ตั้งบ.ลูกเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์


ASTV ผู้จัดการรายวัน(3 สิงหาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ประธานบอร์ดร.ฟ.ท.มั่นใจแนวทางตั้งบริษัทลูกเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ การรันตีทำให้ร.ฟ.ท.อยู่รอด ระบุ 1 ปี บริษัทลูกล้มเหลวในด้านบริหารและความโปร่ง พร้อมยื่นใบลาออก ลุ้นคณะทำงานชุดเสธ.หนั่นหาข้อยุติให้ได้ภายในเดือนส.ค. เพราะไม่เช่นนั้นจะเปิดทดลองระบบเดือนธ.ค.ไม่ทัน พร้อมสั่งร.ฟ.ท. ทบทวนแผนโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ใหม่ตามสถานการณ์ปัจจุบัน หวังสร้างรายได้เพิ่ม

นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า หากการเจรจาระหว่างผู้บริหารร.ฟ.ท.และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท. ไม่สามารถหาข้อยุติและจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเดินรถโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ต เรล ลิงค์) ได้ ภายในเดือนส.ค.นี้ ก็จะไม่สามารถทดสอบเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ตามกำหนดวันที่ 5 ธ.ค.ได้ และจะกระทบไปถึงแผนการเดินรถเชิงพาณิชย์ที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนมี.ค.2553

“ขณะนี้แนวทางการบริหารการเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเลือกแนวทางการตั้งบริษัทลูก ตามที่ฝ่ายบริหารร.ฟ.ท. เสนอ หรือตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ที่เป็นข้อเสนอของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท. เสนอ โดยต้องรอคณะกรรมการชุดที่มีพล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานชี้ขาด เชื่อว่าจะสามารถตัดสินเลือกแนวทางได้ทันภายในเดือนส.ค.นี้”นายถวัลย์รัฐกล่าว

นายถวัลย์รัฐกล่าวว่า แนวทางการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ จะส่งผลดีต่อร.ฟ.ท.ดังนั้น หากรัฐบาลเลือกแนวทางการตั้งบริษัทลูกแล้ว ในระยะเวลา 1 ปี การบริหารงานของบริษัทลูกเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ไม่มีประสิทธิภาพ ก็พร้อมที่จะรับผิดชอบโดยการลาออกจากราชการ ซึ่งขณะนี้เหลืออายุราชการประมาณ 3 ปี

“ถ้าตั้งบริษัทลูกไปแล้ว 1 ปี มีความล้มเหลว เช่น การจัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ เหมือนเป็นการซ้ำเติมองค์กร ร.ฟ.ท. เพราะจากโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทลูก ผมก็พร้อมรับผิดชอบ แต่ถ้าทำได้ตามแผน ร.ฟ.ท. อยู่รอดแน่นอน ประเมินเพียงปีแรกก็น่าจะรู้ผลแล้วว่า การทำงานประสบความสำเร็จ โดยวัดจากการดำเนินงานที่โปร่งใส ซึ่งไม่ได้วัดที่รายได้ เพราะรายได้ต้องวัดจากส่วนอื่น เช่น รายได้จากมักกะสันคอมเพล็กซ์ มาประกอบกันด้วย” นายถวัลย์รัฐกล่าว

นายถวัลย์รัฐกล่าวว่า สำหรับโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ เนื่องจากสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ได้สั่งการให้ร.ฟ.ท.ไปทบทวนแผนแม่บทใหม่ คาดว่าใน 1-2 เดือน จะรายงานบอร์ดได้ และจะต้องตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 สำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในการดำเนินการ เพราะเป็นโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท

“ต้องยอมรับว่าโครงการแอร์พอร์ลลิ้งค์ ไม่สามารถอยู่ด้วยรายได้จากค่าโดยสารเท่านั้น จะต้องมีรายได้จากส่วนอื่นเข้ามาเสริมด้วย โดยการเข้ามาลงทุนในพื้นที่มักกะสันนั้น ร.ฟ.ท.จะไม่เจาะจงว่าจะมีโครงการอะไรบ้าง แต่จะเปิดโอกาสให้เอกชนนำเสนอว่าต้องการทำอะไรบ้าง ซึ่งจะต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกัน ”นายถวัลย์รัฐกล่าว

สำหรับแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณมักกะสันเดิมนั้น ร.ฟ.ท.จะย้ายศูนย์เก็บอะไหล่ออกไปอยู่ที่เชียงราก เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณถนนราชปรารภ อโศก เพชรบุรี ประตูน้ำ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้มอบให้ กรมธนารักษ์ประเมินราคาที่ดินในราคาซื้อ-ขาย ซึ่งที่ดินติดถนนราชปรารภ ตกตารางวาละ 100,000 กว่าบาท ในกรณีที่เป็นแปลงใหญ่ 20-100 ไร่ หากเป็นตึกแถวอาคารพาณิชย์หรือที่ดินแปลงเล็กราคาตารางวาละ 300,000-400,000บาท ส่วนราคาประเมินที่ดินค่อนข้างต่ำเ นื่องจากบริเวณดังกล่าวยังไม่พัฒนาเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 30,000-50,000 บาทต่อตารางวา และเมื่อเปิดให้บริการแล้วราคาที่ดินจะปรับสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า30-40%

ส่วนรูปแบบการพัฒนาจะยังคงแนวคิดเดิม เป็นลักษณะคอมเพล็กซ์ ครบวงจร เพราะพื้นที่บริเวณนั้น ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง (พาณิชยกรรม) หรือ พ.4 สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรม การอยู่อาศัย สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ และใช้เพื่อกิจการอื่นได้ไม่เกิน 10% โดย จะแบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 แยกเป็น พื้นที่ 1 A เนื้อที่ประมาณ 122 ไร่ อยู่ทางทิศตะวันออก ติดกับสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (CAT) จัดทำเป็นศูนย์การค้า สถานบันเทิง ที่จอดรถ โรงแรม ที่พักอาศัยประเภทเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และอาคารสำนักงาน พื้นที่ 1 B เนื้อที่ 42 ไร่ ทางทิศตะวันตก ติดกับสถานีราชปรารภ ทำเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของกรุงเทพฯ และอาคารสำนักงาน พื้นที่ 1C เนื้อที่ 205 ไร่ ทางตอนล่างของพื้นที่ด้านทิศใต้ ติดกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ทำเป็นศูนย์นิทรรศการ โรงแรมขนาดใหญ่ และศูนย์การแสดงสินค้าถาวร

ส่วน ที่ 2 แยกเป็นพื้นที่ 2 A เนื้อที่ 55 ไร่ อยู่ตอนกลางของพื้นที่ติดกับบึงมักกะสัน ทำเป็นอาคารสูง พื้นที่ 2 B เนื้อที่ 33 ไร่ ทางตอนกลางของพื้นที่ติดกับบึงมักกะสัน และเชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วน 1 A ในทิศ ตะวันออก ทำเป็นศูนย์กลางธุรกิจ และอาคารสำนักงาน พื้นที่ 2 C เนื้อที่ 42 ไร่ ทางตอนกลางของพื้นที่ ติดกับบึงมักกะสันและพื้นที่ส่วนที่ 3 ทำเป็นศูนย์กลางธุรกิจ และอาคารสำนักงาน ส่วนที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 72 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่ส่วน 1 C และส่วน 2 C จะสร้างศูนย์แสดงสินค้าถาวรและศูนย์การประชุมสัมมนาและแสดงสินค้า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.