเป็นพิเศษคือด้านบัญชีและการเงินที่เป็นรูรั่วให้มีการผ่องถ่ายหนี้สินอย่างไม่ชอบมาพากลอยู่มากมาย
อะไรไม่ว่าด้านการเงินนี้อยู่ในข่ายควบคุมของคุณหญิงพรทิพย์เสียด้วย
นี่จึงเป็นเสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดเวลาโดยแท้!!
"คุณหญิงเองก็รู้เลา ๆ ว่า ระบบบริหารใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่พยายามจะลดอำนาจของ
"พรประภา" ลง ดังนั้นส่วนหนึ่งคุรหญิงเองก็ต้องสร้างแนวปะทะไว้เหมือนกัน"
แหล่งข่าวในสยามกลการคุยกับ "ผู้จัดการ"
การหักล้างโครงสร้างเดิมของนุกูลดำเนินอย่างต่อเนื่องกันตลอดเวลา ซึ่งมองโดยส่วนรวมแล้วมีผลดีที่ช่วยทำให้ภาพพจน์และสถานะของสยามกลการดีขึ้นไม่น้อยหากแต่ว่าในส่วนของ
"พรประภา" เองนั้นเชื่อแน่ว่าบางคน "เจ็บร้าวระบมลึก"
เสียเหลือเกิน
เกมชนแหลกของนุกูลที่ทำให้ "พรประภา" บางคนเสียหน้ามากก็คือ
การโอนส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายดนตรีสยามกลการ และโรงเรียนดนตรีสยามกลการที่คุณหญิงพรทิพย์คุมอยู่ให้มาขึ้นตรงกับประธานกรรมการทั้งนี้โดยอาศัยมติของคณะกรรมการบริษัท
ซึ่งนุกูลนอกจากจะได้เสียงของ ดร. วิชิตแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากปรีชาอีกด้วย
เกมนี้จึงจบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างง่ายดายของคุณหญิง
ในภาวะอย่างนั้นว่าไปแล้วคุณหญิงพรทิพย์ต้องเปิด "สงครามเย็น"
ถึงสองด้านพร้อม ๆ กัน คือ นอกจากต้องสร้างแนวป้องกันการรุกคืบอย่างน่าเกรงกลัวของระบบมืออาชีพ
ที่นำโดยนุกูลแล้ว อีกด้านยังต้องระวังระไวการตีหัวเข้าบ้านของฝ่ายอา-ปรีชา
พรประภา อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่คุณหญิงพยายามผลักดันให้ประพัฒน์ เกตุมงคลคนของตัวเองเข้าไปนังในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดแทนจิตเกษม
จีรแพทย์ที่ลาออก ถึงกับมีเสียงเปรย ๆ จากคุณหญิงออกมาว่า "ตำแหน่งฝ่ายการตลาดนี้ยังไงก็ต้องสู้จนถึงที่สุดจะไม่ให้คนนอกเข้ามา"
เพียงหนึ่งปีที่ผ่านไปของนุกูลไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า ปฏิบัติการลูบหน้าปะจมูกบางอย่างของเขานั้นสร้างความขุ่นเคืองใจอย่างเงียบเชียบแก่คุณหญิงพรทิพย์ไม่น้อยเลย!!
ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของนักบริหารมืออาชีพอย่างนุกูลกับจิตสำนึกความเป็นเจ้าของธุรกิจที่คาดว่าตัวเองคงเป็น
"ตัวแทน" แน่นอนในอนาคตของคุณหญิงพรทิพย์ น่าจะเป็นเรื่องของความคิดที่นุกูลอยากจะนำสยามกลการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
จุดนี้ล่ะที่เป็นจุดแตกหักกันจริง ๆ!!
ที่จริงแนวคิดนำสยามกลการเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น ถาวรและคุณหญิงพรทิพย์เสียอีกที่พูดเป็นข่าวให้ดีใจอยู่เนือง
ๆ ว่า "ดีที่สุดที่คิดทำ" แต่ถ้าจับความกันสักนิดจะพบว่า ทั้งคู่มิวายที่จะ
"ออกตัว" เป็นเชิงหลบเลี่ยงที่มีรูปมวยสวยไม่น้อยว่า "แต่ยังเห็นว่าเป็นเรื่องไม่รีบร้อน"
ก็คงไม่รีบร้อนจริง ๆ นั้นแหละ เพราะแนวคิดนี้ไม่เคยได้รับการปฏิบัติให้เป็นจริงสักที!!
"ขี้เกียจจะเชื่อแล้วเป็นเรื่องเพ้อฝันหรือฟังเพลงไร้สาระเสียมากกว่า
เพราะถึงที่สุดแล้วคิดว่าเขาคงไม่อยากเสียความเป็น "พรประภา" ที่ปั้นสยามกลการมากับมือให้ใครหรอก
จิตสำนึกของความเป็นเจ้าของมีหรือจะยอมใจกว้างอย่างง่าย ๆ" แหล่งข่าวท่านหนึ่งสรุป
แต่เรื่องนี้กับนุกูลมิใช่เรื่องของเด็กเลี้ยงแกะที่จะพูดดำเป็นขาวไปวัน
ๆ นุกูลพยายามอย่างมากที่จะผลักดันให้แนวคิดนี้เป็นจริงเป็นจัง และดูเหมือนวาเขาจะได้รับการสนองรับเป็นอย่างดีจาก
2 ฝ่ายคือหนึ่ง-นิสสันมอเตอร์ ญี่ปุ่น สอง-ฝ่ายปรีชา พรประภา
นิสสันมอเตอร์นั้นย่อมเห็นดีเห็นงามในเรื่องนี้เป็นแน่แท้ เพราะครั้งแล้วครั้งเล่าที่พยายามจะขอเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของสยามกลการทว่าไม่อาจฝ่าแนวป้องกันที่เข้มแข็งของถาวรเข้ามาได้
ที่นิสสันฯ คิดเข้ามานอกจากจะเป็นนโยบายสร้างอาณานิคมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแล้วนั้น
นิสสันฯ เองก็คิดว่าการขยายตัวร่วมลงทุนอีกมากมายหลายโครงการระหว่างนิสสันฯ-สยามกลการ
โดยเฉพาะตาม "แผนโลก" (GLOBAL PLAN) นั้นน่าที่ฝ่ายตนควรได้มีโอกาสรับรู้และร่วมปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบ
โอกาสเดียวที่จะเป็นอย่างนั้นได้ก็คือต้องให้สยามกลการเข้าตลาดหลักทรัพย์
แล้วใช้กลไกของตลาดหลักทรัพย์เป็นเงื่อนไขเชิงรุก!!
