ขณะที่ปัญหาสิทธิบัตรยายังยืดเยื้อคาราคาซัง ผู้ผลิตยาที่เป็นคนไทย รวมถึงนักศึกษาเภสัชศาสตร์ทั้งหลายต่างระดมพลังออกแรงระงับยับยั้งทุกวิถีทาง
ที่จะป้องกันไม่ให้บันทึกมรณะสิงหาคม 2529 (บันทึกที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาทำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข)
ได้มีโอกาสออกมาเพื่อเปิดทางให้บรรษัทยาข้ามชาติแฝงกายเข้ากอบโกยผลประโยชน์อย่างที่ต้องการ
ความวัวยังไม่ทันจางหาย ความควายก็สอดแทรกไม่ว่างเว้นเมื่อจู่ ๆ ปรากฏว่า
กรมวิชาการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของท่านอธิบดี ยุกติ สารภูติ ได้ดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบใหม่ในการขึ้นทะเบียนวัตถุมีพิษ
ซึ่งกฎระเบียบใหม่นี้ทำให้คนไทยผู้ประกอบธุรกิจสารเคมีเกษตรถึงกับร้อง "โอ๊ย"
กันถ้วนหน้า
เพราะเนื้อแท้ของกฎระเบียบใหม่ เปิดช่องให้บริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจเคมีเกษตรสบจังหวะเจาะตลาดได้อย่างถนัดถนี่
เนื่องจากสาระสำคัญของกฎระเบียบใหม่ผู้นำเข้าสารเคมีเกษตรทั้งหลายจะต้องใช้เวลาทดสอบก่อนขึ้นทะเบียนเป็นเวลาหลายปี
ซึ่งระยะเวลาที่กว่าจะผ่านการทดสอบจะต้องใช้เงินทุนทดลองเป็นจำนวนไม่น้อย
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้บริษัทคนไทยทั้งหลายตกเป็นเบี้ยที่ถูกขุนให้คว่ำ
เพราะสายป่านที่จะนำมาหล่อเลี้ยงคงไม่ยืดยาวพอที่จะสู้กับบริษัทต่างชาติ
เช่น มอนซาโต ดูปองท์ ซีบ้า-ไกกี้ เชลล์ ฯลฯ ได้แน่นอน ซึ่งที่สุดธุรกิจนี้จะตกอยู่ในเงื้อมมือต่างชาติ
ที่จะกำหนดความพอใจได้ทุกเมื่อ
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจส่วนรวมอีกประการหนึ่งก็คือ จะทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นอีก
1-3 เท่าตัว เนื่องจากผู้ขายต้องบวกค่าใช้จ่ายในการทดลองเข้าไปอีก และยังเป็นการปิดกั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมเคมีด้านวัตถุมีพิษภายในประเทศไม่ให้สามารถพัฒนาได้เหมือนกับชาติอื่น
เช่น เกาหลี จีนแดง หรืออินโดนีเซีย
เบื้องหลังกฎมรณะที่จะคลอดออกมานี้ ว่ากันว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ใหญ่ในกรมวิชาการได้เดินทางไปร่วมประชุมกับ
เอฟเอโอ. (FAO) ประมาณกลางปีที่แล้วซึ่ง FAO นี้ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การ
GFAB (เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มบริษัทธุรกิจเคมีเกษตรชื่อดังของโลก)
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ชั้นสูงส่วนหนึ่งของ FAO ก็เคยปฏิบัติงานในบริษัทชั้นนำเหล่านั้นมาก่อน
FAO ได้เสนอข้อคิดเห็นว่าประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทย ควรที่จะมีการยกร่างกฎระเบียบวัตถุมีพิษเสียใหม่โดยมุ่งเน้นถึงด้านการทดลองก่อนที่จะนำออกมาจำหน่าย
ที่จริงหากดูตามวัตถุประสงค์นี้ก็เป็นเรื่องดีไม่หยอก แต่ที่ต้องร้องกันออกมาเป็นเพราะว่า
