จิรศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นักบุญหรือคนเล่นกล?


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

หากพลิกปูมชีวิตแต่หนหลังต้องยอมรับว่าคนแซ่โค้วผู้นี้นับเป็นนักต่อสู้ที่ทรหดอดทนคนหนึ่ง เพียงมรดกความจนที่พ่อแม่สร้างสมไว้ให้ ทำให้ต้องปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่ออายุ 19 ปีถูกเจ้าของห้องแถวขับไล่ต้องพาแม่แก่ ๆ อพยพที่ซุกหัวนอนอย่างยากที่จะลืมไปจากหัวใจ

เริ่มต้นทำมาค้าขายด้วยเงิน 80 บาท โดยเช่าแผงลอยในตลาดสดขายของชำ ด้วยความขยันขันแข็งและปณิธานที่จะเอาชนะคนที่เคยรุกรานหัวใจ จึงพยายามเก็บหอมรอบริบเงินได้ก้อนหนึ่งนำไปซื้อที่ดินพร้อมสร้างห้องแถวเพื่อขยับขยายการค้าได้ 2 คูหาโดยตั้งชื่อร้านใหม่ว่า "เสริมไทย"

ร้านใหม่นี้นอกจะขายของชำแล้วยังขายเครื่องเขียน แบบเรียนต่าง ๆ อีกด้วย โดยเป็นตัวแทนขององค์การค้าคุรุสภา ต่อมาขยายการค้าเป็นตัวแทนองค์การเภสัชกรรมอีกทางหนึ่ง กิจการค้าเจริญรุดหน้าจนแปรผันชีวิตเด็กกะโปโลอย่างเขาให้กลายเป็นเจ้าสัวชั้นนำของจังหวัด

ช่วงชีวิตที่พุ่งสุดขีดก็ในราวปี 2509 ที่มหาสารคามได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยครูขึ้น จำนวนนักศึกษาครูที่ไหลบ่าจากทั่วทุกแห่งหน ทำให้ชาวบ้านชาวช่องที่เคยทำไร่ไถ่นาคิดจะหันมาเป็นเจ้าของรถโดยสารแต่ส่วนใหญ่ติดขัดที่ไม่มีเงินทุน ดังนั้นจึงได้นำเอาที่ดินมาจำนองกับคนแซ่โค้วผู้นี้

"เศรษฐีคนอื่นไม่มีใครกล้ารับ แต่คุณจิรศักดิ์แกเอา อาศัยเงินหมุนจากธนาคารไปจ่ายค่ารถให้กับชาวบ้าน ปรากฏว่าเพียงปีเดียวแกกลายเป็นเจ้าของที่ดินกว่า 200 ไร่และต่อมาก็ขยายขึ้นเรื่อย ๆ จนพูดได้ว่า กว่า 3 ใน 4 ที่ดินของมหาสารคามเป็นของแกทั้งสิ้น" ผู้ใกล้ชิดของจิรศักดิ์กล่าว

นอกจากจะหันมาเป็นนักค้าที่ดิน ในปี 2512 ยังได้สร้างกิจการหอพักขึ้นอีกหลายแห่งตามแนวที่ตั้งของวิทยาลัยครู วิทยาลัยพลศึกษา และ มศว. เนื่องจากในปีนั้นมหาสารคามคับคั่งไปด้วยจำนวนนักศึกษาซึ่งที่ดินตั้งวิทยาลัยพลศึกษานั้น จิรศักดิ์ยกให้ทางราชการฟรี ๆ

ในระหว่างนี้เองที่เริ่มรู้จักกับวินิจ อุดรพิมพ์ ซึ่งก็เป็นลูกหลายคหบดีชื่อดังของเมืองนี้เช่นกัน โดยขณะนั้นวินิจเป็นผู้จัดการ แบงก์กรุงไทย มหาสารคาม ประมาณปี 2515 เกียรติ นาคพงษ์ เจ้าของโรงเรียน เรืองศิลป์วิทยา ซึ่งเป็นญาติกับ ส.ส. จำลอง ดาวเรือง (อดีต 4 รมต.ที่ถูกเก็บ) ได้ติดต่อขอขายโรงเรียน

ด้วยแรงสนับสนุนจากวินิจที่ว่าต้องการเงินเท่าไรขอให้บอก จึงทำให้กลายเป็นเจ้าของโรงเรียน และยังไปรับโอนกิจการโรงเรียน สตรีศรีสารคาม ที่ยอบแยบมาอีกแห่ง จากนั้นจึงจับทั้งสองมาร่วมกัน ตั้งชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนคณาสวัสดิ์ศึกษา" และ "โรงเรียนคณาสวัสดิ์พาณิชยการ" พร้อมกันนี้ตัวจิรศักด์ก็เรียนครูภาคค่ำไปในตัว