สำหรับฝ่ายปรีชา พรประภา ที่วิเคราะห์กันว่าคงเห็นพ้องด้วยมติความคิดนี้เป็นไปได้สองกรณีคือ
หนึ่ง-หากมองลึกลงไปยัง "ฐาน" และ "หุ้นถือครอง" ในสยามกลการนั้นว่าไปแล้วเขาแทบจะไม่มีบำเหน็จความดีงามอะไรหลงเหลืออยู่อีกแล้ว
เส้นสายที่เคยแผ่บารมีก็ถูกฝ่ายคุณหญิงพรทิพย์ลิดรอนอำนาจไปเสียหมด ส่วนจำนวนหุ้นที่เหลือแค่
0.25% ก็จิ๊บจ๊อยสิ้นดีที่คงไม่สามารถช่วยให้เขาแข็งแกร่งขึ้นมาได้เลยหากคิดจะสู้รบปรบมือกับฝ่ายหลานอีกสักยก
สถานภาพอย่างนี้สมมติว่าปรีชาขายหุ้นส่วนนี้ทิ้งไปแล้วเริ่มต้นลุยธุรกิจของตัวเองอย่างจริงจัง
เชื่อว่าถึงแม้จะมีขนาดเล็กกว่าสยามกลการทว่าเขาดูยังจะมีอนาคตที่สดใสมากกว่า
เพราะคนอย่างปรีชาเองก็มีความสามารถอยู่ท่วมท้น เป็นวิศวกรที่มีความรอบคอบในการทำงานสูงคนหนึ่ง
แล้วรอให้ถึงวันนั้นที่คิดจะกลับมาสู่สยามกลการอีกหน เขายังจะมีโอกาสสูงกว่าที่จะสู้รบอย่างที่ตกเป็นเบี้ยตัวรองในภาวะปัจจุบัน??
สอง-การเข้าตลาดหลักทรัพย์อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยระดมทุนสร้างฐานกำลังขึ้นมาใหม่
ประเด็นนี้ถึงจะมีความเป็นไปได้น้อยมากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย แต่ยังเชื่อว่า
คนที่เจนจัดกระบวนยุทธ์อย่างคุณหญิงพรทิพย์-เกษม ที่กำลังรุกไล่อย่างหนักคงไม่ประมาทเลินเล่อ
และเมื่อหันกลับมาดูฐานะที่แท้จริงของฝ่ายคุณหญิงพรทิพย์ที่ปัจจุบันนี้คือ
คนที่กุมสยามกลการไว้ได้แล้วในกำมือ จึงเป็นบทสรุปง่าย ๆ ได้เลยว่า ถึงยังไง
ๆ ในความรู้สึกส่วนลึกของคุณหญิงพรทิพย์แล้ว ย่อมปฏิเสธหนทางที่สยามกลการจะเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างหัวชนฝาแน่นอน!!
ตัวถาวรที่รักลูกยิ่งกว่าไข่ในกินคงมีความคิดที่ไม่ผิดเพี้ยนไปจากนี้มากมายนัก!!
จากชนวนเรื่องปรับโครงสร้างการบริหารสู่แนวคิดตลาดหลักทรัพย์ นับวันมีแต่จะเพิ่มดีกรีความขัดแย้งของนุกูล-พรทิพย์
ให้รุนแรงมากขึ้น ๆ บุคลิกการทำงานที่เป็นเสมือนเส้นขนานขณะที่ฝ่ายหนึ่งมุ่งให้อยู่ในระบบสมัยใหม่แต่อีกฝ่ายชินชากับลักษณะเช้ายืดเย็นยืด
กอปรกับสถานการณ์ของบริษัทที่เริ่มดีขึ้นตามลำดับ
ที่สุดก็กลายเป็นความเจ็บปวดของนักบริหารมืออาชีพ!!!
ความขัดแย้งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมด้วยการลาออกของนุกูล คงเป็นคำตอบอีกครั้งหนึ่งของนักบริหารมืออาชีพทั้งหลายว่า
"คงเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจกับแบบแผนการทำงานในระบบธุรกิจครอบครัวที่พยายามวิ่งวนอยู่ในกะลาครอบ"
สยามกลการได้ย้อนกลับไปสู่วังวนเดิมของความเป็นธุรกิจระบบครอบครัวอีกหน
เพียงแต่ว่าคราวนี้ย้ายศูนย์อำนาจมาสู่มือของคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้หญิงที่พูดเป็นไฟแต่ต้องตั้งใจจับต้นชนปลายให้ถูกคนนั้นอย่างครบเครื่องสมบูรณ์แบบ
สยามกลการเคลื่อนเข้าสู่ยุคที่ 2 แล้วในวันนี้ ซึ่งบางทีอาจค้นหาคำตอบให้กับตัวเองก็ได้ว่า
ระบบครอบครัวนี่ล่ะที่จะทำให้อยู่ยั้งยืนยง จะเป็นจริงแค่ไหนก็ต้องคอยดูกันต่อไป
รู้แต่เพียงว่าถ้าต้องพลาดอีกคราวนี้เห็นทีจะไม่มีโอกาสได้แก้ตัวอีกแล้วกระมัง!??
ว่าไปแล้วการลาออกจากสยามกลการของนุกูลกับประเด็นที่มองกันเป็นเรื่องความขัดแย้งส่วนตัว
(PERSONAL CONFLICT) ของเขากับคุณหญิงพรทิพย์ ออกจะเป็นเรื่องที่ขาดน้ำหนักน่าเชื่อถืออยู่มาก
เพราะคนที่ผ่านบทเรียนมานับครั้งไม่ถ้วนอย่างนุกูลแล้วนั้น
คิดอย่างไรก็ยังมองไม่เห็นว่า เขาจะมาถอดใจยกธงขาวกับเรื่องขี้ประติ๋วพรรค์นั้น!!
และเมื่อพิจารณาจากวัยวุฒิ คุณวุฒิ ฐานะหน้าที่การงานแล้วผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลอย่างเขาอยู่ในฐานะที่จะเป็นฝ่ายให้อภัยได้ไม่ยากเย็น
และอาจยิ่งง่ายขึ้นถ้าจะมองว่าการกระทำบางอย่างที่ได้รับการโต้ตอบนั้นเกิดขึ้นจากธรรมชาติของความเป็นลูกผู้หญิงที่ได้รับการฟูมฟักเอาใจมาโดยตลอด
เมื่อมันมีบ้างของความดื้อรั้นก็ต้องปล่อยให้เหตุการณ์และปัญหาเป็น "ครู"
ชี้แนะ!!
