ซูเปอร์เค "ซูเปอร์"เกินไป


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นเรื่องที่ออกจะเหลือเชื่อเอามาก ๆ ที่แม้วันนี้ใครก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมจึงต้องให้กรุงไทยเข้าไปยึดธนาคารสยาม ทำไมต้องทำกันรวดเร็วโดยไม่มีคำบอกกล่าวล่วงหน้า สำหรับคนที่ทางการส่งเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเกษม จาติกวณิช ที่นั่งเป็นประธานอยู่โทนโท่ มีใครชักใยอยู่ข้างหลังเรื่องนี้ ? เจตนาเพื่อสิ่งใดกันแน่!

ฉายา "ซุปเปอร์เค" ของเกษม จาติกวณิช เรียกกันมา 2 ปี

เกษม จาติกวณิช ปีนี้อายุ 62 ภายหลังวางมือจากตำแหน่งผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก่อนกำหนดเกษียณอายุเพียงเล็กน้อย เขาสร้างปรากฏการณ์อย่างที่น้อยคนนักจะสร้างได้

กรรมการอำนวยการบริษัทไทยออยล์กิจการโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ประธานกรรมการบริษัทบางจากปิโตรเลียมกิจการโรงกลั่นน้ำมันของรัฐอีกแห่งหนึ่ง ที่เคยดำเนินการโดยบริษัทซัมมิทอินดัสเทรียลและรัฐบาลเปรม (1) ยึดกลับมา

ประธานกรรมการบริษัทปุ๋ยแห่งชาติและ

ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารธนาคารเอเชียทรัสต์ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็นธนาคารสยาม

เกษม จาติกวณิช สวมหมวกทั้ง 4 ใบนี้พร้อมกัน!

คนสวมหมวกหลายใบในเวลาเดียวกันนั้น ที่จริงก็คงไม่ใช่มีเพียงเกษม จาติกวณิช เพราะในอดีตก็มีผู้ยิ่งใหญ่ในวงการเมืองวงการทหารและคนในวงการราชการหลาย ๆ คนทำกันมาแล้ว

แต่สำหรับกรณีเกษม จาติกวณิช น่าจะต้องถือว่าต่างไปจากกรณีอื่น ๆ อย่างมาก ๆ

"การเข้าไปกินตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจของผู้ยิ่งใหญ่ในวงการเมืองวงการทหารและวงราชการ ส่วนมากแล้วก็จะเป็นการเข้าไปสร้างฐานอำนาจกอบโกยผลประโยชน์ไม่ได้สร้างสรรค์งานและไม่ค่อยจะได้รับการยอมรับจากสังคม..." อาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์คนหนึ่งกล่าว

ส่วนการเข้าไปของเกษมดูจะตรงกันข้าม

ไม่มีการสร้างฐานอำนาจ (ระบบพรรคพวก) ในองค์กรที่เกษมเข้าไปรับผิดชอบ

ไม่มีเรื่องราวของการกอบโกยตักตวงผลประโยชน์เข้ากระเป๋า

มีแต่การเดินหน้าสะสางปัญหาและสร้างสรรค์งานเต็มสติกำลัง

และเสียงสังคมดูเหมือนจะพึงพอใจมาก ๆ ที่เกษมถูกส่งเข้าไปในองค์กรข้างต้น

ไทยออยล์นั้นต้องการคนอย่างเกษมอย่างมาก

กิจการโรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้สร้างขึ้นมาโดยกลุ่มของเชาวน์ เชาวน์ขวัญยืน และเพิ่งจะหมดอายุสัญญาต้องยกให้กับรัฐบาลเมื่อไม่กี่ปีมานี้

ปัญหาก็มีอยู่ว่ารัฐบาลจะส่งใครเข้าไปดูแลแทนกลุ่มผู้บริหารเก่าของเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ที่อยู่กับโรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้จนคร่ำหวอดมาตั้งแต่ต้นจนอาจหลงลืมไปแล้วว่าสักวันหนึ่งจะต้องโอนไปให้รัฐก็เป็นได้

คุณสมบัติสำคัญของคน ๆ นั้นนอกจากจะต้องดูแลผลประโยชน์ของรัฐด้วยความซื่อสัตย์แล้ว ที่ละเลยไม่ได้ก็คือจะต้องมีความรู้ความสามารถตลอดจนประสบการณ์ในระดับที่พูดกับผู้บริหารชุดเก่าของเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ได้รู้เรื่องและทันกันด้วย

ซึ่งเกษม จาติกวณิช ก็คือคน ๆ นั้นอย่างไร้ข้อกังขา

"ท่านเข้าใจงานของที่นี่และทุกคนยอมรับท่านอย่างสนิทใจจริง ๆ ….." วรรณ ชันซื่อ รองกรรมการอำนวยการไทยออยล์ที่อยู่กับเชาว์ เชาว์ขวัญยืน มานานยอมรับกับ "ผู้จัดการ"

ส่วนบางจากปิโตรเลียม, ปุ๋ยแห่งชาติและธนาคารเอเชียทรัสต์ สถานการณ์ในช่วงการเข้าไปของเกษม ถ้าเผอิญไม่ใช่เกษมแล้วก็คงไม่มีใครอยากรับ!!

