"ชุมนุม 10 เจ้ายุทธจักร คนขายคอมพิวเตอร์ลั่นกลองอีกแล้ว"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

"ชุมนุม 10 เจ้ายุทธจักร คนขายคอมพิวเตอร์ลั่นกลองอีกแล้ว"

วันนั้นเป็นวันปลายเดือนมีนาคม 2530 คน 10 คนนั่งประชุมถกปัญหากันอย่างเอาจริงเอาจัง

ประวิทย์ ฉัตตะละดา จากบริษัทไอบีเอ็มประเทศไทย

มนู อรดีดลย์เชษฐ์ จากบริษัทดาต้าแมทตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอ็นอีซี

อนุวรรณ วนานุเวชพงศ์ จากบริษัทบางกอกดาต้าเซ็นเตอร์ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดิจิตัล (DEC)

เทียนชัย ลายเลิศ จากบริษัทยิบอินซอยที่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบอร์โร่หรือยูนิซิส ชื่อใหม่ภายหลังเบอร์โร่ควบกิจการเข้ากับบริษัทสเปอรี่

อมร ถาวรมาศ จากบริษัทซัมมิทคอมพิวเตอร์ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยูนิซิสที่เดิมคือสเปอรี่

สนิท ศักดิ์เสรี จากบริษัทดิจิตัล ดาต้า

ธวัช บุญกนก จากบริษัทกนกสิน

สุธรรม นิ่มพิทักษ์พงศ์จากบริษัทเคี่ยนหงวนตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอ็นซีอาร์

นอกจากนั้นก็มีวินัย วารัญญานนท์ ที่เคยอยู่บริษัทอินโนเวชั่น ดิลก คุณดิลก อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริษัทซีดีประเทศไทย รวมเป็น 10 ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าของและผู้บริหารบริษัทตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีในประเทศไทย

หัวข้อที่ต้องมีการถกกันอย่างเอาจริงเอาจังนานหลายชั่วโมงในวันนั้นและตกลงกันแล้วด้วยว่าจะต้องมีวันต่อ ๆ ไปอีกหลายครั้งเป็นเรื่องการตระเตรียมจัดตั้ง "กลุ่มผู้ค้าคอมพิวเตอร์" ขึ้นอย่างเป็นทางการ

เป็นไปได้หรือไม่? ที่พวกเขากำลังผนึกกำลังทาบรัศมีสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยอย่างจัง ๆ หน้าในขณะที่สมาคมคอมพิวเตอร์ฯ เองก็วางนโยบายที่จะจัดตั้งชมรมย่อยขึ้น 4 ชมรมเป็นสาขาของสมาคม ซึ่ง 1 ใน 4 ชมรมที่ว่านี้ก็คือ "ชมรมผู้ค้าคอมพิวเตอร์" (ส่วนอีก 3 ชมรมได้แก่ชมรมผู้ใช้คอมพิวเตอร์, ชมรมนักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์และชมรมผู้ผลิตและประกอบคอมพิวเตอร์)

สงครามช่วงชิงการนำในหมู่พ่อค้าคอมพิวเตอร์กำลังจะอุบัติขึ้นอย่างนั้นหรือ?

"ผมว่าก็คงทั้งใช่และไม่ใช่...." แหล่งข่าววงในจริง ๆ วิสัชณา

"เราพร้อมที่จะร่วมมือกับชมรมผู้ค้าฯ และสมาคมคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกับที่เรา ก็พร้อมที่จะหาทางร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมหรือสภาหอการค้าในเรื่องที่เมื่อร่วมแล้วเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อธุรกิจของพวกเรา เพียงแต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเราเป็นตัวของตัวเรา เราคือกลุ่มผู้ค้าฯ ที่ไม่ได้ขึ้นต่อสมาคมคอมพิวเตอร์" หนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้ค้าคอมพิวเตอร์บอกให้ฟัง