ดังนั้นปัญหาน่าจะเป็นในการลาออกครั้งนี้ "ผู้จัดการ" อยากจะมองว่า
"น่าที่จะมีเบื้องลึกความสับสน" เพราะแม้แต่แบงก์กรุงเทพที่ควรมีทีท่ากับเรื่องนี้อยู่บ้างก็วางตัวเฉย
ๆ จนดูคล้ายกับว่ายอมปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่ยับยั้ง ใครจะมาใครจะไปก็ช่างขอเพียงมีเงินผ่อนชำระหนี้ไม่เบี้ยวก็แล้วกัน
"เขาสู้กันมายกหนึ่งเหมือนกัน แต่ตอนหลังแบงก์เองเห็นว่าคนในตระกูลพรประภาพอที่จะดูแลตัวเองได้แล้วเลยไม่สนใจเรื่องที่เกิดขึ้นมากนัก
อีกอย่างเขายังมี ดร. วิชิตนั่งเป็นกรรมการอยู่เรื่องที่จะมาตบตาคงเป็นไปได้ยาก"
แหล่งข่าวในแบงก์กรุงเทพกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แล้วนุกูลพ้นไปได้อย่างไร!?
จริงเท็จในประเด็นนี้เพียงไร "ผู้จัดการ" ไม่อาจชี้ชัดเพียงแต่ท่านผู้อ่านคิดดูเอาเองก็แล้วกัน
ถ้ามีเหตุผลเพียงพอก็อาจเชื่อได้ว่า "นุกูลจากสยามกลการด้วยเหตุผลนี้"
เหตุผลที่กำลังจะบอกท่านอีกปมหนึ่งของเรื่อง
สยามกลการถึงจะเป็นบริษัทของคนไทยก็จริงอยู่ ทว่าความอยู่รอดทุกยุคทุกสมัยของบริษัทนี้ล้วนต้องพึ่งพาญี่ปุ่นเป็นสำคัญเรียกได้ว่าสินค้าของสยามกลการทุกประเภทต้องสั่งซื้อเป็นเงินเยนทั้งนั้น
ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ 2529 เป็นที่ทราบกันดีว่าสยามกลการมีภาระหนี้สินในขณะนั้นเกือบ
4,000 ล้านบาท
เมื่อค่าเงินเยนเทียบกับเงินบาทหลังจากปี 2526 แข็งขึ้นกว่า 40% เป็นเหตุให้บรรดาผู้นำเข้าสินค้าญี่ปุ่นต่างพากันกระอักเลือดเป็นแถวโดยเฉพาะรายใหญ่อย่างสยามกลการ
ภาระหนี้สินของทุกบริษัทในเครือจากวันนั้นถึงวันนี้มูลค่าเพิ่มขึ้นไปเท่าตัวหรือเกือบหมื่นล้านบาท
และดูสภาพการณ์ในอนาคตที่ค่าเงินเยนยังเป็นผู้พิพากษาที่เด็ดขาด สยามกลการแม้จะมีกำไรต่อปีขึ้นมาบ้าง
ทว่าก็ยังไม่สามารถถอนพิษที่คั่งค้างออกมาได้หมด
นั่นจึงเป็นข้อขบคิดอย่างมากของคนในตระกูล "พรประภา" ว่า มีทางเลี่ยงได้ไหมที่จะยกย้ายถ่ายหนี้ของบริษัทในเครือ
(SUBSIDIARY) ทั้งหมดที่มีอยู่ขนมากองไว้รวมในที่แห่งเดียวคือบริษัทสยามกลการที่เป็นบริษัทแม่
การผ่องถ่ายด้วยวิธีนี้เกิดขึ้นได้ไม่ยากนักในภาวะที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังมีช่องโหว่ให้ทะลุทะลวง!!
และเป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะห้ามปรามที่คิดจะเล่นสำหรับคนในตระกูล "พรประภา"
โดยเฉพาะถาวร-พรทิพย์-เกษม ที่ล้วนมองเห็นการอยู่รอดของ "พรประภา"
โดยไม่ต้องแล่เนื้อเถือหนังตัวเองด้วยการใช้นิ้วไหนร้ายตัดนิ้วนั้นทิ้งดังข้างต้นอย่างทะลุปรุโปร่ง
ทุกคนเห็นชอบที่จะทิ้งไพ่ใบสุดท้ายด้วยวิธีนี้!!
แต่มีคนหนึ่งที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ คน ๆ นั้นก็คือนุกูล ประจวบเหมาะ
อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่ถูกเชิญเข้ามาเป็นประธานกรรมการบริษัท จะให้นุกูลยินยอมได้อย่างไรในเมื่อครั้งหนึ่งตนเองเคยเป็นผู้ถือกฎและใช้กฎปราบปรามความไม่ถูกต้องอย่างนี้มาแล้ว
ดังนั้นหากครั้งนี้ถึงแม้ว่าหน้าที่ในตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทจะเป็นเครื่องค้ำคอ
ทว่าถ้าเขาทรยศในหลักการ ยินดีที่จะเห็นวิธีนี้ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสยามกลการ
ก็ย่อมเป็นเรื่องที่เสื่อมเสียถึงเกียรติภูมิ
แล้วคิดหรือว่าคนตงฉินอย่างนุกูลจะนอนตาหลับได้อย่างไรถ้าต้องกระทำการอย่างนี้ลงไป??
นุกูลคุยกับคนในตระกูล "พรประภา" ถึงเรื่องนี้จะไม่ว่าด้วยความแข็งหรืออ่อนในท่าทีอย่างไรก็คุยกันไม่รู้เรื่อง
เขายืนกรานอย่างเดียวว่า "ยอมไม่ได้"
น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟฉันใด บทสรุปของนุกูลกับสยามกลการก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน!!