หลายคนเชื่อว่ามันเป็นงานสุ่มเสี่ยงและเปลืองตัวอย่างยิ่ง

บริษัทบางจากปิโตรเลียมนั้น ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการโรงกลั่นน้ำมันบางจากที่รัฐบาลยึดมาจากบริษัทซัมมิท อินดัสเทรียลของซี เจ ฮวง โดยช่วงแรก ๆ ก็ได้มอบหมายให้กรมการพลังงานทหารกระทรวงกลาโหมเป็นผู้เข้าไปดูแล หลังจากนั้นจึงได้โอนมาให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจัดตั้งบริษัทบางจากปิโตรเลียมขึ้นมารับผิดชอบอีกทอดหนึ่ง

กว่าจะตกมาถึงบริษัทบางจากปิโตรเลียม ด้วยความที่เปลี่ยนผู้บริหารกันมาหลายมือ โรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้จึงมีปัญหาสะสมกองอยู่เป็นภูเขา "เมื่อตอนที่ทหารเข้ามาดูแลแทนซัมมิทก็เจอปัญหามากเพราะในนั้นเต็มไปด้วยคนเก่าของซัมมิท แล้วก็อีกหลายเรื่องที่ซัมมิททำเอาไว้ต้องตามแก้ โดยเฉพาะความทรุดโทรมของโรงกลั่น แต่อยู่ไปได้พักหนึ่ง ปตท. จะมาขอทำ ทหารก็ชักไม่ค่อยจะเห็นด้วย ยื้อยึดกันนาน กว่าจะตกเป็นของบริษัทบางจากปิโตรเลียม เฉพาะยอดขาดทุนสะสมก็บานเบอะแล้ว..." แหล่งข่าวในวงการน้ำมันพูดให้ฟัง

การเข้ามาของเกษมเป็นการเข้ามาในถ้ำเสือวังมังกรที่ครอบครองโรงกลั่นน้ำมันผุ ๆ โดยแท้

สำหรับปุ๋ยแห่งชาติก็ไม่ต่างกันมากนัก

ปุ๋ยแห่งชาติเป็นโครงการใหญ่ตามแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างรัฐกับภาคเอกชนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ค่อยจะตรงกันนักมาโดยตลอด โดยเฉพาะเอกชนบางรายที่ครอบครองตลาดปุ๋ยอยู่ปัจจุบันกับสถาบันการเงินใหญ่แห่งหนึ่งที่อุ้มชูกิจการปุ๋ยรายนั้น

เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกันการเพิ่มทุนตามขั้นตอนนั้นก็ติดขัด โครงการต้องหยุดชะงัก

เกษมก็เลยต้องเข้ามาเพื่อคลี่คลายปัญหา

ถ้าหากจะมองกันในแง่ที่เกษมต้องเข้าไปทำงานใหญ่ที่ยาก ๆ ซึ่งมีคนจำนวนไม่มากนักที่ทำได้ โดยเฉพาะคนที่ประพฤติตนเป็นเทคโนเครตมาตลอดอย่างเกษมแล้ว ฉายา "ซูเปอร์เค" อันหมายถึงคุณค่าที่เหนือธรรมดาในตัวเกษมก็คงจะเป็นฉายาที่เหมาะสมอย่างไม่ต้องสงสัย

"เราน่าจะต้องยกย่องว่าเกษมเป็นทรัพยากรคนที่มีค่าของชาติด้วยซ้ำ" นักการเมืองสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลบอกกับ "ผู้จัดการ"

"และเราก็น่าจะต้องขอบคุณเกษมที่เขานำศักยภาพในตัวของเขาทั้งหมดอุทิศให้กับรัฐ นับตั้งแต่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เรื่อยมาถึงไทยออยล์บางจากปิโตรเลียมปุ๋ยแห่งชาติและธนาคารสยาม เกษมยินดีที่จะทำงานให้กับองค์กรของรัฐทั้ง ๆ ที่คุณสมบัติของเกษมนั้นถ้าไปอยู่ภาคเอกชนก็คงจะมีหลายแห่งแย่งกันเสนอผลตอบแทนสูง ๆ ให้ สำหรับรัฐแล้วเกษมเป็นผู้บริหารที่จะต้องหวงแหนกันมาก ๆ" อดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยท่านหนึ่งกล่าว

แล้วรัฐแสดงความหวงแหนคนอย่างเกษมอย่างไรและแค่ไหน!?!

ปุ๋ยแห่งชาติก็คงจะช่วยตอบคำถามนี้ได้ โดยเฉพาะกรณีธนาคารสยามเมื่อเร็ว ๆ นี้น่าจะเป็นบทพิสูจน์อย่างดีที่สุด!!

เกษมตัดสินใจเข้าดำรงตำแหน่งประธานบริษัทปุ๋ยแห่งชาตินั้น ก็เป็นไปตามคำขอร้องจากผู้ใหญ่กระทรวงการคลังที่ต้องการให้เกษมช่วยคลี่คลายปัญหาการเพิ่มทุนบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ ซึ่งมีปัญหาติดขัดตรงที่ภาคเอกชนบางรายที่ถือหุ้นไม่ยินยอมเพิ่ม

การตัดสินใจของเกษมจริง ๆ แล้วก็เพราะเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชาวไร่ชาวนาและภาคเกษตรกรของประเทศในอนาคต และก็เป็นโครงการที่รัฐบาลประกาศให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันมาตั้งแต่ต้น

ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับเกษมตอนนั้นก็คือต้องพูดกับผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงินรายใหญ่กับผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมีระดับ "เจ้าพ่อ" ให้รู้เรื่องเพื่อให้การเพิ่มทุนเป็นไปตามแผน จากนั้นก็จะเป็นการเซ็นสัญญาก่อสร้างโรงงานกับบริษัทชิโยดะของญี่ปุ่นที่ชนะการประมูลสร้างโรงปุ๋ยและรอการเซ็นสัญญาที่เงื้อง่ามาโดยตลอด