ความคิดในการจัดตั้งกลุ่มผู้ค้าคอมพิวเตอร์นั้นมีมานานแล้วอย่างน้อยริ้วรอยก็ได้ปรากฏชัดเจนตั้งแต่ปี 2525 ที่ผู้ค้าคอมพิวเตอร์กลุ่มหนึ่งซึ่งหลายคนก็คือ คนใน 10 คนที่ประชุมกันเมื่อวันปลายเดือนมีนาคมนั่นเอง พวกเขาร่วมกันทำงานหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งก็คือการรวมตัวเจรจากับเจ้าของศูนย์การค้าเกิดใหม่หลายแห่งในช่วงนั้น (อย่างเช่นมาบุญครองและพันธ์ทิพย์พลาซ่า) "ศูนย์การค้าเขาเสนอเปิดศูนย์คอมพิวเตอร์ให้เป็นแหล่งรวมของบริษัทผู้ขาย พวกเราก็รวมตัวกันไปเจรจาเพราะเรามาก็คิดว่ามันจะได้ประโยชน์ในแง่ที่เราต่อรองราคาได้ เพราะมีหลายรายในขณะเดียวกันเราก็กำหนดเงื่อนไขได้อีกหลาย ๆ อย่าง เช่น โชว์รูมหรือสำนักงานขายคอมพิวเตอร์ทั้งหมดจะต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกันไม่มีสินค้าอื่นเข้ามาแทรก ก็จากงานนี้หลายคนก็เริ่มเล็งเห็นคุณประโยชน์ของการรวมตัวของกลุ่มผู้ค้าฯ..." แกนนำคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ในปี 2527 พวกเขาก้าวเข้าไปทำงานใหญ่ขึ้น เมื่อผู้ค้าคอมพิวเตอร์ 7 คนได้เข้าไปเป็นกรรมการสมาคมคอมพิวเตอร์ซึ่งก็คงต้องนับเป็นปรากฎการณ์แปลกใหม่ของสมาคมที่ตอนนั้นก่อตั้งมานาน 12 ปีโดยที่ตลอดมากรรมการสมาคมก็จะมีคนหน้าเดิม ๆ จากภาคราชการหรือครูบาอาจารย์ทางด้านคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่

ทั้ง 7 คนที่ว่านี้ก็คือ มนู อรดีดลย์เชษฐ์, ดิลก คุณดิลก, อมร ถาวรมาศ, ธวัช บุญกนก, สุธรรม นิ่มพิทักษ์พงศ์, อนุวรรต วนานุเวชพงษ์และตัวแทนจากบริษัทไอบีเอ็ม

ส่วนใหญ่ก็คือแกนนำในการจัดตั้ง "กลุ่มผู้ค้าคอมพิวเตอร์" นั่นแหละ

และความคิดที่จะมีการจัดตั้งชมรมผู้ค้าคอมพิวเตอร์ภายใต้สังกัดสมาคมคอมพิวเตอร์ก็เริ่มขึ้นในยุคสมาคมมีกรรมการจากฝ่ายผู้ค้าฯ 7 คนนี้เอง

"ช่วงนั้นเราพยายามเคลื่อนไหวหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสำคัญก็คือเรื่องภาษีที่เราเสนอให้มีการกำหนดพิกัดให้ชัดเจนและเป็นธรรม ซึ่งเราก็พบว่าจะทำในนามสมาคมนั้นยาลำบากมากเนื่องจากสมาคมฯ ไม่ใช่เป็นสมาคมของผู้ค้าฯ หากแต่เป็นสมาคมของคนในวงการคอมพิวเตอร์ทุกส่วน นอกจากนี้กรรมการหลายท่านก็อยู่ในภาคราชการอย่างท่านนายกฯ สมาคมตอนนั้น....คุณเกยูร ลิ่มทอง ท่านก็มีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ จะไปเคลื่อนไหวเรื่องลดภาษีมันก็ดูกระไรอยู่ แต่บทบาทของสมาคมก็สำคัญมากเราก็เลยมาคิดว่าควรจะมีการแยกจัดเป็นชมรมต่างหากออกมา อะไรที่พอจะให้สมาคมหนุนช่วยได้ก็ให้สมาคมช่วย หรือเป็นการเสนอปัญหาผ่านสมาคมอีกชั้นหนึ่ง ..." อดีตกรรมการสมาคมคอมพิวเตอร์เล่ากับ "ผู้จัดการ"

