บทสรุปจาก "คณาสวัสดิ์" เมื่อสถาบันการศึกษาเป็น "โดมิโน" ทางธุรกิจตัวหนึ่ง


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัญหาการขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนบุคลากรของวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ จังหวัดมหาสารคามทั้งคณาจารย์ และนักศึกษาให้อยู่ในสภาพขนนกปลิวลม ซึ่งที่สุดทบวงมหาวิทยาลัยต้องอาศัยอำนาจทางกฎหมายเข้าควบคุมกิจการ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นเช่นใดนั้น เป็นเรื่องน่าสนใจควรแก่การศึกษาไม่น้อย เพราะได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของปัญหาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มิได้ล้มเหลวเพียงแค่การบริหารการศึกษาเท่านั้น หากแต่ยังผูกติดกับเงื่อนไขทางธุรกิจที่สลับซับซ้อนอีกมากมาย!

วิทยาลัยคณาสวัสดิ์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 ให้ก่อตั้งได้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 โดยมีจิรศักดิ์ คณาสวัสดิ์ คหบดีชื่อดังของจังหวัดมหาสารคามเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง ปัญญา ปุยเปีย อดีตอาจารย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคามและอดีต ส.ส. สอบตก พรรคชาติไทยเป็นอธิการคนแรก

วิทยาลัยคณาสวัสดิ์กำเนิดขึ้นด้วยความภาคภูมิใจต่อตัวเองที่เป็น "ตักศิลาแห่งภาคอีสาน" ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกของภาคนี้ ด้วยภาระหน้าที่พัฒนามันสมองของชาติ เป็นผู้จุดประกายความรุ่งโรจน์ทางปัญญา ถึงกับทำให้ผู้ก่อตั้งเช่น จิรศักดิ์ คณาสวัสดิ์นำมาอ้างถึงเพื่อเสนอตัวคัดเลือกเป็นนักธุรกิจตัวอย่างของประเทศมาแล้ว

วิทยาลัยคณาสวัสดิ์เปิดทำการสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรี 5 คณะวิชาคือ นิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ สามารถผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมเป็นจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ยังได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก

นับแต่ก่อตั้งเป็นต้นมาบรรดาผู้ปกครองทั้งหลายต่างให้ความไว้เนื้อเชื่อใจส่งบุตหลานของตนเข้ารับการศึกษาเป็นจำนวนไม่น้อย พอที่จะเลี้ยงกิจการให้อยู่รอดได้อย่างสบาย ๆ อาจมีปริมาณลดลงบ้างในช่วงปี 2528-29 แต่นั่นก็เป็นไปตามสภาวะบังคับจากปัจจัยหลายอย่าง ที่แม้แต่สถาบันฯ ของรัฐก็ยังประสบปัญหานี้

ด้วยจำนวนนักศึกษาที่มีอยู่ครั้งหลังสุด เปรียบเทียบรายได้กับรายจ่ายแล้วนั้น แหล่งข่าวในทบวงมหาวิทยาลัยเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ไม่น่าที่จะต้องให้มีเหตุการณ์อันน่าอดสูเช่นนี้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การศึกษาของบ้านเรา"

จากเหตุการณ์ที่ไม่มีการจ่ายเงินเดือน หรือจ่ายบ้างแบบกะปริบกะปรอยมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 29 จนถึงเดือน ม.ค. 30 ทำให้สถานภาพโดยทั่วไปของวิทยาลัย และบุคลากรภายในตกอยู่ในสภาพคลอนแคลนไร้จุดยืนของความมั่นคง จนถึงกับมีการร้องเรียนมายังรัฐบาลและชำแหละเนื้อเถือหนังต้นตอปัญหา ว่าเกิดขึ้นจาก

เจ้าของสถาบันที่เป็นผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงและเป็นคนที่มีธุรกิจการค้าอยู่ในมือมากมาย บริหารงานอย่างมีเลศนัย จากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างมากในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้การหมุนเงินในลักษณะ "ผ่องถ่าย" ที่เจ้าของเคยหยิบยืมเงินจากวิทยาลัยไปใช้กับกิจการอื่น ๆ อยู่บ่อย ๆ นั้น เกิดการช็อตขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า

