ตระเวนไหว้พระแวะชิมของดีเมืองสิงห์บุรี

โดย ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

เพลง "ค่าน้ำนม" จากนักร้องเสียงอมตะ สมยศ ทัศนพันธุ์ "อิ่มอุ่น" ของศุ บุญเลี้ยง ก้องกังวานแว่วอยู่ในหูมิได้ขาด

ด้วยเดือนนี้เป็นเดือนของแม่ วันแม่แห่งชาติ วันแม่ของแผ่นดิน

พระคุณของแม่มากล้นเหลือที่จะพรรณนา เลี้ยงดูให้นม ป้อนข้าวให้น้ำ ข้าวปลาอาหาร ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง ให้การศึกษาจนเติบใหญ่ ดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ยังมีเยื่อใยสายสัมพันธ์ในความเป็นแม่บังเกิดเกล้าได้อย่างสมบูรณ์และไม่มีวันเสื่อมคลาย

นั่งนึกถึงอดีตความเป็นมาของตัวเอง โดยเฉพาะการเลี้ยงดูของแม่เรื่องของอาหารการกินที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ

กินข้าวด้วยการหุงที่เรียกว่าเช็ดน้ำ (ใช้เตาถ่าน) แล้วดงข้าวให้แห้ง ส่วนน้ำข้าวนำมาใส่นมข้น หรือน้ำตาล ไข่ไก่ ใช้ดื่มแทนนมสด ซึ่งสมัยก่อนไม่แพร่หลายเช่นปัจจุบัน

อาหารเช้า ผัดถั่วงอกเลือดหมู ผัดดอกไม้กวาดใส่ตับ ต้มบะช่อตำลึง ผัดตับกระเทียมพริกไทยไข่ดาวแกล้มมะเขือเทศ ส่วนมื้อเย็นหรือมื้ออื่นๆ ปลาสร้อยต้มเค็ม ปลากระดี่ ปลาเสือ ปลาหมูทำเค็มทอด ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียมพริกไทย พุงปลาช่อนต้มยำ ปลาตะเพียนเจี๋ยนทอดราดผัดขิงเต้าเจี้ยว แกงสับนก (แกงป่าปลาอีกา) ปลาเห็ดทอด (ทอดมันโดยนำปลาหลายๆ ชนิดมาสับทั้งตัวใส่เครื่องแกงทอด) ฉู่ฉี่ปลาหมอ ปลาเจ่าหลน ปลาร้าหลน ปลาร้าทรงเครื่อง ปลาร้าสับแกล้มกับพืชผักสวนครัวหลังบ้าน รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย

โอภาส เพชรมุณี รักษาการ ผอ.ขสมก ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในโครงการ "นำทัวร์ 9 วัด" ทำชื่อเสียงและรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมาแล้ว ชวนไปสักการะ นมัสการเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง พระวิมลสุทากรณ์ และพระราชสุทธิญานมงคล เจ้าอาวาสวัดอัมพวันที่เคารพนับถือเลื่อมใส และยังเป็นศิษย์ก้นกุฏิของพระคุณเจ้าอีกด้วยที่สิงห์บุรี ซึ่งมีระยะทางจากกรุงเทพฯ เพียง 140 กม. เท่านั้น จึงตอบตกลงไปไหนไปกัน จังหวัดสิงห์บุรีตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำน้อยไหลผ่านอีกด้วย

เรื่องราววีรชนการสู้รบของเหล่าชาวบ้านบางระจันเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยอันยิ่งใหญ่

เมืองสิงห์บุรีเป็นจังหวัดเมื่อปี พ.ศ.2438 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันยาวนาน สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและสวยงาม วัดวาอาราม อาหารการกิน แม้แต่การตั้งชื่อถนนในเขตเทศบาลล้วนมีเสน่ห์น่าสนใจทั้งสิ้น

ศาลและศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2453 และ พ.ศ.2454 ซึ่งมีอายุ 100 ปี ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวทรงยุโรป ก่ออิฐถือปูน มีความสวยงามและทรงคุณค่าสถาปัตยกรรมมาก และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติเมื่อ 25 มกราคม 2533

วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สันนิษฐานกันว่าวัดนี้สร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่แบบสุโขทัย มีความงดงามมาก มีความยาว 47 เมตร 42 เซนติเมตร พระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก

พระกาฬ พระพุทธรูปศิลาลงรักปิดทอง และพระแก้ว พระหล่อนั่งขัดสมาธิ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นพระประธานในการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ ด้านหน้าวิหารมีต้นสาละลังกาใหญ่ผลิดอกบานสะพรั่งดูงดงามยิ่งนัก

วัดหน้าพระธาตุ อยู่ในเขตบ้านพระนอนจักรสีห์ เดิมชาวบ้านเรียกวัดหัวเมือง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดหน้าพระธาตุ สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์บุรีเก่า จะมีองค์พระปรางค์สูง 8 วาทำเป็นรูปครุฑ อสูรถือกระบอง ประดับอยู่เหนือชั้นเชิงบาตร ภายหลังมีการเสริมเติมแต่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น โดยการก่ออิฐเป็นซุ้มจร ทั้ง 4 ด้าน ฐานศิลาแลงขึ้นไปก่อด้วยอิฐย่อมุมทาง ปรางค์กลีบขนุน ก่อด้วยอิฐ ทิศตะวันออกขององค์ปรางค์มีพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ และมีเจดีย์กลมเรียงรายหลายองค์ เป็นสถาปัตยกรรมของอยุธยาตอนปลาย ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.2478

วัดสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ที่บ้านบางมอญ ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมือง เป็นศูนย์รวมศิลปะ การศึกษา การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลา การปั้นพระพุทธรูปเหมือน ที่สืบทอดวิชาปั้นพระพุทธรูปมาจากตระกูลบ้านช่างหล่อ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ เป็นแหล่งเก็บรวบรวมตัวหนังใหญ่ที่สมบูรณ์และยังสามารถเล่นได้กว่า 300 ตัว จากฝีมือช่างกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ครูเปีย หัวหน้าคณะหนังเร่ ผู้ที่มีความสามารถในการเชิดและพากย์หนังใหญ่และได้ถ่ายทอดการแสดงสืบต่อกันมา ตัวหนังใหญ่ที่ใช้แสดงคือ ชุดทศกัณฑ์ ชุดศึกมงกุฎ-บุตรลบ ชุดนาคบาตร และชุดศึกวิรุณจำบัง

วัดประโชติการาม เป็นวัดเก่าแก่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปรางห้ามญาติ ศิลปะแบบสุโขทัย 2 องค์ คือ หลวงพ่อทรัพย์ หลวงพ่อสิน

วัดกระดังงาบุบฝาราม มีโบสถ์รูปทรงสมัยใหม่ สร้างอยู่บนฐานศาลาการเปรียญหลังเก่า มีเจดีย์โบราณทรงระฆังคว่ำคล้ายเจดีย์สมัยอยุธยาตอนต้น ฐานเป็นชั้น มีซุ้มทรงระฆังตั้งแต่ปล้องไฉนขึ้นไป เจดีย์องค์นี้นับว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดที่มีอยู่ในสมัยเดียวกัน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติแล้ว ด้านหน้าเจดีย์มีโบสถ์เก่าแก่หลังคามุงด้วยกระเบื้องดิน บานประตูโบสถ์เป็นไม้แกะสลักลวดลายงดงามมาก

