ALIEN" ในวงการธุรกิจยาไทยโยงใยสายสัมพันธ์ถึงมาร์กอส!?


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐบาลนางอาคิโนแห่งฟิลิปปินส์กำลังหัวปั่นในกรณีโรงงานผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีส่วนพัวพันกับมาร์กอส-อดีตประะานาธิบดีผ้เองอำนาจเป็นข่าวอื้อฉาวมาก ๆ ข่าวหนึ่ง…

ในประเทศไทย คงไม่มีใครคาดคิดกันว่า โรงงานผลิตยาอันทันสมัยที่สุดของประเทศ ซึ่งกำลังรอฤกษ์ดีเปิดอย่างเป็นทางการนั้น มีสายโยงใยเกี่ยวข้องกับมาร์กอสด้วยดุจเดียว

โรงงานผลิตแอมพิซิลิน และเอมอคซี่ซิลินแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี ทางเหนือของกรุงเทพฯ ชั่วเดินทางโดยรถยนต์จากใจกลางเมืองหลวงไม่เกิน 1 ชั่วโมง

อาคารโรงงานและเครื่องจักรมูลค่าประมาณ 85 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 9 ไร่ซึ่งซื้อมาด้วยราคา 4,237,439 บาท!!!

เป็นโรงงานผลิตยาขั้นกลาง (INTERMEDIATE) แห่งแรกที่รัฐวิสาหกิจไทยองค์การเภสัชกรรมเข้าถือหุ้นมากกว่าครึ่งหนึ่ง ยาปฏิชีวนะประเภทนี้ที่ผ่านมาต้องนำเข้าตลอดมา นับเป็นโรงงานผลิตยาที่ก้าวหน้ากว่าการบรรจุหีบห่อ ผสมดุจเดียวกับโรงงาน 99% ในประเทศไทย

เป็นโรงงานที่พยายามต่อสู้ขวากหนามมาเกือบ 7 ปีเต็ม จากความคิดริเริ่มตั้งแต่ปี 2523 อันเป็นปีที่เมืองไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศมีมูลค่าถึง 8,200 ล้านบาท จนถึงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 และเปิดเดินเครื่องผลิตเพื่อการค้า วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ด้วยกำลังการผลิตเพียง 20% ของความสามารถการผลิตเท่านั้น ขณะนี้กำลังรอฤกษ์พิธีเปิดอย่างเป็นทางการอยู่

เป็นโรงงานที่วงการยาในประเทศไทยวิพากษ์วิจารณ์อย่างเอนจอยปาก ถึงขั้นตั้งคำถามไปที่จุดเริ่มต้นว่า มันมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยาเมืองไทยหรือไม่? คุ้มกับการลงทุนร่วม 200 ล้านบาทสักเพียงใด ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเพียง 20% ของกำลังการผลิตขายไม่ออกต้องบังคับให้ผู้ถือหุ้นซื้อในราคาที่แพงกว่านำเข้าจากต่างประเทศระหว่าง 10-20% ทั้งวัตถุดิบต้องนำเข้าถึง 80% ด้วย

และ "ผู้จัดการ" สืบค้นพบว่า โรงงานแห่งนี้เป็นผลแห่งความร่วมมือระหว่างผู้อำนวยองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ ผู้นั่งเก้าอี้ตัวนี้นานถึง 6 ปี กับเพื่อนสนิทของมาร์กอส อดีตประธานาธิบดีไร้แผ่นดินของฟิลิปปินส์

สิ่งที่ "แปลกประหลาด" นี้เป็นคำถามที่รอคำตอบอย่างใจจดใจจ่อ จากผู้เกี่ยวข้องและสนใจ!!!

โรงงานผลิตยาปฏิชีวนะแห่งนี้ใช้ชื่อว่าบริษัทยูไนเต็ดฟาร์มา แอนตี้ไบโอติคส์ อินดัสตรีส์ (ยูพีเอ)

คนสำคัญที่สุดที่ลุ้นเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ก็ยังยึดเก้าอี้ประธานกรรมการบริษัทนี้อยู่คือนายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์วัย 59 ปี ชาวยโสธร ผู้คลุกคลีกับวงการแพทย์ในภาคเหนือไม่ต่ำกว่า 15 ปี เริ่มต้นด้วยการสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีในปี 2518 และหลังจากนั้นเพียงปีเดียวก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม ๆ กับดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารกลาง พอ. สว. (แพทย์อาสาของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ฯ)

เขาเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขในรัฐบาลหอยธานินทร์ กรัยวิเชียร ระยะหนึ่ง และกลับดำรงตำแหน่งเดิมอีกครั้งในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เป็นนายกรัฐมนตรีช่วงปี 2522 อันเป็นวาระสุดท้ายของการเป็นรัฐมนตรี ความคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยของเขาก็เกิดขึ้น

ต่อจากนั้นนายแพยท์ยงยุทธ ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมและอยู่ที่นี่นานถึง 6 ปีเต็ม นานพอจะเดินเครื่องโครงการใหญ่ ๆ เกือบ 200 ล้านบาทได้สำเร็จ ตามสไตล์การบริหารงานแบบไทย หากลงเก้าอี้แล้วยากจะหาคนสานโครงการต่อไป

ความคิดของเขาเริ่มเป็นจริงเป็นจังเมื่อกำหนดแผน 5 ปีขององค์การฯ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาของประเทศฉบับที่ 5 โดยสาระสำคัญประการหนึ่งระบุว่าจะผลิตเคมีภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมยาในประเทศ

"ผมใช้เวลาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการถึง 2 ปี" นพ. ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ก่อนที่แผน 5 ปีขององค์การเภสัชกรรมจะบรรจุโครงการดังกล่าวเอาไว้ด้วย

ต่อจากนั้นก็คือการเดินทางไกลตามขั้นตอนของทางราชการ จากสภาพัฒนา ครม. จนถึงประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าร่วมในการประมูลนานาชาติ (INTERNATIONAL BIDDING) ซึ่งปรากฏว่ามี 14 บริษัททั่วโลกเสนอตัวเข้ามา พอผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติสุดท้ายก็เหลือเพียง 3 ราย จากประเทศเกาหลีใต้ สเปน และฟิลิปปินส์ ในที่สุดรายหลังก็ชนะการร่วมทุน "เพราะราคาโนวฮาวถูกที่สุด" หมอยงยุทธแจงเหตุผลสั้น ๆ และง่าย

กว่าจะได้จดทะเบียนตั้งบริษัทก็ตกถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2526

บริษัท ยูไนเต็ด ฟาร์มา แอนตี้ไบโอติคอินดัสตรีส์ (ยูพีเอ) มีทุนจดทะเบียนครั้งแรก 50 ล้านบาท ผู้ก่อการเป็นคนไทยทั้งสิ้นและก็นำทีมโดยหมอยงยุทธเอง ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2527 บริษัทได้เปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นขอแก้ไขข้อบังคับของบริษัท สาระสำคัญอยู่ที่โครงสร้างผู้ถือหุ้น กล่าวคือระบุว่า องค์การเภสัชกรรมถือหุ้นไม่เกิน 45% ต่างประเทศถือหุ้นไม่เกิน 40% ที่เหลือเป็นภาคเอกชนไทย

ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าการแก้ไขครั้งนี้ก็เพื่อเปิดทางให้ฟิลิปปินส์เข้าถือหุ้นนั่นเอง

และหลังจากนั้นเพียง 3 วัน (25 กุมภาพันธ์ 2527) องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมเซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท ยูไนเต็ด ลาบอราตอรี่ อินคอร์เปอเรชั่น ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งสัญญาดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมอัยการเรียบร้อยแล้ว ในวันเดียวกันนั้นบริษัท ยูไนเต็ด ฟาร์มา แอนตี้ไบโอติค (ยูพีเอ) ได้ลงนามกับบริษัท ยูไนเต็ด ลาบอราตอรี่ อินคอร์เปอเรชั่น ในสัญญาช่วยเหลือทางด้านเทคนิคด้วย

จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2527 ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทผู้ถือหุ้นได้ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า ซึ่งหมายความว่ายูไนเต็ดแลปถือหุ้น 20 ล้านบาท

คณะกรรมการยูพีเอมีทั้งหมด 11 คน ฝ่ายองค์การเภสัชกรรม 5 คน ยูไนเต็ดแลป 4 คน และเอกชนไทย 2 คน แต่ที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ กรรมการดังกล่าวนี้ ได้คัดออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 4 คน กลุ่มแรกเป็นฝ่ายองค์การเภสัช ส่วนอีกกลุ่มเป็นฝ่ายยูไนเต็ดแลป กรรมการสองกลุ่มนี้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนในนามบริษัทจะต้องลงนามฝ่ายละ 1 คน