เผอิญยังไม่ได้ก่อรูปชัดเจนนัก ในปี 2528 กรรมการสมาคมชุดนี้ออกตามวาระ (2 ปี) การเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ที่อึกทึกครึกโครมมาก

การเลือกตั้งคราวนั้นว่ากันว่ามีการทุ่มกันอย่างสุดตัวของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ประกอบด้วยผู้ค้าคอมพิวเตอร์ยี่อห้อดังกับนักวิชาการบางปีกในสมาคมฯ และก็เป็นการเลือกตั้งที่หักหน้ากรรมการเก่าหลายคนอย่างไม่เหลือเยื่อใยทีเดียวเชียว

"มันเป็นยุคเริ่มต้นที่ใครกล้าทุ่มก็เข้ามาเป็นกรรมการเป็นยุคที่ทุกฝ่ายในวงการคอมพิวเตอร์แบ่งกันเป็นก๊ก ก๊กใคร ก๊กมันไม่ประนีประนอมเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมอีกต่อไป" แหล่งข่าวคนหนึ่งวิจารณ์

กรรมการสมาคมฯ ชุดปี 2528 นั้น ที่จริงก็ได้สานต่อความคิดในการจัดตั้งชมรมผู้ค้าฯ เหมือนกัน เพราะกรรมการหลายคนก็มาจากผู้ขายคอมพิวเตอร์เพียงแต่คนละกลุ่มกับกรรมการชุด 7 คนยุคปี 2527 เท่านั้น แต่เผอิญเดินงานไปได้ไม่มาก การเลือกตั้งกรรมการชุดล่าสุดก็มาถึงเมื่อต้นๆ 2530

ซึ่งปรากฏว่ากรรมการชุดเก่าที่ไปหักชุดก่อนก็โดนชุดใหม่หักเอาบ้าง

"ผมดูแล้วมันก็คงหาข้อยุติลำบากครับ สำหรับตำแหน่งกรรมการสมาคม เพราะก็อาจจะมีการหักกันไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวกลุ่มนั้นขึ้น กลุ่มนี้ลง ไม่พอใจกันก็รวมกลุ่มใหญ่ซุ่มหาคนสมัครเป็นสมาชิกสมาคมวันเลือกตั้งก็เกณฑ์มาใส่คะแนน แนวโน้มเช่นนี้มันมีผลอย่างรุนแรงกับนโยบายของสมาคมที่ก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ กลุ่มใหม่ไม่พอใจกลุ่มเก่าหักจนชนะเข้ามาได้ก็สั่งยกเลิกนโยบายของกรรมการชุดเก่า คนที่อยู่ในวงการคอมพิวเตอร์จนผมเปลี่ยนสีแล้วบ่นอย่างไม่ค่อยสบอารมณ์ให้ฟัง

หากจะว่าไปแล้วสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับสมาคมคอมพิวเตอร์ภายหลังการเลือกตั้งกรรมการ 3 ครั้งที่ผ่านมา ก็คือสาเหตุที่ "กลุ่มผู้ค้าคอมพิวเตอร์" จะต้องเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจัง

"มันไม่ใช่เราจะไปแข่งรัศมีกับสมาคมหรือชมรมผู้ค้าฯ เราอาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมในชมรมผู้ค้าด้วยก็ได้ แต่เรื่องที่เรากำลังจะทำในนามกลุ่มผู้ค้าฯ นั้นมันเป็นเรื่องที่ต้องทำกันอย่างสุดตัวจริงจังและต่อเนื่องเ ราจริง ๆ แล้วเพียงต้องการหลักประกันในการดูแลผลประโยชน์ของผู้ขายคอมพิวเตอร์เท่านั้นเอง" แกนนำอีกคนหนึ่งที่ร่วมปรึกษาหารือกล่าวทิ้งท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.