"BUSSINESS ADVISORY THAILAND ผู้มากับ "ความล้มเหลว"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อไมเคิล เซลบี้ ดังขึ้นครั้งแรกในห้วงเวลาของความพยายามกอบกู้สถานการณ์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ปฐมสยาม ของกลุ่ม พีเอสเอ.โดยการชักนำเอจีซี (AUSTRALIA GARUNTEE CORPERATION) เข้ามาเทคโอเวอร์เพื่อแก้วิกฤติการณ์ธุรกิจของกลุ่ม พีเอสเอ. ในเปราะสำคัญเปราะหนึ่ง

เขา-ในฐานะผู้บริหาร BUSSINESS ADVISORY THAILAND (BAT) ซึ่งไม่ค่อยจะมีใคร "ภูมิหลัง" มากนัก กลายเป็นบริษัทเข้ามาจัดการปรับโครงสร้างและทำแผนการชำระหนี้สินของบรรดากลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ ที่มีปัญหาทั้งหลายในประเทศ

จะว่าด้วยเหตุผลแท้จริงเป็นอะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เอจีซีสามารถเข้ามาแบบปฐมสยามสำเร็จแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเอจีซี (ประเทศไทย) แต่ BUSSINESS ADVISORY THAILAND ก็ดังติดหูติดปาก บรรดาธนาคารพาณิชย์เมืองไทยเสียแล้ว

อย่างไรก็ตามมีผู้อธิบายความสำเร็จครั้งนั้นไว้หลายสูตร บางสูตรว่าเพราะแบงก์ชาติและกระทรวงการคลังร่วมหอลงโลงด้วย การเจรจาที่เคยค้างเติ่งตั้งแต่ต้นปี 2529 จึงสำเร็จได้ในปลายปี บ้างก็ว่า เพราะบรรดาเจ้าหนี้รายใหญ่เป็นชาวต่างชาติ พูดภาษาเดียวกับไมเคิล เซลบี้ ประกอบกับเอจีซี มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ต้องยอมรับกันว่าบีเอทีดังเร็วเหมือนพลุ ซึ่งอาจจะหมายถึงเวลาดับด้วย!??

จนถึงวันนี้ "ภูมิหลัง" ของกลุ่มนี้ก็ทราบเพียงว่าเคยหากินอาชีพเดียวกันนี้ที่ มาเลเซียและอินโดนีเซียมาก่อน จะด้วยเหตุผลที่งานไม่มี หรือไม่มีใครจ้างไม่ทราบชัด จึงย้ายฐานเข้ามาเมืองไทย ผู้ก่อตั้งและบุคคลสำคัญของบีเอที นอกจากไมเคิล เซลบี้แล้วก็มีคริสเตียนนี่ เดอฟอร์ด ภรรยาของอดีตผู้จัดการธนาคารเชสแมนฮัตตัน ในประเทศไทยซึ่งเธอเป็นผู้หญิงที่เก่งมากคนหนึ่ง สามารถชักนำเซลบี้เขาคลุกกับวงการธนาคารต่างประเทศได้

แต่แล้วสามีของเธอต้องถูกย้ายออกจากประเทศไทย ไปทำงานในที่ที่รู้สึกว่าถูกลงโทษ เขาจึงลาออก คริสเตียนนี่ เดอฟอร์ดจึงถอนตัวออกจากบีเอทีจากเมืองไทยชนิดไม่เหลียวหลัง

"เขาว่ากันว่าที่ผ่านมาเชสแมนฮัตตันแบงก์ในเมืองไทยมุ่งสนับสนุนกิจการใหญ่ อาทิ พีเอสเอ. มาบุญครองอะไรเทือกนี้ จึงเจอหนี้สูญเยอะ ผลงานไม่ประทับใจ มิสเตอร์ เดอฟอร์ดจึงถูกย้าย" วงการพูดกันอย่างนั้น

ภายหลังจากเดอฟอร์ดไปแล้ว ไมเคิล เซลบี้ก็ได้น้องชายเดวิด เซลบี้ ซึ่งจบกฎหมายจากสหรัฐฯมาช่วยงานอีกคน

จากความสำเร็จที่กลุ่ม พีเอสเอ. บีเอทีจึงรับงานชิ้นใหญ่ ๆ อีกหลายชิ้น ซึ่งรวมถึงมาบุญครอง สยามกลการและไทยเสรีห้องเย็น

ที่มาบุญครองนั้นเซลบี้ดังมาก เพราะต้องให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน ดูเหมือนบางครั้งจะเหนื่อยกว่าการจัดทำแผนเสียด้วย คำพูดที่เซลบี้พูดครั้งแล้วครั้งเล่าก็คือ "จะลงนามกันเร็ว ๆ นี้" ซึ่งหมายถึงแผนการชำระหนี้ของเขาได้รับความเห็นชอบทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ อันเป็นยอดปรารถนาของเขา

เขาพูดเช่นนี้เป็นปีแล้วก็ได้เฉพาะกรณีมาบุญครอง!!

ส่วนสยามกลการ นั้นการดำเนินงานเป็นไปอย่างเงียบเชียบแต่ลึก ๆ ก็ว่าเขาต้องถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายในบางครั้งกับนุกูล ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการบริหารสยามกลการส่วนที่ไทยเสรีห้องเย็นนั้นก็ตกม้าตายตั้งแต่ยกแรก เพราะบรรดาเจ้าหนี้ไม่รับข้อเสนอ ทั้งยังหันไปทำแผนการเอง

สิ่งที่เจ้าหนี้ซึ่งหมายถึงบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ยอมก็คือบีเอที มักจะเสนอให้ตัดหนี้สูญทันที 20% อะไรทำนองนี้

"ในประเทศไทยโครงสร้างทางกฎหมายไม่เอื้ออำนวยและสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ ธนาคารเจ้าหนี้ไม่สามารถตัดหนี้สูญและได้เครดิตภาษีโดยไม่ต้องฟ้องร้อง" เขาเคยกล่าวในงานสัมนาเรื่องกฎหมายล้มละลายเมื่อไม่นานมานี้

เขามีทรรศนะในการฟื้นฟูกิจการที่มีปัญหาไว้ว่า หนึ่ง-โดยพื้นฐานแล้วธุรกิจนั้น สามารถดำเนินต่อไปอย่างมีกำไรหรือไม่ สอง-หากมี ความเป็นไปได้ ในกรณีที่หนี้สินมากเกินไป ธนาคารเจ้าหนี้ควรยอมขาดทุนบ้าง และ สาม-เจ้าของกิจการได้รับความเชื่อถือจากเจ้าหนี้เพียงใด

ก็ต้องนับว่าเขาไม่เลวนักหรอก เพียงแต่ว่าผลงานใหญ่ที่กำลังปลุกปล้ำยังไม่สัมฤทธิ์ผลเท่านั้น??



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.