"ไลก้า" IN SEARCH OF EXCELLENC


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

สโมสรไลก้า หรือ LICACLUB ซึ่งย่อมาจาก LIFE INSURANCE COUNSELLOR ASSOCIATION นั้น เป็นสโมสรที่ตัวแทนขายฯ เอไอเอ ร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิชาการขายและประกันชีวิตแก่บรรดาสมาชิก กล่าวได้ว่าไลก้าเป็นปัจจัยที่สำคัญตัวหนึ่งส่งเสริมให้ตัวแทนของเอไอเอเป็นตัวแทนที่มีคุณภาพ

ถ้าจะคิดจากจำนวนเต็ม 100 ของการส่งเสริมความรู้การฝึกอบรมและพัฒนาคุณภาพทั้งหมดที่ตัวแทนเอไอเอได้รับแล้ว 20% ตัวแทนได้จากบริษัทส่วนอีก 80% นั้นได้จากการฝึกอบรมและพัฒนากันเอง และเป็นที่รู้กันว่าเกือบครึ่งหนึ่งของ 80% นั้นตัวแทนได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการบรรยายและสัมนาทางวิชาการที่จัดขึ้นโดยไลก้า

"ไลก้าเกิดจากเจตนารมย์ของนักขายรุ่นพี่ ๆ ได้ร่วมกันก่อตั้งสโมสรนี้ขึ้นเพื่อให้ความรู้ทางวิชาการ ให้ช่วยกันรักษาจรรยาบรรณของการเป็นนักขายที่ดี สนับสนุนนักขายรุ่นน้องให้มีกำลังใจ การอบรมตัวแทนนั้น ส่วนใหญ่ทำกันเอง บางหน่วยที่ยังเล็กไม่เข้มแข็ง การฝึกฝนของหน่วยอาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะความรู้ทางวิชาการ ในกรณีนี้ไลก้าจะเป็นประโยชน์มาก" ชูลักษณ์ แสงอุไรพร ประธานสโมสรฯ ปัจจุบันกล่าวกัน "ผู้จัดการ"

จากวันที่เจตนารมย์ของตัวแทนรุ่นก่อน ๆ ได้ก่อตัวเป็นรูปร่างจนถึงวันนี้ ไลก้ามีอายุได้ 23 ปีแล้ว พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมในแต่ละช่วงเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของสโมสรแห่งนี้ ทั้งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของคุณภาพตัวแทนได้เช่นกัน

กิจกรรมที่เด่นที่สุดของไลก้าเห็นจะได้แก่การจัดให้มีการบรรยายทางวิชาการเป็นประจำทุกเดือน และการจัดให้มีการสัมมนาใหญ่ปีละครั้ง

"ระยะแรก ๆ เราจัดที่บริษัท มีคนเข้าร่วม 40-50 คนแล้วเพิ่มเป็น 300-400 คน มา 2-3 ปีหลังนี้ผู้เข้าร่วมฟังบรรยายทางวิชาการแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่าพันคน ต้องไปจัดตามโรงแรมที่มีห้องประชุมใหญ่ ๆ นั่นแสดงว่าตัวแทนซึ่งเป็นสมาชิกไลก้าให้ความสนใจและอยากได้ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเองมากขึ้น" อดีตประธานสโมสรฯ คนหนึ่งกล่าวถึงการเพิ่มจำนวนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมไลก้าอย่างก้าวกระโดดจากเมื่อครั้งมีตัวแทนประมาณ 2,000 คน มีผู้เข้าร่วมครั้งละประมาณ 300-400 คน แต่ขณะนี้มีตัวแทนประมาณ 4,500 คน มีผู้เข้าร่วมในบางครั้งถึง 1,500 คน

ถึงแม้ไลก้าจะอยู่ในความอุปถัมภ์ของเอไอเอก็ตาม แต่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินและวิชาการจากบริษัทในระยะเริ่มแรกเท่านั้น ในปัจจุบันเอไอเอไม่ได้ให้ความสนับสนุนทางด้านการเงินอีกแล้ว รายได้ส่วนใหญ่ของไลก้าจึงได้จากสมาชิกที่เป็นตัวแทนซึ่งมีสัญญาตัวแทนอยู่กับเอไอเอ ประมาณ 4,500 คน ๆ ละ 200 บาทต่อปี

"รายได้อื่น ๆ ก็ได้จากการขายเทป และหนังสือทางวิชาการที่บรรดาสมาชิกให้ความสนใจสนับสนุนช่วยกันซื้อ" ชูลักษณ์ บอก "ผู้จัดการ" ว่าถึงเวลาที่ต้องช่วยตัวเองแล้ว

การบรรยายทางวิชาการของไลก้าจะเน้นวิชาการขายเป็นหลัก วิทยากรที่มาบรรยายจะคัดเลือกจากตัวแทนขายที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นผลให้ผู้เข้าร่วมได้ประโยชน์จากประสบการณ์ขายโดยตรงทำให้เรียนรู้ได้ง่ายและเร็วเพราะเป็นความรู้ใกล้ตัวที่สุด ทั้งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านวิทยากรเพราะผู้ที่ได้รับเชิญมาบรรยาย ก็เป็นตัวแทนขายรุ่นพี่ที่ยินดีจะถ่ายทอดความรู้มากกว่าความต้องการที่จะรับค่าบรรยาย

