|
ETFหุ้นต่างแดนของขวัญชิ้นใหม่จาก‘โสภาวดี’
ASTV ผู้จัดการรายวัน(3 สิงหาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
“โสภาวดี”เดินหน้าไม่หยุด ลุยปั้นสินค้าใหม่สนองนักลงทุน เผยคิวต่อไปหลังอีทีเอฟตัวใหม่ (5ส.ค.) เตรียมจัดตั้งอีทีเอฟดัชนีหุ้นต่างประเทศ หวังส่งลงกระดานภายในปีนี้ พร้อมทยอยออกDW และฟิวเจอร์สอื่นๆเพิ่มเติม ส่วนต้นปีหน้าเร่งจัดของขวัญให้นักเทรด และบจ.ด้วยค่าบริการให้ที่ลดลง และแยกค่าใช้จ่ายแบบชัดเจนเพื่อช่วยลดต้นทุน เลิกใช้แบบเหมาจ่าย พร้อมสนขอร่วมวงเป็นนายทะเบียนพันธบัตรรัฐ ชูระบบงานศักยภาพสูง แถมต้นทุนต่ำเป็นต่อ
ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ยังคงเดินหน้าพัฒนาองค์กรของตนให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลแบบไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นระบบในด้านใดก็ตาม วันนี้ ASTV ผู้จัดการรายวัน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ **โสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการสายงานการตลาดและงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย** ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งบุคลากรทรงคุณค่าที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการตลาดหุ้นไทยมานาน ภายหลังจากเพิ่งได้รับการต่อวาระการทำงานใหม่มาสดๆร้อนๆ ถึงเป้าหมายของานภายใต้การบริหารและกำกับดูแล ภายในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้
โสภาวดี กล่าวว่า แผนการดำเนินงานครึ่งปีหลัง ส่วนตัวต้องดูแลสายงานการตลาดและงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งการเพิ่มสินค้าใหม่ ซึ่งในส่วนของอนุพันธ์ หุ้นใหม่ และตราสารใหม่ทางการลงทุนใหม่ๆ เมื่อเร็วๆนี้ตลท.ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ส่วนกองทุนอีทีเอฟ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในการนำอีทีเอฟอ้างอิงกับดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในรูปแบบ cross listing โดยกำลังสำรวจความสนใจของนักลงทุนสถาบันว่าสนใจที่จะลงทุนในอีทีเอฟอ้างอิงดัชนีตลาดหุ้นประเทศไหน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ตอบรับความต้องการได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะสามารถนำอีทีเอฟอ้างอิงกับดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ 1 กองทุน ซึ่งอนาคตก็จะมีการนำอีทีเอฟอ้างอิงกับดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น โดยการดำเนินการดังกล่าวนั้น ตลท.ต้องการให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนที่มากขึ้น และสามารถลงทุนได้หลากหลาย รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น
"ตอนนี้กำลังดูอยู่ว่าจะเป็นของ ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือจะเป็นตลาดหุ้นในแถบอื่น แต่จะเป็นตลาดหุ้นใดนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความสนใจของนักลงทุน โดยขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็น ส่วนDWนั้นก็จะมีการออกมาเรื่อยๆ และจะมีการเพิ่มฟิวเจอร์สให้มีมากขึ้น นอกจากนี้เน้นทำการตลาดและให้ความรู้ในการลงทุน ของสต๊อกฟิวเจอร์ และออฟชั่นให้มากขึ้นเพื่อให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีปริมาณการซื้อขายยังน้อยอยู่ "นางโสภาวดี กล่าว
สำหรับในวันที่ 5 สิงหาคมนี้จะมีอีทีเอฟเข้าจดทะเบียนอีก1 กองทุน คือ กองทุนเปิดไทยเด็กซ์ FTSE SET large Cap ETF โดยอ้างอิงในหุ้น 30 ตัว ซึ่งทำให้มีกองทุนอีทีเอฟเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯรวมจำนวน 3 กองทุน คือ กองทุนเปิด ไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 (TDEX) อีทีเอฟกองทุนเปิด MTRACK ENERGY ETFและ กองทุนเปิดไทยเด็กซ์ FTSE SET large Cap ETF
**เตรียมใช้ค่าธรรมเนียมใหม่1ม.ค.53**
ส่วนงานด้านบริการหลังการซื้อขายนั้น ตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการพิจารณาในการคิดบริการชำระราคาหลักทรัพย์ทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ใหม่ ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยจะมีการปรับลดการคิดค่าชำะราคาหุ้นอัตรา 1 ล้านหุ้น เหลือ 1.50 บาท จากเดิมที่ 2.50บาท ส่วนการคิดค่าชำระราคาตราสารหนี้ภาครัฐฯและเอกชนจะปรับให้อยู่ในระดับที่เท่ากันคือ 1 ล้านหน่วยคิด 1.00 บาท จากเดิมภาคเอกชน 1 ล้านหน่วยคิด 1.50 บาท และภาครัฐ 1 ล้านหน่วยคิด 0.40 บาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ค่าธรรมเนียมใหม่ได้ในวันที่ 1 มกราคม 2553
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการคิดค่าชำระราคา(เคลียริ่งฟี)กับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิก(โบรกเกอร์)ในอัตรา0.001%ของมูลค่าการซื้อขาย จากเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯไม่มีการเก็บมาก่อน ในต้นปีหน้าเช่นกัน ซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมที่จะเริ่มเก็บในไตรมาส1/52เพราะ ภาวะตลาดหุ้นไม่ดี ทางตลท.จึงไม่อยากเพิ่มภาระให้กับโบรกเกอร์