นักกฎหมายชี้ว่าฝ่ายฟิลิปปินส์แม้ถือ หุ้นเพียง 40% ก็มีอำนาจมากถึงกึ่งหนึ่งในการบริหารงาน

ต่อมาคณะกรรมการยูพีเอได้ตัดสินใจเลือกนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ตำบลคลองหนึ่งอำเภอคลองหลวง ปทุมธานีเป็นที่ตั้งโรงงาน "โรงงานประเภทนี้ต้องมีระบบถ่ายเทของน้ำดีมาก" นายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ บอกเหตุผลในการเลือกที่นี่ แทนการหาทำเลเองทั้งจะต้องจัด WATER TREATMENT เองเช่น โรงงานประเภทเดียวกันนี้ในย่านพระประแดง

ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ราคา 4,237,439 บาทและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการถมที่อีก 1,650,000 บาทด้วย

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2527 ได้ทำสัญญากับบริษัทที่ปรึกษา RESOURCES ENGINEERING&CONSULTANTS (REC.) เพื่อออกแบบโดยละเอียดเกี่ยวกับโรงงาน และควบคุมการก่อสร้างเฉพาะอาคาร (CIVIL WORK) และเจ้าหน้าที่เทคนิคด้านงานก่อสร้างและขบวนการผลิต (PROCESS) ของยูไนเต็ดแลป แห่งฟิลิปปินส์ได้เดินทางมาให้คำแนะนำรายละเอียดประกอบแบบแปลนพร้อมทั้งได้ส่งมอบรายละเอียดเครื่องจักรกล ที่จะต้องจัดหามาติดตั้งโรงงาน จนเป็นที่เรียบร้อยและเดินทางกลับไปเมื่อปลายเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน

เริ่มศักราชใหม่ปี 2528 ได้ดำเนินการจัดหาบริษัทก่อสร้างเริ่มตั้งแต่สืบราคารับซองประกวดราคา เปิดซองก็ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งปรากฏว่าบริษัท เวสกรุ๊ป (VEST GROUP) ของวิกรม เมาลานนท์ ชนะการประมูลครั้งนี้ในราคาประมาณ 25 ล้านบาทเริ่มแรกคิดกันว่า จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 8-10 เดือนแต่เอาเข้าจริงก็เลื่อนออกไปจากเดิมประมาณ เดือนมีนาคม 2529 เป็นเดือนกันยายนปี เดียวกัน

"หนึ่ง-บริเวณก่อสร้างโรงงาน มีชั้นดินแข็งเกินกว่าที่วิศวกรที่ปรึกษาคำนวณไว้ทำให้ขนาดความยาวของเสาเข็มที่กำหนดไว้ตอนแรก 21 เมตร ยาวเกินไป ต้องมีการลดขนาดความยาวของเสาเข็มลงเหลือ 15-16 เมตร และต้องตัดเสาเข็มบางต้นอีก ทำให้ผู้รับเหมาต้องเสียเวลาในการสั่งหล่อเสาเข็มใหม่ และตัดเข็ม สอง-แบบของวิศวกรที่ปรึกษามีปัญหา และไม่ชัดเจน ต้องแก้ไขเพิ่มเติม สาม-เนื่องจากฤดูฝนมาเร็ว และยาวนานกว่าปกติ ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำงาน และสี่-งานบางอย่างเช่นการทำพื้นอาคารผลิต การทาสี ต้องรอให้เครื่องจักรกลเสร็จก่อน" นี่เป็นเหตุผลที่ผู้รับเหมานำมาอ้างกับยูพีเอ โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าปรับแต่อย่างใด

ส่วนเครื่องจักรและส่วนประกอบในการผลิตยานั้นแต่เดิมกำหนดไว้ว่าสามารถจัดหาได้ภายในประเทศส่วนหนึ่งหรือมีมูลค่าประมาณ 21 ล้านบาท แต่ยูไนเต็ดแลปอ้างว่ายังไม่ได้มาตรฐาน ตามสเปคที่กำหนดจึงจัดซื้อได้เพียง 9 ล้านบาท ที่เหลือจำเป็นต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศโดยครั้งแรกประมาณกว่า 55 ล้านบาท แต่ด้วยการลดค่าเงินบาท ค่าเครื่องจักรจึงเพิ่มขึ้นเป็น 60,612,521.47 บาท