จะเป็นเพราะถูกโฉลกโชคชะตากับโรงเรียนหรือเปล่า ปรากฏว่าสามารถปลุกผีโรงเรียนที่ทำท่าใกล้จะตายให้กลับมาเด่นดังอีกครั้ง จากอาคารเรียนที่มีไม่กี่หลังในช่วงระยะเวลา 7 ปีเศษ ๆ กลายเป็นอาคารเรียนถาวรอย่างดีถึง 21 หลังตั้งในเนื้อที่กว่า 400 ไร่

จนถึงปี 2522 จึงคิดขยับขยายก่อตั้งวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ขึ้นมา "มันเป็นความฝันของผมที่จะต้องสร้างคณาสวัสดิ์ให้มีความเป็นปึกแผ่นให้จงได้" จิรศักดิ์เคยกล่าวย้ำในงานครบรอบ 11 ปีของกิจการ

กิจการโรงเรียนพัฒนาก้าวหน้าตามลำดับโดยมีวินิจ อุดรพิมพ์ เป็นมันสมองคู่ใจทั้งในด้านความคิดและกำลังเงิน ซึ่งคนทั้งสองนี้เป็นศิลปินพอ ๆ กัน ขณะที่จิรศักดิ์หมกตัวเองอยู่กับหนังสือสารพัด วินิจใช้เวลาส่วนหนึ่งทุ่มไปกับการแต่งเพลง แม้แต่เพลงประจำ "คณาสวัสดิ์" ก็เป็นผลงานของเขา

ปี 2524 เป็นยุคทองของจิรศักดิ์ จำนวนนักเรียนเมื่อแรกรับโอน 500 คนขยายตัวขึ้นมากกว่า 8,000 คนจากภาคใต้ยังมีมาเรียนไม่น้อยกว่า 2,000 คน จนทำให้ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการว่าเป็นโรงเรียนดีเด่นถึง 5 ปีซ้อน

เพราะเชื่อมือเอามาก ๆ ดังนั้นในปี 2527 คู่หูพลิกไม่ล็อคจึงตัดสินใจที่จะขยายโรงเรียนคณาสวัสดิ์พาณิชยการ (คณาสวัสดิ์เทคโนโลยี) ออกไปในจังหวัดกาฬสินธ์ สุรินทร์ ขอนแก่น ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นหนึ่งในธุรกิจประเภทนี้ และด้านหนึ่งเพื่อเป็นการขยายฐานของวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ การลงทุนทั้ง 3 แห่งหมดเงินไปไม่น้อยกว่า 100 ล้าน

แต่เหมือนหนึ่งสูงสุดคืนสู่สามัญ ทันทีที่แตกหน่อแตกกอปรากฏว่านักเรียนยุบลงไปอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปจากจำนวน 8,000 คนเหลือเพียง 4,000 เศษ ๆ ในปี 2528 และ 2,000 เศษ ๆ ในปี 2529 ส่วนโรงเรียนที่เปิดใหม่ก็รับนักเรียนได้ไม่กี่มากน้อย ได้มากที่สุดก็ที่สุรินทร์แค่ 300 คนเศษ

จิรศักดิ์เองก็ไม่เชื่อเหมือนกันว่า โรงเรียนอันโอ่อ่าทำไมจะต้องกลายเป็นสุสานร้างเช่นนั้น...!

จากเหตุการณ์ที่พลิกกลับตาลปัตร ทำให้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าเสริมไทย ที่สร้างขึ้นในปี 2527 ด้วยเงินลงทุนร่วม 100 ล้าน เป็นห้างฯ ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของอีสาน ต้องตกที่นั่งลำบากทันตาเห็น เพราะเดิมทีเดียวทั้งจิรศักดิ์และวินิจคาดการณ์ว่า เพียงขายนักเรียน นักศึกษา ของคณาสวัสดิ์ห้างนี้ก็อยู่ได้สบาย ๆ

นักธุรกิจหลายรายในมหาสารคามกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ความผิดพลาดของจิรศักดิ์อยู่ที่การลงทุนขยายโรงเรียนใน 3 จังหวัดดังกล่าว เพราะนั่นเท่ากับเป็นการปิดประตูตีตัวเองเนื่องจากทั้งสามแห่งอยู่ไม่ห่างจากมหาสารคามเท่าใดนัก