และนี่เป็นสปิริตที่นุกูลไม่เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับไหนทั้งสิ้น
เขารักษาความเป็นนักบริหารมืออาชีพที่ยังคงให้ความเคารพต่อสถาบันและองค์กรที่เคยอยู่มาอย่างเหนียวแน่น
แต่เป็นเรื่องบังเอิญจริง ๆ ที่ "ผู้จัดการ" ระแคะระคายเรื่องนี้มาและนำมาเล่าสู่กันฟัง
ณ ที่นี้
อีกครั้งนะถ้าความไม่ชอบมาพากลเช่นนี้จะมีเหตุผลและน้ำหนักให้ทุกท่านเชื่อ
มันก็เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ให้เชื่อไม่ได้ใช่ไหม!!??
เมื่อจอมทระนง-นุกูล ประจวบเหมาะลาออกไป ปัญหาที่วงการธุรกิจจับตาดูต่อไปคือ
ชะตากรรมของสยามกลการจะเป็นเช่นไร?
เป็นที่เชื่อกันทุกฝ่ายในแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับสยามกลการว่า สยามกลการหลังยุคไม่มีนุกูล
โครงสร้างอำนาจในบริษัทได้เอียงกระเท่เร่มาที่ พรทิพย์ ณรงค์เดชเกือบหมด
พุดง่าย ๆ เธอคือผู้กุมอำนาจบริหารสูงสุดในบริษัท แม้ดูตามสายอำนาจ ตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสของเธอ
ตามหลักการแล้ว จะขึ้นต่อปรีชา พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้เป็นอาก็ตามที
แต่ก็เป็นที่รู้กันเหมือนกับที่ ถาวร พรประภา ผู้เป็นพ่อได้กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อ
1 เมษายน ที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้ว่า "คุณหญิงพรทิพย์ คุมด้านปฏิบัติการทั้งหมด
ในฐานะ "ประธานปฏิบัติการ" (CEO) ส่วนคุณปรีชา พรประภา คุมด้านนโยบายเท่านั้น
(CEO)" ซึ่งแสดงว่าในทางปฏิบัติ พรทิพย์ ณรงค์เดชคุมงานบริหารทั้งหมดในบริษัท
คีย์แมนในสายปฏิบัติการ (OPERATION LINE) ทั้งหมด (ดูผังประกอบ) ขึ้นตรงต่อเธอและโอกาสที่คีย์แมนเหล่านี้จะโน้มเอียงไปเข้ากับปรีชา
พรประภา เป็นได้ยากมากเพราะสถานภาพอำนาจของปรีชาเวลานี้ไม่มีอะไรเหลือ และมองในแง่พลังความเป็นเจ้าของในฐานะผู้ถือหุ้นส่วนก็ไม่เท่าไร
ตามข้อมูลผู้ถือหุ้นในสยามกลการล่าสุดเมื่อ 28 เมษายน 2530 ระบุว่า ปรีชาถือหุ้นเพียง
0.25% ของทั้งหมดเท่านั้น (ดูตารางประกอบ) ตรงนี้สอดคล้องกับความเห็นของสังวร
สุทธิสานนท์ อดีตกรรมการบริหารสยามกลการและเป็นผู้ใกล้ชิดถาวรมากที่สุดคนหนึ่งที่เปิดเผยกับ
"ผู้จัดการ" ว่า
"ปรีชาไม่มีไพ่ในมือแล้วจะเอาอะไรไปต่อกรกับคุณหญิงพรทิพย์ หุ้นก็ไม่ใช่หุ้นส่วนใหญ่
จะมีเหลือก็แต่เพียงความเคารพกันเท่านั้น นอกนั้นก็ไม่มีอะไรแล้ว" ยิ่งเมื่อพิจารณาดูที่มาของตัวคีย์แมนแต่ละคนในปัจจุบัน
ก็ยิ่งสงสัยเข้าไปอีก!! เริ่มตั้งแต่…
ประพัฒน์ เกตุมงคล รองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด คนคนนี้ก่อนหน้ามาอยู่สยามกลการในสมัยนุกูล
เป็นมือขายผลิตภัณฑ์ยามาฮ่าให้พรทิพย์ที่สยามยามาฮ่า
การประชุมคณะผู้ถือหุ้นครั้งที่ 14 วันที่ 25 พ.ค. 2522 พรทิพย์ในฐานะกรรมการและกรรมการรองกรรมการผู้จัดการสยามยามาฮ่าได้เสนอต่อที่ประชุมให้แต่งตั้งประพัฒน์
เกตุมงคล เข้าเป็นกรรมการบริษัทด้วยอีกคนหนึ่ง
พรทิพย์ สนับสนุนและผูกพันมีบุญคุณต่อประพัฒน์มาตั้งแต่ต้นแล้ว และตอนที่ถูกโยกมาอยู่ที่สยามกลการในสมัยนุกูลก็พรทิพย์นี่แหละเป็นคนโยกมาให้นุกูลรับลงในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาดสยามกลการ
เท่ากับพรทิพย์ ใช้ประพัฒน์เป็นตัวกันพรพินิจ พรประภา น้องชายต่างมารดาที่ไม่กินเส้นกับตัวเองมาก่อนไปในตัวด้วย
พรเทพ พรประภา รองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายอะไหล่ เป็นตำแหน่งที่พรทิพย์โปรโมทขึ้นมาใหม่
พรเทพ เป็นน้องชายแท้ ๆ ของพรทิพย์ ในสมัยนุกูล พรเทพกินตำแหน่งผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายตลาดกรุงเทพฯ
ขณะที่พรพินิจ ดูแลตลาดต่างจังหวัด
การที่พรทิพย์โปรโมทพรเทพในตำแหน่งที่สูงขึ้นเท่ากับตอกย้ำความผูกพันและบุญคุณต่อน้องชายมากขึ้น
และเท่ากับช่วงชิงพื้นที่ไว้ให้อยู่ในอาณัติของตนก่อนปรีชา ด้วย วิรัช ไพรัชพิบูลย์
เป็นรองผู้จัดการใหญ่คุมการเงิน เป็นเพื่อนเกษม ณรงค์เดช สามีพรทิพย์ ก่อนหน้ามาอยู่สยามกลการวิรัชเป็นมือโปรด้านสินเชื่อสถาบันของ
CHASE BANK กรุงเทพฯ
ในสมัยนุกูล เกษมเป็นคนแนะนำวิรัชให้พรทิพย์ เพื่อดึงมาอยู่สยามกลการไว้
DEAL กับพวกแบงเกอร์ เพราะเกษมรู้ดีว่า นุกูลเป็นคนแข็ง การที่จะหวังให้นุกูลซึ่งเคยเป็นผู้จัดการแบงก์ชาติมาก่อน