ก็คงคล้าย ๆ กับขุนศึกที่ถูกส่งออกไปทำศึกโดยเชื่อมั่นว่าจะมีกำลังสนับสนุนอย่างไม่ต้องพะวงหลัง

ซึ่งเผอิญมันไม่เป็นเช่นนั้น

รัฐบาลที่ประกาศให้การสนับสนุนโครงการปุ๋ยแห่งชาติเกิดเปลี่ยนใจกะทันหันประกาศยุติการให้การสนับสนุนดื้อ ๆ

"ถ้าจะบอกว่าเกษมถูกแทงข้างหลังผมว่าคงไม่ใช่คำพูดที่รุนแรงเกินไป" พนักงานระดับบริหารของปุ๋ยแห่งชาติพูดถึงการตัดสินใจของรัฐบาลที่มีผลทำให้เกษม "ช็อค" ต้องหามเข้าโรงพยาบาลและลาออกจากตำแหน่งไปในที่สุด

ส่วนกรณีธนาคารสยามก็คงจะเป็นมีดเล่มที่สองที่เสียบเข้ากลางหลังเกษม จาติกวณิช

เพียงแต่คราวนี้เหี้ยมโหดกว่าและมีที่มาลึกลับซับซ้อนกว่ากันหลายเท่า

เกษม จาติกวณิช ถูกขอร้องให้เข้าไปในธนาคารสยามในยุคที่ยังเป็นเอเชียทรัสต์ โดยเข้าไปนั่งในตำแหน่งประธานที่วัลลภ ธารวณิชกุล หรือจอห์นนี่ มา เจ้าของแบงก์นี้เคยนั่ง

คนที่ขอให้เกษมเข้าไปก็คือ นุกูล ประจวบเหมาะ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

"ตอนที่ธนาคารประสบปัญหาวิกฤติเมื่อเจรจาจนเจ้าของเขายินยอมโอนหุ้นให้ทางการ 51% แล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือจะต้องหาคนเข้าไปบริหาร ตำแหน่งประธานนั้นผมก็มองหลายๆ คนแต่ในที่สุดก็คิดว่าเกษมเหมาะสมที่สุด ผมโทรบอกกับรัฐมนตรีสมหมายท่านก็บอกว่า ก็ลองถามเขาถูซิว่าเขาจะรับไหม..." นุกูล ประจวบเหมาะช่วยฟื้นความหลังกับ "ผู้จัดการ"

สมหมาย ฮุนตระกูล รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเอเชียทรัสต์ดีมากคนหนึ่ง และสมหมายก็คงจะไม่มั่นใจนักว่าใครจะกล้าเข้ามากอบกู้เอเชียทรัสต์ท่ามกลางสถานการณ์หน้าสิ่งหน้าขวานเช่นนั้น

เพียงแต่สมหมายก็คงจะยังไม่รู้จักเกษมดีพอก็เป็นได้

"ผมขอให้เขาช่วยเขาก็ยินดีรับอย่างเต็มใจ" นุกูล ประจวบเหมาะเล่าถึงการตัดสินใจของเกษมให้ฟัง

นุกูล ประจวบเหมาะ ที่จริงตอนนั้นก็ติดต่อคน 2 คนที่นอกจากเกษม จาติกวณิช ซึ่งจะมานั่งในตำแหน่งประธานแทนจอห์นนี่มาแล้ว อีกคนที่นุกูลขอให้มานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แทนทินกร ธารวณิชกุล ลูกชายของจอห์นนี่ มากับคุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล ก็คือดุษฎี สวัสดิชูโต ที่ตอนนั้นเพิ่งเกษียณจากตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารออมสิน

ดุษฎี สวัสดิชูโต ตอนแรก ๆ ก็รับปากรับคำเต็มที่ แต่ภายหลังข่าวเอเชียทรัสต์ แพร่กระจายออกไปตามหน้าหนังสือพิมพ์ ดุษฎี ก็มาบอกกับนุกูลว่า "ไม่พร้อม"

วารี หะวานนท์ ที่ตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ก็เลยต้องเข้าไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แทน

"ผมเข้าใจว่าคุณวารีจะถูกขอให้เข้าไปในเอเชียทรัสต์เป็นการชั่วคราวซึ่งถ้าเสร็จสิ้นภารกิจตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าแบงก์ชาติก็จะถูกเตรียมไว้ให้ และอีกประการคุณวารีก็เหมาะสมด้วยในแง่ที่รู้จักมักคุ้นกับเจ้าของแบงก์นี้เป็นอย่างดีมานาน..." แหล่งข่าวในแบงก์ชาติเล่ากับ "ผู้จัดการ"

ส่วนอีกคนที่ถูกส่งเข้าไปและต่อมามีบทบาทสูงมากก็คืน นพพร พงษ์เวช

นพพร พงษ์เวช นั้นเคยทำงานกับซิตี้คอร์ปและก็เคยอยู่กับเอเชียทรัสต์มาแล้วช่วงหนึ่งซึ่งเป็นช่วงที่แบงก์ชาติขอให้เอเชียทรัสต์ปรับปรุงการบริหารงานด้วยการหา "มืออาชีพ" เข้าไป นพพร เป็นคนที่เจ้าของเอเชียทรัสต์เลือกเพราะความที่เป็นลูกชายของวารี พงษ์เวช ที่สนิทกับจอห์นี่มา และแบงก์ชาติก็ยอมรับในฐานะที่นพพรเป็น "มืออาชีพ" ทางด้านแบงกิ้งที่มีความสามารถคนหนึ่ง แต่นพพรก็อยู่ทำงานในเอเชียทรัสต์ในช่วงนั้นได้ไม่นานนักก็โดยคำสั่งให้ออกชนิดสายฟ้าแลบ และไม่ไว้หน้า แบงก์ชาติที่สนับสนุนการเข้าไปของนพพร

