สุระ จันทร์ศรีชวาลา เขาสอบผ่านแล้ว


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายปีมานี้สุระผู้เคยได้รับฉายา "ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า" นอกจากจะไม่ซื้ออะไรอีกต่อไปแล้ว หนี้สินที่สร้าง ๆ เอาไว้กลายเป็นปัญหาใหญ่อย่างยิ่ง หลายคนค่อนข้างเชื่อว่าสุระไม่มีทางดิ้นหลุด เพียงแต่สุระกลับเชื่อว่าเขาต้องหลุดแน่ ๆ สุระนั้นเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่าพระเจ้าต้องเข้าข้างเขาเพียงแต่พระองค์อาจจะหลงลืมคนชื่อสุระไปชั่วครั้งชั่วคราว และบัดนี้เพียงพระองค์มองเห็นสุระแล้ว สุระกำลังจะผ่านยุคเข็ญไปสู่ยุคทองอีกครั้ง?

ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 3 ปีจากปลายปี 2526 กระทั่งหมดปี 2529 นั้นก็คงจะเป็นช่วงเวลาที่สุดแสนจะยาวนาน และสร้างความเจ็บแสบให้กับสุระ จันทร์ศรีชวาลามาก ๆ

สยามวิทยากรุ๊ปของเขาสร้างหนี้สินไว้อิรุงตุงนัง, เปิดสงครามเกือบจะรอบตัวและการสร้างอาณาจักรขึ้นมาอย่างโลดโผนเพียงช่วงระยะเวลาราว ๆ 5 ปีก่อนหน้าปี 2526 บนพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่า "ซื้อมาแล้วขายไป" ซึ่งสร้างผลกำไรงดงามน่าอิจฉานั้นกลายสภาพเป็นดาบสองคม หากเขายังประสบความสำเร็จไปเรื่อยๆ ก็คงจะเป็นคุณประโยชน์ต่อเขา แต่ถ้าพลาดพลั้งตกม้าก็คงจะมีหลายคนอยากจะสมน้ำหน้าหรือเหยียบซ้ำ

ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 3 ปีมานี้สุระก็เผอิญพลาดพลั้งไปจริงๆ

สุระต้องดิ้นรนหาทางรอดอย่างเหน็ดเหนื่อย

แต่หลายคนก็มองว่าถึงจะดิ้นอย่างไรก็คงไม่สำเร็จ

คนที่มองสุระด้วยสายตาเป็นกลางเชื่อว่าหนี้สินนับพันล้านบาทคงจะทับสุระจนสุระดิ้นไม่หลุด

คนที่อิจฉาวิทยายุทธสร้างความร่ำรวยของเขาพูดถึงหายนะของเขาอย่างยิ้มเยาะ

ส่วนศัตรูทั้งทางตรงและทางอ้อมช่วยกระพือโหมให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นไปอีก

"มันเผอิญเป็นช่วงที่สุระกำลังมีปัญหากับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์เรื่องธนาคารแหลมทองผสมผสานกับบางกลุ่มต้องการกวาดล้างอิทธิพลของตามใจ ขำภโต ที่ออกจากกรุงไทยไปเล่นการเมืองและเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลพลเอกเปรม สุระก็เลยต้องเจอคลื่นลมทั้งทางตรงและทางอ้อม เรื่องหนี้ของสุระมันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ ทั้ง ๆ ที่มันไม่น่าจะมีปัญหา" คนที่ติดตามเรื่องของสุระมาทุกระยะเล่า

ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่สุระจะผ่านสถานการณ์ช่วงวิกฤตนี้ไปได้

เพียงแต่มันก็กำลังจะผ่านไปแล้ว

ภายหลังการพลิกกลยุทธ์และท่าทีของสุระต่างไปจากเดิมโดยเฉพาะในช่วงปี 2528 ถึงต้นปี 2529 หรือก็ภายหลังการประลองกำลังครั้งสุดท้ายระหว่างสุระกับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ครั้งการประชุมสามัญประจำปีของแบงก์แหลมทองเมื่อเดือนเมษายนปี 2529 นั่นแหละ