มานั่ง DEAL กับแบงก์ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งข้อวิเคราะห์ของเกษมต่อนุกูลในตรงนี้สอดคล้องกับคำพูดของนุกูลที่เคยกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ช่วงที่เข้าไปบริหารสยามกลการใหม่ ๆ ว่า "ผมเข้าไปบริหารงานภายในกับติดต่อต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
ส่วนงานติดต่อกับแบงเกอร์ คุณวิรัชเป็นคนดำเนินการ"
ดังนั้น การที่นุกูล ลาออกไปจากสยามกลการ ถ้ามองในแง่ของความถูกต้องในการบริหารที่นุกูลพยายามจัดระบบและปรับปรุงการบริหารหนี้สินในสยามกลการเสียใหม่
วิรัชอาจจะรู้สึก TAKE SIDE นุกูลอยู่มาก แต่ความเป็นมืออาชีพอย่างวิรัชการไม่นำตัวเองเข้าไป
TAKE SIDE ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในความขัดแย้งระหว่างนุกูลกับพวก เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง
ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่วิรัชยึดถืออยู่
ฉะนั้น จากกรณีความขัดแย้งนี้ นุกูลเป็นฝ่ายลาออกไป วิรัชจึงเป็นคนของพรทิพย์โดยปริยาย
ลักษณะเช่นนี้ ก็เหมือนกับ กวี วสุวัต ที่คุมฝ่ายอุตสาหกรรมของสยามกลการนั่นแหละ
กวี เป็นลูกหม้อของพวกพรประภามาเป็นเวลานานแล้วกว่า 20 ปี ขณะเดียวกันก็รู้จักเป็นเพื่อนของนุกูลด้วย
เพราะเป็นนักเรียนจบจากออสเตรเลียด้วยกัน
กวี เป็น ENGINEER เหมือนปรีชาลุยงานบุกเบิกสร้างสยามกลการมาด้วยกัน ตั้งแต่พรทิพย์ยังเป็นเด็ก
ในสมัยช่วงอุษา พรประภา ภรรยาคู่ขวัญของถาวรยังไม่สิ้น กวีเป็นคีย์แมนคนหนึ่งร่วมกับ
ปรีชา ถาวร และอุษา หรือที่เรียกกันว่า 4 เสือแห่งสยามกลการ ที่น่าเกรงขามในธุรกิจรถยนต์เมืองไทยสมัยนั้น
ความขัดแย้งภายในครอบครัวระหว่างปรีชากับพรทิพย์ในช่วงหลังอุษาสิ้นไป กวีรับรู้มาตลอดและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
แหล่งข่าวเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า กวีเป็นคนไม่สนใจว่าใครจะไปใครจะมา
พูดง่าย ๆ กวีเข้าได้กับทั้ง 2
ดังนั้น พรทิพย์จึงไม่แคร์นักกับกวี ขณะเดียวกันก็รู้ว่าโครงสร้างอำนาจ
ปัจจุบันถาวร TAKE SIDE พรทิพย์เต็มตัวเพื่อความอยู่รอด กวีต้องยอมขึ้นต่อพรทิพย์อย่างช่วยไม่ได้
เออร์วิน มูลเล่อร์ รองผู้จัดการใหญ่คุมงานด้านบริหารแทนปริญญา พรประภา
ที่ถูกเตะโด่งไปคุมงานกิจกรรมพิเศษ มูลเล่อร์เป็นคนของพรทิพย์เต็มตัว อดีตเคยอยู่กับบริษัทยางสยาม
เป็นเพื่อนสนิทกับเกษมสามีพรทิพย์ เพราะทั้งคู่เป็นกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมาด้วยกัน
เกษมเป็นคนดึงมูลเล่อร์มากินตำแหน่งผู้ช่วยกวีในสายอุตสาหกรรมช่วงนุกูลยังอยู่สยามกลการ
เมื่อนุกูลออกไป ก็ถูกโปรโมทขึ้นมากินตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่คุมงานบริหาร
ที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของสายงานด้าน SUPPORTING LINE
"ต่อไปนี้งานโยกย้าย แต่งตั้ง สต๊าฟระดับผู้จัดการฝ่ายลงมา อยู่ในมือของพรทิพย์หมด
โดยให้มูลเล่อร์เป็นตัวแทนทำหน้าที่นี้และถ้าหากตำแหน่งที่สูงกว่าผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปที่จะต้องเข้า
BOARD ROOM ก็ไม่ยากเพราะกรรมการบริหาร 3 ใน 5 เทข้างให้พรทิพย์อยู่แล้ว"
แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญความเป็นไปในสยามกลการวิเคราะห์ให้ฟัง
คณะกรรมการบริหารสยามกลการปัจจุบันมีอยู่ 5 คน ประกอบด้วย นุกูล พรทิพย์
กวี ดร. วิชิต (จากแบงก์กรุงเทพ) และปรีชา เมื่อนุกูลลาออกไปตำแหน่งนี้ว่าง
ถาวรต้องแต่งตั้งเข้ามาใหม่ ซึ่งก็คงเป็นคนของพรทิพย์ที่กินตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่คนใดคนหนึ่งแน่นอน
การที่พรทิพย์สามารถผลักดันให้โครงสร้างอำนาจใหม่ในสยามกลการหลังไม่มีนุกูลออกมาได้ในลักษณะมีคนของตัวคุมอยู่ในสายงานสำคัญทุกจุดเช่นนี้
นับว่าเป็นชัยชนะเบื้องแรกสุด เพราะเท่ากับว่า ได้จัดความเรียบร้อยภายในสยามกลการเสร็จสิ้นแล้ว
ความสำเร็จของพรทิพย์ครั้งนี้ แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดยืนยันกับ "ผู้จัดการ"
ว่าต้องให้เครดิตกับเกษม ณรงค์เดช ผู้สามี! เพราะเกษมเป็น เสธ. ให้พรทิพย์เดินเล่นเกมอำนาจตลอด
"เขาเป็นคนที่พ่อตา-ถาวร พรประภาให้ความเชื่อถือในฝีมือเอามาก ๆ"
