ดอยซ์แบงก์ฟันธงจีดีพีติดลบ4%


ASTVผู้จัดการรายวัน(6 สิงหาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ดอยซ์แบงก์ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ4% และเริ่มฟื้นปีหน้าคาดโตได้ 3.5% จากเศรษฐกิจโลก-เอเชียที่มีความแข็งแกร่งขึ้น แนะรัฐเตรียมหามาตรการหนุนการลงทุนรับเศรษฐกิจฟื้น โดยมองที่ระยะ 5 ปีเป็นหลัก ส่วนกรณีที่ธปท.ผ่อนเกณฑ์ลงทุนตปท. แม้จะเป็นการกระตุ้นลงทุน แต่ต้องรับประกันความผันผวนค่าเงิน ติงหากเงินไหลออกมากอาจกระทบการลงทุนในประเทศ

นายนอร์เบิร์ต วอลเตอร์ หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มธนาคารดอยซ์ แบงก์ (Deutsche Bank) กล่าวว่า ธนาคารได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2552 ที่ระดับติดลบ 4% ซึ่งเป็นไปตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถพลิกกลับมาฟื้นขยายตัวได้ในปี 2553 โดยคาดว่าจีดีพีขยายตัวได้ 3.5% จากปัจจัยหลักด้านสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกประมาณ 1.5% อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจุดยุทธศาสตร์ที่ดีท่ามกลางประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ภาคการส่งออกของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นประเภทสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้จะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเภทอื่น

ด้านปัจจัยเสี่ยงในปี 2553 ยังเป็นปัจจัยในประเทศของไทย โดยมองว่าการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจที่จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต้อง เกิดจากสังคมที่มีความสงบและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองมองว่าท่าทีและนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันถือว่า ทำได้ดีและเป็นประโยชน์มาก และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเท่านั้น แต่ส่งผลดีต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากรัฐบาลได้ทำการสนับสนุนความร่วมมือทางด้านกลุ่มอาเซียนเป็นอย่างดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งโลกเช่นกัน

ส่วนภาคการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวนั้น ต้องคำนึงถึงนโยบายและกฎเกณฑ์ของรัฐบาลว่า มีความเกื้อหนุนมากน้อยเพียงใดในการสนับสนุนโครงการลงทุนต่างๆในอนาคต ซึ่งควรมองการลงทุนระยะยาวไม่ต่ำกว่า 5 ปี ขณะที่ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้น ขณะนี้ราคาน้ำมันอยู่ในภาวะอิงกับเศรษฐกิจโลก โดยในอนาคตขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานว่ามีความสมดุลมากน้อยเพียงใด แต่เชื่อว่าโอกาสที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 150 ดอลลาร์/บาร์เรล ไม่น่าเกิดขึ้นก่อนปี 2555 อย่างไรก็ดีต้องคำนึงถึงความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้น อีกทั้งมาตรการของรัฐบาลแต่ละประเทศที่จะผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานอย่าง คุ้มค่า

สำหรับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ผ่อนปรนอนุญาตให้นิติบุคคลที่สินทรัพย์เกิน 5 พันล้านบาท สามารถเข้าไปลงทุนในต่างประเทศได้ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเหมือนดาบสองคม ถ้ามองในมุมหนึ่งถือว่าเป็นความคิดที่มีประโยชน์และสนับสนุนด้านการลงทุน เนื่องจากมองว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าการลงทุนในภูมิภาคเอเชียจะสามารถส่งผลกำไรกลับมาได้ค่อนข้างดี แต่หากมองในมุมของค่าเงินบาททางธปท.ต้องมีการรับประกันด้านความผันผวนแก่นัก ลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง และหากสามารถรับประกันได้พร้อมทั้งมีกฎเกณฑ์ที่รัดกุมและมีกระบวนการตรวจสอบ การลงทุนเพื่อถ่วงดุลไม่ให้เงินตรารั่วไหลออกไปจากประเทศไทยมากนักจะเป็น สิ่งที่ดี เนื่องจากการลงทุนในประเทศยังมีความสำคัญเช่นกัน.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.