วัดโพธิ์เก้าต้น เป็นสถานที่ที่วีรชนบ้านบางระจัน ได้ใช้เป็นที่มั่นในการต่อต้านพม่าที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2308 ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่าวัดไม้แดง เพราะในบริเวณนี้มีต้นไม้แดง ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งอยู่จำนวนหลายต้น ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ภายในบริเวณวัดมี "วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ" ศาลรวมวิญญาณวีรชนค่ายบางระจัน ส่วนด้านหน้าจำลองค่ายบางระจันตามประวัติศาสตร์ไว้ด้วย วัดโพธิ์เก้าต้นนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ.2498

วัดพระปรางค์ บ้านโคกหม้อ ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน มีพระปรางค์ศิลปะอยุธยาตอนต้น สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช องค์ปรางค์สูง 15 เมตร ก่อด้วยอิฐแบบปรางค์ไทยสูงชะลูด คล้ายฝักข้าวโพด ฐานเตี้ยภายในกลวง มีคูหาสี่เหลี่ยมจัตุรัสบนผนังคูหา ด้านหลังมีวิหารเก่าแก่แบบอยุธยาหน้าบันเป็นลายแกะสลักไม้รูปตัวสิงห์และคันทวยต่างๆ มีภูเขาและรอยพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2478

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรพลาดไปเยี่ยมชม คืออนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน เป็นรูปหล่อประติมากรรมของหัวหน้าชาวบ้านบางระจันทั้ง 11 คน ค่ายบางระจันมีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ในเรื่องของความกล้าหาญและการเสียสละของวีรชนไทยเมื่อ พ.ศ.2308 ครั้งนั้นชาวบ้านบางระจันรวมกำลังกันต่อสู้กับกองทัพพม่า ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล โดยตีหมู่บ้านนี้ถึง 8 ครั้ง ใช้เวลากว่า 3 เดือนจึงจะเอาชนะได้

เมื่อพบกันตามนัดหมาย ออกเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ถึงกิโลเมตรที่ 52 เข้าสู่ถนนสายเอเชียผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงแยกเข้าจังหวัดอ่างทอง ขึ้นสะพานเพื่อไปท่าเรือมหาราช ลงสะพานยูเทิร์นกลับทางเข้ากรุงเทพฯ จะพบปั๊มน้ำมัน มีร้านข้าวแกงชื่อ "ดาว" ซึ่งมีพะแนงหมู พะแนงเนื้อ ปลาทอด ต้มมะระ อร่อยพอหอมปากหอมคอ สำหรับอาหารเช้าที่มีความสุขของคณะผู้ร่วมเดินทางทุกคน

หลังจากนั้น ไกด์กิตติมศักดิ์ โอภาส พาเรามุ่งหน้าสิงห์บุรี ตำบลพรหมบุรี กิโลเมตรที่ 130 เข้าสักการะเยี่ยมชมวัดอัมพวัน

นมัสการพระสุปฏิปันโน เทพเจ้าแห่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นที่เคารพสักการบูชา ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติธรรมทางวิปัสสนากรรมฐาน หลวงพ่อจรัญจะมีเวลาลงให้พรศิษยานุศิษย์ ระหว่างเวลา 10.00-14.00 น.

หลังจากปฏิบัติภารกิจและรับพรเรียบร้อยแล้ว ทุกคนไม่ลืมที่จะกระจายรายได้ ช่วยเหลือส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการซื้อหาขนมกง หนึ่งในขนมโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ใช้ในพิธียกขันหมาก และถ้วยฟูน้ำตาลสดที่ขึ้นชื่อที่ชาวบ้านนำมาจำหน่ายแก่ผู้มาเยือนบริเวณหน้าวัด เพื่อเป็นของว่างระหว่างการเดินทาง

ไม่ลืมที่จะแวะเยี่ยมชมการทำที่นอนยัดนุ่นด้วยมือ ซึ่งเป็นกรรมวิธีผลิตแบบโบราณ ซึ่งได้คุณภาพ ฝีมือประณีต สีสันลายผ้าสวยงาม