แหล่งข่าวเน้น (อ่านเพิ่มเติมเกษม-พรทิพย์ ในล้อมกรอบ)
ช่วงปี 2526-29 เป็นช่วงที่บริษัทสยามกลการประสบปัญหาค่าเงินเยนทำพิษเอามาก
ๆ เพราะสินค้าที่นำจากญี่ปุ่นก่อนหน้านี้อยู่ในรูปเงินเยนทั้งสิ้น เมื่อค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท
และเมื่อ TERM OF PAYMENT ของ L/C ครบกำหนดต้องจ่ายคืนเป็นเงินสกุลเยนก็เลยขาดทุนประกอบกับช่วงนั้น
มือบริหารการเงินของสยามกลการคือตัวพรทิพย์เอง ไม่สันทัดเรื่องนี้ จึงไม่รู้จักหามาตรการปกป้องความเสี่ยงไว้
(ดูตารางค่าเงินบาทประกอบ)
อีกประการหนึ่ง ทางญี่ปุ่นเริ่มหันมาใช้นโยบายเร่งรัดเทอมของ L/C ให้สั้นลงกว่าเมื่อสมัยก่อนมาก
"จาก 9 เดือนเหลือเพียง 4 เดือนเท่านั้น" จงจิตน์ จันทรมงคล ผู้เคยเข้าไปแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ด้านหนี้สินแก่สยามกลการเมื่อปี
2505 เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง…ประกอบกับช่วงปีดังกล่าว ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอำนาจซื้อรถยนต์ก็ตกลงมาก
ขณะที่ทางบริษัทสยามกลการเองก็เร่งรัดสินเชื่อจากฝ่ายขายเร็วขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง
ว่ากันว่าช่วงนี้แหละที่ความขัดแย้งระหว่างอา-ปรีชา ซึ่งคุมงานฝ่ายขายด้วยกับหลาน-พรทิพย์
ซึ่งคุมการเงิน รุนแรงขึ้น เพราะฝ่ายหนึ่งก็ต้องการขายให้มาก ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องการเก็บเงินให้เร็วที่สุด
มันก็เลยกลายเป็นปัญหาที่ถาวรตัดสินใจสงบศึกความขัดแย้งได้ยากที่สุดเพราะทั้ง
2 คนเป็นน้องชายกับลูกสาวตนเอง และก็ปรารถนาดีต่อบริษัททั้งสิ้น!
เมื่อมันยากต่อการตัดสินใจ ถาวรก็เลยไม่ตัดสินใจปล่อยให้สถานการณ์ความขัดแย้งมันคลี่คลายไปเอง
"ผมเข้าใจว่าคุณถาวรแกเอาหลักของซุ่นวู่ที่แกชอบมาก ๆ มาใช้" แหล่งข่าวเล่าถึงการตัดสินใจของถาวรในช่วงนั้นให้ฟัง
แม้ผลจากการรวบอำนาจในบริษัทสยามกลการของพรทิพย์จะเป็นปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า
ในท้ายสุดแล้ว ถาวรก็เลือก TAKE SIDE ลูกสาวมากกว่าน้องชาย มีบางคนตั้งข้อสังเกตในเชิงจิตวิทยาไว้ว่า
อาจเป็นเพราะพรทิพย์มีบุคลิกภาพที่เกิดจากส่วนผสมระหว่างถาวรกับอุษา คือรอบคอบด้านการเงินเหมือนอุษา
และชอบออกงานสังคมเหมือนถาวร
แต่อนาคตการปรับปรุงฐานะทางการเงิน โดยเฉพาะหนี้สินของสยามกลการในมือของพรทิพย์
และเกษมผู้สามีที่อยู่เบื้องหลังภรรยาในสยามกลการมาตลอด ก็ต้องประสบอุปสรรคที่มาจากปัจจัยต่าง
ๆ หลายประการด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง-หนี้สินของบริษัทในสยามกลการและในเครือ
(SUBSIDIARY) จะเดินเกมแก้ปัญหาออกมาในรูปใด สอง-การเจรจาในรายละเอียดโครงการลงทุนใหม่
ๆ ที่เตรียมกันไว้เรียบร้อยแล้ว สมัยนุกูลกับญี่ปุ่น จะเดินหน้าไปได้แค่ไหน?
หรือจะถอยหลังลงคลองด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า "เป็นเพราะพรทิพย์เป็นผู้หญิง
ที่ญี่ปุ่นไม่ปรารถนาจะ DEAL โครงการลงทุนนับพันล้านบาทด้วย" และสาม-ทางชาตรี
โสภณพนิชเจ้าหนี้สยามกลการรายใหญ่สุดจากแบงก์กรุงเทพ จะยอมรับบทบาทการเป็นผู้นำสยามกลการของพรทิพย์มากน้อยแค่ไหน?
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ถาวรไม่ได้มามีบทบาทต่อไป
อนาคตของสยามกลการในมือพรทิพย์ช่างสนุกจริง ๆ เหมือนกับคำพูดของแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดที่ตอบคำถามของ
"ผู้จัดการ" ว่า อนาคตของสยามกลการหลังยุคไม่มีนุกูลจะเป็นเช่นไร?
ซึ่งแหล่งข่าวได้ตอบว่า "สนุก"!
ปัจจัย 3 ประการที่กล่าวมาข้างต้นมันท้าทายพรทิพย์และเกษมมาก ๆ คล้าย ๆ
กับเป็นสมการที่รอให้คนทั้ง 2 ช่วยกันขบคิดหาทางถอดมันออกมาให้สำเร็จ!!!
และมันจะต้องเป็นความสำเร็จที่ทั้งเจ้าหนี้อย่างแบงก์กรุงเทพและผู้ร่วมทุนอย่าง
NISSAN แฮปปี้ด้วยนะ!
เอากันในสมการแรกก่อน…เราอยากวิเคราะห์ให้ฟังดังนี้
ถาวร เคยกล่าวไว้เป็นปริศนาแก่สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 1 เมษายน ศกนี้ว่า
"ผมแก่มากแล้วอยากตีกอล์ฟอย่างเดียว" วัย 73 ปีอย่างเขาสมควรลงจากเวทีสยามกลการได้แล้ว
คงไม่มีใครปฏิเสธ!
ปัญหาที่อยู่เพียงว่า ถาวรจะลงจากเวทีสยามกลการเมื่อเวทีแห่งนี้มั่นคงขึ้นหรือเปล่า?