มหกรรมยึดเอเชียทรัสต์ของแบงก์ชาติก็เลยเกิดขึ้นภายหลังนพพรถูกให้ออกไม่นานนักเช่นกัน

เป็นมหกรรมที่กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเหน็ดเหนื่อยแทบเลือดตากระเด็นกว่าจะยึดกันสำเร็จ เพราะความที่เจ้าของเอเชียทรัสต์นี้มีทั้งบารมีและสายสัมพันธ์ยุบยับไปหมดแทบทุกวงการว่ากันว่า ถ้าไม่ใช่แบงก์ชาติมีผู้ว่าชื่อนุกูล ประจวบเหมาะ ที่เป็นคนไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมแล้วบางทีอนาคตของเอเชียทรัสต์ก็คงจะไม่มีวันนี้ก็เป็นได้

การเข้าไปในเอเชียทรัสต์ของทีมงานที่คลังกับแบงก์ชาติส่งเข้าไปภายใต้การนำของเกษม จาติกวณิช ที่ทำหน้าที่ทั้งประธานบอร์ดใหญ่ และประธานกรรมการบริหารนั้น ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมาก็น่าจะต้องแบ่งเป็น 2 ระยะ

เป็นระยะ 1 ปีแรกที่ธนาคารยังชื่อเอเชียทรัสต์กับระยะ 2 ปีหลังที่ธนาคารเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นธนาคารสยามแล้ว

ระยะแรกเป็นระยะของการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้บริหารเก่าที่ยังนั่งอยู่ในแบงก์ตามปกติ ยกเว้นจอห์นนี่ มากับกลุ่มผู้บริหารชุดใหม่ของเกษม จาติกวณิช เป็นระยะของการสะสางและสำรวจความเสียหายที่แบงก์ประสบจากน้ำมือเจ้าของและผู้บริหารชุดเก่า

ส่วนระยะหลังก็น่าจะเรียกว่าเป็นระยะของการฟื้นฟูแบงก์ขึ้นมาใหม่ ที่จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับว่าแบงก์เสียหายมากหรือเสียหายน้อยและแผนฟื้นฟูมีคุณภาพขนาดไหน

เรื่องระยะเวลานี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถกเถียงกันมาก เนื่องจากจริง ๆ แล้วตัวเลขความเสียหายที่แบงก์ชาติคาดหมายไว้จากการเข้าไปกำกับและตรวจสอบ "อย่างใกล้ชิด" เปรียบเทียบกับตัวเลขความเสียหายที่ค้นพบภายหลังทีมบริหารชุดใหม่ถูกส่งเข้าไปนั้นก็แตกต่างกันลิบลับ

เช่นเดียวกับแผนการฟื้นฟูก็มีความคิดต่างกันไปหลายกระแสโดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ต้น ๆ ปี 2529 พร้อม ๆ กับคดีความที่ธนาคารฟ้องร้องเจ้าของและผู้บริหารเอเชียทรัสต์ชุดเก่าก็มีมูลหนี้ถึงกว่า 3 พันล้านบาทโดยที่เจ้าของเก่าตระกูลธารวณิชกุลกับวิจิตรานนท์นั้นก็ดิ้นรนต่อสู้สุดฤทธิ์

เอเชียทรัสต์นั้นที่จริงแบงก์ชาติก็ทราบปัญหามาตั้งแต่ปี 2519 แล้ว เพียงแต่ก็ใช้หนังสือ "ลับมาก" เตือนกันมาตลอดทุกปีเพียงอย่างเดียว อย่างเช่นฉบับหนึ่งระบุว่า...

"…1 ฐานะและการดำเนินงานของธนาคารท่านอยู่ในระดับอ่อน สาเหตุเนื่องจากการบริหารสินทรัพย์ของธนาคารท่านไม่เป็นไปตามหลักการธนาคารพาณิชย์ที่ดี การติดตามเร่งรัดลูกหนี้ไม่ได้ผลเท่าที่ควรปรากฏว่ามีสินทรัพย์ส่วนสูญเสียจัดชั้นเป็นสูญ และสงสัยตั้งแต่การตรวจสอบเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2519 จำนวน 161.8 ล้านบาท ได้เพิ่มขึ้นในการตรวจสอบครั้งต่อๆ มาเป็น 262.6 ล้านบาท 677.1 ล้านบาท 1,159.4 ล้านบาทและ 1,425.3 ล้านบาท ทำให้มีสินทรัพย์ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนสูง รายได้มีจำนวนต่ำกว่ารายจ่าย แต่ธนาคารท่านได้ตกแต่งบัญชีเพื่อแสดงกำไร อันมีผลให้ฐานะของธนาคารท่านเสื่อมลงเป็นลำดับนับตั้งแต่การตรวจสอบเมื่อกุมภาพันธ์ 2519 ซึ่งธนาคารได้สั่งการให้ธนาคารท่านเพิ่มทุนเสริมสร้างเงินกองทุนให้สูงขึ้นเพื่อความมั่นคงและตั้งแต่ปี 2524 กำหนดให้เพิ่มทุนไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท พร้อมทั้งให้เร่งแก้ไขการดำเนินงานด้านอื่น แต่ธนาคารท่านมิได้เพิ่มทุนให้ทันกับผลสูญเสีย และมิได้ปรับปรุงข้อบกพร่องด้านอื่นให้ได้ผล เป็นผลให้เงินกองทุนสุทธิติดลบ ในการตรวจสอบครั้งก่อนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2524 ติดลบ 280.1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 374.5 ล้านบาท ในการตรวจสอบครั้งนี้ และเมื่อคำนึงถึงดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ธนาคารท่านยังไม่ได้ตัดบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกจนถึงสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2526 จำนวน 220.5 ล้านบาท เงินกองทุนสุทธิจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 595.0 ล้านบาท..."