แม้ยังไม่ถึงเวลารับประทาน แต่อดไม่ได้ที่จะโผล่หน้าไปดูบรรยากาศของร้านแพลุงเช้า และร้านทองชุบ ในบริเวณวัดตราชู ลือชื่อในอาหารกุ้งและปลา

เลี้ยวซ้ายเข้าตลาดปากบาง ซึ่งถ้าใครผ่านอดไม่ได้ที่จะต้องแวะชิมก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ซื้อหัวไชโป๊ว มะม่วงกวน พุทรากวน และขนมเปี้ยะเจ้าดังเก่าแก่ไม่มีสาขา ชื่อโซวเม่งเฮง ร้านนี้จะรับสั่งทำขนมชุดยกขันหมากในพิธีแต่งงานไทย โดยเฉพาะจันอับเป็นขนมแห้งที่คนจีน และคนญวนทำขึ้นในเทศกาลต่างๆ ยังมีจำหน่ายด้วย

เดินทางผ่านอาคารร้านค้าปลูกสร้างด้วยไม้ 2 ชั้น อายุมากกว่าร้อยปี บางร้านปิดเงียบกลายเป็นที่พักอาศัย บางห้องยังคงเปิดค้าขายอยู่ในแบบวิถีชนบท ชาวบ้านร้านตลาดเก่าแก่แห่งนี้เล่าว่าอนาคตอันใกล้นี้ ทางการกำลังดำริจะฟื้นคืนชีพตลาดนี้ให้กลับมาคึกคักเช่นเดิม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักชอปตัวจริง เพราะ ณ ตำบลนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมาย OTOP อยู่หลายตัว

เลี้ยวขวาลัดเลาะไปตามถนนเลียบริมน้ำเจ้าพระยา มองไปทางด้านขวามือ จะเรียงรายไปด้วยแผงตากมะม่วงกวนตลอดแนวยาว ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมและขึ้นชื่อของที่นี่มานมนาน เดินทางต่อไปประมาณ 1 กม. เป็นรอยต่อระหว่างตำบลปากบางกับตำบลต้นโพธิ์ เหลือบตาไปทางขวาจะพบเห็นร้าน "ตะล่อม" เป็นร้านที่สร้างแบบบ้านบ้าน พื้นที่เปิดโล่ง ด้านหลังมีลานจอดรถกว้างขวาง หันหน้าสู่วิวแม่น้ำเจ้าพระยา สังเกตว่าผู้คนที่มารับประทานจะเป็นข้าราชการหรือพ่อค้าจากในเมืองแทบทั้งสิ้น

ตะล่อม ลิมิเต็ดนี้ คุณยายตะล่อมวัย 70 กว่าปีเป็นเจ้าของกิจการ เมื่อก่อนร้านอยู่ลึกเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกและได้บรรยากาศในการรับประทานมากขึ้น ได้ย้ายออกมาบริการที่นี่เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะลงครัวเอง แต่ถ้าเกิดอาการแฮ้งก์น้ำ...ขึ้น ณ วันใด จะได้ลูกหลานที่เป็นลูกมือ

ที่ได้ฝึกปรือมาหลายปีดีดัก ปฏิบัติการแทนได้ทันที (โดยไม่ต้องแอบชะเง้อดูในครัวเหมือนสมัยโน้น...เป็นคำบอกเล่าของลูกค้าขาประจำ)

อาหารของร้านนี้จะเป็นอาหารที่ธรรมดาๆ ทั่วไป โดยเมนูอาหารจะเปลี่ยนไปในแต่ละวัน แล้วแต่วัตถุดิบที่ชาวบ้านในแถบนี้จะหามาขายให้ร้านได้ ซึ่งทำให้ได้พบเจอเมนูรายการอาหารเป็นกระดาษขนาดเอ 4 เขียนด้วยลายมือทุกเช้าก่อนเปิดใส่ซองพลาสติกไว้เพื่อลูกค้า Order