หนี้สิน (หมุนเวียน) จำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ที่บริษัทในเครือแบกอยู่
และตัวบริษัทสยามกลการที่แบกอยู่อีกประมาณเกือบ 4,000 ล้านบาท คือปมเงื่อนที่สำคัญที่พรทิพย์
เกษม และถาวร จะต้องตัดสินใจว่าจะแก้มันในรูปลักษณะใด? ตรงนี้มันมองได้ 2
แง่คือ
หนึ่ง-โอนหนี้สินที่ยกต่อการเยียวยาจำนวนหนึ่งของบริษัทในเครือมาโปะไว้กับบริษัทแม่-สยามกลการ
เพื่อให้บริษัทสยามกลการแบกรับภาระหนี้สินซึ่งเท่ากับช่วยรักษาบริษัทในเครือให้มีชีวิตรอดต่อไป
พูดง่าย ๆ! ถ้าหากทำอย่างนี้ บริษัทสยามกลการ จะต้องล้มครืนลงไปก็ปล่อยมันล้ม
ขณะที่บริษัทในเครือมันรอดก็แล้วกัน…เข้าทำนอง ตัดส่วนน้อยทิ้ง เพื่อรักษาส่วนใหญ่!
แต่ สยามกลการจะพังลงมาง่าย ๆ กระนั้นหรือ? มันคงไม่เช่นนั้น เพราะ-สยามกลการมีสินทรัพย์ที่ไม่ติดจำนองประเภทที่ดินอีกจำนวนมาก
ซึ่งในสมัยก่อนหน้าที่อุษา พรประภา ภรรยาของถาวรจะเสียชีวิต กำไรของสยามกลการมีจำนวนมาก
"ขนาดซื้อแบงก์เล็ก ๆ อย่างมหานครได้ทีเดียว" แหล่งข่าวใกล้ชิดเล่า
มีการนำเอากำไรนี้ ไปลงทุนซื้อที่ดินจำนวนมาก เดี๋ยวนี้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นกว่าสมัยก่อนหลายสิบเท่าตัว
ก็เท่ากับว่าสินทรัพย์ส่วนที่เป็นที่ดินของสยามกลการ เมื่อคิดจากมูลค่าปัจจุบัน
มันสูงมากเป็นไปได้ว่า มีศักยภาพเพียงพอต่อการนำไปชดเชยส่วนของหนี้สินที่ตัวเองและบริษัทในเครือที่รับโอนเข้ามาได้
"คุณคิดดูขนาด 2 ปี ขาดทุนสะสมติดต่อกันเกือบ 1,000 ล้านบาท บริษัทสยามกลการ
ยังมีกำไรสะสมสุทธิหลังหักออกจากยอดขาดทุนสะสมแล้วประมาณ 500 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี
2529" แหล่งข่าวเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง เพื่อย้ำว่าฐานะการดำเนินงานของสยามกลการในส่วนที่เป็นสภาพคล่องยังแข็งแกร่งอยู่
ตรงนี้ ใกล้เคียงกับตัวเลขที่เปิดเผยคือ….
ตัวเลขจากงบกำไร-ขาดทุนปี 2529 สยามกลการที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว จากผู้ตรวจสอบบัญชีเปิดเผยว่า
สยามกลการมียอดกำไรสะสมสุทธิที่ยกไปงวดบัญชีหน้า (2530) จำนวน 477.7 ล้านบาท
ปัญหามีอยู่เพียงว่า วิธีการแก้ปัญหาหนี้สินด้วยวิธีการนี้ ทางแบงก์เจ้าหนี้อย่างแบงก์กรุงเทพที่อุตส่าห์ส่ง
ดร. วิชิต สุรพงศ์ชัย เข้าไปเป็นกรรมการบริหารบริษัทสยามกลการด้วยคนหนึ่ง
จะเห็นดีด้วยหรือไม่?
สอง-ปล่อยให้บริษัทในเครือที่ยากต่อการเยียวยาให้ฟื้นกลับมาใหม่ล้มลงไปเลย
เพื่อปลดภาระผูกพันที่มีผลต่อการดำเนินงานของสยามกลการซึ่งตัวธุรกิจกำลังมีแนวโน้มดีขึ้น
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและอำนาจซื้อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นมาก ดังที่นุกูลได้กล่าวไว้ก่อนลงจากเวทีไปว่า
"2 ปี
ข้างหน้าคือสิ้นปี 2531 บริษัทอาจทำกำไรสุทธิได้สูงถึง 400 กว่าล้านบาท"
ทางเลือกวิธีการแก้ปัญหาทางนี้จะเป็นไปได้หรือไม่อยู่ที่เงื่อนไข หนึ่ง-ถาวรมีความกล้าที่จะตัดหนทางทำมาหากินของลูกหลานที่ตนเองส่งไปดูแลกิจการในเครือหรือไม่?
และสองอำนาจต่อรองของแบงก์กรุงเทพ โดยเฉพาะชาตรี จะมีเหนือกว่าถาวร ซึ่งเป็นกรรมการแบงก์ด้วยคนหนึ่งแค่ไหน
และสาม-เจ้าหนี้อย่างแบงก์กรุงเทพ โดยเฉพาะชาตรีจะรักษาหน้าตาของถาวรที่เป็นคนจีนที่รักษาหน้าตาของตัวเองที่สุดเหนือสิ่งใดหรือไม่เพียงไร?