จนในที่สุดก็อยู่ในสภาพคนไข้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน

การหมุนเงินโยงใยอย่างเป็นลูกโซ่เช่นเดียวกับขบวนการแชร์ของแม่อะไรทั้งหลายนั้น นอกจากจะไม่ช่วยให้ธุรกิจอื่นฟื้นจากอาการลูกฝีลูกคนแล้ว สภาพตัววิทยาลัยที่ถูกดูดเลือดไปก็เริ่มจะโซซัดโซเซมาตั้งแต่กลางปี 28 จนเกิดปัญหาขึ้นดังกล่าว

"ตามปกติวิทยาลัยทุกแห่งจะต้องส่งงบดุลประจำปีให้กับทบวง แต่กรณีของคณาสวัสดิ์ปรากฏว่า ขาดหายไปตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งทบวงก็ได้แจ้งให้รับทราบพร้อมกับให้ข้อคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาบางประการไปด้วย แต่ปีถัดมาก็ยังอยู่ในรูปเดิม โดยทางนั้นอ้างว่าไม่มีผู้ตรวจสอบบัญชีไม่มีเงิน" แหล่งข่าวในทบวงฯ กล่าว

เกี่ยวกับเรื่องงบดุลนี้กรรมการสภาวิทยาลัยท่านหนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าได้พยายามมีการตกแต่งเพื่อขอให้สภาฯ รับรอง แต่ก็มีการถอนเรื่องไปเสียก่อนซึ่งปัญหานี้ผู้ตรวจสอบบัญชีเก่าคือ วินิจ อุดรพิมพ์ (ผู้ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นมันสมองส่วนตัวของจิรศักดิ์) อ้างว่าตนไม่มีอำนาจเมื่อสภาฯ ไม่แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ก็ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้

"มีอย่างที่ไหนเงินไม่เคยเข้าบัญชีเลย ขายผลผลิตทางเกษตรกรได้ ผู้บริหารก็ไม่ได้แจ้งยอดเข้ามาเมื่อเป็นอย่างนี้จะเอาตัวเลขจากที่ไหนไปแสดงกับทบวงได้ ผมเองบอกกับคุณจิรศักดิ์ว่าไม่ไหวแล้วขืนปล่อยแบบนี้มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ต้องเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหารหรือไม่ก็ลดจำนวนบุคลากรลง จะปล่อยให้เอาเงินจากห้างเสริมไทย (ห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดของมหาสารคามซึ่งเป็นของจิรศักดิ์) ไปจุนเจือไม่ได้อีก" วินิจ อุดมพิมพ์ รองผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสาขาธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ แก้ข้อต่างให้ "ผู้จัดการ" รับฟัง

แต่ไม่ว่าอะไรก็ตามข้อเท็จจริงชี้ชัดประการหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ต่างฝ่ายต่างยอมรับกันว่ามีการโอนเงินผ่องถ่ายไปมาระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจที่เป็นของเจ้าของคนเดียวกันอยู่ตลอดเวลา ที่เรื่องไม่ปูดขึ้นก่อนหน้าเพราะยังสามารถประนีประนอมในปัญหาคับอกที่เกิดขึ้นได้

ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชนระบุไว้ชัดเจนข้อหนึ่งว่า "ผู้ที่จะจัดตั้งวิทยาลัยจะต้องขออนุญาตต่อทบวงฯ โดยแสดงที่ดินและเงินสดอันจะใช้ในการดำเนินงานวิทยาลัย ผู้รับใบอนุญาตจะต้องโอนที่ดินและเงินสดให้แก่วิทยาลัยที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก การบริหารงานวิทยาลัยจะดำเนินการโดยผู้บริหารอันได้แก่อธิการภายใต้การควบคุมของสภาวิทยาลัย ผลตอบแทนที่ผู้รับใบอนุญาตจะได้จากวิทยาลัยก็คือ เงินไม่เกินร้อยละ 15 ของยอดเงินกำไรในแต่ละปี"

เมื่อข้อบังคับกำหนดไว้แจ่มชัดเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าขบคิดมากว่า แล้วเหตุไฉนวิทยาลัยคณาสวัสดิ์จึงปฏิบัติการที่ออกนอกลู่นอกทาง ทำไมผู้ก่อตั้งจึงถืออภิสิทธิโยกย้ายเงินได้เอง หากเรื่องไม่ปูดขึ้นมาในวันนี้ สถานการณ์ในวันข้างหน้าจะมีใครให้ความมั่นใจได้ไหมว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะมิเลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่ !