อาหารขึ้นชื่อของ "ตะล่อม" ผัดเผ็ดปลาแม่น้ำ กบกระเทียมพริกไทย ยำ ต้มยำ ปลาแดดเดียว แต่ที่ได้ลิ้มลองแล้วเกิดอาการถูกปากโดนใจ ทำให้นึกถึงวิถีชีวิตการกินอยู่ของคนในชุมชนนี้ อาหารรสชาติสมัยคุณปู่คุณย่าว่าเป็นอย่างไร

ไข่ (เป็ด) เจียวใส่หอมแดง ปลาร้าสับ รสชาติสะใจ ทำให้รู้สึกว่าไม่เสียชื่อเมืองปลา โดยเฉพาะปลาช่อนแม่ลาอันลือชื่อหรือเมืองที่ขึ้นชื่อในการผลิตปลาร้าอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

แม่ลา เป็นชื่อสายน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ติดต่อเขตอำเภอเมือง อำเภออินทร์บุรี และอำเภอบางระจัน เป็นลำน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของปลา ฉะนั้นปลาในลำน้ำนี้จึงมีรสชาติอร่อย อ้วน มัน และมีความนุ่มทำให้ชื่อเสียงปลาช่อนแม่ลาเป็นตำนานกล่าวขานกันตลอดมา ก่อให้เกิดร้านแม่ลาปลาเผา และของฝากจากปลาอันเลื่องชื่อ เช่น ปลาช่อนเค็มแดดเดียว กุนเชียงปลา ขนมเค้กปลาช่อน และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับปลาอีกมากมาย

ได้ลองปลาร้าสับ ตะล่อมแล้ว ขอคุยเรื่องปลาร้าอีกสักหน่อย ปลาร้าหรือปลาแดก ที่เราเห็นใส่ในตำบักหุ่งนั้น เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยโดยเฉพาะชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเลยต่อไปถึงลาว เวียดนามในบางส่วน ส่วนมากทำมาจากปลาน้ำจืด เช่น ปลากระดี่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาตะเพียน สมัยก่อนที่ปลาสร้อย ปลาแขยง ยังชุกชุม นิยมนำมาทำเช่นกัน

ขั้นตอนการผลิตปลาร้าแบบง่ายๆ นำปลาล้างให้สะอาด นำมาหมักกับรำข้าว เกลือ และข้าวคั่ว ทิ้งไว้ 8 เดือนถึง 1 ปี นำมาประกอบเป็นอาหารได้

ปลาร้าที่ดีจะมีกลิ่นหอม เนื้อปลาสะอาด มีสีอมชมพู เนื้อไม่ยุ่ย ไม่แข็งกระด้าง และรสชาติไม่เค็ม ปลาร้านำไปประกอบอาหาร เช่น น้ำพริกปลาร้า ปลาร้าทรงเครื่อง ปลาร้าหลน ปลาร้าสับ แกงลาว แกงเปรอะ แกงหน่อไม้ เป็นต้น อาหารที่นิยมใช้ปลาร้าและพบเห็นได้ง่ายและทุกมุมเมือง เห็นจะได้แก่ส้มตำปลาร้า หรือส้มตำลาว นั่นเอง สำหรับสารอาหารซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ในปลาร้า มีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามิน พลังงาน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ลองมาดูวิธีทำอาหารจากปลาร้าบ้าง

ปลาร้าสับ อาหารพื้นบ้าน เป็นอาหารจานเด็ดจานหนึ่งที่เรียกน้ำย่อยได้อย่างพิเศษสุด มีพืชผักสมุนไพรเป็นเครื่องจิ้ม เมื่อรับประทานเมนูจานนี้แล้ว จะได้สารอาหารหลากหลายครบเครื่อง ปลาร้าสับใช้ปลาร้าปลาช่อนหรือปลากระดี่ หอมแดง กระชาย ข่า ตะไคร้ พริกขี้หนูสวน ผักชีฝรั่ง ใบมะกรูด น้ำมะกรูด มะขามเปียก