"มีอย่างที่ไหนวัตถุมีพิษหลายชนิดยังไม่เคยมีขายที่ไหนในโลก และผลการทดสอบก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากประเทศผู้ผลิตด้วยซ้ำ
แต่กลับจะนำมาทดลองและขายในเมืองไทย เขามองเห็นว่าบ้านเรายังไม่มีเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญด้านนี้
โอกาสที่จะตบตาจึงมีความเป็นไปได้สูง ทำอย่างนี้ราวกับว่าเมืองไทยเป็นหนูตะเภาทดลอง"
ผู้ค้าสารเคมีคนไทยรายหนึ่งกล่าวอย่างเหลืออดกับ "ผู้จัดการ"
เพื่อให้กฎระเบียบใหม่คลอดออกมาโดยเร็ว บริษัทข้ามชาติที่มีสาขาในเมืองไทยได้สั่งการให้ผู้บริหารชั้นสูงที่เป็นคนไทยบางคนดำเนินการในเรื่องนี้โดยด่วนที่สุด
ตัวตั้งตัวตีที่ถูกวิพากษ์มากที่สุดก็คือ ดร. ชาตรี พิทักษ์ไพวัน ผอ. ฝ่ายวิชาการของบริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊ก
จำกัด (ICI) ชลัท ศรีพิจารณ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัท ดูปองท์
"เราไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจำเป็นนักหรือที่จะต้องนำเอาประเทศไทยไปเร่งประเคนให้กลุ่มทุนข้ามชาติ
ระเบียบใหม่นี้มีคนไทยบางคนเข้าร่วมร่วงด้วย เมื่อถูกตอบโต้คนไทยคนนั้นก็ถ่ายเอกสารทุกชิ้นส่งกลับไปเมืองนอก
ทั้งนี้เพื่อจะบีบบริษัทเล็ก ๆ ของคนไทยที่ต้องนำเข้าสินค้าจากเขาว่าอย่าได้คิดยับยั้งไม่เช่นนั้นจะไม่ขายสินค้าให้"
แหล่งข่าวท่านหนึ่งกล่าว
เอาเป็นว่าถ้าระเบียบใหม่นี้ไม่มีอะไรติดขัด เชื่อแน่ว่าบริษัทเล็ก ๆ ของคนไทยไม่น้อยกว่า
30 บริษัทจะต้องถึงจุดจบอย่างน่าอเน็จอนาถ เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่มีกำลังพอที่จะหาเงินจำนวนมากมายมาใช้จ่ายในการทดลองเหล่านั้นได้
หรือถ้าต้องการยืดอายุหายใจก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทนเป็นลูกไล่ของบริษัทข้ามชาติ
สำหรับ ดร. ชาตรี พิทักษ์ไพวัน คนที่ถูกมองด้วยสายตาคลางแคลงนั้น จบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่
21 (มก. 21)แผนกโรคพืช หลังจบมาใหม่ ๆ ได้เข้าทำงานในบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย)
จำกัดที่ขณะนั้นมีแผนกสารเคมีอยู่ด้วย ทำงานที่เอสโซ่ประมาณ 3-4 ปีจึงลาออกไปเรียนต่อต่างประเทศจากนั้น
จึงกลับเข้ามาทำงานที่อี๊สต์เอเชียติ๊กในแผนกเคมีเกษตรจนเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการในปัจจุบัน
นับเป็นมันสมองสำคัญของ ไอซีไอ. อีกคนหนึ่ง
ส่วน ชลัท ศรีพิจารณ์จบการศึกษาด้านเกษตรศาสตร์มาจากออสเตรเลีย เคยทำงานอยู่กับบริษัท
เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัดระยะหนึ่ง ก่อนผันตัวเองมาอยู่ดูปองท์ ชลัทเป็นคนที่ได้ชื่อว่าเก่งฉกาจมากในเรื่องการตลาด
สามารถทำให้ดูปองท์ก้าวขึ้นมาครองตลาดเคมีเกษตรอยู่ในอันดับหนึ่งติดต่อกันหลายปี
คุณสมบัติพิเศษอีกข้อก็คือ เป็นคนที่เข้าหาผู้ใหญ่ได้เก่ง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ของกรมวิชาการเกษตร
กับปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยผู้ประกอบธุรกิจสารเคมีเกษตรได้มีการรวมตัวกันเป็นชมรมฯ
โดยยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมผู้ค้าปุ๋ยและเคมีเกษตรที่มี วัลลภ เจียรวนนท์
ซาเสี่ยของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) นั่งเก้าอี้นายกอยู่ ชมรมฯ ดังกล่าวนี้พยายามที่จะเปิดเกมรับมิให้กฎระเบียบใหม่ได้ออกมา
"เหตุที่เราไม่ต่อสู้ในนามสมาคมฯ ก็เป็นเพราะว่ากลัวจะไม่คล่องตัว
เนื่องจากในสมาคมมีบริษัทใหญ่ที่มีการค้าสัมพันธ์กับบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นรวมอยู่ด้วย
ซึ่งคนของบริษัทใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดการต่อสู้ในขั้นรุนแรง นั่นเป็นเรื่องที่เรายอมไม่ได้
เพราะบริษัทใหญ่ไม่ลำบากนัก แม้ว่าจะมีกฎใหม่ออกมาก็ตามที" แหล่งข่าวในชมรมท่านหนึ่งกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
ตัวตั้งตัวตีของชมรมฯ ประกอบไปด้วยพ่อค้าเคมีเกษตรชื่อดังหลายท่านอาทิเช่น
พิฑูรย์ กอเทพวัลย์ แห่งบริษัท พิทสุลิน จำกัด (ที่เคยมีข่าวว่าจะสร้างโรงงานผลิตขึ้นในเมืองไทย)
ประวิทย์ จิรัปภา แห่งบริษัทแอ็กโกร จำกัด ดร. สุริยันต์ รักษาค้า แห่งบริษัท
มีดี. เทค จำกัด รวมถึงตัวแทนจากบริษัท ยิบอินซอย จำกัดและอีกมาก
ชมรมฯ มีการประชุมกันเกือบทุกอาทิตย์เพื่อติดตามข่าวการเคลื่อนไหวว่ากฎระเบียบใหม่นั้นจะออกมาเมื่อใด
และเตรียมทำบันทึกชี้แจงแก่รัฐสภาให้ทราบถึงขบวนการโกยผลประโยชน์ของชาติ
พร้อมจะออกชี้แจงกับผู้ใช้ให้ทราบถึงพิษภัยของบริษัทข้ามชาติและเคมีเกษตรตัวใหม่
ๆ ที่จะเข้ามา โดยจะเริ่มแผนงานนี้ในราวเดือนเมษายน
"เราเรี่ยไรเงินกันทำเท่าที่ความสามารถจะเอื้ออำนวยให้แต่จะยอมให้ต่างชาติเข้ามาเอาผลประโยชน์ไปต่อหน้าต่อตานั้นเราทำไม่ได้"
สมาชิกชมรมอีกท่านกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
คนที่ต้องตกที่นั่งกระอักกระอ่วนใจต่อปัญหานี้มากที่สุดเห็นจะเป็น วัลลภ
เจียรวนนท์ เพราะตำแหน่งนายกสมาคมฯ ที่ค้ำอยู่หากไม่ช่วยเหลือคนไทยด้วยกันก็ดูกระไรอยู่
แต่ถ้าหากช่วยไปก็ไม่รู้ว่าจะทำความไม่พอใจให้กับบริษัทข้ามชาติที่มีสายสัมพันธ์การค้ากับ
ซีพี. หรือไม่?
"คุณวัลลภพยายามวิ่งเต้นขอร้องทั้งสองฝ่ายให้ประนีประนอมกันแล้ว แต่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมให้กันเพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์
ทางชมรมฯ นั้นก็เคยบอกว่า ถ้าทางบริษัทใหญ่ ๆ เช่น ซีพี. ไม่ช่วยก็ควรวางตัวเป็นกลาง
เรื่องนี้ไม่น่าจะรุนแรงถึงขั้นนี้ถ้าคุณชาตรีกับคุณชลัทจะไม่ออกหน้าออกตาเกินไปนัก"
คนใกล้ชิดกับวัลลภกล่าว
ส่วน ดร. ชาตรีกับชลัทจะมีเหตุผลอย่างไรนั้น "ผู้จัดการ" เพียรพยายามติดต่อสอบถามอย่างไรก็ไม่สำเร็จโดยให้คำตอบว่าไม่มีเวลาจะคุยด้วยทุกครั้งไป