ถ้าไม่ใช่เพราะเจ้าของเอเชียทรัสต์มีบารมีตลอดจนสายสัมพันธ์ที่แข็งโป๊ก แล้วก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมแบงก์ชาติจึงปล่อยให้ความเสียหายมีมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อตัดสินใจขั้นเด็ดขาดยึดกิจการเป็นของรัฐด้วยวิธีเจรจาโอนหุ้นกันนั้นทุกอย่างก็แทบไม่มีชิ้นดีแล้ว

การยึดแบงก์เอเชียทรัสต์ที่เริ่มกันเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2527 นั้น แรกทีเดียวแบงก์ชาติก็ประกาศว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นราว ๆ 900 กว่าล้านบาท ส่วนข้อมูลลึก ๆ ก็เชื่อกันว่าถึงที่สุดก็คงไม่น่าจะมากกว่าพันล้านเศษ ๆ

"ก็คิดว่าถ้าใส่เงินเข้าไปก็คงไม่เกิน 2 พันล้าน ปรับปรุงผู้บริหารแล้วทุกอย่างก็คงแก้ตก" คนแบงก์ชาติพูดกับ "ผู้จัดการ" เมื่อมีการยึดเอเชียทรัสต์ใหม่ ๆ

แต่จริง ๆ แล้วเอเชียทรัสต์มีความเสียหายแค่ไหนกันแน่?

เมื่อสิ้นสุดปี 2529 เอเชียทรัสต์ที่กลายเป็นธนาคารสยามไปแล้วค้นพบว่าธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่มีรายได้สูงถึง 5,869.02 ล้านบาท จากจำนวนสินเชื่อทั้งหมด 10,336.91 ล้านบาท

บานเบอะกว่าที่คิด ๆ กันหลายเท่า

แน่นอนทีเดียว...สิ่งนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของความผันผวนทางนโยบายระดับสูงเกี่ยวกับสถานภาพในระยะยาวของแบงก์ เพราะถ้าสินเชื่อที่ไม่มีรายได้นี้กลายเป็นหนี้สูญไปทั้งหมดก็หมายความว่าจะต้องมีการใส่เงินเข้าไปอีกเรื่อย ๆ เป็นจำนวนมากและจะไปสิ้นสุดเมื่อไรไม่มีใครทราบชัด

เพียงแต่จะเป็นสาเหตุสำคัญหรือจะเป็นสาเหตุประกอบก็คงจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งกระมัง

ทุกอย่างนั้นดำเนินไป 2 กระแสในขณะที่กระแสหนึ่งเฝ้าสังเกตเพื่อพัฒนาปริมาณให้กลายเป็นคุณภาพถึงขั้นเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย อีกกระแสหนึ่งเป็นกระแสของการเดินหน้าแก้ปัญหากันอย่างเคร่งเครียดของเกษม จาติกวณิชกับทีมงานที่ถูกส่งเข้าไปซึ่งถ้ามันจะเป็น "กับดัก" เกษมก็คงผิดพลาดในแง่ที่เขามีความตั้งใจและเป็นคนดีเกินไปภายใต้ระบบเส็งเคร็งของประเทศนี้

"ดู ๆ แล้วสภาพก็คล้าย ๆ กับคนหนึ่งทำงานอีกคนพยายามจับผิดเพียงแต่เผอิญเกษมไม่มีอะไรให้จับผิดได้เพราะเป็นคนตรงไปตรงมา ก็เลยต้องยกเหตุผลในเรื่องหลักการมาว่ากันอย่างนั้นใช่หรือไม่..." คนที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์แสดงความเห็นภายหลังสถานการณ์ใหญ่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ธนาคารเจ้าปัญหานี้ครั้งล่าสุด

สถานการณ์ที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า ธนาคารกรุงไทยจะต้องเข้าไปยึดธนาคารสยามด้วยเหตุผลที่เป็น "หลักการ" หลายข้อ โดยเฉพาะสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีคลัง ถึงประกาศว่าเป็นเพราะ ธนาคารสยามมีความเสียหายมาก ส่วนคนระดับมันสมองของแบงก์ชาติหลายคนก็กล่าวทำนองว่า ต้องการให้รัฐมีแบงก์เพียงแบงก์เดียวเพื่อจะได้ไม่ต้องแข่งขันกันเองและสามารถพัฒนาให้เติบโตจนมีบทบาท "นำ" ได้ในยุทธจักร

"เหตุผลที่พูด ๆ กันก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของหลักการที่จะต้องถกเถียงกันมากเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องและชัดเจน" นักเศรษฐศาสตร์การเงินท่านหนึ่งแสดงทัศนะ

แต่กลับเป็นเรื่องที่ถูกประกาศออกไปแล้วอย่างสายฟ้าแลบ ทั้ง ๆ ที่กรุงไทยจะเข้ายึดธนาคารสยามจริง ๆ ก็เป็นปี 2531 โน้น และก็เป็นปฏิบัติการรวบรัดที่ไม่มีผู้บริหารของธนาคารสยามได้รับรู้เป็นการล่วงหน้าเลยแม้แต่น้อย

เหตุผลก็ยังเปิดให้มีข้อถกเถียงกันไม่ตกและการลงมืออย่างรวดเร็วและรวบรัดนี้ เป็นเรื่องที่หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า จะมีอะไรที่เป็นปัญหาลึกซึ้งอยู่เบื้องหลังหรือไม่?

มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริง ๆ!

เกษม จาติกวณิช นั้นเข้าไปแก้ปัญหาพร้อม ๆ กับก่อปัญหาไปด้วยโดยที่เกษมก็อาจจะไม่ทราบ เพราะการก่อปัญหาของเกษมถ้าจะแก้ปัญหากันให้ตกแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้อีกเหมือนกัน

ถ้าจะมองย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีที่เกษมเข้ามาปัญหาที่เกษมก่อเอาไว้ก็คงจะมี 2 เรื่องใหญ่ ๆ

เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าของเก่า เรื่องที่สองเป็นทัศนะที่ไม่ค่อยตรงกันของทีมงานที่ถูกส่งเข้าไปซึ่งเผอิญเกษมอยู่ในจุดที่จะต้องชี้ขาดปัญหาเพื่อให้งานเดินหน้าไม่สะดุด

มันเริ่มตั้งแต่การที่เกษมถูกส่งเข้าไปในแบงก์ที่เคยเป็นของกลุ่มธารวณิชกุลกับวิจิตรานนท์ที่เป็นตระกูลผู้ดีเก่าของคุณหญิงลลิลทิพย์ (ที่ "ผู้จัดการ" เคยบอกว่าเสียอะไรเสียได้แต่จะไม่ยอมเสียหน้า) แล้วก็มีการขับผู้บริหารชุดเก่าออกไปจนหมดติดตามด้วยการเพิ่มทุนที่ลดสัดส่วนหุ้นของกลุ่มเก่าออกไปจนไม่เหลือ

จากนั้นก็ยังตามล้างตามเช็ดด้วยคดีฟ้องร้องที่เกษมไปดึงสนอง ตู้จินดามาจัดการอีกระลอก

ธนาคารสยามนั้นเมื่อสิ้นปี 2527 มีมูลหนี้ฟ้องร้องลูกหนี้ของธนาคารทั้งหมด 1,497 ล้านบาท แต่พอสิ้นปี 2528 มูลหนี้ที่ฟ้องร้องกันก็เพิ่มขึ้นถึง 7,804.37 ล้านบาท อย่างน่าวิตก ซึ่งในจำนวนนี้มูลหนี้ฉกาจฉกรรจ์ที่สุดก็คือจำนวน 3,634 กว่าล้านบาทที่เกษมสั่งให้ฟ้องอดีตเจ้าของและผู้บริหารรวม 7 คนคือวัลลภ ธารวณิชกลุหรือจอห์นี่ มา คุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล ทินกร ธารวณิชกุล ศิริ วิจิตรานนท์ สุสุทธิ์ วิจิตรานนท์ เมทินี ธารวณิชกุล(ลูกสาวจอห์นี่ มากับคุณหญิงลลิลทิพย์) และคณิต เล้าลิขิตนนท์

ทุกคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

"เราเชื่อว่าก็คงจะได้เงินคืนกลับมาเป็นจำนวนมากเพราะพยานหลักฐานทั้งเอกสารและพยานบุคคลเราพร้อมมาก" คนที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีพูดให้ฟัง

เพียงแต่ภายหลังการประกาศให้กรุงไทยจะต้องเข้าไปยึดธนาคารสยามนั้น สนอง ตู้จินดา ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" อย่างเปิดอกภายหลังการยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายตามหลังการลาออกของเกษม จาติกวณิช ว่า มีผลกระทบต่อรูปคดีมาก โดยเฉพาะพยานบุคคลที่จะต้องขึ้นให้การหลายคนรวนเรไม่อยากให้ความร่วมมืออีกต่อไป

ก็ไม่ทราบว่าคนที่เป็นเจ้าของความคิดเรื่องให้กรุงไทยเข้าไปยึดสยามคำนึงถึงปัญหาข้อนี้กันมาก่อนหรือเปล่า?

แต่ที่แน่ ๆ ป่านนี้จอห์นนี่ มาก็คงหัวเราะแทบตกเก้าอี้ไปแล้ว!

ส่วนปัญหาทัศนะที่ไม่ตรงกันในระหว่างผู้บริหารชุดใหม่นั้นจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่รวมศูนย์อยู่ที่นพพร พงษ์เวช เสียมากกว่า

และตลอด 3 ปีปัญหานี้ไม่เคยแสดงออกว่าเป็นปัญหาใหญ่ "อาจจะเป็นเพราะช่วงปีแรกทุกคนยังมีความกลมเกลียวกันในแง่ที่จะต้องสู้กับกลุ่มผู้บริหารชุดเก่าและเจ้าของเดิม อีกประการแบงก์ก็เสียหายมาก ถ้ามีเรื่องที่จะกระเทือนถึงภาพพจน์เพิ่มขึ้นอีก ก็คงจะเป็นเรื่องที่เสียหายทั้งหมด ก็เลยไม่มีใครอยากจะปูดออกมาก็เป็นได้..." แหล่งข่าวคนหนึ่งแสดงความคิดเห็น

ธนาคารสยามนั้นโดยสภาพของการบริหารแล้วก็แบ่งเป็น 2 ก๊กโดยกลายๆ คือก๊กของวารี หะวานนท์ กับคนที่วารีดึงมาจากแบงก์ชาติอย่างเช่น สุชาติ สุทธิสันธิ์ที่ถูกดึงมานั่งในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวางแผนและพัฒนาและสมหมาย ปฐมวิชัยวัฒน์ที่เป็นผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบ

ส่วนก๊กนพพร พงษ์เวช ก็เช่นผาสุก เทพมณี ที่เป็นผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อและอีกบางคนที่นพพรดึงมาจากซิตี้คอร์ป

ระหว่าง 2 ก๊กนี้จริงๆ แล้วเกษมก็คือคนที่อยู่ตรงกลาง เพียงแต่ก็อาจจะมีการแปรความให้เกษมยืนอยู่ข้างนพพร พงษ์เวชจากอีกฝ่าย เนื่องจากเกษมมักจะเห็นดีเห็นงามกับความคิดของนพพรอยู่บ่อยๆ

เพราะคนที่ทำงานมีบทบาทเป็นกองหน้าจริง ๆ ก็คือกลุ่มนพพร พงษ์เวช ที่ทุกคนเป็นคนหนุ่มไฟแรงและผ่านการทำงานกับธนาคารชั้นนำของต่างประเทศมาคนละไม่น้อย ทุกคนเคยชินกับการทำงานที่เป็นระบบธุรกิจ ในขณะที่กลุ่มวารี หะวานนท์ เคยชินกับระบบราชการและงานกำกับตรวจสอบ

ที่จริงมันก็เป็นสภาพโดยทั่ว ๆ ไป อยู่แล้วที่คนจากพื้นฐานและประสบการณ์คนละด้านนี้จะต้องมีปัญหาเรื่องความคิดที่ต่างกัน เพียงแต่สถานการณ์ของธนาคารสยามนั้นจะปล่อยให้ความคิดทั้ง

ขั้วนี้ต่อสู้หักล้างกันจนได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดและทั้งสองฝ่ายยอมรับก็คงจะไม่มีเวลาพอ สำหรับเกษมแล้วเขาเลือกที่จะตัดสินใจอย่างฉับไวกับความคิดที่มีเหตุผลและมีข้อมูลรองรับที่ดีที่สุดมากกว่าที่จะรอให้ทุกอย่างสายเกินแก้

เผอิญมันมักจะเป็นความคิดจากกลุ่มนพพร พงษ์เวช เสียมากต่อมากเท่านั้นแหละ

ในช่วงปีแรกที่เป็นช่วงของการสะสางและตรวจสอบความเสียหายของแบงก์นั้น นอกจากบทบาทที่คอยให้ความช่วยเหลือ และให้ข้อมูลในฐานะคนที่เคยร่วมงานกับเอเชียทรัสต์มาระยะหนึ่ง และก็อยู่ในจุดที่พอจะรับรู้ว่าเจ้าของแบงก์ตลอดจนผู้บริหารชุดเก่ายักย้ายถ่ายเทเงินชาวบ้านกันอย่างไร อีกบทบาทหนึ่งของนพพร พงษ์เวชนั้นก็คือการจัดวางระบบข้อมูลที่ต้องใช้ประกอบการตัดสินใจด้วยระบบคอมพิวเตอร์พร้อม ๆ กับการสร้างทีมงานและทำการฝึกอบรมให้เคยชินกับระบบใหม่ที่เขาจำลองมาจากธนาคารต่างประเทศ

"ผลก็คือถ้ากรรมการอยากจะทราบข้อมูลว่าแบงก์มีฐานะอย่างไร ก็มีแต่นพพรที่จะรายงานให้ฟังได้ ส่วนแผนงานฟื้นฟูก็มาจากนพพรเสียเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาก็มีอยู่ว่าถ้าคุณเป็นเกษมคุณจะตัดสินใจอย่างไร" คนระดับวงในคนหนึ่งเล่ากับ "ผู้จัดการ"

"นพพรนั้นเขาช่วยแบงก์มากในเรื่องการหาข้อมูลที่จะต้องใช้จัดการปัญหาหนี้ที่มันเสียหายเขากับกลุ่มของเขาไปติดตามมาได้มาก อันไหนที่ขาดหลักฐานก็พยายามไปควานหามา ส่วนข้อมูลและแผนงานเขาก็เสนอได้ชัดเจนบอร์ดเองก็ยอมรับกันก่อนที่จะลงมือทำ ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาตรงไหน" เกษม จาติกวณิช พูดถึงนพพร พงษ์เวช

เกษมนั้นได้รับบัตรสนเท่ห์และคำร้องเรียนว่าฝ่ายที่นพพรคุมอยู่นั้นทางฝ่ายตรวจสอบไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

เกษมก็สอบถามไปที่นพพรซึ่งนพพรได้ทำเป็นหนังสือชี้แจงกลับมาว่า ไม่เคยมีใครมาขอตรวจสอบและหากต้องการตรวจสอบก็จะยินดีอย่างยิ่ง

"ผมคิดว่าถ้าใครจะคิดว่าเกษมเข้าข้างนพพรไปทุกเรื่องอย่างขาดหลักการแล้วคน ๆ นั้นก็คงไม่รู้จักเกษมดีพอ เกษมนั้นจริง ๆ แล้วเป็นคนมีเหตุผลมีคุณธรรมและรู้จักเลือกใช้คนมาก ๆ" คนที่รู้จักเกษมมาตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตวิสัชณา

ทัศนะระหว่างผู้บริหารที่เป็น ขั้วความคิดนี้จะเป็นสาเหตุของการประกาศให้กรุงไทยยึดสยามหรือไม่ ก็คงจะไม่มีใครยืนยันได้

