|
บลจ.ยูไนเต็ดชี้หุ้นจะซิกแซ็กลงทุนยาก เงินในตลาดมาจากสภาพคล่องส่วนเกิน
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 สิงหาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
บลจ.ยูไนเต็ดระบุเงินต่างชาติรอบนี้ เป็นเงินจากมาตรการอุ้มสถาบันการเงินที่แฝงเข้ามาลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ส่วนหุ้นไทยครึ่งปีหลังลงทุนยากคาดกรอบซิกแซ็ก 500-700 จุด ส่วนภาคเศรษฐกิจจริงคาดฟื้นตัวได้ปีหน้าเป็นต้นไป
สุพรรณ เศษธะพานิช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการลงทุน บลจ.ยูไนเต็ด กล่าวว่าการที่ตลาดทุนทั่วโลกมีปรับการปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนกุมพาพันธ์ของปีนี้ เป็นผลมาจากกระแสเงินสดแฝงของสถาบันการเงินที่ได้มาจากจากมาตรการกอบกู้สถาบันการเงินซึ่งมีการใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไปในสถาบันการเงินต่างๆจนมีสภาพคล่องส่วนเกิน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากเงินลงทุนระยะสั้นของกองทุนประกันความเสี่ยง (Hedge Fund) รวมถึงเม็ดเงินลงทุนระยะยาว (Long Term Fund)
โดยเม็ดเงินได้เริ่มเข้าไปที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตามมาด้วยตลาดหุ้นหลักในประเทศพัฒนาแล้ว และหุ้นตลาดเกิดใหม่รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งตลาดหุ้นขนาดเล็กก็ยังรองรับเม็ดเงินเหล่านี้เอาไว้ไม่หมด ส่งผลให้ราคาหุ้นในทุกตลาดทั่วโลกปรับตัวขึ้นมามาก
“จากนี้ไปจนถึงสิ้นปี เม็ดเงินต่างชาติดังกล่าวจะยังคงอยู่กับตลาดหุ้นไทยและจะอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการพูดถึงแผนการลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน (The Exit Strategy) ของรัฐบาลประเทศต่างๆ เมื่อนั้นเม็ดเงินก้อนดังกล่าวจึงจะไหลกลับไป ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ตลาดหุ้นไทยจะลงทุนยากขึ้น มีการเคลื่อนไหว ในลักษณะแบบซิกแซ็กเป็นลักษณะตัวเอ็ม (M) โดยมองว่า ตลาดหุ้นไทยจะวิ่งอยู่ในกรอบโดยมีโอกาสจะปรับขึ้นไปสูงสุดถึง 700 จุด ในขณะที่กรอบล่างก็ไม่น่าจะหลุดลงไปต่ำกว่า 500 จุด ได้”
ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยถือว่าเป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจลงทุนในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ที่ 18-20 เท่า ในขณะที่ P/E ย้อนหลังของตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีอยู่ที่ 11 เท่า และ P/E อนาคตที่ประมาณ 12 เท่า ซึ่งก็ถือว่าเป็นระดับที่เรียกว่าไม่ถูกนัก
สำหรับภาวะเศรษฐกิจของไทยก็ยังไม่น่าจะฟื้นตัวได้เร็วนัก เนื่องจากการเข้ามาลงทุนของประเทศคงจะยังไม่เติบโตขึ้นในระยะใกล้นี้ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่มีสัดส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับ GDP จึงไม่น่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก แต่คงต้องรอการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นตัวในปี 2553
โดยการใช้จ่ายภาครัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของ GDP เท่านั้น ซึ่งลำพังการกระตุ้นที่มีสัดส่วนเพียงแค่ 10% คงไม่น่าจะมีจะช่วยอะไรได้มากนักหากสองเครื่องจักรหลักยังไม่เดิน นั่นคือการบริโภคและการลงทุน ซึ่งมองว่าการลงทุนจะยังคงยากที่จะเกิดในไตรมาส 3/2552 ถึงแม้ตัวเลขภาคการผลิตยังคงเพิ่มขึ้น แต่หากอัตราการใช้กำลังการผลิตยังคงอยู่ในระดับ 60% ก็คงไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ ถ้าโรงงานยังไม่ได้ใช้กำลังการผลิตให้เต็มที่ ทั้งนี้มองว่าการลงทุนน่าจะฟื้นตัวเร็วที่สุดประมาณต้นปี 2553
มองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยนั้น คงจะไม่ได้เร็วมากนัก เมื่อเปรียบเทียบการเติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนประเทศจีน เพราะจีนมีแผนการอัดฉีดเงินถึง 586,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงในภาคสถาบันการเงินจะมีการก่อหนี้ที่เติบโตตามมาอย่างรวดเร็วด้วยก็จริง แต่ภายในเวลาไม่กี่เดือนนี้จีนก็วางแผนที่จะชะลอลง เพราะเกรงปัญหา NPL ที่จะตามมา จากการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็วเกินไปจนควบคุมไม่ทัน
ดังนั้นการเติบโตอย่างมั่นคงของไทยเองคงน่าจะเกิดขึ้นในปี 2010 โดยเริ่มจากการบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้ไปเพิ่มตัวเลขของภาคการผลิต ส่งผลให้มีตัวเลขอัตรากำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่สมควรที่จะลงทุนใหม่ และเวลานั้นเอง จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการพลิกกลับสู่รอบการเติบโตของเศรษฐกิจใหม่ หรือที่เรียกว่า Green Shoot ได้อย่างแท้จริง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|