"เขาส่งงบดุลให้ไม่ได้แน่นอน ก็บัญชีเล่นกันเปรอะไปหมด ไม่มีการแยกกันเลยว่าธุรกิจไหนเป็นธุรกิจไหน ในเมื่อไม่สามารถเคลียร์เรื่องนี้ได้ การขอร้องให้รัฐบาลลงไปช่วยเหลือก็ไม่อาจเชื่อมั่นได้ว่าเงินจำนวนนั้นจะถูกนำไปใช้กับสถาบันการศึกษาหรือเปล่า" แหล่งข่าวในทบวงฯ กล่าวอย่างคลางแคลง

ผู้ใกล้ชิดของจิรศักดิ์คนหนึ่งเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าประมาณปลายเดือน สิงหาคม 2529 ที่รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือแก่วิทยาลัยคณาสวัสดิ์เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินเดือนบุคลากรจำนวน 1.5 ล้านบาทนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่บริษัท ไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ได้มีหนังสือฉบับที่ 42/2529 ลงวันที่ 25 ส.ค. 29 แจ้งการบังคับจำนองให้วิทยาลัยนำเงินต้นและดอกเบี้ยไปชำระภายใน 1 เดือน

"ตอนนั้นคุณจิรศักดิ์แกถูกบีบให้ต้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปผ่อนดอกเบี้ยกับไทยสมุทรฯ และไม่สามารถหาเงินกลับเข้าบัญชีของวิทยาลัยได้ตามกำหนดเวลา จึงเป็นเหตุให้มีปัญหาคณะครูไม่ได้รับเงินเดือน ก็ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมาแกพยายามจัดรายการลดราคาขึ้นที่ห้างเสริมไทยเพื่อจะหาเงินสดมาหมุน แต่อย่างที่รู้กำลังซื้อของคนสารคามค่อนข้างจะจำกัดเมื่อเทียบกับความใหญ่ของห้าง ดังนั้นรายการที่จัดขึ้นจึงไม่ได้ผลนัก" ผู้ใกล้ชิดท่านนั้นกล่าว

กรณีของห้างเสริมไทยก็คงต้องยอมรับว่าถ้าไม่นับห้างสรรพสินค้าของนครราชสีมา และขอนแก่นแล้วห้างสรรพสินค้าเสริมไทยแห่งนี้ไม่ได้เป็นสองรองใคร ซึ่งแม้แต่นักธุรกิจของมหาสารคามเองยังอดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมจิรศักดิ์จึงกล้าที่จะเสี่ยงลงทุนเมื่อเปรียบเทียบอัตรารายได้ของประชากรที่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ แต่สำหรับจิรศักดิ์แล้วนั้นเขาเคยบอกกับใคร ๆ ว่า "อะไรจะตายก็ได้แต่เสริมไทยจะตายไม่ได้"

สำหรับภาระหนี้สินที่จิรศักดิ์มีอยู่กับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 49.8 ล้านบาท โดยอ้างการกู้ว่าจะนำมาพัฒนาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้า ซึ่งในฐานะที่เป็นราชาที่ดินชื่อดังของภาคอิสานว่ากันว่าจิรศักดิ์นำเอาที่ดินส่วนหนึ่งไปจำนองไว้ แต่ย่อมไม่ใช่ที่ดินจำนวน 45 ไร่ที่ได้แจ้งไว้กับทบวงฯ คราวขอก่อตั้งเพราะที่ดินดังกล่าวติดจำนองกับธนาคารกรุงเทพอยู่ อาคารเรียนของวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ปัจจุบันต้องเช่าจากโรงเรียนคณาสวัสดิ์ศึกษา