แต่แนวโน้มที่ต้องการเอาเกษมกับนพพรออกไปจากแบงก์เป็นสิ่งที่พอจะมองเห็นชัด

"เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เหตุผลหนึ่งที่พูดออกมาจากปากสุธี สิงห์เสน่ห์ก็บอกว่าที่ต้องให้กรุงไทยเทคโอเวอร์ก็เพราะสยามยังเสียหายมาก จะต้องใส่เงินเข้าไปอีกจำนวนมาก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องหมายความว่าผู้บริหารทั้งหมดที่ส่งเข้าไปทำงานไม่ได้ผล แก้ปัญหาไม่ตก เพราะฉะนั้นก็น่าจะต้องออกให้หมด กำจร สถิรกุล นั้นพอประกาศเรื่องกรุงไทย-สยามเสร็จ ก็ให้สัมภาษณ์อยู่แล้วว่าจะต้องจัดงานเลี้ยงขอบคุณ เพื่อเป็นการอำลากรรมการแบงก์สยามก็ออกปากไล่กันทางอ้อมนั่นแหละ แต่ขอถามหน่อยเถอะว่า นอกจากเกษมกับสนอง ตู้จินดา ที่ต้องออกเพื่อรักษาเกียรติส่วนคนอื่น ๆ ก็มีเหตุผลต่าง ๆ กันไปแล้ว ทำไมกรรมการผู้อำนวยการอย่างวารี หะวานนท์จึงไม่ออก ส่วนนพพรทีแรกก็จะออกแต่เผอิญผู้ใหญ่บางคนขอให้อยู่ไปก่อนเท่านั้นเอง" คนที่เฝ้าสังเกตการณ์มาโดยตลอดแสดงความเห็นด้วยน้ำเสียงอึดอัด

ปัญหาของแบงก์สยามที่ต้องมีอันเป็นไปในครั้งล่าสุดนี้ ก็คงจะมีทั้งที่เป็นปัจจัยภายนอกเช่นเดียวกับปัจจัยที่ว่ากันว่า "ป้อมค่ายมักจะทลายจากภายใน"

และปัจจัยทั้งภายนอกและภายในก็น่าจะมีการประสานกันในบางระดับ โดยเฉพาะคนของแบงก์ชาติด้วยกัน

"มันเหมือนกับแม่น้ำหลายสายที่เวียนมาบรรจบกันพอดี ทุกอย่างก็เลยลงตัวที่จะต้องมาเปลี่ยนนโยบายใหม่ และก็ต้องทำกันทันทีเพราะจริง ๆ แล้วแบงก์สยามฐานะดีขึ้นมาก ยอดขาดทุนลดลงทุกปีและก็คงจะประกาศว่าจะเริ่มมีกำไรในไตรมาสที่ ของปี 2530 นี้แล้ว ซึ่งถ้าปล่อยให้ถึงตอนนั้น ข้ออ้างที่จะให้กรุงไทยเข้ามายึดก็อาจจะขาดน้ำหนักไปมากแล้ว" แหล่งข่าวคนหนึ่งวิเคราะห์

แล้วอะไรคือแม่น้ำหลายสายที่ว่านั้น?

สายแรกก็คงจะพอหาคำตอบได้จากเจ้าของเก่าของธนาคารแห่งนี้ ที่ก็คงจะเบาใจมากขึ้นกับคดีที่ถูกฟ้องร้องมูลหนี้กว่า 3 พันล้านบาทและก็คงสะใจที่แค้นเก่าได้รับการชำระไปแล้ว โดยเฉพาะแค้นที่มีอยู่กับเกษม จาติกวณิช ที่เกษมก็คงจะไม่รู้หรอกว่ามีอยู่

สายที่สองก็น่าจะถามวารี หะวานนท์ว่าต่อแต่นี้ไปจะได้ทำงานสบายมือขึ้นหรือไม่?

และสายที่สามควรอย่างยิ่งที่จะเจาะจงลงไปในความคิดของ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รัฐมนตรีช่วยคลังอดีตผู้อำนวยการฝ่ายฯของธนาคารแห่งประเทศไทย เริงชัย มะระกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทยอดีตผู้อำนวยการฝ่ายฯ ธนาคารแห่งประเทศไทยหลานรักสมหมาย ฮุนตระกูล เอกกมล คีรีวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย และนิพัฒน์ พุกณะสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 4 มันสมองที่อยู่เบื้องหลัง ผู้ช่วยส่งลูกไปที่กำจร สถิรกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติและสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีคลังอีกทอด

ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเหตุผลในด้านหลักการที่ได้ฟังกันจนชินหูแล้วนั่นเอง

เรื่องของเกษมจบไปแล้วพร้อม ๆ กับภาพที่สะท้อนถึงสิ่งที่เรียกว่า "ความหวงแหน" ทรัพยากรคนของรัฐด้วยการที่เรียกมาใช้งานแล้วก็ถีบหัวส่ง

แต่สำหรับบางคนที่คิดจะมอบกายถวายตัวทำงานรับใช้ชาติก็คงเพิ่งจะเริ่มต้นการทบทวนครั้งใหญ่

สำหรับเกษมนั้นก็น่าจะไม่ต้องการให้ใครมาเรียกว่า "ซูเปอร์เค" อีกต่อไปแล้ว

เขาคิดว่ามันอาจจะเป็นเพราะฉายา "ซูเปอร์เค" นี้ก็เลยทำให้คนบางคนที่ไม่ชอบคนอื่นเด่นกว่าเกิดไม่ชอบขี้หน้าเขาดื้อ ๆ

ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วจวบจนบัดนี้ฉายา "ซูเปอร์เค" ก็ยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเกษม แม้ในขณะที่ถูกย่ำยีก็เถอะ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.