สุระไม่ออกแสดงตัวให้ตกเป็นข่าวครึกโครมเหมือนเช่นเดิม ๆ เขาเก็บตัวเงียบเชียบเพียงแต่เบื้องหลังความเงียบเชียบนั้นคือแผนงานลุ่มลึกหลาย ๆ เรื่อง

สุระ จันทร์ศรีชวาลา กำลังเริ่มต้นเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในช่วงปลายทศวรรษของอาณาจักรสยามวิทยาของเขา.... ประวัติศาสตร์ที่เคยบันทึกถึงยุคแห่งความรุ่งเรืองและการขยายตัวในช่วง 5 ปีแรกติดตามด้วยวิกฤตการณ์ช่วง 3 ปีหลัง...ส่วนหน้าต่อไปที่สุระกำลังเขียน เป็นยุคขอองการฟื้นฟูธุรกิจ เขาบอกว่าเขาจะใช้เวลาราว ๆ 3 ปีในการฟื้นตัว เป้าหมายอยู่ที่การล้างหนี้ออกไปให้หมดทุกบาททุกสตางค์

และบทเรียนที่ได้รับนั้น "ผมจะไม่ขอเป็นหนี้ใครอีกต่อไปเลย" สุระบอกกับ "ผู้จัดการ"

"หลังจากลำบากมานาน ตั้งแต่ปีนี้ไปคงเป็นทีของผมบ้าง พระเจ้าคงเข้าข้างผมบ้างแล้ว" เขาสำทับด้วยน้ำเสียงแสดงความเชื่อมั่น

ปัญหาพื้นฐานของธุรกิจเครือสุระในรอบ 3 ปีนี้เป็นปัญหาเรื่องหนี้สินอย่างไม่ต้องสงสัย

โดยเฉพาะหนี้ที่สุระก่อเอาไว้ในช่วงเกิดวิกฤตสถาบันการเงินภายหลังการล้มของอีดีทีของสุธี นพคุณ ตั้งแต่ปี 2527 แล้ว

สุระนั้นมีสถาบันการเงินในเครือ 4 แห่ง เชียงใหม่ทรัสต์, มิดแลนด์, เครดิตฟองซิเอร์ยูนิโก้ เฮ้าส์ซิ่งและบริษัทหลักทรัพย์โอซิโก้ ในยุครุ่งเรืองสถาบันการเงินเหล่านี้ เป็นตัวระดมเงินฝากจากประชาชนแล้วสุระก็เอาไปลงทุนหากำไรในธุรกิจที่สุระถนัด...การเล่นที่ดินหรือการซื้อทรัพย์สินตัวหนักๆ เพื่อจะขายเอากำไรอีกต่อ

ว่าไปแล้วทั้ง 4 แห่งก็คือเค้าหน้าตักที่ทำให้สุระเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้และเป็นฐานในการก้าวขึ้นไปเล่นธุรกิจใหญ่ ๆ ที่ว่ากันเป็นพัน ๆ ล้าน

เมื่อตอนที่เกิดวิกฤตการณ์สถาบันการเงินนั้น สถาบันการเงินของสุระก็เป็นเฉกเช่นสถาบันการเงินเกือบทุกแห่งโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีธนาคารพาณิชย์เป็นหลังพิง คือเงินไหลออกเหมือนทำนบทลายเพราะคนแห่มาถอนเงินพร้อม ๆ กัน

หนี้จำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงนี้ภายใต้ปรัชญาที่สุระบอกว่า "ถ้าผมจะต้องหมดตัว ผมยอม แต่เงินฝากของประชาชนผมต้องรับผิดชอบเขาต้องการถอนเมื่อไร ผมมีให้เขาเมื่อนั้น"

ที่จริงก็มีคนบอกว่าสุระนั้นคิดผิดเขาควรปล่อยให้สถาบันการเงินของเขาล้มไปจะได้เหลือทรัพย์สิน (โดยเฉพาะที่ดินที่สุระมีหลายฝืน) เก็บเอาไว้กับตัวหรือไม่เช่นนั้นก็น่าจะเอาบริษัทการเงินเข้าโครงการ 4 เมษาขอรับความช่วยเหลือจากแบงก์ชาติ

