|
'โลว์ซีซัน'สุดกร่อย!... สายการบินระส่ำชักแถวเล่นสงครามราคา
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 สิงหาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
สายการบินเป็นหนึ่งในอีกหลายธุรกิจที่โดนพิษทางเศรษฐกิจเล่นงาน ส่งผลให้ในช่วงโลว์ซีซันของปีนี้กลายเป็นวิกฤตที่สายการบินต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์ทางการตลาด และจำเป็นต้องหยิบเอาเรื่องของการลดราคาตั๋วมาใช้เป็นกลยุทธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยปัจจัยสำคัญของการเปิดเส้นทางบินในแต่ละครั้ง การคำนวณผู้โดยสารทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ หากมีเพียงดีมานด์จากเที่ยวใดเที่ยวหนึ่ง อาจจะไม่คุ้มกับค่าน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุด หรือมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของการทำธุรกิจนี้
ขณะที่ช่วงโลว์ซีซัน กลายเป็นช่วงสำคัญที่สุด ที่อาจจะวัดฝีมือการทำงานของผู้บริหารแต่ละสายการบินว่าจะมีการจัดการโดยใช้กลยุทธ์ใดมาเป็นจุดขาย เพราะทุกช่วงโลว์ซีซัน การอัดแคมเปญลดราคาค่าตั๋วก็จะทำกันอยู่แล้วเพียงแต่ว่าในปีนี้ ธุรกิจสายการบินกลับถูกแขวนไว้กับสภาพทางเศรษฐกิจซึ่งสะท้อนถึงกำลังซื้อจากผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และปีนี้อาจจะไม่ใช่ปีทองของประเทศไทย
เหตุจากความวุ่นวายทางการเมือง สภาพอากาศที่แปรปรวน ฤดูฝนมาเร็วกว่าปรกติ และโรคระบาดต่างๆ ทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัยลบส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อถดถอย และที่สำคัญกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจสายการบินก็คือนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว จึงหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
สอดคล้องกับการปรับตัวของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคในช่วงโลว์ซีซัน ที่ ยงยุทธ จุลินตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด ประจำประเทศไทยและพม่า สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ยอมรับว่า สำหรับประเทศไทย มีการจัดแคมเปญร่วมกับบัตรวีซ่าของทุกธนาคาร จำหน่ายตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปปลายทางที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ในราคาลดพิเศษ 30-50% จากราคาปรกติ
'ทุกช่วงโลว์ซีซัน บริษัทจะใช้กลยุทธ์ลดราคาตั๋วเครื่องบินเพื่อกระตุ้นกำลังซื้ออยู่แล้ว แต่ปีนี้ยอมรับว่ากำลังซื้อลดลงกว่าทุกๆ ปีในช่วงเดียวกัน ซึ่งธุรกิจสายการบินจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหมด จึงต้องเร่งออกแคมเปญเพื่อให้ตลาดกลับมาคึกคักมากขึ้น' ยงยุทธ กล่าว
ปัจจุบันสายการบินคาเธ่ย์ฯ เลือกที่จะใช้หลายเส้นทางบินมาเป็นจุดขาย โดยใช้แคมเปญลดราคาประมาณ 20, 30 และ 50% ในหลายเส้นทางซึ่งจะแตกต่างกันออกไป หากเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ ในช่วงเดียวกัน จะพบว่าปีนี้มีการลดราคาลงมากกว่าที่เคยลดอยู่ทุกปีราว 20% ทีเดียว ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบินปัจจุบันอยู่ที่ 60-70% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ถือว่าลดลงเยอะ
'ทุกปีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบินจะอยู่ที่ประมาณ 80% สาเหตุหลักน่าจะมาจากภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ปีนี้เศรษฐกิจถดถอย' ยงยุทธ กล่าวพร้อมเสริมอีกว่าต้องการให้ทุกสายการบินและหน่วยงานรัฐ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ช่วยกันจัดแคมเปญสร้างบรรยากาศในการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะสลับกันออกแคมเปญในแต่ละหน่วยงาน เพื่อจะได้มีแคมเปญออกมาอย่างต่อเนื่อง ตลาดจะได้คึกคักทั้งการเดินทางภายในประเทศและต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน น้องใหม่แห่งวงการธุรกิจการบินอย่างสายการบินเจ็ท แอร์เวย์ส ประเทศอินเดีย ที่เพิ่งเปิดเส้นทางเข้ามาในประเทศไทยได้ไม่นานมานี้ คือเส้นทางเดลี-กรุงเทพฯ และกัลกัตตา-กรุงเทพฯ ก็ยังได้รับผลกระทบเช่นกันแม้ว่าจำนวนผู้โดยสารขาเข้า จะมีผู้ใช้บริการเป็นที่น่าพอใจในอัตราบรรทุกเฉลี่ยต่อเที่ยว 80-90% ก็ตาม แต่ในช่วงขาออกจากประเทศไทย กลับพบว่ามีตัวเลขผู้ใช้บริการจำนวนไม่มากนัก เฉลี่ย 25-30% เท่านั้น