"ที่จริงไม่ใช่ปัญหาการลดค่าเงินบาทหรอกเป็นปัญหาเทคนิคอื่น ๆ มากกว่า" ผู้รู้เหตุการณ์ดีคอมเมนต์

วันที่ 22 มกราคม 2528 ยูพีเอได้เลือกรับความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งให้อัตราดอกเบี้ยถูกกว่าอีก 2 ธนาคารที่เสนอตัวเข้า (CITIBANK และ BANK OF AMERICA) ในจำนวนเงิน 125 ล้านบาท หลังจากนั้นครึ่งเดือนจึงได้ทำสัญญากู้เงินอย่างเป็นทางการ

สัญญามีรายละเอียด หนึ่ง-เงินกู้ยืม เพื่อเครื่องจักรในประเทศ 27 ล้านบาท (แต่ความจริงซื้อได้เพียง 9 ล้านบาท ที่เหลือต้องนำเข้า) สอง-เงินกู้ยืมเพื่อซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ 50 ล้านบาท สาม-เงินกู้ยืมเพื่อซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ 28 ล้านบาท และสี่-เงินกู้ยืมเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนหรือ โอ/ดีจำนวน 20 ล้านบาท โดยได้จำนองที่ดิน อาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นประกัน สัญญากู้ยืมฉบับนี้ได้แบ่งเงินกู้ไว้หลายจำนวน ซึ่งจะต้องการชำระคืนเป็น 11 งวด ๆ ละเท่ากันและมีกำหนดชำระทุก ๆ 6 เดือนตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นไป นอกจากนี้สัญญายังได้กำหนดเงื่อนไขบางประการเกี่ยวกับการดำเนิน และฐานะการเงินของบริษัทไว้ด้วย

ซึ่งผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมเปิดเผยเพียงแต่กล่าวว่าหาก BREAK EVEN ยืดออกไป ธนาคารกสิกรไทยคงไม่สบายใจนัก

โรงงานแห่งนี้เปิดทดลองเครื่องตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2529 เดินเครื่องผลิตเพื่อการค้า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 ด้วยกำลังการผลิต 30 ตัน/ปี ซึ่งจนถึงปัจจุบันผลิตไปแล้วประมาณ 15 ตัน คนงานทั้งหมดของโรงงานมี 81 คน โดยมี RAMOS วัย 28 ปี จากยูไนเต็ดแลปเป็นผู้ดูแลโรงงาน

วันที่ "ผู้จัดการ" ขอเข้าชมโรงงานศาสตราจารย์นายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ประธานกรรมการบริษัทยังต้องขออนุญาตจากนายคนนี้ซึ่งเป็นคนต่างชาติเพียงคนเดียวของบริษัทนี้อีกที

ยูไนเต็ด ลาบอราตอรี่ อินคอร์เปอเรชั่น (UNITED LABORATORIES INCORPERATION) แห่งฟิลิปปินส์ เรียกกันสั้น ๆ ว่า ยูไนเต็ดแลป (UNITED LAB) เป็นกลุ่มธุรกิจยาที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ มีส่วนแบ่งตลาดยาถึง 22.5% ในฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2529 หรือยอดขาย 1325.2 ล้านเปโซ (ประมาณ 57 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากยอดขายทั้งประเทศ 5,891.8 ล้านเปโซ (รายงานวงการอุตสาหกรรมยาในฟิลิปปินส์ฉบับล่าสุด ในการประชุมสหพันธ์อาเซี่ยน ระหว่าง 1-6 ธันวาคม 2529 ที่กรุงเทพฯ โดย GREGORIO/SYCIP. President&General Maneger, Blooming Field Philippines, Inc.

โจเซ่ วาย แคมโพส (JOSE Y CAMPOS) ชาวจีนโพ้นทะเล (OVERSEA CHINESE) ที่เปลี่ยนชื่อให้กลมกลืนกับสังคมฟิลิปปินส์คือเจ้าของกิจการนี้ที่เปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันอายุ 65 ปี เขาจัดอยู่ในทำเนียบเพื่อนเก่าแก่และเกื้อกูลกันและกันของมาร์กอส อดีตประธานาธิบดีผู้เถลิงอำนาจยาวนานถึง 20 ปีในฟิลิปปินส์