วิมานที่ถูกถล่มกอปรกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ทำให้จิรศักดิ์ต้องหมุนตัวเป็นเกลียวและที่สุดเขาก็เลือกเอาวิธีการผ่องถ่ายเงินจากธุรกิจหนึ่งไปสู่อีกธุรกิจหนึ่งของตน เป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่ โดยหลงลืมไปว่าบางธุรกิจไม่อาจกระทำเช่นนั้นได้

ธุรกิจที่ถูกอัดฉีดมากที่สุดเห็นจะเป็นห้างสรรพสินค้าเสริมไทย ซึ่งแม้แต่การรับพนักงานยังพูดกันว่าส่วนมากจะรับทดลองงานแค่ 3 เดือนจากนั้นจะเปลี่ยนชุดใหม่เพื่อเป็นการประหยัดรายจ่าย ในส่วนของห้างสรรพสินค้าเสริมไทยนี้ คนที่เคยร่วมงานกับจิรศักดิ์มาหลายสิบปีบอกว่า "ซ้อพรรณีที่เป็นเมียถูกต้องตามกฎหมายได้เคยคัดค้านมาแล้วว่าอย่าได้สร้างเลย"

แต่ถ้าใครพูดประโยคนี้กับจิรศักดิ์เขาจะบอกก็เพียงแต่ว่า "เสริมไทยจะตายไม่ได้"

นับตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา ชื่อเสียงที่เคยสะสมก็เริ่มจางหาย เงินเดือนครูที่ต้องวิ่งหยิบยืมให้วุ่นวาย ทำให้พ่อค้าในมหาสารคามจะพูดกับเขาก็แต่เรื่องอื่น แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเงินส่วนใหญ่จะบ่ายหน้าหนีทันที ทั้ง ๆ ที่หลายคนในอดีตจิรศักดิ์เองเคยช่วยเหลือเกื้อกูลมา

"สมัยก่อนแกเป็นคนใจสปอร์ตมาก ข้าราชการจะย้ายไปไหนรับเป็นแม่งานเลี้ยงส่งให้หมด แต่พอมามีปัญหาเครดิตต่าง ๆ ก็เริ่มหมดไป ที่จริงก็น่าเห็นใจแกมากนะ" ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของเขากล่าวกับ "ผู้จัดการ"

จิรศักดิ์เคยได้ชื่อว่าเป็นคนที่เปรื่องปราดหลักแหลมมากในเรื่องของการเล่นหุ้น เล่นที่ดินสามารถโยกย้ายถ่ายเทจัดสรรสิ่งเหล่านี้ให้เข้าที่เข้าทางได้อย่างที่เรียกว่าพลาดยาก ทว่าความช่ำชองเหล่านั้นไม่อาจช่วยเขาได้เลยเมื่อเกิดปัญหากับคณาสวัสดิ์

ซ้ำร้ายลึกลงไปของปัญหาก็เป็นเพราะเขาฉลาดลึกโยกสรรโอนเงินจนหาจุดลงตัวไม่ได้!

ณ อาคารห้างสรรพสินค้าเสริมไทย ที่ตั้งตระหง่านหรูหราหน้าคูเมืองเทศบาล มหาสารคาม ที่นั่นนอกจากจะเป็นรังธุรกิจที่เขารักยิ่งกว่าชีวิตแล้ว ยังมีบ้านพักขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอีกด้วย ทุกวันนี้จิรศักดิ์เก็บตัวเงียบ ไม่มีใครรู้ว่าเขาอยู่หรือไปแห่งไหน แม้แต่คนสนิทโทรศัพท์ไปหา ก็ได้รับเพียงคำตอบกลับมาว่า

"ไม่ตายแล้วจะโทรกลับไป"

ยามที่รุ่งโรจน์ถึงกับต้องว่าจ้างตำรวจให้ไปคุ้มกันในวันลงทะเบียนเรียน แต่วันนี้มีแต่เสียงปลอบใจจากใครบางคนถึงเขาว่า "เฮียเขาเป็นนักลงทุนที่ใจกล้าที่สุดของมหาสารคามคงไม่มีใครไหนอีก ที่จะกล้าเสี่ยงทำธุรกิจที่ยืนอยู่บนฐานความเสี่ยงค่อนข้างสูงเหมือนที่เฮียทำ"

นับเป็นคำปลอบใจที่ช่างเจ็บปวดพิลึก!

ขณะที่ความเป็นจริงวันนี้เขามีเพียงภรรยาคนซื่อที่ต้องไปวัดเกือบทุกวัน เพื่อเฝ้าขอภาวนาให้ความรุ่งเรืองนั้นกลับมาอีกหน และอีกคนก็ วินิจ อุดรพิมพ์ ขงเบ้งที่จิรศักดิ์ยังไว้เนื้อเชื่อใจตลอดไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.