ความคลุมเครืออยู่ที่ว่า กฎหมายวิทยาลัยที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลขอกู้เงินต้องผ่านการเห็นชอบจากสภาวิทยาลัยและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการทบวงฯ โดยคำแนะนำของ กสอ. แต่การกู้เงิน 49.8 ล้านบาทเมื่อตรวจสอบแล้วไม่ปรากฏหลักฐานในเรื่องนี้แต่อย่างใด อาคารเรียนก็ยังเช่าอยู่เหมือนเดิม

หรือว่านี่เป็นกำลังภายในขั้นสุดยอดระดับเซียนเหยียบเมฆที่สามารถยกเอาสถาบันการศึกษาขึ้นมาเป็นตัวต่อรองทางการค้าได้อย่างไม่มีที่ติ?

แหล่งข่าวในบริษัท ไทยสมุทรพาณิชย์ ประกันภัย จำกัด เผยกับ "ผู้จัดการ" ในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคณาสวัสดิ์ ทำให้ไทยสมุทรฯ ได้รับบทเรียนที่ต้องไตร่ตรองอย่างหนัก เดิมทีเดียวไทยสมุทรฯ ยินดีที่จะส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แต่ถ้าเจอปัญหาอย่างนี้ก็คงจะไม่ไหวเช่นกัน

"เราพยายามติดต่อเขาตลอดเวลาขอให้เคลียร์เรื่องต่าง ๆ เสีย แต่ลูกค้าไม่เคยติดต่อเรามาเลย จนที่สุดเราต้องมีหนังสือบังคับออกไป จริง ๆ แล้วไทยสมุทรฯ เองไม่อยากทำอะไรรุนแรงมากไปกว่านี้อีกอย่างลูกค้าคนนี้เมื่อก่อนไม่มีประวัติด่างพร้อยแต่อย่างใด" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากปัญหาหนี้สินกับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัดแล้วนั้น ในช่วงที่จิรศักดิ์ได้ลงทุนขยายเครือข่ายโรงเรียนเทคโนโลยีคณาสวัสดิ์ศึกษาของตนออกไปในจังหวัดต่าง ๆ เช่น ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ก็ได้ใช้เงินลงทุนไปจำนวนมากถึง 105,906,139 บาท โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารทหารไทย 35 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 30 ล้านบาท

อาการกะปลกกะเปลี้ยของวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ที่เกิดขึ้น ทบวงฯ ที่จับตาการเคลื่อนไหวมาทุกระยะจึงจำต้องตัดสินใจมีคำสั่งที่ 19/2530 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2530 และคำสั่งที่ 20/2530 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ แต่งตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ ตามความในมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน พ.ศ. 2522 และแต่งตั้ง ดร. กวี อิศรวรรณ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีแทนนางนิตยา ศรีปัดถา อธิการคนเดิมที่ต้องพ้นจากหน้าที่ตามความในมาตรานี้

นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งที่สองที่ต้องถูกยำด้วยมือรัฐหลังจากที่วิทยาลัยเอเชียอาคเนย์เคยประสบมาแล้ว....

เป็นการปิดฉาก "คณาสวัสดิ์" ที่เคยอยู่ภายใต้การครอบครองของ จิรศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ซึ่งในวันนี้ของคนแซ่โค้วผู้นี้ต้องถูกตั้งคำถามว่า.... .เขาเป็นนักบุญการศึกษาที่หยิบยื่นความเมตตาปราณีให้กับชนกลุ่มหนึ่งของประเทศที่ไม่ได้รับการเหลียวแลทางการศึกษาเท่าที่ควร หรือว่าเขาเป็นนักเล่นกลที่สุดแสนจะแสบสันต์กันแน่

"ดีเหมือนกันที่ทบวงเข้ามาควบคุม" ทั้งคณาจารย์ นักศึกษา หรือแม้แต่กุนซือของจิรศักดิ์ อย่างวินิจ อุดรพิมพ์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ทว่าภายในใจที่ลึกลงไปนั้น

ดำกับขาวย่อมไม่เหมือนกันแน่!