อย่างไรก็ตามในส่วนการคิดค่าชำระราคาหุ้นของคัตโตเดียน แบงก์ (ผู้ดูแลหลักทรัพย์) นั้นตลท.ก็กำลังทบทวนเช่นกัน ในการคิดค่าธรรมเนียมในอัตราพิเศษให้ เนื่องจากเป็นผู้ดูแลในการซื้อขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศจำนวนมาก และมีมูลค่าการซื้อขายจำนวนมาก ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯอาจจะมีการคิดอัตราค่าชำระราคาหุ้นเป็นลักษณะขั้นบันไดตามมูลค่าการซื้อขาย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการคิดค่าธรรมเนียมแบบขั้นบันไดของโบรกเกอร์ที่จะมีการเริ่มเก็บในปีหน้าเช่น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการสรุป ซึ่งจะต้องมีการหารือและคิดอัตราให้เหมาะสม ต่อไป
สำหรับ การปรับเกณฑ์ค่าธรรมเนียมในครั้งนี้ จะมีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการกับตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถทราบว่าจะต้องมีการจ่ายค่าบริการอะไรบ้าง ทำให้สามารถคาดการณ์ค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการของตลท.ได้ ซึ่งจะดีกว่าการคิดราคาแบบเหมารวมเหมือนที่ผ่านๆมา ที่บริษัทจดทะเบียนต้องจ่ายให้กับทางตลท. ขณะเดียวกันคาดว่าจะมีบริษัทจากนอกตลาดหุ้นสนใจให้ตลาดหลักทรัพย์ฯมาทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหุ้นให้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการเก็บค่าใช้บริการเช่นกัน ซึ่งจะเก็บในอัตราเดียวกันกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะมีการปรับลดจากอัตราปัจจุบันเพื่อให้มีความน่าสนใจและดึงดูดให้มีบริษัทนอกตลาดเข้ามาใช้บริการ
“ตรงนี้หากปรับเปลี่ยนแล้ว อาจทำให้ต้นทุนของบางบจ.ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งก็แล้วแต่บริการที่ใช้ ขึ้นอยู่กับพวกเขาจะเลือกใช้ธุรกรรมในรูปแบบไหน และเราก็มีบริการอื่นๆเสริม เช่นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ที่จะช่วยลดงานในด้านนายทะเบียนให้แก่บริษัทของพวกเขาได้เยอะ รวมทั้งเคาเตอร์เซอร์วิส หรือ Call Center ซึ่งสามารถตรวจเช็คและติดตามเงินได้ นับว่าเป็นการช่วยลดภาระให้บจ. และบริษัทที่จะมาใช้บริการอย่างมาก”
**สนใจดึงพันธบัตรรัฐสร้างรายได้**
ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์ฯมีแผนที่จะเป็นนายทะเบียนตราสารหนี้ภาครัฐ เพราะ รัฐบาลมีแผนที่จะออกพันธบัตรจำนวนมาก ซึ่งจะต้องมีการหาหรือกับทางภาครัฐบาล และสำนักงานบริการหนี้สาธารณะ(สบน.)ในการแบ่งตราสารหนี้ที่ภาครัฐฯออกมาให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นนายทะเบียนบ้าง จากปัจจุบันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เป็นนายทะเบียนตราสารหนี้ให้กับภาครัฐบาลเพียงแหล่งเดียว ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯมีระบบในการดำเนินงานที่ดี เป็นลักษณะการรับฝากหลักทรัพย์แบบไร้ใบหลักทรัพย์ (Scripless) ซึ่งมีความปลอดภัยสูง และทำให้ตลาดหลักทรัพย์นมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำ โดยที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯมีการหารือกับทางสบน.ไปในเบื้องต้นแล้ว
นอกเหนือการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มานำเสนอนักลงทุน โสภาวดี กล่าวว่า การเพิ่มจำนวนนักลงทุนเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ละเลย ซึ่งล่าสุดเพื่อตอบรับกับกระแสของโลกยุคปัจจุบัน ตลท.ได้มีการปรับปรุงเว็บไซต์ www.set.or.th อีกครั้งเพื่อให้มีข้อมูลการลงทุนที่ครอบคลุมและเข้าถึงทุกความต้องการของผู้ใช้ โดยมีการจัดหมวดหมู่ข้อมูลต่างๆให้อยู่เป็นกลุ่ม สะดวกและง่ายต่อการค้นหา
อีกทั้ง ตลท. จะกลับมาให้ความสำคัญในเรื่อง โปรแกรมเทรดดิ้งให้มากขึ้น เพราะหลังจากที่ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพิ่มเข้ามา แต่บางโปรแกรมยังไม่รองรับ เท่าที่ควร รวมถึงการดูแลบรรดาสมาชิก (บริษัทหลักทรัพย์) ในการเตรียมความพร้อมรับการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นที่เหลือเวลาอีกประมาณ2 ปี ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องที่กำลังพูดคุยกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อร่วมกันช่วยเหลือและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ
**มั่นใจปีนี้สร้างรายได้ตามเป้า
สำหรับรายได้จากบริการหลังการซื้อขายนั้น ถือว่าช่วยสร้างรายได้ให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯประมาณ 40% ของรายได้ทั้งหมด และในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาทตามที่วางเป้าหมายไว้ ซึ่งครึ่งปีแรกปีนี้มีรายได้รวม 430 ล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของการเป็นนายทะเบียนประมาณ 300 ล้านบาท รายได้จากการรับฝากหลักทรัพย์ฯ 50 ล้านบาท รายได้จากการชำระราคาหุ้น 50 ล้านบาท และรายได้จากการเป็นนายทะเบียนให้แก่กองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อีก 17 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|