"แต่คุณสุระไม่เชื่อ เขาบอกว่าเขาไม่ต้องการล้มบนฟูก อนาคตข้างหน้าของเขายังอีกไกล อีกอย่างเขาถือว่ามันไม่ใช่เป็นเพราะเขาผิดพลาดหรือค้าขายขาดทุน มันเป็นเรื่องที่มีปัญหาสภาพคล่อง แก้ตกแล้วทุกอย่างก็สามารถเดินหน้าได้ต่อไป อีกอย่างคน ๆ นี้รักศักดิ์ศรีและชื่อเสียงมาก" คนที่รู้จักสุระพูดให้ฟัง

เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสุระแล้ว มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรก

ย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีที่แล้วเมื่อครั้งที่สุระยังยึดอาชีพขายผ้าย่านพาหุรัดและสำเพ็ง ช่วงนั้นเกิดเรื่องวุ่นวายในยุทธจักรค้าผ้า ร้านขายผ้าย่านพาหุรัด-สำเพ็งปิดร้านหลบหนีหนี้สินกันเป็นทิวแถว "เรียกว่าหนีกันเป็นทีมฟุตบอลทีเดียวเชียว ร้านของสุระนั้นคนก็พูดกันมากว่า ก็คงต้องหนีด้วย เพราะกระเทือนมาก ผ้าที่ขายให้ร้านค้าเมื่อร้านค้าหนีก็เก็บเงินไม่ได้ ก็อาจจะต้องหนีตาม แต่ปรากฏว่า นอกจากสุระและครอบครัวจะไม่หนีไปไหนแล้ว พวกเขายังกัดฟันสู้จนล้างหนี้ได้หมด ดูเหมือนต้องขายห้องแถวย่านสำเพ็งที่มีอยู่ไป 10 กว่าคูหาเพื่อล้างหนี้..." คนที่ทราบเรื่องบอก

จรรยาบรรณหรือคุณธรรมทางธุรกิจด้านนี้ของสุระดูเหมือนจะมีออย่างเปี่ยมล้น

"คนมักจะไปมองว่าแกเป็นแขกไม่จริงใจ ซื้อถูกขายแพง ภาพแกเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ามองกันให้ทะลุแล้ว สุระเป็นคนมีคุณธรรมและความรับผิดชอบมาก แต่เรื่องลูกเล่นทางการค้าผมว่ามันต้องแยก ปัญหาของสุระนั้นส่วนหนึ่งก็คือคนไม่มองแกอย่างแยกแยะ" นายแบงก์คนหนึ่งพูดถึงสุระ

และบางทีหลายคนอาจหลงลืมไปว่าสุระนั้นมีทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินผืนงาม ๆ อยู่มาก และที่ดินเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็ถูกเอามาวางค้ำหนี้ของสุระในช่วงสถาบันการเงินกำลังวิกฤต

สุระนั้นว่ากันว่าเขามีหนี้อยู่กว่า 5,000 ล้านบาท

เป็นของไอเอฟซีซี (บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากลในเครือธนาคารกรุงไทย) กับธนาคารกรุงไทยที่สุระกู้มาในยุคตามใจ ขำภโต เป็นกรรมการผู้จัดการราว ๆ 3,000 ล้านบาท

เป็นของธนาคารสหธนาคารราว ๆ 1,000 กว่าล้านบาท

และธนาคารไทยพาณิชย์ประมาณ 260 ล้าน ส่วนที่เหลือก็เป็นก้อนเล็ก ๆ กระจัดกระจายรวมทั้งเงินกู้จากต่างประเทศ

ไทยพาณิชย์นั้นสุระกู้มาในช่วงที่สถาบันการเงินเริ่มส่อเค้าวิกฤตภายหลังการล้มลงของอีดีทีไม่นานนักด้วยการใช้ที่ดินที่บริเวณสวนหลวงติด ๆ กับหมู่บ้านปัญญาค้ำประกัน