ด้วยเหตุนี้ยูไนเต็ดแลปจึงสามารถแสดงบทบาทกึ่งผูกขาดกิจการยาในประเทศนั้น ซึ่งดูจะยิ่งใหญ่กว่าองค์การเภสัชกรรมไทยด้วยซ้ำ อันเป็นที่รู้กันว่า ได้รับอภิสิทธิ์มากมายในการดำเนินธุรกิจ

"ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ฟิลิปปินส์ครั้งที่แล้ว ผลิตภัณฑ์ยาของยูไนเต็ดแลป ปลิวว่อนทั่วเมืองช่วยสนับสนุนการหาเสียงของมาร์กอส" แหล่งข่าวกล่าว

ครั้นมาร์กอสจำต้องระเห็จออกจาก ฟิลิปปินส์ โจเซ่ วาย แคมโพสได้ให้การต่อรัฐบาลใหม่ของนางอควิโน่ถึงความสัมพันธ์อันล้ำลึกของเขากับมาร์กอส!

แคมโพสกล่าวว่าเขาถือหุ้นแทนมาร์ กอสมากถึง 2.2 พันล้านหุ้นในกิจการต่าง ๆ และเป็นกรรมสิทธิ์ (แทนเพื่อน) ในอสังหริมทรัพย์อีกจำนวนมากที่บันทึกไว้ในกระดาษจำนวน 9 หน้า ยิ่งไปกว่านั้นได้เปิดเผยว่าเขาได้ตั้งบริษัทต่าง ๆ เพื่อปิดบังเจ้าของที่แท้จริง (มาร์กอสนั่นแหละ) อีกไม่น้อยกว่า 34 กิจการ

ทั้งหลายทั้งปวงของความมี "เลศนัย" ของเขาก็เพื่อความเป็นเจ้าของธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์นั่นเอง

ทั้งนี้รวมกิจการในต่างประเทศด้วย ซึ่งยังเป็นที่สงสัยกันว่ารวมทั้งบริษัทยูไนเต็ดฟาร์มา แอนตี้ไบโอติค อินดัสตรีส์ (ยูพีเอ) ในเมืองไทยด้วยหรือไม่?

หากพลิกดูทะเบียนผู้ถือหุ้นในยูพีเอจะพบ "ข้อมูลแปลก ๆ" บางประการ ในจำนวน 2 หมื่นหุ้นที่ถือในนามฟิลิปปินส์นี้ ปรากฏว่าบริษัทยูไนเต็ดลาบอราตอรี่ส์ (ปานามา) จดทะเบียนในฮ่องกง ถือหุ้นถึง 19,996 หุ้น ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลในรายงานการประชุมอย่างเป็นทางการของยูพีเอระบุชัดว่าองค์การเภสัชกรรมได้ลงนามร่วมทุนกับยูไนเต็ดแลปในฟิลิปปินส์

โจเซ แคมโพส มีธุรกิจในหลายประเทศ นอกจากฟิลิปปินส์แล้วก็มีฮ่องกง อินโดนีเซีย และประเทศไทย กิจการของเขาในประเทศไทยลงรากหยั่งลึกมานานพอสมควร นานพอจะมีอิทธิพลในระดับต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยา

บริษัท เกร๊ตอิสเทอร์นดรักส์ และบริษัทไซอเมริกาฟาร์มาซูติคอล เป็น 2 บริษัทที่โจเซ่ แคมโพส ฝังรากในประเทศไทย เมื่อปี 2504 และ 2512 ตามลำดับ โดยบริษัทแรกพัฒนาจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์มาเป็นผู้ทำหน้าที่การตลาดในบริษัทหลังซึ่งได้สร้างโรงงานผสมยาขึ้นในประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า FORMULATION

กิจการยาของเขาทั้งสองบริษัทดำเนินการไปอย่างราบรื่น และเงียบด้วยผลประกอบการอยู่ในขั้นพอใจ

บริษัท เกร๊ตอิสเทอร์น ดรั๊ก ยอดขายปีละประมาณ 150 ล้านบาท กำไรประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนบริษัทไซอเมริกันฯ ยอดขายประมาณ 50 ล้านบาท กำไรประมาณ 5 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ยาที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ ยาแก้ปวด "ดีโคลเจ้น" ในตลาดขายปลีก

