"มร. วี. เอ็ม. ดโวรัก อดีต M.D. บาจา อีกตำนานของความรักเมืองไทย


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าเอ่ยถึง มร. วี. เอ็ม. ดโวรัก ชาวเช็คโกสโลวาเกีย กรรมการผู้จัดการบริษัท รองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2502-2521 ซึ่งเสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจ และณาปนกิจศพไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2530 ณ เมรุวัดธาตุทอง คงมีไม่กี่คนนักที่รู้จัก

แต่ถ้ากล่าวถึงรองเท้าบาจาคนทั่วไปจะรู้จักดีในฐานะรองเท้าที่มีราคาเป็นเอกลักษณ์ที่ลงท้ายด้วยเลข 9

และคนที่อยู่ในวงการตลาดหุ้นจะรู้ดีว่า ในปี 2520-2521 นั้นมูลค่าหุ้นบาจาสูงขึ้นถึง 800-900 บาท จากราคาพาร์ 100 บาท และในปี 2521 จ่ายเงินปันผลถึง 50 บาท/หุ้น

สำหรับนักศึกษาที่เรียนวิชาการตลาดมักจะรู้จักบาจาในฐานะที่เป็นนักศึกษา ที่อาจารย์นำมาสอนเรื่องกลยุทธการตลาดและไม่เพียงนักศึกษาเท่านั้นที่ศึกษา CASE ของบาจา แม้แต่ผู้ผลิตรายใหม่และรองเท้าที่กำลังมีชื่อขณะนี้บางยี่ห้อก็ศึกษา CASE ของบาจาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนลงทุนด้วยซ้ำไป

คงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่าผู้มีส่วนสำคัญทำให้บาจาเป็นที่รู้จักเช่นทุกวันนี้คือ ถึง มร. วี. เอ็ม. ดโวรัก อดีตกรรมการผู้จัดการ ที่ทำงานอย่างหนักมาตลอด 20 ปี

ถึง มร. วี. เอ็ม. ดโวรัก เข้าร่วมงานกิจการรองเท้าบาจาครั้งแรกที่เมืองชลิน ประเทศเช็คโกสโลวาเกีย ในปี 2472 ขณะอายุได้เพียง 14 ปี และได้เข้ารับการศึกษาจนจบหลักสูตรจากโรงเรียนด้านเทคนิคด้านการผลิตและการจัดการของกิจการรองเท้าบาจา ซึ่งเป็นสถาบันที่ฝึกสอนให้มีความรู้ความสามารถในการผลิตรองเท้าอย่างแท้จริง

จากนั้นก็ได้ร่วมงานกับกิจการรองเท้าบาจาในประเทศต่าง ๆ มาโดยลำดับ ในปี 2476 ที่ประเทศอังกฤษ ปี 2477-2480 ที่ประเทศออสเตรเลีย ปี 2491 ที่ประเทศอินเดีย ปี 2492-2501 ที่ประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย และตั้งแต่ปี 2502-2521 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการรองเท้าบาจาประเทศไทย จนกระทั่งปลดเกษียณ

"ท่านมารับตำแหน่งในต้นปี 2502 ขณะที่บริษัทฯ กำลังประสบปัญหาและความยุ่งยากในด้านการผลิตและจัดจำหน่าย แต่ท่านก็ใช้บุคลิกความเป็นผู้นำและประสบการณ์นำทีมพนักงานบาจาฝ่าฟันอุปสรรคนั้นผ่านมาได้" พนักงานระดับสูงของรองเท้าบาจากล่าวถึง ถึง มร. วี. เอ็ม. ดโวรัก ด้วยความชื่นชมและด้วยความสามารถในการทำงานอย่างมืออาชีพจึงทำให้ราคาหุ้นบาจาก่อนที่เขาจะปลดเกษียณสูงถึง 800-900 บาท ทั้งให้เงินปันผล 50 บาท/หุ้น

ไม่เพียงแต่ ถึง มร. ดโวรัก จะทำงานอย่างมีหลักการ ความรู้ KNOW HOW ที่พัฒนาอุตสาหกรรมรองเท้าได้อย่างแท้จริงเท่านั้น ในด้านพัฒนาคน มร. ดโวรักก็เน้นการพัฒนาบุคลากรของบาจามาตลอดเวลาที่เป็น M.D. ทั้งปฏิบัติต่อลูกน้องดุจพ่อปฏิบัติกับลูก

"ในช่วงที่ท่านอยู่และมีการสนับสนุนส่งคนไปฝึกอบรมหรือเรียนต่อในต่างประเทศนั้นท่านจะคอยดูแลทุกอย่าง สอบถามถึงเอกสารที่ต้องใช้ ดูแลกระเป๋าเสื้อผ้าจะช่วยดูว่าเอาเสื้อนอกไปกี่ตัว ถุงเท้ากี่คู่ พอกันหนาวได้ไหม" ผู้จัดการฝ่ายบุคคลรองเท้าบาจาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงการที่ มร. ดโวรักปฏิบัติต่อพนักงานเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน

หลังจาก มร. ดโวรักปลดเกษียณ ตั้งแต่ปี 2522 บริษัทรองเท้าบาจาขาดทุนมาตลอด เพราะช่วงเวลาดังกล่าวสถานการณ์เปลี่ยนแปลงมากมาย ตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยสูงในปี 2522 การมีคู่แข่งใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดมากหน้าหลายตาขึ้น รวมทั้งการตลาดและระบบการจัดจำหน่ายที่สู้คู่แข่งรายใหม่ ๆ ไม่ได้ บาจาช่วงนั้นปรับตัวไม่ทัน จึงขาดทุนมาตลอดจนเพิ่งจะมีกำไรในปี 2529 ที่ผ่านมา

"ตลอดระยะเวลาที่บาจาขาดทุนนั้น มร. ดโวรักก็มีความเป็นห่วงเป็นใยบริษัท แม้ขณะนั้นไม่ได้มีส่วนในการบริหารงานแล้วก็ตาม แต่ก็เยี่ยมเยียนบริษัทเสมอ"

"ครั้งที่ท่านป่วยหนักไปเยี่ยมบอกให้ดีใจว่า ปีที่แล้วบริษัทได้กำไร ท่านก็ดีใจแต่ก็ยังถามด้วยความเป็นห่วงว่า บริษัทกำไรเท่าไร" เฉลิม จันทรอุไร กล่าวถึง มร. ดโวรักที่ผูกพันกับบาจามาตลอด

มร. ดโวรักนั้นไม่มีครอบครัวและใช้ชีวิตในเมืองไทยมาตลอด ทั้งเป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาค้นคว้าพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

ถึงแม้ มร. ดโวรักจะจากไปโดยไม่มีคนในครอบครัวอยู่ข้าง ๆ แต่เขาก็สิ้นลมในแผ่นดินที่เขารัก โดยมีคนที่เขาเทรนขึ้นมาและเพื่อนร่วมงานที่บาจาอยู่ข้าง ๆ มร. ดโวรักคือตำนานนักบริหารมืออาชีพที่บาจาจะต้องจดจำ

เช่นเดียวกันก็เป็นอีกตำนานของชาวต่างชาติที่รักเมืองไทยจวบจนวาระสุดท้ายบนเชิงตะกอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.