ส่วนปลาร้าทรงเครื่องปัจจุบันหากินยาก เครื่องปรุงจะประกอบด้วย ข่าอ่อน ตะไคร้ กระชาย พริกอ่อน ใบมะกรูด ส่วนผักจะใส่มะเขือ หน่อไม้หวาน ถัวฝักยาว กะทิ และสิ่งที่ลืมไม่ได้เลยเพราะเป็นต้นเรื่องของอาหารชามนี้ คือปลาร้านั่นเอง

เมื่อได้ลองลิ้มชิมรสและบรรยากาศ ตะล่อม จนเป็นที่เรียบร้อย โชเฟอร์คู่ใจ (รู้ใจเจ้านายไปเสียหมด) ขับรถพาเข้าตัวเมืองผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา พบสัญญาณไฟจราจร เลี้ยวซ้ายไปเพียงเล็กน้อย ด้านซ้ายมือฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลสิงห์บุรี จะเห็นป้ายรำพึง ริมถนนใหญ่ ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ขึ้นชื่อมาช้านาน สำหรับนักชิมท้องถิ่น หรือต่างถิ่นก็ตาม

เมนูอาหารของร้านนี้ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทสัตว์น้ำจืด กุ้งแม่น้ำ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด

ปากทางเดินเข้าร้านจะมีเตาถ่าน (อั้งโล่ไฟลุกโชน) เตาแก๊ส อาหาร เครื่องประกอบอาหารซึ่งพร้อมที่จะปรุงให้เห็นการประกอบอาหารกันจะจะ เลือกที่นั่งแล้วแต่ความชอบ โอเพ่นแอร์ได้กลิ่นการปรุงอาหารไปด้วย หรือถนัดในห้องปรับอากาศหรือห้องจัดเลี้ยงมีไว้บริการพร้อมสรรพ

รำพึง สว่างแจ้ง ซึ่งมีเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนมาตั้งแต่เด็กเป็นเสี่ยใหญ่เจ้าของกิจการในจังหวัดอยู่หลายคน เจ้าของร้านรำพึง บอกกับเราว่า ก่อนจะย้ายมาเปิดร้าน ณ ตรงนี้ ครอบครัวเคยเปิดร้านอาหารอยู่อาคารด้านท้ายตลาดชื่อ "เฮง"

ภายหลังแต่งงานมีครอบครัว เลยชวนสามีมาเปิดที่นี่ซึ่งกว่า 20 ปีที่แล้ว เป็นร้านที่ทำกันเองในครอบครัว สามี ลูกชาย ลูกสะใภ้ จะทำหน้าที่กุ๊ก ส่วนตัวเธอนั่นจะทำหน้าที่แคชเชียร์ พร้อมทั้งควบคุมบัญชาการเอง

อาหารที่เป็นที่ชื่นชอบและถูกปากของเหล่าบรรดานักชิมจะไม่พ้นกุ้งแม่น้ำ ปลาช่อน ปลากราย ซึ่งเป็นปลาจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะปลาม้า ซึ่งเป็นปลาน้ำจืด รสชาติอร่อยมีมากที่สุดที่แม่น้ำท่าจีน ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

ที่เรียกขานว่าปลาม้า เพราะเหตุว่ามีลักษณะหน้าตา มีครีบที่หางคล้ายม้า

ทอดมันปลากราย นวดเนื้อปลากรายจนเหนียว เมื่อทานเข้าไปแล้วอร่อยมันปาก

แกงป่าลูกชิ้นปลากราย ปรุงได้รสจัดจ้านสมคำร่ำลือ

ต้มยำพุงปลาช่อน อร่อยถูกปาก หรือปลาคังผัดฉ่า ได้รสชาติสมุนไพร

ส่วนจานเด็ดของร้านที่จะลืมสั่งไม่ได้เลยทีเดียวคือ ปลาม้าผัดชะอม กรรมวิธีในการผัดแบบจีนใส่ยอดชะอม สีสัน รสชาติ และกลิ่นเตะจมูกดีแท้ หรือหัวปลาม้าต้มเผือก ต้มยำที่นี่จะใส่หม้อหยวนโล้ ใช้ถ่านไม้ให้ความร้อน ไม่ใช้แอลกอฮอล์เด็ดขาด ให้ความร้อนแบบกลิ่นธรรมชาติจริงๆ