โจเซ วาย แคมโพส มี "เทคนิค" การดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว อธิบายได้ด้วยกรณีในประเทศไทย แต่เดิมกิจการในประเทศไทยเขาจะถือหุ้นด้วยตนเอง ต่อมาได้โอนหุ้นให้กับบริษัทในฮ่องกงบริษัทแพน แปซิฟิคอินเวสต์เม้นท์ ถือหุ้น 99% ในบริษัทเกร๊ตอิสเทอร์นดรั๊ก และบริษัทยูนัม คอร์เปอเรชั่นที่ฮ่องกง ถือหุ้น 99% ในบริษัท ไซอเมริกัน ฟาร์มาซูติคอล

ความจริงแล้วยูไนเต็ดแลปพัฒนาโนฮาวในอุตสาหกรรมยามาจากความร่วมมือจากบริษัทในต่างประเทศมาช้านาน เช่น อิมพีเรียล เคมีคอล อินดัสตรีส์ (ไอซีไอ) และบีแชม ลาบอราตอรี่ แห่งอังกฤษ และจีดี. เซิล แอน์เชอริ่ง ในสหรัฐ เป็นต้น

จากประสบการณ์ที่ร่วมทุนดำเนินอุตสาหกรรมยาขั้น FORMULATION จึงได้พัฒนาการตั้งโรงงานผลิตยาขั้นกลางประเภทแอนตี้ไบโอติคส์ขึ้นมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จดีนัก ต่อมาเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วมานี้ยูไนเต็ดแลปได้ร่วมทุนกับบริษัทพีทีเมดิฟาร์มา (P.T. MEDIPHARMA) กับครอบครัวซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย โดยอาศัยความสนิทสนมระหว่างประธานาธิบดีทั้งสองประเทศเป็นสายสัมพันธ์เชื่อมต่อ

โนฮาวการผลิตยาประเภทแอนตี้ไบโอติคส์ที่ยูไนเต็ดแลปอวดอ้างสรรพคุณเพื่อขอร่วมทุนกับองค์การเภสัชกรรมในประเทศไทยนั้น มักจะกล่าวว่าเป็นการพัฒนาและสะสมประสบการณ์ทั้งในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามข้ออ้างนี้มักจะขัดแย้งกับนักอุตสาหกรรมระดับนานาชาติบางคนที่มองว่าโนฮาวนั้นไม่ได้มาตรฐานเพียงทั้งสองประเทศ เพียงแต่สิ่งที่เหมือนกับของการลงทุนในอินโดนีเซียและไทยก็คือการจับเส้นที่ถูกต้องระหว่างผู้มีอำนาจเท่านั้น

เจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรมเองก็ยอมรับว่าในบรรดาเจ้าของโนฮาวการผลิตแอนตี้ไบโอติคส์ ประเทศที่เข้ารอบสุดท้ายนั้น แม้ว่าของสเปนจะราคาสูงเกินจะเข้าข่ายพิจารณา แต่ของ Dongchin จากเกาหลีใต้นั้นราคาถูกกว่ายูไนเต็ดแลปด้วย แต่คณะกรรมการกลับเลือกยูไนเต็ดแลป

"ค่าโนฮาวของยูไนเต็ดแลปจ่ายครั้งเดียวราคาประมาณ 12 ล้านบาท แต่ของเกาหลีใต้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ที่เราไม่เอาของเกาหลีใต้เพราะโรงงานเล็กไม่ได้คุณภาพ" เขาให้เหตุผลที่ลึกกว่าเหตุผลของหมอยงยุทธ

เพียงเหตุผลแค่นี้เท่านั้นหรือ? ที่องค์การเภสัชกรรมยอมให้ยูไนเต็ดแลปจากเงินอีกเพียง 8 ล้านบาทเท่านั้นสมทบกับค่าโนฮาว จึงสามารถกลายเป็นผู้ถือหุ้นถึง 40% ในยูพีเอได้

โจเซ่ แคมโพส เคยมาเมืองไทยหลายครั้ง นายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ยอมรับว่าเขาเคยมาเยี่ยมครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้

คำถามที่ถูกตั้งขึ้นขณะนี้ก็คือจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่ากิจการในประเทศไทยเหล่านี้เกี่ยวข้องกับมาร์กอสอย่างไร แต่เมื่อคิดกันลึก ๆ จะพบว่าทรัพย์สินของกลุ่มนี้ที่ "ผู้จัดการ" ประเมินคร่าว ๆ เพียง 135 ล้าน ในอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยนี้ เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่อดีตประธานาธิบดีกับภรรยานำไปซุกซ่อนทั่วโลกที่รัฐบาลนางอควิโนกำลังล่าดุจนิยายเรื่องคิงส์สโลมอนมายน์นั้น นับว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก

คำถามนี้จึงดูไม่เร้าใจไปกว่า ยูพีเอ. อันเป็นผลพวงของความพยายามของนายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขนั้นมีค่าแก่วงการอุตสาหกรรมยาประเทศเราสักเพียงใด?