เป็นการปล่อยเงินให้กับสุระโดยที่ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์เองก็สบายใจมากเพราะธารินทร์กับปัญญา ควรตระกูลก็สนิทสนมใกล้ชิดกัน (ปัญญา ควรตระกูลเป็นน้องชายของอุบล จุลไพบูลย์ อดีตแม่ยายของศิรินทร์ที่เป็นน้องชายของธารินทร์) และปัญญาย่อมสามารถให้ข้อมูลกับธารินทร์ได้เป็นอย่างดีว่าที่ที่สวนหลวงของสุระนั้นมีค่ามหาศาลขนาดไหน

ที่ดินที่สวนหลวงของสุระมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 400 ไร่ ถ้าวัดจากราคาตารางวาละ 9,000 บาท ที่หมู่บ้านปัญญาขายอยู่ก็น่าจะมีมูลค่าเฉพาะที่ดินกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งหนี้ 200 ล้านบาทที่สุระกู้จากไทยพาณิชย์ใช้ที่ดินจำนวน 175 ไร่จากทั้งหมด 400 ไร่ ค้ำประกัน

ว่าไปแล้วสุระจึงไม่ค่อยวิตกเกี่ยวกับหนี้ก้อนนี้นัก

"ช่วงก่อนหน้านี้ก็มีการเจรจาซื้อขายที่ตรงส่วนที่ติดจำนองกับไทยพาณิชย์ก็มีคนที่สนิทกับธารินทร์เสนอราคาผ่านมาว่าจะขอซื้อตารางวาละ 6,000 บาทเกือบจะตกลงกันแล้ว แต่สุระคิดว่าราคาน่าจะดีกว่านั้น และสุระก็มีโครงการที่จะพัฒนาขึ้นมาเองโดยจะให้เป็นหมู่บ้านสำหรับคนชั้นกลางขึ้นไปกลุ่มลูกค้าเดียวกับหมู่บ้านปัญญาอยู่ด้วย ก็เลยเกิดทางเลืออกว่าจะขายหรือจะทำเอง ซึ่งถ้าทำเองไทยพาณิชย์ก็คงจะต้องให้การสนับสนุนด้านทุนดำเนินการ" แหล่งข่าวกล่าวถึงที่ดินผืนที่สุระวาดโครงการไว้โดยให้ชื่อว่า "รอยัล กรีน พาร์ค"

นอกจากนี้ก็เชื่อกันว่ายังมีที่ดินจำนวน 2 ไร่บริเวณโรงแรมรามาทาวเวอร์เก่าที่สุระซื้อเอาไปวางไว้กับไทยพาณิชย์ตีราคาจำนอง ตารางวาละ 5 หมื่นบาท ที่ดินตรงนี้ก็มีการติดต่อขอซื้อจากสุระผ่านผู้บริหารแบงก์คนหนึ่งโดยเสนอราคาตารางวาละ 6 หมื่นบาท

"เข้าใจว่าคนที่ต้องการซื้อคือกลุ่มพีเอสรีลเอสเตทของพานิช สัมภวคุปต์ แต่สุระยังไม่ตกลงเพราะผู้ใหญ่แบงก์ท่านเสนอราคาหักคอเกินไป สุระก็คงอยากจะคุยด้วยในราคาวาหนึ่งเป็นหลักแสนบาท..." แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว

ซึ่งหากการเจรจาล้มเหลวสุระก็มีโครงการรองรับที่ดินผืนใหญ่รวม 10 ไร่ด้านข้างโรงแรมรามาทาวเวอร์ (เดิม) อยู่แล้ว (จำนวนทั้งหมด 10 ไร่โดย 2 ไร่วางไว้กับไทยพาณิชย์)

"เขาจะทำเป็นสีลมชอปเฮ้าส์ ที่จริงก็คิดว่าจะใช้เนื้อที่เพียงราว ๆ 8 ไร่ แต่ถ้า 2 ไร่ที่อยู่กับไทยพาณิชย์ตกลงกันไม่ได้ก็คงจะรวมเข้าไปในโครงการนี้ด้วย" คนที่ทราบเรื่องเล่า

