|
แบงก์พาเหรดขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากฉวยจังหวะล็อกต้นทุนต่ำทำธุรกิจ
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 สิงหาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์พาณิชย์ออกอาการหลังเงินฝากหายไปไม่น้อย เห็นทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นรีบออกโปรโมชั่นเงินฝาก หวังล็อกเงินต้นทุนต่ำตุนทำธุรกิจในอนาคต นักบริหารเงินแนะคนมีเงินออมต้องตัดสินใจให้ดี พร้อมเฉลยดอกเบี้ยขึ้นบันไดผลตอบแทนราว 1.2-1.67% ชี้ช่วงนี้ไม่ควรรีบฝากยาว
การขยับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 48 เดือนของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขึ้นมาเป็น 3.3% มีผลเมื่อ 18 สิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นหลังจากที่ระยะเวลาในการรับฝากของธนาคารกรุงไทยที่อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาเดียวกันสิ้นสุดลง
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงแข่งขันกันออกโปรโมชั่นเงินฝากช่วง 7 เดือน 10 เดือนและ 18 เดือน ด้วยดอกเบี้ยอัตราพิเศษทั้งแบบคงที่และขั้นบันได
นับว่าสัญญาณบ่งบอกถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยนับจากนี้ไปถือว่าสิ้นสุดดอกเบี้ยขาลงอย่างถาวรและเข้าสู่ทิศทางขาขึ้นอย่างเต็มตัว
การที่แบงก์พาณิชย์ต่างโดดหันมาช่วงชิงเงินฝากกันอย่างพร้อมเพรียงกันในช่วงเวลานี้ เกิดขึ้นหลังจากที่พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ขายทะลุวงเงินเดิมที่ 5 หมื่นล้านบาท โดยขายได้ 7 หมื่นล้านบาทและหมดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราผลตอบแทน 4% กับพันธบัตรอายุ 5 ปี
ถัดมาจึงเป็นรอบของหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่ออกมาเสนอขายด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงตามระดับความเสี่ยงของอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้ นอกจากนี้ตลาดกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ใครที่พลาดหวังจากการซื้อพันธบัตรก็หันไปซื้อกองทุนรวมนี้
สถานการณ์บังคับ
นักบริหารเงินรายหนึ่งประเมินว่า เมื่อแบงก์เจอพันธบัตรไทยเข้มแข็ง กองทุนรวมเกาหลีและหุ้นกู้เอกชนเข้าไป ทำให้เงินฝากของธนาคารพาณิชย์หายไปไม่น้อย เฉพาะสิ้นเดือนมิถุนายน 2552 แค่ 6 เดือนแรกของปีเงินฝากของธนาคารไทยทั้งระบบหายไป 7.28 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับจำนวนสินเชื่อที่ลดลงไป 1.65 แสนล้านบาท
ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้พันธบัตรรัฐบาลจะออกมาเสนอขายอีกครั้ง ขณะเดียวกันรัฐบาลได้สั่งให้ธนาคารของรัฐเร่งปล่อยสินเชื่อตามนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อสถานการณ์โดยรวมเป็นอย่างนี้ เท่ากับเป็นการบีบให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องขยับตัวในเรื่องดอกเบี้ยเงินฝากและการปล่อยสินเชื่อ แม้ว่าที่ผ่านมาแบงก์จะไม่เน้นในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่สถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีสัญญาณบางประการในทิศทางที่เป็นบวก เงินฝากที่ถูกโยกไปตามแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงต่ำ ธนาคารจึงต้องขยับตัวเพื่อเตรียมการสำหรับการทำธุรกิจในอนาคต
ไม่ใช่นั้นรายได้จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ที่เป็นรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์อาจจะลดลง ขณะเดียวกันยังถือเป็นการชิงจังหวะความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนของเงินไปในตัว
