ข้อเสนอสัญญาการจัดการ บริษัท ไทยเสรีอาหารสากล จำกัด


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ขอบข่ายของสัญญาการจัดการ

สัญญาการจัดการจะครอบคลุมการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท ไทยเสรี อาหารสากล จำกัด ดังที่บริษัทได้กำหนดในข้อบังคับของบริษัท ซึ่งมีทั้งงานห้องเย็นและกรรมวิธีต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทุกชนิดเพื่อขายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ

ขอบเขตของหน้าที่ฝ่ายจัดการจะรวมทั้งการจัดการด้านการตลาด การผลิต บุคคล และการเงินของบริษัทตามนโยบายและการตัดสินใจที่คณะกรรมการบริษัทที่มีอำนาจตามกฎหมายกำหนดไว้

แผนดำเนินงานทางธุรกิจ

ฝ่ายจัดการจะจัดทำแผนดำเนินงานทางธุรกิจและให้คณะกรรมการบริษัทที่มีอำนาจตามกฎหมายเป็นผู้อนุมัติ แผนดำเนินงานทางธุรกิจนี้จะใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินงานด้านการจัดการและถือเป็นแนวทางการปฏิบัติงานการจัดการ

ก. การจัดการด้านการตลาด ฝ่ายจัดการจะกำหนดยุทธวิธีด้านการตลาดต่าง ๆ เพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างงานการตลาดของไทยเสรีอาหารสากล ฝ่ายจัดการจะทุ่มเททรัพยากรต่างๆ ของบริษัทในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ราคาสูง เช่น ปลาหมึก กุ้ง ปลาเพาะเลี้ยง และกุ้งเพาะเลี้ยง ฝ่ายจัดการจะจัดให้มีผู้แทนจำหน่ายประจำภาคสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยจะเริ่มในประเทศญี่ปุ่น แคนาดา และสหรัฐอเมริกา

ข. การจัดการด้านการผลิตจะนำเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ผ่านกรรมวิธี ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ค. การจัดการงานบุคคลบริษัทจะจ้างพนักงานของตนเองและใช้นโยบายบุคคลของบริษัทเอง ตามข้อกำหนดของกฎหมายไทย อย่างไรก็ตาม อาควา โกลด์จะพิจารณาจ้างพนักงานที่มีอยู่ของบริษัท ไทยเสรีอาหารสากล หากพนักงานดังกล่าวมีคุณสมบัติเหมาะสม

ง. การจัดการด้านการเงินฝ่ายจัดการจะพยายามดำเนินงานให้มีกำไรสูงสุดในช่วงระหว่างระยะเวลาของสัญญา เพื่อให้บริษัทชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทสามารถชำระคืนหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อให้เป็นทุนดำเนินงานของบริษัท ฝ่ายจัดการจะหาแหล่งเงินทุน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงระยะสั้นการชำระคืนหนี้สินใหม่ที่กู้ยืมมาจะถือเป็นอันดับแรกในเวลาสั่งจ่ายจากเงินทุนที่มีอยู่ได้จากการปฏิบัติงาน

การปรับโครงสร้างเงินตามที่กำหนด

เพื่อจัดการตามสัญญาการจัดการ มีข้อกำหนดว่าจะต้องปรับโครงสร้างเกี่ยวกับด้านหนี้สิน และการถือหุ้นในปัจจุบันของบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำไนดที่จะต้องบรรลุผลด้านการชำระเงินคืนแก่เจ้าหนี้ปัจจุบัน ทั้งมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขอแนะนำว่าควรจะปฏิบัติตามหลักการต่อไปนี้

ก. ควรจะประเมินสินทรัพย์ถาวรของบริษัทเพื่อกำหนดมูลค่าตลาดปัจจุบันของสินทรัพย์ หลังจากนั้นผู้ตรวจสอบบัญชีอิสระจะตรวจสอบบัญชีและกำหนดมูลค่าสินทรัพย์ถาวรใหม่โดยใช้ตัวเลขที่ประเมินโดยผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน

ข. เจ้าหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งจะใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันนั้นในการปฏิบัติงานจะยังคงเป็นเจ้าหนี้คนเดิม ฝ่ายจัดการจะเสนอแผนกำหนดการชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเหล่านี้โดยมีพื้นฐานตามแผนเงินสดหมุนเวียนจะนำมาใช้ได้ ฝ่ายจัดการจะเจรจาหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อกำหนดอื่น ๆ (เช่น อัตราดอกเบี้ย) หากฝ่ายจัดการเห็นสมควรเจ้าหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอื่น ๆ ที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ไม่ได้นำมาใช้ในการดำเนินงานจะถูกปลดอำนาจ โดยวิธีการชำระสะสางหนี้เงินกู้ที่ยังเหลือโดยแลกเปลี่ยนกับหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดอกเบี้ยสะสมทั้งหมดนับจนถึงวันที่ทำสัญญาจะนำมาเป็นเงินทุน

ค. ส่วนของเงินลงทุนจะจัดแบ่งดังนี้ 49% เป็นของเจ้าของปัจจุบัน 40% เป็นของอควา โกลด์ และ 11% เป็นของสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งจะมีอำนาจงดออกเสียงในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของและฝ่ายจัดการ อาควา โกลด์ จะซื้อส่วนแบ่ง 40% ในบริษัทโดยถือตามมูลค่าบัญชีในเวลาซื้อขายหุ้น

ง. หุ้นของเจ้าของปัจจุบันจะยังคงใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อค้ำประกันหนี้ที่ยังคงค้างชำระ เงินที่จะชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะมาจากเงินปันผลที่บริษัทประกาศซึ่งเท่ากับ 60% ของกำไรทั้งหมดของบริษัท หุ้นเหล่านี้จะกลับไปเป็นของเจ้าของปัจจุบันทันทีที่ชำระคืนหนี้สินทั้งหมดแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.