ส่วนหนี้ที่สุระมีอยู่กับสหธนาคารก็พูดกันรู้เรื่องมาก ๆ

โดยเฉพาะชำนาญ เพ็ญชาติ รองกรรมการผู้จัดการนั้นก็เชื่อมั่นในตัวสุระและหลักทรัพย์ที่สุระนำไปวางค้ำหนี้อย่างยิ่ง บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มสุระ, กลุ่มชำนาญ เพ็ญชาติ และกลุ่มฮาริเลลาเจ้าของโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ ในฮ่องกงสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทดังกล่าวใช้ชื่อว่า "เอชอาร์เอช" เป็นบริษัทที่เข้าไปเทคโอเวอร์ทรัพย์สินของโรงแรมรามาทาวเวอร์ (ด้วยการรับหนี้ไปราว ๆ 500 ล้านบาทด้วย) และจะลงทุนปรับปรุงโรงแรมแห่งนี้ด้วยการใส่เงินเข้าไปอีกราว ๆ 500 ล้านบาทเพื่อให้รามาทาวเวอร์ฟื้นคืนชีพอีกครั้งในนามโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพฯ

บริษัทเอชอาร์เอชนี้สุระเข้าถือหุ้น 46.5% กลุ่มฮาริเลลา 40% และกลุ่มชำนาญ เพ็ญชาติ ถืออยู่ 13.5%

"ตอนนี้ก็เริ่มทุบตึกเก่าด้านติดถนนสีลมทิ้งเพื่อจะสร้างเป็นตึกใหม่จำนวน 400 ห้องสูง 20 กว่าชั้นแล้ว..." คนที่รู้เรื่อง บอกกับ "ผู้จัดการ"

สำหรับหนี้ 3,000 ล้านบาทกรุงไทยดูแลนั้น จากที่เคยออึมครึมมองไม่เห็น ทางออกก็ดูเหมือนว่าจะคืบหน้าไปพอสมควร

หนี้ส่วนนี้สุระใช้ที่ดินหมู่บ้านรัชดา 2 และรัชดา 3 ค้ำประกันไว้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นที่ดิน 700 ไร่ติดกับหมู่บ้านสวนสนตรงหน้าสนามกอล์ฟยูนิโก้ที่สุระมี ทั้งหมด 2,000 ไร่ค้ำ

ถ้าจะให้ความเป็นธรรมกับสุระด้วยการตีราคาที่ดินตามราคาซื้อขายจริงในตลาดแล้ว ที่จริงหนี้จำนวนนี้ก็แทบจะไม่มีปัญหา เพียงแต่เผอิญมันเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในยุคตามใจ ขำภโต ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย แล้วออกไปเล่นการเมืองที่เป็นพรรคฝ่ายค้านอีกทั้งแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์กับผู้มีอำนาจในคณะรัฐบาลอย่างออกหน้า เกมการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงเลื่อกตั้งครั้งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า มีกระแสต้องการเพิ่มการทิ่มแทงตามใจ ขำภโตให้ตกเวทีการเมือง

ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ถูกงัดขึ้นมาใช้ก็คือหนี้ก้อนใหญ่ ๆ ที่ถูกอนุมัติไปในยุคตามใจยังมีอำนาจในกรุงไทย หากจะว่าไปหนี้ของสุระที่มีปัญหาก็เพราะต้องการให้มีปัญหาเสียมากกว่า

"สุระนั้นก็ได้เจรจากับเริงชัยหลายรอบ การเจรจาก็ราบรื่นดีมาก เพราะสุระเองก็ต้องการสางหนี้ให้หมดจะเอาอย่างไรก็ว่ากัน ส่วนเริงชัยก็อยากได้เงินคืนเพียงแต่เริงชัยบางทีก็ไม่ใช่คนที่จะมาบอกว่าจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้เพราะเริงชัยไม่ได้นั่งอยู่ในบอร์ดของกรุงไทย" แหล่งข่าวคนหนึ่งพูดถึงสถานการณ์ในช่วงระยะแรกที่เริงชัย มะระกานนท์ ถูกยืมตัวจากแบงก์ชาติมารับผิดชอบในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการกรุงไทยที่ว่ากันว่าเพื่อสะสางหนี้เก่า ๆ โดยเฉพาะ