ประเทศไทยที่ผ่านมาต้องนำเข้า AMPICILLIN, AMOXYCILLIN และ CLOXACILLIN ปีละ 70 ตัน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท เป้าหมายของยูพีเอ ในการสร้างโรงงานนี้มาก็เพื่อทดแทนการนำเข้าในขั้นแรก "เรามีแผนการส่งออกด้วยขณะนี้กำลังมองตลาดแถวตะวันออกกลาง" นายแพทย์ยรรยง ภูตระกูล กรรมการผู้จัดยูพีเอ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ปัจจุบันยูพีเอ ผลิตได้เพียง 30 ตัน/ปี ขายให้องค์การเภสัชกรรม และบริษัทไซอเมริกัน ฟาร์มาซูติคอล ของกลุ่มยูไนเต็ดแลปในประเทศไทยเท่านั้น

"ราคาผลิตภัณฑ์ของเราอยู่ในระดับเดียวกันกับการนำเข้า" นายแพทย์สุเทพ บุณยสุขานนท์ เลขานุการคณะกรรมการ ยูพีเอ. ยืนยันกับ "ผู้จัดการ"

ราคาประมาณตันละ 2.65-2.8 ล้านบาท/ตัน ซึ่งข้อมูลตรงนี้ขัดแย้งกับข้อมูลในวงการยาพอสมควร ซึ่งอ้างว่าราคา AMPICILLIN และ AMOXYCILLIN ของยูพีเอยังสูงกว่าราคานำเข้าระหว่าง 10-20% ทั้งคุณภาพก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร

นายแพทย์ยรรยง กล่าวว่าตามแผนการนั้น ยูพีเอ. จะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 6-7 ปี นับจากปี 2530 เป็นต้นไป โดยมีข้อแม้ว่าปริมาณการผลิตเพียงพอทดแทนการนำเข้าจำนวน 70 ตัน/ปี และยังเหลือส่งออกด้วย

ภายใต้เงื่อนไขนี้คณะกรรมการจึงมีแผนจะเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge) เป็นกำแพงภาษีสำหรับการผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันกับที่นำเข้าจากต่างประเทศ "ผลนี้จะทำให้ราคา AMPICILLIN และAMOXYCILLIN จากต่างประเทศราคาสูงกว่าที่ผลิตจากยูพีเอ" เจ้าหน้าที่ของ ยูพีเอ. แสดงความเชื่อมั่น

ผู้สังเกตการณ์ทั้งหลายเชื่อว่า บีโอไอ. คงสนองความต้องการของยูพีเอ แน่นอนในฐานะที่ให้การส่งเสริมกันอย่างเต็มที่ตลอดมาอยู่แล้ว แต่ปัญหานี้มันจะขยายตัวเป็นความขัดแย้งกับบริษัทยาข้ามไป

RAMOS ผู้จัดการโรงงานยูพีเอ ยืนยันกับ "ผู้จัดการ" วัตถุดิบสำหรับการผลิต AMPICILLIN นั้นต้องนำเข้าจากอิตาลี สหรัฐ ญี่ปุ่น และอังกฤษ มีสัดส่วนถึง 80% ของวัตถุดิบทั้งหมด มีเพียง 20% เท่านั้นที่พอจะได้ในประเทศ อันได้แก่ กรดเกลือ และสารละลายเท่านั้น ขณะเดียวกันนายแพทย์สุเทพ บุณยสุขานนท์ก็ยอมรับว่าบริษัทที่ยูพีเอซื้อวัตถุดิบเข้ามาผลิตนั้นก็เป็นกลุ่มเดียวกับที่ส่ง AMPICILLIN เข้ามาจำหน่ายแข่งขันกับยูพีเอ นั่นเอง

"เขาอาจจะขึ้นราคาวัตถุดิบขึ้นมาก็ได้" เขาสรุป

ซึ่งผลสุดท้าย ก็ไม่ทราบว่าอนาคตของโรงงานนี้จะเป็นเช่นไร ???



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.