สมการที่สอง เรื่องโครงการลงทุนใหม่กับญี่ปุ่นที่เตรียมกันไว้ในสมัยนุกูล
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า โดยค่านิยมของคนญี่ปุ่น
การ DEAL ทางธุรกิจเป็นเรื่องของผู้ชายที่มีอำนาจในบริษัท ไม่ใช่ผู้หญิง
ค่านิยมแบบนี้ ปัจจุบัน ยังดำรงอยู่และเป็นอุปสรรคต่อพรทิพย์หรือไม่? จากการวิเคราะห์และสืบค้นของ
"ผู้จัดการ" เห็นว่าไม่น่าจะเป็นอุปสรรคมากนักสำหรับพรทิพย์ เพราะ
หนึ่ง-พรทิพย์เป็นนักธุรกิจหญิงที่ฉลาด การเจรจารู้จักโอนอ่อนผ่อนตามแก่คู่เจรจาในบางครั้งที่เห็นว่าเหมาะสม
และแข็งกร้าวในบางครั้ง หรือพูดอีกนัยหนึ่ง "มีลูกล่อลูกชน" โครงการร่วมลงทุนกับบริษัทฟูจิเอฟวี
อินดัสทรี ของญี่ปุ่น เพื่อประกอบรถยนต์ ซูบารุ ที่บริษัทในเครือสยามกลการคือ
ยูนิเวอร์แซล คอมเมอร์เชียล เป็นผู้นำลิขสิทธิ์เข้ามาประกอบและขายซูบารุแต่ผู้เดียว
แล้วไม่ประสบความสำเร็จเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านพ้นมานี้ เป็นตัวอย่างที่ดี กล่าวคือ
พรทิพย์ให้สัมภาษณ์ว่า
"ถ้าฟูจิฯ จะเข้ามาลงทุนร่วมกับเครือสยามกลการ ก็ต้องเข้ามาเต็มตัวและลงทุนอย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด
จะเข้ามาทำแต่เพียงด้านการตลาดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ในตลาดเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว
ดังนั้นจริง ๆ แล้วคนที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้โครงการสำเร็จลงได้คือทางฟูจิฯ
ไม่ใช่เรา เพราะถ้าทางฟูจิฯ ไม่อยากให้ชื่อของซูบารุหายไปจากตลาดเมืองไทย
ก็ควรต้องเข้ามาทุ่มลงทุนจริงจังและเต็มรูป"
สอง-พรทิพย์มีคู่คิดคือเกษมซึ่งเป็นสามีที่เฉลียวฉลาดในการเดินเกมทางธุรกิจกับญี่ปุ่น
(อ่านเกษมล้อมกรอบ) และสาม-ตราบใดที่ถาวรยังอยู่ในสยามกลการ เขาย่อมเป็นเครดิตประกันให้พรทิพย์และเกษมได้เป็นอย่างดี
เพราะถาวรมีเกียรติประวัติในสายตาญี่ปุ่นที่ดีเด่นและมีบารมีมาตลอด เขาได้ชื่อว่าเป็นนักเจรจาต่อรองกับญี่ปุ่นได้ดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย
"แกรู้จักญี่ปุ่นและนักธุรกิจญี่ปุ่นอย่างชนิดมองทะลุไปถึงกึ๋น"
สังวร สุทธิสานนท์ ผู้ใกล้ชิดถาวร เล่าให้ฟัง…ซึ่งก็เท่ากับย้ำว่าในท้ายสุดแล้ว
โครงการร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นทุกโครงการถาวรคือคนที่จะตัดสินใจว่าจะร่วมลงทุนหรือไม่
และลักษณะรายละเอียดของการร่วมลงทุนควรจะเป็นเช่นไร! ตรงนี้สอดคล้องกับคำพูดของถาวรที่เคยกล่าวว่า
"โครงการร่วมลงทุนระหว่างทางสยามกลการ กับฟูจิ เอฟวี อินดัสทรี เวลานี้อยู่ที่ผม
ผมกำลังพิจารณาอยู่"
ดังนั้นจากคำพูดของถาวรเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการยืนยันว่าโครงการร่วมลงทุนใหม่
ๆ กับญี่ปุ่นในยุคหลังไม่มีนุกูลอยู่ในสยามกลการ ความเป็นไปได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า
มีนุกูลหรือไม่มีนุกูล ซึ่งตรงกับคำพูดของนุกูลที่พุดกับ "ผู้จัดการ"
หลังลาออกจากสยามกลการเพียง 1 วันว่า "โครงการลงทุนใหม่ ๆ กับญี่ปุ่นก็คงจะเดินหน้าต่อไป
ไม่มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับตัวผม"
ปัญหาที่น่าคิดในสมการนี้มีเพียงว่าหลังจากถาวรไปแล้ว ญี่ปุ่นกับพรทิพย์และเกษม
จะ DEAL กันอย่างไรในธุรกิจ?
มันคงยุ่งพิลึก!!
สมการสุดท้าย ที่พรทิพย์และเกษมต้องเผชิญคือท่าทีของชาตรี ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่จากแบงก์กรุงเทพหลังยุคการจากไปของถาวร
สมการข้อนี้ ฟังดูคล้าย ๆ การมองไปข้างหน้าอีกหลายปี ซึ่งไม่รู้ว่าเท่าไรกันแน่เหมือนกับคำพูดของถาวรที่กล่าวถึงการสิ้นอายุขัยของตัวเองว่า
"GOD เท่านั้นที่จะบอกได้ว่า ผมจะตายเมื่อไร"
อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ ถ้าจะว่ากันตามหลักการบริหารหนี้สินของแบงเกอร์ที่ดีแล้ว
ต้องไม่คำนึงถึงเรื่องภายในของลูกหนี้ว่าใครจะไปใครจะมา ให้มากนัก
พูดง่าย ๆ ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของเขา! เจ้าหนี้อย่างชาตรีคงจะดูแต่เพียงความคงเส้นคงวาการชำระหนี้สินของลูกหนี้เท่านั้น
ตราบใดที่ลูกหนี้อย่างสยามกลการ ไม่ขอเงินกู้วงเงินใหม่เพิ่มขึ้น
ฉะนั้นจริง ๆ แล้ว ท่าทีของชาตรีต่อการยอมรับการนำของพรทิพย์ในสยามกลการหลังยุคไม่มีถาวรแล้ว
มันจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับชาตรี แต่มันขึ้นอยู่กับ PERFORMANCE ในการดำเนินธุรกิจของพรทิพย์และเกษมมากกว่าว่าสามารถทำให้ชาตรีอบอุ่นใจและเชื่อถือแค่ไหน??
อนาคตของสยามกลการในมือของพรทิพย์และเกษมผู้อยู่เบื้องหลังในยุคที่ถาวรอยู่เป็น
"ศูนย์รวมความสุขทางจิตใจ" อุปสรรค 3 ประการที่เป็นเงื่อนไขกำหนดชะตากรรมของสยามกลการ
"ผู้จัดการ" ยังเชื่อว่าคงไม่หนักหนาสาหัสเท่าใดนัก!
แต่หลังยุคไม่มีถาวรแล้ว นี่แหละซิคงยุ่งยากไม่น้อยเพราะ หนึ่ง-ปัญหาความร้าวฉานระหว่างอากับหลาน
อาจปะทุขึ้นมาอีก จนทำให้หลาย ๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นแบงก์ เจ้าหนี้และญี่ปุ่นรำคาญใจจนทนไม่ได้
ซึ่งถ้าหากถึงจุด ๆ นี้เมื่อไหร่ อะไรจะเกิดขึ้นกับฐานะของสยามกลการ
บอกได้คำเดียวว่า "มันอันตราย"!
และสอง-จะหาใครมาแทนถาวรที่เปรียบดุจเสาหลักของสยามกลการ
ตรงนี้ขอให้พรทิพย์และเกษมเป็นผู้ตอบก็แล้วกัน