การรีบดึงเงินฝากกลับด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มให้จากอัตราปกติเล็กน้อย ถือว่าเป็นสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ถนัดคือเมื่อดอกเบี้ยเริ่มอยู่ในช่วงขาขึ้น แบงก์ต้องหาทางล็อกต้นทุนของเงินให้ต่ำไว้ก่อน อย่างกรุงไทยและกรุงศรีอยุธยายอมให้ดอกเบี้ย 3.3% สำหรับเงินฝาก 48 เดือน ขณะที่รายอื่นยังไม่เน้นเงินฝากในกลุ่มนี้ แต่หันไปจับเงินฝากในช่วง 7-18 เดือนแทนด้วยลูกเล่นที่แตกต่างกันไป โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระหว่าง 1.2-1.67%
ด้านหนึ่งถือเป็นการเรียกลูกค้าที่เคยหายไปกลับคืนมา อีกด้านหนึ่งถือเป็นการเตรียมการสำหรับการปล่อยสินเชื่อในอนาคต
การที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มขยับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น ยังหมายถึงจุดสิ้นสุดของการใช้นโยบายทางการด้านเงินที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ จากนี้ไปรัฐบาลจะต้องไปมุ่งที่ตัวภาษีหรือการลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจโดยรวมให้ได้ เมื่อเครื่องมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเหลือน้อยลงรัฐบาลก็จะต้องใช้ความระมัดระวังในการออกมาตรการมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ผลให้มากที่สุด
ดังนั้นมาตรการใหม่ ๆ จะต้องออกแบบมาให้เกิดประโยชน์มากกว่าหนึ่งเป้าหมาย จึงเป็นการพิสูจน์ฝีมือและความสามารถของรัฐบาลได้เป็นอย่างดีว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัวได้เพียงใด
เลือกให้เหมาะกับตัวเอง
เมื่อเกิดการแข่งขันกันระดมเงินฝากอย่างนี้ ผู้มีเงินออมอาจจะตัดสินใจลำบาก เนื่องจากลูกเล่นของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งนั้นออกแบบมาแตกต่างกันไป อันดับแรกควรเริ่มจากการถามตัวเองก่อนว่าพอใจกับการฝากระยะสั้นหรือระยะยาว ฝาก 4 ปีรับดอกเบี้ย 3.3% พึงพอใจหรือไม่ หรือต้องการรอพันธบัตรชุดใหม่ของรัฐบาลหรือไม่
แต่ควรต้องคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยให้ออกว่า นับจากนี้ดอกเบี้ยเริ่มอยู่ในช่วงขาขึ้น หากเราเลือกฝากในช่วงนี้เท่ากับเป็นการปิดโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นกว่าเดิมในอนาคต ดังนั้นอาจจะแบ่งเงินออมบางส่วนลงทุนไว้ก่อน ที่เหลืออาจเตรียมไว้รอเงินฝากหรือพันธบัตรชุดต่อไป
เขาให้ข้อมูลต่อไปว่า เชื่อว่าพันธบัตรชุดใหม่ที่จะออกมานั้น น่าจะมีอายุมากกว่า 5 ปี ส่วนผลตอบแทนปัจจุบันนั้นต่ำกว่าช่วงที่มีการเสนอขายในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดังนั้นคงต้องขึ้นกับรัฐบาลว่าจะกำหนดดอกเบี้ยที่ระดับใด สมมติว่ารัฐให้ดอกเบี้ยเท่าเดิมคือ 4% แต่อายุของพันธบัตรเป็น 7 ปี เท่ากับผลตอบแทนที่ได้รับนั้นต่ำกว่าพันธบัตรอายุ 5 ปี
หากเราต้องการรอดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แล้วจะทำอย่างไรในตอนนี้ บางคนเลือกที่จะโยกเงินมาพักไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ ที่ต้องยอมรับกับดอกเบี้ยที่ต่ำราว 0.5% บางคนอาจนำไปพักในบัญชีเงินฝาก 7 เดือน 10 เดือนหรือ 18 เดือนตามธนาคารต่าง ๆ ที่บางแห่งประกาศดอกเบี้ยสูงสุดไว้ที่ 2.5% ผู้ต้องการฝากควรต้องนำเอาดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดมาหาค่าเฉลี่ยก็จะพบว่าส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1.67%
'เท่าที่เราเห็นดอกเบี้ยเงินฝากที่ดีที่สุดสำหรับเงินฝาก 12 เดือนในเวลานี้คือธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ให้ผลตอบแทน 1.75% หรือถ้าจะยอมฝาก 5 ปีดอกเบี้ยก็สูง 3.75% ถือว่าต่ำกว่าพันธบัตรไทยเข้มแข็งไม่มากนัก'
ดังนั้นผู้ที่มีเงินออมควรต้องสำรวจตลาดเงินฝากและตัดสินใจให้ได้ก่อนว่าจะเลือกออมเงินที่ให้ผลตอบแทนดีกับสถาบันการเงินใด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|