เพียงแต่ตอนนี้ทุกอย่างก็จะเข้ารูปเข้ารอยขึ้นพร้อม ๆ กับกระแสการเมืองที่เปลี่ยนทิศทาง ตามใจ ขำภโตกับกลุ่มการเมืองของเขาแสดงท่าทีเป็นมิตรมากขึ้นกับรัฐบาลเปรม อย่างน้อยก็จะไม่ลงชื่อเข้าร่วมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกเปรม

พันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ ที่มีโรงงานสับปะรดกระป๋องเป็นหนี้กรุงไทยปัญหาก็คลี่คลายไปแล้ว

หนี้ของสุระก็มาตะเภาเดียวกัน

ทิศทางนั้นก็น่าจะเป็นบริษัทกรุงไทยแลนด์แอนด์เฮ้าส์ที่กรุงไทยเพิ่มจัดตั้งขึ้นจะเข้ามาพัฒนาที่ดินจำนวน 700 กว่าไร่ของสุระบริเวณหน้าสนามกอล์ฟยูนิโก้เพื่อล้างหนี้

"โดยกรุงไทยก็จะเป็นคนลงทุนพัฒนาเอง กลุ่มสุระทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเท่านั้นโดยเฉพาะการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับราคาขั้นต่ำของที่ดินที่จะพัฒนาขาย" แบงก์เกอร์คนหนึ่งเล่า

"ผมคิดว่าถ้าแบบนี้คงล้างหนี้ไปได้กว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์" สุระยืนยัน

ก็ดูเหมือนว่าปัญหาถ้าจะมีนั้นก็อยู่ที่กรุงไทยจะเอาอย่างไรเสียมากกว่า

"ที่ผ่านมาก็ราบรื่นและคืบหน้ามาก ผมยังคิดเลยว่าถ้ากรุงไทยเขาสนใจผมอาจจะยกที่ที่เหลือให้จำนวน 2,000 ไร่ตรงนั้นให้เขาพัฒนา แต่ถ้าเขามีอุปสรรค ผมจะพัฒนาเอง" สุระบอกกับ "ผู้จัดการ"

สุระในวันนี้ยังเป็นสุระที่มั่นใจไม่สั่นคลอนเขาเชื่อว่าปัญหาของเขาเป็นปัญหาของความผันผวนทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ทำให้มีระยะตกต่ำฟื้นฟูและรุ่งเรืองมั่นในฐานที่มั่นคงของเขา เขาเพียงต้องการเขาเชื่อจังหวะ โอกาสและโชคบ้างเท่านั้น

ในช่วง 2-3 ปีที่แล้วท่ามกลางปัญหาสุระอาจจะทำสงครามรอบตัวไปหมด ทั้งประคองกิจการของเขาท่ามกลางมรสุมทั้งต้องสู้รบปรบมือกับกลุ่มสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ทั้งต้องโดนผลกระทบทางการเมืองจากการนำตัวเองเข้าไปผูกพันกับคนบางคนและก็มีหลายคนที่อยากเห็นเขาล้มเพราะเขาที่แล้ว ๆ มาดูเหมือนจะประสบความสำเร็จมากไป

บทเรียนทำให้สุระกำหนดยุทธวิธีเอาชนะปัญหาทีละส่วน ในรอบเกือบปีมานี้สุระไม่เคยแสดงท่าทีเผชิญหน้ากลุ่มสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เขาเก็บตัวและจัดทีมศึกษาว่าจะพัฒนาที่ดินและทรัพย์สินที่เขามีอย่างไร

"ผู้จัดการ" ถามสุระว่า "หากทุกอย่างสำเร็จมันก็จะเป็นปีทองของเขาเสียทีใช่ไหม"

สุระบอก "ไม่ใช่"

"ปีนี้จะต้องเริ่มเป็นปีทองของผมน่ะใช่ แต่ไม่ใช่หากทุกอย่างสำเร็จ มันต้องสำเร็จไม่มีหาก" เขาว่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.