"เราให้ความรู้ BY EXAMPLE นำการกระทำด้วยตัวอย่างที่ดีของคนที่มีประสบการณ์ เราไม่เชื่อทฤษฎีล้วน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ยอมรับวิทยาการภายนอก เพียงแต่ในสังคมเฉพาะส่วนนี้เราเน้นวิชาการขายอย่างเดียว" ชูลักษณ์ ยืนยันว่าไลก้าไม่มีนโยบายเชิญวิทยากรจากภายนอก

เมื่อกิจกรรมหลักของไลก้าเป็นการบรรยายทางวิชาการคำว่า "วิชาการ" ควรให้ความรู้สึกน่าเบื่อมากกว่าน่าสนใจ

คำถามจึงตามมาว่าทำไมกิจกรรมของไลก้าจึงได้รับความสนใจจากสมาชิกเพิ่มขึ้น ๆ ถ้าเปรียบเป็นเส้นกราฟ ก็เป็นเส้นกราฟที่ชี้ขึ้นโดยไม่มีทีท่าว่าจะตกทำไมสมาชิกยอมออกจากบ้านในวันอาทิตย์ที่ควรเป็นวันพักผ่อนส่วนตัว และยินดีเสียเงินอีก 50 บาทเพื่อเข้าไปนั่งฟังการบรรยายร่วมกับคนนับพัน อีกทั้งเมื่อการบรรยายสิ้นสุดก็เดินออกจาห้องด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสซื้อเทปและหนังสือทางวิชาการติดมือกลับบ้านด้วยความเต็มใจ

คำตอบก็คือการจัดระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพของไลก้านั่นเอง กรรมการบริหาร 31 คนและคณะกรรมการที่ปรึกษาอีก 5 คนจะรับผิดชอบหน้าที่ของตนอย่างขยันขันแข็ง ประกอบกับรูปแบบของกิจกรรมและการนำเสนอได้พัฒนามาตลอด 23 ปี

"กรรมการที่เดินทางไปประชุม สัมนาต่างประเทศบ่อย ๆ จะนำเอาประสบการณ์มาประยุกต์ใช้และพัฒนาการนำเสนอให้น่าสนใจยิ่งขึ้น" กรรมการบริหารไลก้าคนหนึ่งเผย

วิทยากรที่มาร่วมกิจกรรนั้น นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างมีรสชาติและไม่น่าเบื่อ เพราะฉะนั้นการเลือกวิทยากรแต่ละครั้ง ไลก้าได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้ได้ผู้ที่เหมาะสมกับเรื่องที่บรรยายที่สุดว่ากันว่าต้องมีแมวมองคอยจับตาหาผู้ที่จะมาเป็นวิทยากรเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นหากวิทยากรที่ได้รับเชิญมาบรรยายแล้วพูดผิดประเด็น นอกเรื่องหรือเรียกความสนใจไม่ดีพอ จะตกการสำรวจไปอีกนานจนกว่าจะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น

นอกจากนี้การเตรียมงานที่ดี การนำเสนอที่ไม่น่าเบื่อมีรูปแบบใหม่ ๆ เสมอ เช่น การให้แสง เสียงเข้าช่วย การจัดอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์อย่างเป็นระบบการควบคุม และแบ่งเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ เหล่านี้เมื่อนำมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วจึงไม่เป็นการยากเลยที่จะสะกดผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายในแต่ละครั้งจำนวนพันกว่าคนไว้ได้ตลอดเวลา 2-3 ชั่วโมง

ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมที่ไหน ทุกครั้งก่อนการบรรยายทางวิชาการผู้เข้าร่วมทั้งหมดจะต้องปฏิญาณตนในจรรยาบรรณของตัวแทนขายประกัน มือของคน 1 พันกว่าคนชูขึ้นในท่าปฏิญาณตน เสียงของคน 1 พันกว่าคนเปล่งออกมาพร้อม ๆ กันกระหึ่มไปทั่วห้อง ตามด้วยเพลงมาร์ช เอไอเอ ที่คน 1 พันกว่าคนร่วมกันร้องปลุกความรู้สึกที่จะแสวงหาความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเร่งเร้าความรู้สึกหึกเหิมที่จะขายอย่างไม่เกรงอุปสรรคใด ๆ จากนั้นรายการบรรยายทางวิชาการที่สนุกสนาน และได้ความรู้ที่สอดแทรกวิญญาณของการเป็นนักขายให้ตัวแทน "ขาย" ตลอดเวลาจึงเริ่มขึ้น...

"มาร่วมทุกครั้งเพราะได้ความรู้ สนุก เรียนรู้ได้เร็วขึ้นจากประสบการณ์ที่วิทยากรนำมาถ่ายทอดให้" ตัวแทนคนหนึ่งที่เข้าร่วมในการบรรยายครั้งล่าสุดของไลก้ากล่าวกับ "ผู้จัดการ"

วันนี้ไลก้าไม่เป็นเพียงแค่สโมสรที่มีกิจกรรมหลักเพื่อความรู้ทางด้านวิชากรในโลกประกันชิวิต ที่ตัวแทนเอไอเอยินยอมพร้อมใจให้ความร่วมมือและสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น

แต่วันนี้ไลก้ากลายเป็นผู้นำลัทธิอีกลัทธิหนึ่งแล้ว เป็นลัทธิเพื่อพิชิตความเป็นเลิศในการขาย!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.