|
ธปท.จับตาบาท2เดือน-ก่อนเข็นมาตรการใหม่
(11 สิงหาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติขอดูผลการผ่อนคลายมาตรการสกัดบาทแข็ง 2-3 เดือนก่อนตัดสินใจออกมาตรการใหม่ เผยตลาดอยู่ระหว่างปรับตัว ยอมรับบาทยังคงผันผวนตามดอลลาร์อยู่
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ธปท.จะรอประเมินผลของผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนต่างประเทศและการลงทุนในตรา สารอนุพันธ์เมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากนั้นอาจจะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการให้แก่นักลงทุนต่างประเทศหรือส่วน อื่นๆ เพิ่มเติมอีกครั้ง
ทั้งนี้ แม้ธปท.ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปแล้ว แต่การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนักหรืออยู่ในระดับ ทรงๆ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ซึ่งไม่ใช่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ธปท.ดำเนินการไม่ได้ผล แต่เชื่อว่าตลาดการเงินปรับตัวอยู่ ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศต้องใช้ระยะเวลา ประกอบกับตลาดอยู่ในช่วงรอตัวเลขการจ้างงานสหรัฐ จึงดูเหมือนว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้ผลนัก อย่างไรก็ตามการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในครั้งนี้เพื่อเป็นกลยุทธ์ของภาคธุรกิจ ไทยให้สามารถลงทุนในต่างประเทศที่หลากหลายได้
“หลังจากที่แบงก์ชาติผ่อนคลายหลักเกณฑ์ดังกล่าวและเราได้เชิญแบงก์เข้ามาพูด คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่ถามเราว่าต่อไปจะเปิดหรือผ่อนคลายเรื่องอะไรเพิ่มเติมอีก ซึ่งเราชี้แจงว่าสิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ ทำ ด้านบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่มีการเชิญมาชี้ แจงเมื่อวันนี้ (10 ส.ค.) เน้นเรื่องการนำเงินออกไปซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งแง่การลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนเพิ่ม เติมหรือการป้องกันความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้บางคนมีความจำเป็นต้องซื้ออยู่แล้ว แต่เราผ่อนคลายให้เขาทำได้เลยไม่ต้องมาขอ”
ดังนั้น การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคมีความผันผวนตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาได้มีการประกาศตัวเลขการว่างงานที่ดีขึ้นจากเดิมอยู่ที่ระดับ 9.6%มาอยู่ที่ระดับ 9.4% และดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าจะสูงถึงตัวเลข 2 หลัก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าและส่งผลให้ค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาค อ่อนค่าลงในขณะนี้
“ในขณะนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมี 2 แรง คือทั้งอ่อนและแข็ง โดยเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น นักลงทุนกล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risk Appetite) ทำให้มีเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง แต่ในขณะนี้กลับทิศกัน คือ ในสหรัฐทั้งตลาดหุ้นดีขึ้น และราคาพันธบัตรตกลง ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น จึงมีคนเข้าไปลงทุนในช่องทางนี้เยอะขึ้น ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกลายเป็นว่าเงินดอลลาร์กลับแข็งแทน” ผู้ช่วยผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินในภูมิภาคไม่ได้รับผลกระทบมากนักมีเพียงค่าเงินอ่อนลงเล็กน้อย ประกอบกับเมื่อวานนี้ (10ส.ค.) ตลาดการเงินในญี่ปุ่นและสิงคโปร์ปิด ทำให้ปริมาณการซื้อขายน้อยลง จึงยิ่งกดดันให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ฉะนั้นเงินดอลลาร์แข็งขึ้นในช่วงนี้ธปท.ได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|