ฟาสต์ฟิตยุคมัลติแบรนด์ บีควิกสะกดรอยบริดจสโตน


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 สิงหาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

การใช้กลยุทธ์มัลติแบรนด์ของค่ายบริดจสโตนในตลาด ฟาสต์ฟิต ทั้ง ค๊อกพิท ออโต้บอย และแอค ทำให้ครองความเป็นเจ้าตลาดทั้งลูกค้า และเครือข่ายศูนย์บริการ ส่งผลให้บี-ควิก ต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการเปิดแบรนด์ใหม่เพิ่ม หวังไล่บี้ชิงส่วนแบ่งตลาดคืน พร้อมฉวยจังหวะดึงลูกค้าเชลล์ ออโต้เซิร์ฟ หลังบริดจสโตนเข้าเทกกิจการ ส่วนกู๊ดเยียร์หลังพิงฝาปรับภาพอีเกิ้ลสโตร์ ปั้นฟาสต์ฟิตแบรนด์ใหม่ กู๊ดเยียร์ ออโต้แคร์ กู้สถานการณ์

ธุรกิจฟาสต์ฟิต หรือศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร กลับเข้าสู่สถานการณ์แข่งขันกันอย่างดุเดือดอีกครั้ง โดยมีบริดจสโตนครองความเป็นผู้นำตลาด โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์มัลติแบรนด์ เริ่มตั้งแต่การมีช่องทางโมเดิร์นเทรดของตัวเองภายใต้ชื่อแบรนด์ค๊อกพิท และทำการขยายเครือข่ายเพิ่มโดยใช้ชื่อว่า ออโต้บอย หลังจากนั้นไม่นานก็มีเทกโอเวอร์กิจการของเชลล์ ออโต้เซิร์ฟ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แอค

บริดจสโตน วางตำแหน่งศูนย์บริการฟาสต์ฟิตแต่ละแบรนด์ ด้วยรูปแบบแตกต่างกันไป ค๊อกพิทจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความรู้ รักรถ แต่งรถ และเน้นขายยางของค่ายบริดจสโตนเป็นหลัก ส่วนออโต้บอยจะเป็นศูนย์บริการและจำหน่ายยางรถยนต์เช่นเดียวกับค๊อกพิท แต่จะพุ่งเป้าไปที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ นอกจากนั้นก็จะมีบริการ ยางรถยนต์ ล้อแมกซ์ น้ำมันเครื่อง และ อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ขณะที่แอคจะมีความหลากหลายของสินค้า มียางของคู่แข่งวางจำหน่ายและมีบริการอื่นๆในรูปแบบของฟาสต์ฟิตแบบครบวงจร

แม้จะมีแบรนด์อยู่ในมือมากแต่ก็ถูกมองว่าธุรกิจมีความทับซ้อนกัน และไม่มีความหลากหลายในแง่ตัวสินค้า เนื่องจากเน้นขายยางที่ตนเองเป็นผู้ผลิต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทางแบบมัลติแบรนด์ของค่ายบริดจสโตนนั้นสามารถช่วยกระจายสินค้าให้ครอบคลุม อีกทั้งในแง่ของการรับรู้แบรนด์ก็เพิ่มมากขึ้น เพราะมีจำนวนร้านเครือข่ายที่ครอบคลุมเกือบ300แห่งทั่วประเทศ นอกจากนั้นแล้วการที่บริดจสโตนสามารถครองอันดับ1ของตลาดยางได้นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากช่องทางการจำหน่ายที่เข้มแข็งผ่านทั้ง3แบรนด์ฟาสต์ฟิต

แนวทางนี้ ทำให้คู่แข่งในกลุ่มธุรกิจฟาสต์ฟิตอย่าง บี-ควิก ถึงเวลาปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าว โดยมีแผนการจะใช้กลยุทธ์มัลติแบรนด์ ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ จะมีการเปิดตัวแบรนด์ฟาสต์ฟิตน้องใหม่เข้าสู่ตลาดในปี 2553 รูปแบบของแบรนด์ใหม่นี้จะคล้ายคลึงกับบี-ควิก โดยมีสินค้าการบริการที่หลากหลายไม่จำกัดยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง เจาะกลุ่มคนรักรถ และเน้นการให้บริการที่สะดวก รวดเร็วกว่า ส่วนการลงทุนนั้นยังคงเป็นในนามของบี-ควิก100% และจะประเดิมสาขาแรกในเขตกรุงเทพฯก่อนจะดูตลาดต่างจังหวัด

การขยับตัวกันในครั้งนี้ของ บี-ควิกจึงเป็นเสมือนการเดินไปในทิศทางเดียวกับบริดจสโตน แต่เป้าหมายหลักของบี-ควิกนั้นไม่ใช่การกระจายสินค้า แต่เป็นการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดและเพิ่มฐานลูกค้าของตนเองให้ได้มากที่สุด เพราะลำพังการเดินหน้าในรูปแบบแบรนด์เดียวที่มีสาขาเพียง 56 แห่งอาจจะต้องเหนื่อยที่จะต้องสู้กับทั้ง 3 แบรนด์ของบริดจสโตน ที่มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่คู่แข่งแบรนด์อื่นๆต่างก็มีการปรับตัวสู้ ดังนั้นกลยุทธ์มัลติแบรนด์ของบี-ควิกในครั้งนี้จึงเป็นเหมือนอีกหนึ่งหัวหอกที่จะกวาดแชร์และกลุ่มเป้าหมายซึ่งจะเป็นฐานลูกค้าใหม่ๆของตนเองให้ได้มากที่สุด