เมื่อมองไปที่ผนังรอบๆ ร้าน จะเห็นภาพถ่ายบุคคลที่มี ชื่อเสียงในสังคมไว้วางใจมารับประทานที่นี่หรือใบประกาศนียบัตร จากสื่อสำนักต่างๆ แขวนการันตีความอร่อยไว้มากมาย แต่ที่สะดุดสายตาเป็นที่สุด คือคำกลอนบนกระดานที่แขวนไว้ เมื่อเพ่งพิศนานๆ จึงรู้ว่าเป็นคำกลอนของกรีซีไรต์ที่มารับประทานอาหารได้แต่งและมอบให้เป็นที่ระลึก ดังนี้

รำพึงรส คิดถึง รำพึงร้าน
ล้วนจานเด็ด ทุกจาน จานปลาเจ้า
คือปลาน้ำ เจ้าพระยา คงคาเรา
คิดถึงเหย้า เข้าถึงย่าน ร้านรำพึงฯ

ที่ระลึกจากเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
2/11/51

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจะมากราบนมัสการหลวงพ่อแพ พร้อมทั้งกราบขอพรจากพระวิมล สุตาภรณ์ เจ้าอาวาสพิกุลทอง ริมแม่น้ำน้อย ซึ่งมีชาวบ้านจะเรียกกันติดปากว่าวัดหลวงพ่อแพ ภายในวัดจะมีพิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติ เครื่องอัฐบริขารของหลวงพ่อแพตั้งแต่อดีต ยังมีพระพุทธรูปปางประทานพรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย "หลวงพ่อใหญ่" พระวิหารใหญ่มีพระวิหารคดประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันต่างๆ พระสังกัจจาย สถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับผู้ที่สนใจใฝ่ธรรม ส่วนมากจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม รับได้ไม่เกิน 500 คนโดยประมาณ

ด้านติดแม่น้ำน้อยจะเป็นเขตอภัยทาน จะมีผู้คนมาให้อาหารปลา โดยทางวัดมีโรงเบเกอรี่ทำขนมปังไว้จำหน่ายอีกด้วย

สำหรับแม่น้ำน้อยเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ไหลแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยก่อนจะมีเรือใหญ่น้อยวิ่งสัญจรไปมาติดต่อค้าขายกันคึกคัก โดยเฉพาะเรือขนส่งผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด ปัจจุบันบรรยากาศนี้ได้จางหายไปไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เนื่องจากความเจริญ การคมนาคมทางบกมีถนนตัดลัดเลียบฝั่งแม่น้ำเกือบตลอดสาย ทำให้แม่น้ำสายนี้เงียบเหงาไปในที่สุด

แม่น้ำน้อยยังเป็นแหล่งเตาเผา (บริเวณวัดพระปรางค์) แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา แหล่งโบราณสถานแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญแล้ว ยังเป็นศูนย์ศึกษาทางวิชาการเซรามิกอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย

หลังอิ่มท้องแถมอิ่มบุญกันโดยถ้วนหน้า ใกล้เวลาพลบค่ำตะวันกำลังจะลับจากขอบฟ้า เหล่าพุทธศาสนิกชนอย่างเราต้องขออำลาอาลัยกลับสู่เคหสถาน หยุดความสุขทางกายและใจ ในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ เหลือไว้ในความทรงจำ สาธุ!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.