"ฝ่ายคณาจารย์และนักศึกษาเห็นว่าเมื่อทบวงเข้ามาทุกอย่างคงจะดีขึ้น เหมือนเช่นที่เอเชียอาคเนย์เคยได้รับ ทุกคนมีความอุ่นใจขึ้นอีกนิดว่าทบวงฯ คงไม่ทิ้งขว้าง แต่ด้านจิรศักดิ์ที่ยังเก็บตัวเงียบไม่ยอมออกมาแก้ข่าวอะไรนั้น เชื่อว่าเขาคงหาทางวิ่งเต้นที่จะให้ได้กรรมสิทธิ์กลับคืนมา เขาสร้างมากับมือและเรื่องศักดิ์ศรีใครจะยอมง่าย ๆ" แหล่งข่าวในวงการธุรกิจของมหาสารคามกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ดังนั้นแม้ว่าจะฝ่าพายุร้ายมาได้ด่านหนึ่ง แต่สภาพขวัญหนีดีฝ่อก็ยังหาได้จางไปจากหัวใจของคนทั้งหลายไม่ โดยเฉพาะกลุ่มคณาจารย์ที่ยังไม่รู้ชะตากรรมของตนเองว่าจะออกหัวหรือออกก้อย

"เมื่อเรารู้ว่าคุณจิรศักดิ์พยายามวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือ จากธนาคารกรุงไทยและให้คุณวินิจเจรจาขอลดดอกเบี้ยเงินกู้กับทางไทยสมุทรฯ ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างที่เขาต้องการ แบงก์กรุงไทยโดดลงมาอุ้มเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่แทน กลุ่มคุณจิรศักดิ์ก็คงกลับมาอีกครั้งซึ่งก็มีความเป็นไปได้มากเสียด้วย เนื่องจากตัวคุณวินิจนั้นมีสายสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มการเมือง เช่น ประยุทธ ศิริพาณิชย์ที่อยู่ในกลุ่มพงศ์-สุรัตน์ และตัวเองก็เป็นผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของแบงก์กรุงไทยโอกาสจึงมีอยู่ไม่น้อย" อาจารย์ท่านหนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ"

ด้วยความแรงที่มีต่อกันไม่หยุดยั้งภายหลังที่ทบวงฯ เข้าควบคุม และแต่งตั้งให้นายประยุทธ ศิริพาณิชย์ รมช. เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ได้มีการดึงเอาอำนาจการเมืองเข้ามาพัวพันเกินขอบเขตที่สำคัญก็คือ รมช. ประยุทธไม่เคยรับรู้สถานการณ์ของคณาสวัสดิ์มาก่อนเลย จนทำให้หลายคนมองว่า นี่คือหมากสองชิ้นของกลุ่มผู้ก่อตั้ง

จากเสียงสะท้อนต่าง ๆ ทำให้ รมช. ประยุทธ ต้องถอนตัวลาออกไปในที่สุด

"คุณประยุทธแกยัวะมาก พยายามจะเข้ามาแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ก็ถูกรุมทึ้งจากคนบางกลุ่มที่รู้ตัวว่าจะสูญเสียอำนาจในอนาคต ดังนั้นแกเลยตัดสินใจลาออก ขอยืนอยู่ข้างนอกแต่ก็บอกไว้ว่าเรื่องนี้จะไม่ทิ้งเด็ดขาดขอตั้งป้อมสู้เต็มที่" วินิจ อุดรพิมพ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

นี่จึงเป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นการต่อสู้ในยกใหม่ของคณาสวัสดิ์ที่อาจจะเข้มข้นและลึกลับซับซ้อนมากไปกว่านนี้อีกหลายเท่าตัว

ซึ่งถ้าผลประโยชน์ส่วนตัวมีอำนาจเหนือความถูกต้องของส่วนรวมก็นับว่าเป็นอันตรายยิ่งนักต่อระบบการศึกษา และหากไร้ระบบการควบคุมที่แน่นหนารูรั่วทางด้านการเงินยังพร้อมที่จะไหลล่องไปได้ทุกเมื่อเชื่อวัน

ธุรกิจการศึกษาอาจกลายเป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงยิ่งกว่าขบวนการแชร์หลายร้อยพันเท่า และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดอย่างยากที่จะบอกกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.