นอกจากการเปิดแบรนด์ใหม่ขึ้นมาสู้แล้ว บี-ควิก ยังอาศัยจังหวะใช้กลยุทธ์การตลาดและแคมเปญ ดึงลูกค้าของ เชลล์ ออโต้เซิร์ฟ อยู่ระหว่างการเปลี่ยนปรับปรุงร้านใหม่ในชื่อ แอค เข้ามาดูแลรักษารถยนต์ พร้อมทั้งรับประกันสินค้าต่อจากแบรนด์เดิม ซึ่งผลจากการเดินกลยุทธ์ดังกล่าวก็ทำให้มีลูกค้าบางส่วนหันเข้ามาใช้บริการกับบี-ควิก

บุศรารัตน์ อัสสรัตนกุล ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท บี-ควิก จำกัด กล่าวว่า แนวทางของการเปิดแบรนด์ใหม่ที่จะมีขึ้นในอนาคตนี้ แม้หลายคนจะมองว่าเป็นการทับซ้อนกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่แต่บี-ควิกกลับมองว่าแบรนด์ใหม่จะช่วยทำให้แบรนด์บี-ควิกมีมาร์เกตแชร์ในตลาดเพิ่มขึ้น เพราะความได้เปรียบของแบรนด์ใหม่ก็จะมีจุดยืนเช่นเดียวกันกับบี-ควิกคือการมีความหลากหลายทั้งในแง่ของการบริการ สินค้าที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง และไม่มีการยัดเยียดให้ลูกค้าต้องเลือกสินค้าของตนเอง ซึ่งบี-ควิกมองว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจะต้องได้ประโยชน์จากการแวะเข้ามาใช้บริการ

ขณะที่ค่ายบี-ควิกที่มีการขยับตัวเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตัวเอง อีกหนึ่งค่ายยางที่เตรียมจะรุกตลาดฟาสต์ฟิตแบบจริงจังอย่างกู๊ดเยียร์ ก็ได้เตรียมปัดฝุ่นแบรนด์ 'อีเกิ้ลสโตร์'ที่แต่เดิมเน้นขายยางเป็นหลัก ก็เตรียมปรับเปลี่ยนและใช้ชื่อใหม่ว่า 'กู๊ดเยียร์ ออโต้แคร์'โดยแนวคิดที่จะรุกตลาดในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่แบรนด์และกระจายสินค้าผ่านช่องทางค้าปลีกของกู๊ดเยียร์

สำหรับกู๊ดเยียร์ ออโต้แคร์ นั้นมีรูปแบบมาจากประเทศออสเตรเลีย ที่มีสาขาการให้บริการมากกว่า100แห่ง โดยในประเทศไทยรูปแบบจะเปิดโอกาสให้ตัวแทนจำหน่ายที่มีร้านอีเกิ้ลสโตร์ทำการปรับเปลี่ยนรูปโฉม ซึ่งบริษัทแม่จะให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วนในการตกแต่งหน้าร้าน และการฝึกอบรม นอกจากนั้นแล้วเพื่อเป็นการขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายยางกู๊ดเยียร์แต่สนใจในธุรกิจดังกล่าวก็สามารถเป็นเจ้าของฟาสต์ฟิตแบรนด์ใหม่นี้ได้

ก้องเกียรติ ทีฆมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัทกู๊ดเยียร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่ารูปแบบฟาสต์ฟิตใหม่ของกู๊ดเยียร์ ออโต้แคร์ จะเปิดสาขาแรกในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ถือเป็นสาขาต้นแบบในประเทศไทย และภายในปีนี้จะทยอยขยายสาขาให้ได้10แห่ง โดยจะเน้นพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯเป็นหลัก และจะทำการขยายวงออกไปในต่างจังหวัด คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีก30แห่ง ขณะเดียวกันร้านอีเกิ้ลสโตร์ ที่กระจายอยู่70แห่งทั่วประเทศก็จะทำการปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปโฉมใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากดีลเลอร์ไม่ต้องการเปลี่ยนก็สามารถเป็นร้านค้าแบบเดิมได้ แต่ในระยะยาวนั้นกู๊ดเยียร์คาดว่าจะต้องพยายามปรับเปลี่ยนโฉมให้เป็นศูนย์บริการรูปแบบใหม่ทั้งหมด

ขณะที่รูปแบบของสินค้าและการบริการนั้น ด้านหน้าร้านจะเป็นพื้นที่ของยางของกู๊ดเยียร์100%แต่ด้านในร้านนั้นก็จะมีสินค้าอื่นๆที่มีการจับมือกับพันธมิตรต่างๆอาทิ น้ำมันเครื่อง,ผ้าเบรก,ไส้กรอง,แบตเตอรี่ หรือช่วงล่าง รวมไปถึงพันธมิตรอย่างบ๊อช ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และเครื่องมือในการซ่อมหนัก

การเปิดแนวรุกของกู๊ดเยียร์ในครั้งนี้ แม้จะมีเป้าหมายหลักเพื่อกระจายสินค้าของตัวเองและต่อยอดแบรนด์ให้เข้มแข็ง แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรง บวกกับการเป็นน้องใหม่ที่ยังไม่พร้อมด้านเครือข่าย โดยเฉพาะกับกรณีที่ดีลเลอร์บางรายที่ยังไม่ต้องการปรับเปลี่ยนร้านเดิมให้เป็นร้านใหม่นั้น ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการรุกตลาดฟาสต์ฟิต ซึ่งหากยังไม่สามารถจัดการรูปแบบให้ลงตัวได้ปัญหานี้ก็จะเป็นเสมือนหอกข้างแคร่ของกู๊ดเยียร์และทำให้เป้าหมายไม่ได้เป็นอย่างที่ต้องการ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.