ดังนั้น นับจากเดือนนี้ไปถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซันของประเทศไทย ทางสายการบินจึงตัดสินใจจัดแคมเปญพิเศษออกมากระตุ้นตลาดในทันที โดยร่วมกับ 17 บริษัทนำเที่ยว จัดแพกเกจทัวร์ราคาพิเศษ เพื่อเดินทางไปอินเดียใน 3 เส้นทางหลัก อาทิ ทัชมาฮาล, สิขิม และเนปาล และในส่วนของผู้โดยสารทั่วไปได้ร่วมกับตัวแทนจำหน่าย จัดโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินราคาถูก ลดลงจากราคาปรกติ 40-50% สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปยังกรุงเดลี และกัลกัตตา ประเทศอินเดีย โดยเน้นไปที่ราคาบัตรโดยสารไป/กลับ กรุงเทพฯ - เดลี และกรุงเทพฯ - กัลกัตตา ชั้นคลับพรีเมียร์ ให้มีราคาถูกกว่าปรกติ โดยราคาดังกล่าวยังไม่รวมภาษีและน้ำหนักส่วนเกิน คาดว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารขาออกจากกรุงเทพฯ ได้อีกราว 5% ต่อเที่ยวบิน
ว่ากันว่า แม้ เจ็ท แอร์เวย์ส จะเป็นสายการบินที่เพิ่งเปิดบินเข้ามาในประเทศไทย แต่ก็มีการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพันธมิตรผู้ที่อยู่ในธุรกิจสายการบินด้วยกัน ปรากฏว่า โลว์ซีซันปีนี้ถือว่าอาการหนักที่สุดในรอบ 4-5 ปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน สาเหตุก็มาจากปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และโรคระบาด ซึ่งทำให้คนยังไม่พร้อมจะจับจ่ายและท่องเที่ยว
นอกจากสายการบินต่างประเทศที่เร่งจัดแคมเปญโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายในช่วงโลว์ซีซันของปีนี้แล้ว สายการบินภายในประเทศก็เล่นสงครามราคากันร้อนแรง โดยล่าสุดมี การบินไทย ประกาศลดราคาตั๋วเครื่องบินลงเช่นกันว่ากันว่าประมาณกว่าร้อยละ 40 ทีเดียว ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศหันไปใช้แคมเปญเพื่อกระตุ้นให้คนเดินทางด้วยการลดราคาตั๋วเช่นกัน จากราคาปรกติ ส่งผลกระทบต่อสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ไม่น้อย
แม้ว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะให้เหตุผลเพื่อกระตุ้นลูกค้าให้มาใช้บริการมากขึ้นในช่วงโลว์ซีซันของปีนี้ก็ตาม แต่ผู้ประกอบการธุรกิจการบินหลายรายกลับให้ความเห็นว่าการกระทำของการบินไทยอาจไม่ส่งผลดีกับธุรกิจการบินโดยรวมเท่าไรนัก เนื่องจากมาตรฐานการบินของการบินไทยอยู่ในระดับอินเตอร์ฯ ซึ่งการลดราคาค่าตั๋วครั้งนี้แม้จะเป็นช่วงระยะสั้นๆ ก็อาจส่งผลในภาพลักษณ์จุดยืนของการบินไทยด้วยเช่นกัน
ซึ่งจะแตกต่างกับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ที่มีเจ้าตลาดเรื่องของตั๋วราคาถูกอย่างไทยแอร์เอเชีย ที่ประกาศนโยบายชัดเจน ในการใช้ราคาเป็นตัวนำเพื่อทำตลาดตลอดปี โดยล่าสุดโลว์ซีซันปีนี้ ไทยแอร์เอเชียจัดโปรโมชั่น 'ขอบคุณ' ด้วยราคาตั๋วโดยสารต่ำสุดเริ่มต้นที่ 199 บาทต่อที่นั่ง สำหรับเส้นทางในประเทศ และ 299 บาทต่อที่นั่ง สำหรับเส้นทางระหว่างประเทศ
ขณะที่สายการบินนกแอร์ ที่เคยวางตำแหน่งทางการตลาดในกลุ่มสายการบินโลว์คอสต์ด้วยกันว่าเป็นระดับพรีเมียมกว่าด้วยบริการ เช่น บริการเลือกที่นั่งตามใจชอบ เช็กอินทางโทรศัพท์ หรือบริการอื่นๆ ก็ยังไม่วายต้องกระโดดมาเล่นโปรโมชั่นราคาเช่นกัน หรือแม้แต่สายการบินวันทูโก สายการบินราคาประหยัด ที่ชูจุดขายราคาเดียวทุกที่นั่ง ก็ยังต้องยอมลงมาเล่นเรื่องของโปรโมชั่นราคาเพื่อหวังเป็นจุดขายให้กับผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
การเปิดเกมรุกของธุรกิจการบินในช่วงโลว์ซีซันด้วยสงครามราคาแบบนี้ แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ก็ตาม แต่กลเกมครั้งนี้แต่ละสายการบินต่างก็ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของตนเองที่มีอยู่นำออกมาเพื่อช่วยให้รอดพ้นจากวิกฤตต่างๆ และสามารถช่วยพยุงให้ธุรกิจการบินที่กำลังประสบปัญหาผ่านพ้นไปได้แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|